ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ บทบาทใหม่

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เขาเป็นคนทำงานเชิงยุทธศาสตร์ในภาคราชการมากว่า 20 ปี เมื่อก้าวมาสู่ภาคเอกชนครั้งแรก ย่อมเป็นงานที่มีความหมายกับเขาพอสมควร

ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจมาทำงานกับคนที่คุ้นเคยและเข้าใจกันดี ไม่เพียงแนวคิดและอุปนิสัย เขายังมีความแนบแน่นระดับรากเหง้า แม้ทั้งสองจะกล่าวเหมือนกันว่า เป็นญาติห่างๆ แทบจะไม่เรียกว่าญาติ แต่พิจารณาจากสาแหรกและบุคลิกแล้ว ทั้งสองใกล้ชิดกันมากทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นอายุยังรุ่นราวคราวเดียวกัน ทั้งสองเกิดปี 2496 ปีเดียวกัน เพียงแต่บัณฑูรเกิดต้นปี ปิยสวัสดิ์เกิดกลางๆ ปี "รู้จักกันตั้งแต่ยังเด็ก" ปิยสวัสดิ์ยอมรับขณะที่บัณฑูรบอกว่ามารดาของปิยสวัสดิ์เป็นครูสอนภาษาอังกฤษก่อนที่เขาจะไปเรียนเมืองนอก (มารดาปิยสวัสดิ์ เรียนหนังสือเก่งมาก เรียนจบประวัติศาสตร์จาก Oxford University รายละเอียดหาอ่านใน www.gotomanager.com) หลังจากนั้นแยกย้ายกันไปคนละทาง คนหนึ่งไปสหรัฐฯ เรียนที่นั่นเกือบ 10 ปี อีกคนไปเรียนที่อังกฤษนานถึง 12 ปี คนหนึ่งทำงานธุรกิจ อีกคนรับราชการ

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ลาออกจากราชการตำแหน่งสุดท้ายคือรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุที่ความเห็นของเขาไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องพลังงานบางประการ "ผมเคลียร์งานจนถึงวันสุดท้าย แล้วมาทำงานที่นี่" เขาเล่าถึงช่วงต่อของอาชีพที่ไม่มีโอกาสได้พัก

ปิยสวัสดิ์เริ่มงานในตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทจัดการกองทุนรวมกสิกรไทย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2546 โดยใช้เวลาตัดสินใจเพียงสัปดาห์เดียว หลังจากได้รับการทาบทามจากบัณฑูร ล่ำซำ "ผมมาเป็นประธานเต็มเวลา เพราะแต่ก่อนไม่เคยมีประธานเต็มเวลา คนอื่นๆ ก่อนหน้านี้ไม่ใช่งานเต็มเวลา สมัยก่อนนั้นก็จะเป็นคุณบรรยง ล่ำซำ สมัยนั้นยังไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งในธนาคาร และบริษัทหลักทรัพย์จัดการการลงทุน ต่อมามีกฎหมายใหม่ออกมา ก็ต้องแยกกัน ประธานคนอื่นๆ ต่อมาไม่ได้เป็นประธานเต็มเวลา" เขาขยายความถึงบทบาทใหม่ของเขาที่ย่อมไม่ธรรมดา

บางส่วนของบทสนทนาระหว่าง "ผู้จัดการ" กับปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ที่สำนักงานบริษัท ในขณะที่การตกแต่งยังไม่เรียบร้อย บทสนทนาข้างล่างนี้ ย่อมจะทำให้ภาพเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ของธนาคารกสิกรไทยเชิงขยายมากขึ้น

- มีอะไรเป็นพิเศษที่คุณปั้น (บัณฑูร ล่ำซำ) ขอให้มาดูแล

เรื่องแรก อยากให้มาดูภาพรวม เพราะผมเคยดูเรื่องเศรษฐกิจส่วนรวมมาก่อน คุ้นเคยกับเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ เรื่องการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจส่วนรวม เพราะงานด้านการลงทุนนั้น เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจส่วนรวมค่อนข้างจะมาก

เรื่องที่ 2 บอกว่าผมเป็นคนที่จบคณิตศาสตร์มา การลงทุนจะต้องดูเรื่องการบริหารความเสี่ยง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ก็น่าจะมาช่วยในเรื่องของความเสี่ยงได้

