|

วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ผลักตลาดหุ้นกู้ในประเทศเฟื่อง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(29 กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
สมาคมตลาดตราสารหนี้ระบุ วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐ สะเทือนบริษัทไทยที่จะไปออกหุ้นกู้ในต่างประเทศ เหตุต้นทุนพุ่งและเสี่ยงถูกดาวน์เกรด ส่งผลให้อาจต้องหันกลับมาระดมเงินในประเทศแทน
ณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ผลจากวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรง และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป
ผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนในต่างประเทศแทบจะปิดสนิท ส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่ของไทยออกไประดมทุนในต่างประเทศได้ยากขึ้น จึงต้องหันมาระดมเงินทุนด้วยการออกหุ้นกู้ในประเทศแทน
นอกจากนี้ปัญหาการเมือง ทำให้ต้องจับตาดูว่าประเทศไทยจะถูกลดอันดับเครดิต (Down Grade) ลงมาในอนาคตหรือไม่ จากปัจจุบันมีอันดับเครดิตที่ BBB หากมีการปรับลดอันดับเครดิตลงมาเหลือ BBB- ซึ่งเป็นเครดิตต่ำสุดในส่วนของตราสารหนี้ที่ลงทุนได้ (Investment Grade) นั้น จะส่งผลต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอนของบริษัทเอกชนไทยที่จะไปออกตราสารหนี้ในต่างประเทศ
เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ถ้าจะไปออกจะต้องออกเป็นตราสารหนี้ที่ในระดับของตราสารที่เก็งกำไร (Speculate Grade) ซึ่งจะมีต้นทุนที่สูงมากเพราะส่วนต่าง (Spread) ที่จะต้องบวกเพิ่มเข้าไปในตราสารหนี้ที่เป็น Investment Grade กับ Speculate Grade ต่างกันมาก อาจจะทำให้บริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้หันมาออกตราสารหนี้ในประเทศมากขึ้นได้
"อันดับเครดิตของบริษัทเอกชนไม่มีทางจะสูงกว่าอันดับความ น่าเชื่อถือของประเทศเมื่อประเทศ ถูกลดอันดับการออกหุ้นกู้ขายในต่างประเทศจะมีต้นทุนสูง จึงมีโอกาสจะหันมาระดมทุนในประเทศแทน”
นอกจากประเทศไทยจะเผชิญกับปัจจัยภายนอกแล้ว ยังมีปัญหาการเมืองอีก ซึ่งปัจจัยการเมืองมีผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้แน่นอน หากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ว่าจะออกมาอย่างไรแล้วไม่มีการสานต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีหน้า อาจเติบโตแค่ 2-3%
อย่างไรก็ตามจากปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐที่กดดันทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลก ส่งผลดีทำให้คนหันมาลงทุนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น เพราะมีความปลอดภัยมากกว่าถือเป็นปัจจัยบวกหนึ่งเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันบริษัทเอกชนมีการออกหุ้นกู้แล้วจำนวน 1.52 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับปี ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ มีการเสนอขายมากที่สุด ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท
โดยระหว่างเดือน กันยายน-ตุลาคมนี้มี 3 บริษัท วางแผนจะออกหุ้นกู้คือ บมจ. ควอลิตี้ เฮ้าส์ (QH) 2,000 ล้านบาท บล.ภัทร 1,000 ล้านบาท และบมจ. ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) 7,500 ล้านบาท
หากพิจารณาในแง่ของยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ณ ปัจจุบันมีจำนวน 8.3 หมื่นล้านบาท เทียบกับเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมียอดคงค้างสูงสุด 9.1 หมื่นล้านบาท ก็เท่ากับว่านักลงทุนต่างชาติมีการขายออกมาเพียง 8,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับการขายในตลาดหุ้นที่มีมากถึงกว่า 1.15 แสนล้านบาท
สำหรับการที่สถาบันการเงินในสหรัฐประสบปัญหามีตัวเลขขาดทุนแสดงให้เห็นแล้วประมาณ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะนี้ได้มีการเทขายหุ้นทั่วโลกไปแล้ว 3.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังขาดเม็ดเงินอีก 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้จะเห็นการขายสินทรัพย์อื่นๆ นอกประเทศสหรัฐตามมาเพื่อนำเงินไปชดเชยความเสียหายดังกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|