"ฮอนด้า"เขย่าบัลลังก์"โตโยต้า"ปั้น "ซิตี้" คว้าแชมป์ตลาดซับคอมแพกต์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดรถยนต์นั่งโตสวนกระแส หลังผู้บริโภคหันมาใช้รถเล็กประหยัดพลังงาน ด้านฮอนด้า สบช่องตลาดโตส่งโมเดลใหม่ "ซิตี้" ตั้งเป้ายอดขาย 3.5 หมื่นคัน คว้าเบอร์ 1ตลาดซับ คอมแพกต์

ตลาดรถยนต์ 8 เดือนของปีนี้ แม้จะมีปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ การเมือง และราคาน้ำมัน แต่ยังมีการขยายตัวอยู่ที่ 3.91 % หรือ 413,396 คัน โดยกลุ่มของรถยนต์นั่งมียอดขาย 147,690 คัน เติบโตกว่า 30.16 % เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ขายได้ 113,469คัน ขณะที่ตลาดรถปิคอัพนั้น โดนผลกระทบจากปัจจัยลบจนส่งผลให้มียอดขาย 221,361 คัน ลดลง 7.39 % เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ขายได้ 239,019 คัน

การหดตัวของตลาดรถปิคอัพนั้น สาเหตุหลักๆมาจากราคาน้ำมันดีเซลที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งรถปิคอัพในตลาดส่วนใหญ่นั้นต้องพึ่งน้ำมันดีเซล มีเพียงโตโยต้าเท่านั้น ที่มีการผลิตปิคอัพที่สามารถใช้เครื่องยนต์เบนซินได้ ตรงจุดนี้เองเมื่อราคาน้ำมันดีเซลพุ่งสูงทะลุ 40 บาท ทำให้ผู้บริโภคเกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อ บางรายปรับพฤติกรรมโดยหันไปเลือกซื้อรถยนต์นั่งที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็ก ใช้เครื่องยนต์เบนซิน เพราะราคาถูกกว่าและสามารถนำไปปรับเปลี่ยนพลังงานทางเลือกได้ง่ายกว่าเครื่องยนต์ดีเซล

นอกจากนั้นแล้ว เรื่องของ E20 หรือรถยนต์ที่สามารถเติมน้ำมันที่มีส่วนผสมของแก๊สโซฮอล์ 20 % และน้ำมันเบนซิน 80 % ก็ได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีสรรพสามิต 5 % ทำให้มีการปรับราคาใหม่ที่ลดลงจากเดิม จากปัจจัยในเรื่องราคาน้ำมันดีเซลและการได้รับสิทธิพิเศษเรื่อง E20 จึงทำให้ตลาดรถยนต์นั่งในช่วงที่ผ่านมาเติบโต และคาดว่าจะโตต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี

แนวโน้มของตลาดรถยนต์นั่งที่กำลังโต ทำให้ผู้เล่นในตลาดอย่างค่ายฮอนด้า ที่มีการวางโพสิชั่นนิ่งในการเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งของตลาดรถยนต์นั่งถึงกับมั่นใจในศักยภาพที่มีว่าในอนาคตอีกไม่ไกล พวกเขาจะต้องเป็นอันดับ 1 ของตลาดอย่างแน่นอน

ปัจจุบัน ฮอนด้า มีรถยนต์นั่งจำนวน 5 รุ่น ได้แก่ ซีอาร์วี - รถอเนกประสงค์,แอคคอร์ด รถยนต์นั่งขนาดกลาง,ซีวิค รถยนต์นั่งในกลุ่มคอมแพค ,และรถยนต์นั่งในกลุ่ม ซับ คอมแพค รุ่น แจ๊ซ และ ซิตี้ โดยรถยนต์ทั้ง 5 รุ่นถูกวางโพซิชั่นของตัวสินค้าที่แตกต่างกัน รองรับกับทุกความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มต่างๆอย่างครบถ้วน และในอนาคตเมื่อโครงการอีโคคาร์เริ่มผลิต ฮอนด้าก็จะมีรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ประหยัดพลังงาน อีกหนึ่งรุ่นเข้ามาเติมเต็ม

ด้วยจำนวนรถยนต์เพียง 5 รุ่นดังกล่าว ที่มีการทำตลาดของฮอนด้า แม้จะดูน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับยอดขายของคู่แข่งคนสำคัญอย่างโตโยต้าที่มียอดขายปีก่อน 92,530 คัน จากประเภทรถยนต์นั่งจำนวน 7 รุ่น ประกอบด้วย วีออส, ยาริส, อัลติส, คัมรี่, อแวนซ่า, อินโนว่า และ วิช โดยฮอนด้าเป็นอันดับ 2 ในตลาดรถยนต์นั่งมียอดขายปีก่อน 58,525 คัน ทว่า เมื่อมองดูอัตราการเติบโตของทั้ง 2 ค่าย กลับพบว่า ตัวเลข 8 เดือนที่ผ่านมาเซกเมนต์รถยนต์นั่งของฮอนด้าเติบโตขึ้น 39.26% เทียบกับปีก่อน ขณะที่โตโยต้าโตแค่ 19.76% เทียบกับปีก่อนเช่นกัน

