เลห์แมนฯ สอย FIF ร่วง คนถือหน่วยเจ็บหนักอัตราแลกเปลี่ยนตัวการหลักทำขาดทุน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

คนถือหน่วยลงทุน FIF ช้ำ วิกฤติเลห์แมนฯ กระทบมูลค่าหน่วยลงทุน คนกองทุนรวมยันงานนี้เจ็บจริง เหตุต้องถือจนครบกำหนด ไร้ทางออก ยอมรับอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลต่อมูลค่าหน่วยที่ลดลง แนะต้องทำใจ

วิกฤตเลห์แมนบราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเมื่อ 15 กันยายนที่ผ่านมา รวมถึงสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่ออกอาการเดียวกัน จนธนาคารกลางสหรัฐต้องเข้ามาอุ้มกิจการเหล่านี้

แม้เงินลงทุนโดยตรงของเลห์แมนฯ ในเมืองไทยจะมีไม่มาก ผลกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินในประเทศไทยจึงน้อยตามไปด้วย

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อทั่วโลกและประเทศไทย โดยเฉพาะทิศทางการลงทุนและเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลออกจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยไปก่อนหน้านี้แล้วกว่า 1.2 แสนล้านบาท จากการขายหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนลงไปใกล้แตะระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์

หน่วยงานของรัฐต่างออกมาปลอบนักลงทุนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวกระทบต่อนักลงทุนไทยไม่มากนัก โดยเฉพาะนักลงทุนที่ลงทุนในต่างประเทศผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนต่างประเทศ(FIF) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ได้ออกมาชี้แจงว่ามีกองทุน FIF ลงทุนในเลห์แมนฯ น้อยมาก เพียงแค่ 58 ล้านบาทจากมูลค่า FIF รวม 4 แสนล้านบาท

จากข้อมูลที่ ก.ล.ต. ชี้แจงเมื่อ 22 กันยายนที่ระบุว่ามูลค่ากองทุนรวม FIF มี 4 แสนล้านบาทนั้น แต่ข้อมูลของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน 29 สิงหาคม 2551 พบว่ามูลค่าของกองทุนรวม FIF มี 313 กองเหลือเพียง 3.61 แสนล้านบาทเท่านั้น และข้อมูลเมื่อ 19 กันยายน มีกองทุน FIF จำนวน 327 กอง มูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 3.69 แสนล้านบาท

ค้านข้อมูล ก.ล.ต.

แหล่งข่าวจากวงการกองทุนรวมกล่าวว่า ข้อมูลที่ ก.ล.ต. ระบุว่า FIF มี 4 แสนล้านบาทนั้น ตัวเลขนี้อาจจะไม่ทันสมัย ปัจจุบันมูลค่าหน่วยลงทุนของได้ปรับลดลงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก หากยึดตัวเลขที่มี FIF ของไทยไปลงทุนในเลห์แมนฯ นั้นมีน้อยจริง แต่ไม่ได้หมายความว่า FIF กองอื่น ๆ จะไม่ได้รับผลกระทบ ไม่เช่นนั้นมูลค่าสินทรัพย์ของ FIF คงไม่หายไปราว 4 หมื่นล้านบาท

เขาอธิบายต่อไปว่า กองทุน FIF ที่ไปลงทุนในต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ แต่ในรายละเอียดที่ลึกลงไปนั้นต้องไปดูว่าเป็นการเข้าไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาลโดยตรงหรือไม่หรืออาจเข้าไปซื้อต่อจากผู้อื่น ที่จะต้องจ่ายสูงกว่าราคาหน้าพันธบัตร

แม้พันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศจะมีความมั่นคงสูง แต่เมื่อเกิดความตื่นตระหนกของกองทุนสหรัฐที่ต้องการขายพันธบัตรออกมาย่อมกระทบต่อมูลค่าของพันธบัตรนั้น ๆ ใครที่ยังถือพันธบัตรนั้นอยู่ย่อมต้องถูกกระทบจากมูลค่าของพันธบัตรที่ลดลงไปด้วย

นอกจากนี้กองทุน FIF ยังต้องคำนวณส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนเข้าไปด้วย ซึ่งต้องกลับไปดูว่าแต่ละกองทุนมีการซื้อสัญญาคุ้มครองความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้ามีทำแค่บางส่วนหรือทำทั้งหมด และทำไว้ที่ระดับใด บางกองทุนมีการลงทุนที่ข้ามสกุลเงินถึง 2 สกุล ย่อมทำให้เสี่ยงต่อการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน

ตอนนี้ยังตอบอะไรยาก เนื่องจากกองทุน FIF มีมากกว่า 300 กอง และข้อมูลในการประกาศมูลค่าหน่วยลงทุนก็ล่าช้า และแต่ละกองก็มีเงื่อนไขในการลงทุนที่แตกต่างกันไป แม้ว่าบางแห่งอาจจะไม่ถูกกระทบจากผลตอบแทนที่ได้จากการถือพันธบัตรแต่อาจจะไปขาดทุนจากตัวอัตราแลกเปลี่ยนได้

หากนับตั้งแต่ต้นปีที่ค่าเงินบาทอยู่แถว ๆ 30 บาทต่อดอลลาร์ ขณะนี้เงินบาทเคลื่อนไหวราว 34-35 บาท ถือว่าเปลี่ยนแปลงไป 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงนั้นย่อมส่งผลต่อมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุน FIF

FIF และ LTF โดน

เมื่อถามว่าเมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไร คำตอบคือต้องรออย่างเดียว รอให้สถานการณ์ดีขึ้นเท่านั้น เนื่องจาก FIF เป็นกองทุนปิด ต้องรอให้ครบกำหนดก่อนจึงจะไถ่ถอนได้ ส่วนจะเจ็บตัวมากหรือน้อย ซึ่งโอกาสพลิกมาเป็นกำไรก็อาจมีแต่คงน้อย เนื่องจากกองทุน FIF ส่วนใหญ่มักจะมีอายุสั้น ๆ ระยะเวลาไม่ยาวพอที่จะทำให้สถานการณ์ในสหรัฐพลิกกลับมาดีวันดีคืนได้

ที่ผ่านมากองทุน FIF ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้และกองทุนพันธบัตรรัฐบาลออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยในประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเกือบทุกแห่งจึงเร่งออกกองทุนประเภทนี้ออกมาตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า

ในระยะหลังกองทุน FIF ลดระดับความน่าสนใจลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันและต้นทุนค่าครองชีพ พันธบัตรรัฐบาลของไทยเริ่มปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นจนใกล้เคียงกับพันธบัตรต่างประเทศ อีกทั้งธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งต้องเร่งระดมเงินฝากหลังจากที่พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ จึงได้ปรับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น

ผู้บริหารกองทุนรวมรายหนึ่งกล่าวว่า ไม่เพียง FIF ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินที่สหรัฐ แต่กองทุนรวมอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารทุนหรือลงทุนในตลาดหุ้นทั้งกองทุนปกติและกองทุนรวมหุ้นระยะยาว มูลค่าหน่วยลงทุนปรับลดลงเป็นส่วนใหญ่ จะมากหรือน้อยขึ้นกับความสามารถในการบริหารของแต่ละแห่ง แต่ถึงอย่างไรด้วยข้อกำหนดที่เน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลัก จึงหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ยาก

“ขณะนี้คงต้องรอให้บรรยากาศการลงทุนดีกว่านี้ และหวังว่านักลงทุนต่างประเทศจะกลับเข้ามาลงทุนอีกในระยะเวลาอันใกล้”

ดอกเบี้ยไร้ทิศ

ขณะเดียวกันวิกฤตทางการเงินของสหรัฐที่กระทบต่อประเทศไทยยังมีอีกนั้นคือทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศว่าจะไปในแนวทางใด

แหล่งข่าวจากวงการธนาคารกล่าวว่า ถ้าประเมินในเวลานี้ตอบได้เลยว่าดอกเบี้ยมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดลง เริ่มจากที่สหรัฐเองที่ต้องลดดอกเบี้ยเพื่อฟื้นสถานการณ์ในประเทศของเขา เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ดอกเบี้ยมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น รวมถึงนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่ต้องการเห็นดอกเบี้ยลง

แต่สิ่งที่น่ากังวลเช่นกันคือ การไหลออกของเงินต่างชาติ เนื่องจากมีผลต่อค่าเงินบาทที่ย่อมต้องอ่อนค่าลง ว่ารัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังจะมองปัญหานี้อย่างไร หากต้องการรั้งเม็ดเงินเหล่านี้ไว้ก็คงจะปรับดอกเบี้ยลงได้ไม่มาก ดังนั้นคงต้องรอประเมินสถานการณ์และท่าทีของรัฐบาลอีกครั้ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.