เรื่องที่ 3 เห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากคือ good governance เรื่องของการดำเนินงานที่โปร่งใส ไม่ใช้ข้อมูลภายในไปหาผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะว่าเป็นกองทุนที่ใช้ระบบการลงทุนที่เอาเงินของคนอื่นไปลงทุน ของคนที่มาซื้อหน่วยลงทุน จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก จึงขอให้ผมเข้ามาดูแลจุดนี้เป็นพิเศษ ไม่ได้หมายความว่าที่นี่มีปัญหานะ ที่นี่ดีอยู่แล้วเพียงแต่เพื่อความสบายใจ เพื่อความมั่นใจของผู้ลงทุนเป็นประเด็นที่ต้องการให้ผมเข้ามาดูแลเป็นพิเศษ

- เท่าที่ศึกษา Portfoilo ของ บลจ.กสิกร ดูเหมือนการบริหารสินทรัพย์ที่มาจากวิกฤติเศรษฐกิจ มีสัดส่วนมากที่สุด

จะมีกองทุนพิเศษที่ถือ SLIPS ของธนาคารกสิกรไทยอยู่จำนวนหนึ่ง ประมาณ 4 หมื่นล้าน ขณะเดียวกันกองทุนอื่นก็มี SLIPS หรือ CAPS เหมือนกัน อย่างเอเจเอฟ เขาก็มีของธนาคารกรุงศรีอยุธยา บัวหลวงก็มีของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งพอ SLIPS ครบกำหนดต้นปีหน้า ก็เป็นจุดที่เราจำเป็นที่จะต้องหาสินค้าอื่นทดแทน เพราะว่าคนที่ถือ SLIPS อยู่ตอนนี้ ก็คงต้องคิดหนักอยู่เหมือนกันว่า จะเอาเงินที่จะได้กลับมาถึง 4 หมื่นล้านบาทนี้ไปทำอะไร และขณะนี้คนที่ถือ SLIPS อยู่ก็ได้ดอกเบี้ยค่อนข้างสูงมาก เรามีความจำเป็นที่จะต้องหาสินค้าอื่นเข้าไป ที่จะดึงเงินจำนวนนี้ เพื่อเก็บรักษาเอาไว้ หรืออาจจะพยายามดึง SLIPS หรือ CAPS ของคนอื่นที่จะหมดอายุใน 1-2 ปีนี้ เข้ามาด้วยก็ได้

- คุณปั้นก็ดูเหมือนจะให้ความสำคัญตรงนี้ เพราะตัวนี้เป็นตัวที่ทอนกำไรของแบงก์แต่ละปีไปมาก ก็พยายามจะปลด ทางนี้มีส่วนในการให้คำแนะนำอะไรบ้าง

นี่คือสิ่งที่คงจะต้องทำกันมากขึ้น คือคงจะต้องคุยกันมากขึ้น ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า เพราะว่าลูกค้าในขณะนี้ ก็คงต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ลูกค้าจำนวนหนึ่งมีความรู้สึกไม่ค่อยดีกับกองทุนรวม เพราะว่าซื้อไว้ตั้งแต่สมัยตลาดหุ้นราคาดีมาก แล้วตอนนี้พอราคามันตกลงมา ก็มีความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีฝังใจอยู่ ในขณะนี้ดอกเบี้ยต่ำมาก คนฝากเงินมีจำนวนมากเงินฝากมันทั้งหมด 5 ล้านล้านบาท ในขณะที่การลงทุนในกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนส่วนบุคคลรวมทั้งหมดมีเพียง 8 แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น จึงมีโอกาสมาก ที่จะดึงเงินจากเงินฝาก มาลงทุนในกองทุนรวม นี่คือภาพรวมทั่วไป และก็ในหลายๆ ประเทศ เงินที่มาลงในกองทุนลักษณะนี้ มันมีมากกว่าเงินฝากธนาคาร

ถ้าดูภาพรวมแล้ว โอกาสที่ธุรกิจกองทุนรวมจะเติบโตต่อไปมีมาก ดอกเบี้ยเองก็ต่ำมาก ผู้ฝากเงินก็ไม่ค่อยได้รับประโยชน์ ธนาคารก็ไม่ค่อยต้องการเงินฝาก เพราะฉะนั้นที่เราคุยกัน ตกลงกันชัดเจนว่า เราคงจะต้องคุยกันมากขึ้น เพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ร่วมกัน ที่จะจูงใจให้มีการลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้น และเป็นการแบ่งเบาภาระของธนาคารต่างๆ ด้วย

- กองทุนที่บริหารเงินทุนส่วนบุคคลก็ดูเหมือนจะมีสัดส่วนไม่น้อยของ บลจ.กสิกร

กองทุนส่วนบุคคลก็เป็นตัวที่สำคัญ กองทุนส่วนบุคคลจะมีลูกค้าใหญ่ๆ อยู่ 2-3 ราย ที่เอาเงินก้อนใหญ่มาให้เราบริหาร ก็มี กบข.รายใหญ่ที่สุด และก็มีกองทุนประกันสังคม ที่เหลือก็เป็นธุรกิจ บริษัท มูลนิธิ และอาจจะเป็นบุคคลธรรมดาที่มีเงินมาก ที่ตั้งเป็นกองทุนส่วนบุคคล