ขณะที่การตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ เดิมฮอนด้าคาดการณ์ไว้ 70,000 คัน ก็มีการปรับเพิ่มเป็น 85,000 คัน เติบโตขึ้นอีก 20%เทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจรถยนต์ขนาดเล็กมากขึ้น ประกอบกับการที่ฮอนด้ามีนิว ซิตี้ ซึ่งถือเป็นโมเดลใหม่เข้าสู่ตลาดก็น่าจะได้รับการตอบรับที่ดี และส่งผลให้ยอดขายเติบโตได้ตามเป้าที่วางไว้

"ยอดขายรถยนต์นั่งทุกรุ่นของฮอนด้ามีการเติบโตมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขส่วนแบ่งทางการตลาดจะเป็นสิ่งยืนยันว่าสินค้าของเราได้รับการยอมรับมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในตลาดรวมเรามีส่วนแบ่งจำนวน 13.6 % เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่เรามี 9.7 % ถือเป็นการครองส่วนแบ่งที่สูงที่สุดในรอบ 24 ปีเลยทีเดียว ขณะที่ส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์นั่งจากเดิมทำได้ 30 % ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 33.7 % ตัวเลขที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆทำให้เรามั่นใจว่าเป้าหมายที่วางไว้คงไม่ยากเกินไป"เคนจิ โอตะกะ ประธานบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)จำกัด กล่าว

ฮอนด้า ซิตี้ หัวหอกนำทัพ รุกอันดับ 1 ตลาดซับ คอมแพกต์

แนวโน้มของตลาดรถยนต์นั่งที่โตวันโตคืน จนฮอนด้าต้องมีการประกาศปรับเป้ายอดขายให้เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันรถยนต์ในรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะในตลาดซับคอมแพค ที่พวกเขาเพิ่งตัดสินใจเปิดตัว ฮอนด้า ซิตี้ ใหม่เข้าสู่ตลาด

สำหรับ ฮอนด้า ซิตี้ มีคู่แข่งยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า วีออส ที่ชิงเปิดตัวโมเดลใหม่ไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และโกยยอดขายล่วงหน้า อย่างไรก็ตามฮอนด้ามั่นใจว่า ซิตี้ โมเดลใหม่นี้จะสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 35,000 คันภายในระยะเวลา1 ปี และคาดว่ารถยนต์ในกลุ่มนี้จะช่วยผลักดันให้พวกเขาก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ของตลาดซับ คอมแพกต์ ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้

ปัจจัยที่ทำให้ฮอนด้ามีความมั่นใจว่าจะสามารถก้าวไปสู่อันดับ 1 ของตลาดนี้คือ ราคาน้ำมันมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยมีการปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ที่เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น ประกอบกับการดูแลรักษารถยนต์ประเภทนี้ก็มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่ารถยนต์ประเภทอื่นๆขณะที่แผนรุกตลาดของฮอนด้า ซิตี้ นั้น มีการนำรูปแบบการตลาดทั้งแบบอะโบฟเดอะไลน์ และบีโลว์เดอะไลน์ควบคู่กันไป

สำหรับฮอนด้า ซิตี้ มาพร้อมกับรูปลักษณ์ที่ดูปราดเปรียว โฉบเฉี่ยว เหมาะสมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการซื้อรถคันแรก รวมไปถึงกลุ่มผู้ที่ต้องการมองหารถคันที่สองของบ้าน โดยมีให้เลือก 3 รุ่น คือรุ่น S ,V และ SV มาพร้อมกับเครื่องยนต์ i-VTEC ขนาด 1.5 ลิตร 4 สูบ 120 แรงม้า รองรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และมีค่ามาตรฐานไอเสียเทียบเท่าระดับยูโร 4 สนนราคาในรุ่น S 524,000 - 564,000 บาท ,ในรุ่น V ราคา 619,000 - 644,000 บาท และในรุ่น SV ราคา 694,000 บาท

ส่วนราคาของคู่แข่งโตโยต้า วีออส นั้น แม้ราคาจะถูกกว่า แต่ในรุ่นทอปนั้นกลับมีราคาสูงกว่าฮอนด้า ซิตี้ โดยวีออส มีให้เลือก 3 รุ่น ได้แก่ รุ่น J 509,000 บาท รุ่น E 544,000 - 639,000 บาท และรุ่น G 699,000 บาท

การตัดสินใจส่ง ฮอนด้า ซิติ้ ใหม่ เข้าสู่ตลาดในครั้งนี้ยังถือเป็นการผนึกกำลังสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดซับคอมแพค หลังจากก่อนหน้านี้ททางฮอนด้าได้มีการเปิดตัวฮอนด้า แจ๊ซ และมีการตอบรับที่ดีจากตลาด ในชนิดที่เรียกได้ว่ายอดขายโตแบบฉุดไม่อยู่ ซึ่งฮอนด้ามองว่ากระสุนที่ยิงออกมาในครั้งนี้จะส่งผลให้คู่แข่งทั้งรายเล็กรายใหญ่นั่งกันไม่ติดจนต้องกลับไปทำการบ้านกันอย่างหนักเลยทีเดียว

นอกเหนือจากการเปิดตัว "ฮอนด้า ซิตี้ "เป็นครั้งแรกในโลกแล้ว ฮอนด้ายังตอกย้ำกลยุทธ์ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของตลาดซับ คอมแพค ด้วยการตั้งวางโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็น "โรงงานแม่" สำหรับการผลิตรถยนต์ฮอนด้า ซิตี้ มีหน้าที่หลัก คือ 1.เสริมสร้างและควบคุมคุณภาพการผลิตให้มีมาตรฐานระดับโลก 2.ดูแลการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปพร้อมจัดส่งแบบเดลิเวอรี่ 3.ดูแลฐานการผลิตรถยนต์รุ่นนี้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต

การเป็น "โรงงานแม่" ในครั้งนี้ฮอนด้าได้วางยุทธศาสตร์เพื่อให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่มีการส่งออกรถยนต์ในรุ่นนี้ รองจาก ญี่ปุ่น ,สหรัฐอเมริกา,จีน,แคนาดา และสหราชอาณาจักร ซึ่งในเบื้องต้นจะทำการผลิตฮอนด้า ซิตี้ ออกมาจำนวน59,000 คันต่อปี โดยแบ่งออกเป็นตลาดในประเทศ 35,000 คัน และตลาดต่างประเทศ อาทิ ประเทศในแถบเอเชีย ,อัฟริกาใต้ ,ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก จำนวน 24,000 คัน

อย่างไรก็ตามหากตลาดมีความต้องการรถยนต์ในรุ่นนี้มากขึ้น ก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้สูงสุดถึง140,000 คันต่อปี จากเดิมที่มีการผลิตเพียง 120,000 คันต่อปี และหากโรงงานแห่งที่ 2 สร้างเสร็จ ก็จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

การออกมาสนับสนุนให้ไทยเป็น "โรงงานแม่" ในครั้งนี้ นอกเหนือจากการประกาศให้เห็นถึงการตั้งมั่นที่จะเป็นที่ 1 ในตลาดซับ คอมแพคแล้ว ในแง่ของการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยและผู้บริโภค นี่จึงถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของฮอนด้าที่มุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งฐานการผลิตที่สำคัญของโลก

" แม้ว่าหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์,อินเดีย,ปากีสถานและจีนจะมีการผลิตฮอนด้า ซิตี้ แต่ทว่าโรงงานเหล่านั้นจะเป็นการผลิตเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยนั้น เราได้รับการไว้วางใจให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูงจากโรงงานแม่ที่ญี่ปุ่นเพื่อมาสร้างความแข็งแกร่ง และเรามุ่งหวังจะให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่ป้อนทั้งตลาดในและตลาดต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินกลยุทธ์นี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าเราเล็งเห็นความสำคัญของประเทศไทยมากแค่ไหน" โอตะกะกล่าว

การขยับตัวของฮอนด้าในการเป็นโรงงานแม่ และการเปิดตัว ซิตี้ ใหม่ พร้อมทั้งประกาศเป็นที่ 1 ในตลาดรถซับ คอมแพกต์ ถือเป็นการส่งสัญญาณให้คู่แข่งขันในตลาดต่างร้อนหนาวพอกัน เพราะนี่คงไม่ใช่แค่ราคาคุยที่ฮอนด้าต้องการแสดงออกมาเพราะเมื่อมองไปถึงอัตราการเติบโตของยอดขายที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องในรถยนต์ทุกรุ่นที่มีออกมาจำหน่าย ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าทางฮอนด้าเอาจริงอย่างแน่นอน และไม่แน่ว่าพวกเขาอาจจะไม่หยุดที่ตลาดซับ คอมแพกต์ แต่หมายรวมถึงตลาดรถยนต์นั่งทั้งหมดก็เป็นได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.