- สัดส่วนก็ไม่น้อย

สัดส่วนไม่น้อย แต่ผมว่ายังน้อยเกินไป ผมว่าควรที่จะพยายามดึงคนที่มีฐานะดีให้เข้ามามากขึ้นยกตัวอย่างง่ายๆ อันนี้คือสิ่งที่เราได้คุยกับกสิกรแล้ว คือนอกจากเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีการพัฒนาร่วมกัน แต่เรื่องของการตลาดนั้นเราก็อาศัยกสิกรพอสมควร แต่ในขณะเดียวกันเราก็มีตัวแทนขายอื่นด้วย ที่เป็นธนาคารต่างชาติ สถาบันการเงินอื่น แต่กสิกรขณะนี้ก็ยังเป็นผู้ขายหน่วยลงทุนมากที่สุด ก็อาจจำเป็นต้องมีการปรับกลยุทธ์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น และเน้นลูกค้าที่มีเงินเยอะให้มากขึ้น เป็นต้น เพราะอย่างธนาคารกสิกรนี่มีลูกค้าอยู่ 5,000 ราย ที่มีเงินฝากธนาคารเกิน 10 ล้านบาท จุดนี้ก็น่าจะเป็นกลุ่มสำคัญที่สามารถจะดึงเข้ามา โน้มน้าวเข้ามาให้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม หรืออาจจะเป็นกองทุนส่วนบุคคลได้

- ตอนนี้เริ่มทำหรือยัง
ตอนนี้ก็เริ่มคุยกันแล้ว และคงต้องเร่งดำเนินการให้มันเร็วขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วมากขึ้น

- ส่วนกองทุนเปิดทั่วไปก็คงจะเกิดมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนจะไม่ค่อยมีอะไรใหม่ๆ
ผลิตภัณฑ์ใหม่ก็คงต้องออกมา เพราะว่าลูกค้าเองก็คงอยากเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังเร่งกันอยู่ตอนนี้ก็คือเร่งที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา ผลิตภัณฑ์ที่เราอยากจะเห็นก็คือกองทุนประเภทประกันเงินต้น หรือว่าคุ้มครองเงินต้น เพราะว่าผู้ฝากเงิน หรือคนที่มาลงทุนจำนวนหนึ่งก็เจ็บตัวจากภาวะเศรษฐกิจในปี 2540 กองทุนที่เราคิดอยู่ ที่อยากออกมาคุ้มครองเงินต้น ก็คือรับประกันว่าเวลาที่ครบอายุแล้ว เงินที่อยู่ในกองทุนมันจะไม่น้อยไปกว่าเมื่อครั้งลงทุนตั้งแต่ตอนแรก เพราะฉะนั้นที่ว่าลงทุนไป 100 บาทแล้วในที่สุดเหลือ 50 บาทนั้นจะไม่มี แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะถ้าหากตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีสูงขึ้น ก็มีโอกาสสูงที่มูลค่าของกองทุนจะเพิ่มขึ้นมามากขึ้นด้วยตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ แต่ถ้าเผื่อสภาพตลาดทั่วไปไม่ดี อย่างน้อยก็ไม่ขาดทุน

อันนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เรากำลังคิดอยู่ในขณะนี้ และขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการหารือกับทางกสิกร และเมอร์ริล ลินช์ (กสิกรไทยถือหุ้นอยู่ 49%) ที่จะเร่งให้มีกองทุนลักษณะนี้ออกมา ซึ่งกองทุนนี้ก็จะต้องลงทุนในพันธบัตร ตราสารหนี้ และลงทุนในหุ้น แต่ว่าจะมีกลยุทธ์ในการที่จะซื้อหุ้น และขายหุ้นที่จะรับประกันว่า อย่างน้อยเวลาที่ครบอายุของกองทุนแล้ว เงินที่เหลืออยู่จะไม่ต่ำไปกว่าเงินต้นที่มีการลงทุนลงไป

- เรียกว่ามีนโยบายในเชิงรุกมากขึ้น จากนี้ไป ก็ต้องรุกมากขึ้น และรุกอย่างเร็วด้วย เพราะคู่แข่งเขา aggressive มาก เรามามองถึงสภาพทั่วไปเงิน 5 ล้านล้านบาทที่อยู่ในเงินฝาก เทียบกับ 8 แสนล้านบาท ที่อยู่ในกองทุน 8 แสนถือว่าน้อยมาก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.