2บลจ.โอดเอยูเอ็มหดลดเป้าระดมทุนทั้งปี


ผู้จัดการรายวัน(29 กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

2 บลจ. ยอมรับเอยูเอ็มหดตัว พลาดเป้าหมายระดมทุนทั้งปี "กรุงไทย" เผย 8 เดือนสินทรัพย์ลดลงถึง 26% หลัง ECP ทยอยครบอายุ ประกอบกับเสียลูกค้ารายใหญ่ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ "สมชัย" ระบุ เตรียมปรับเเผนส่งกองตราสาหนี้ พร้อมหาลูกค้ารายใหญ่ป้อนกองทุนสำรองฯเพื่อ หวังกระตุ้นยอดช่วงปลายปี ด้าน "ยูโอบี" รับสงครามเงินฝากยังไม่จบ เตรียมปรับลดเป้าทั้งปีเหลือ 8.5-9 หมื่นล้าน เตรียมเเก้เกมออกสตรักเจอร์โน้ต-FIF รองรับสถานการณ์ลงทุนทั่วโลกฟื้นตัว

นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ) กรุงไทย จำกัด เปิดเผยว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ของบลจ.ลดลงเเละไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ ซึ่ง 8 เดือนเเรกสินทรัพย์ลดลงถึง 26% เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงของบริษัท มีลูกค้ารายใหญ่อย่าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคออกจากกองทุน ทำให้มูลค่าทรัพย์สินฯลดลง ประกอบกับกองทุนที่ลงทุนในตราสารทางการเงินของสถาบันทางการเงินในต่างประเทศหรือ ECP ทยอยหมดอายุลง โดยทางบลจ.ได้หากองทุนตราสารหนี้ใหม่ทดเเทนกองทุน ECP ที่หมดอายุลงเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้อยากจะลงทุนต่อ สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเราจะมีการปรับเเผนการให้บริการกับลูกค้า เช่นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน เป็นต้น ประกอบกับเราจะใช้ทีมงานทางการตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ถูกต้อง เเละใช้จุดเด่นเรื่องการให้บริการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับบริษัทใหญ่เป็นตัวขายอีกด้วย

"เรามองว่าภายในเดือนนี้ น่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนภายในบลจ.ประมาณ 3-4 พันล้านบาท เพราะไม่มีกองทุน ECP ที่ครบอายุเเล้วซึ่งเราจะได้เงินจำนวนใหม่เข้ามาอย่างเเท้จริง ขณะเดียวกันเราจะออกองทุนตราสารหนี้ให้มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุน เเละตอนนี้ทางกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ติดต่อให้ไปเสนองานเกี่ยวกับกองทุนส่วนบุคคล คาดว่าสิ้นปีนี้AUM น่าจะตีกลับมาเป็น1เหมือนเดิม"

ทั้งนี้ นายสมชัย กล่าวถึงกรณีที่นาย ธีรพันธุ์ จิตตาลาน รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน ลาออกเเละย้ายไปดำรงตำเเหน่งกรรมการผู้จัดการ บลจ.นครหลวงไทย เเทนว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีเเต่ทางเราก็ยังเสียดายที่ต้องเสียมือดีทางด้านการบริหารไป ส่วนเรื่องที่จะสรรหาผู้มาดำรงตำเเหน่งเเทนนั้น ทางเราก็กำลังดูอยู่ โดยคุณสมบัติเเรกที่พิจราณาคือต้องมีความสามารถเข้ามาสานต่องานที่ นายธีรพันธ์ ดำเนินงานไว้ เเละที่สำคัญผู้ที่เข้ามาใหม่ต้องมีความชำนาญเรื่องตราสารอนุพันธ์ อีกด้วย

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ยูโอบี (ไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทเตรียมปรับลดเป้าหมาย AUM ปีนี้ลงเหลือ 8.5-9 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ได้ตั้งไว้ที่ 1.1-1.2 แสนล้านบาท เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันระดมเงินฝากกันอย่างรุนแรง และมีการออกตั๋วแลกเงิน (B/E) มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เม็ดเงินไหลเข้าไปยังธนาคารพาณิชย์มาก โดยปัจจุบันสินทรัพย์สุทธิทั้งระบบของอุตสาหกรรมกองทุนรวมยังคงนิ่ง และสินทรัพย์ไม่ได้มีการปรับขึ้นไป

นอกจากนี้ การที่ธนาคารพาณิชย์ยังมีการเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษมาให้ลูกค้า และการออกตั๋วแลกเงินที่มีข้อได้เปรียบตรงที่ไม่ต้องมีการจ่ายเงินสมทบเข้ายังกองทุนฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือสถาบันประกันเงินฝากประมาณ 0.4% ทำให้สามารถลดต้นทุนในส่วนนี้ได้ประมาณ 40 สตางค์ และนำส่วนต่างไปเสนอเป็นอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่บริษัทได้มีการปรับลดวงเงินซื้อกองทุนขั้นต่ำจาก 1 หมื่นบาท เหลือ 2 พันบาท และในการซื้อครั้งต่อไปจาก 5 พันบาท เหลือเพียง 1 บาท ทำให้ลูกค้าซื้อได้มากขึ้น แต่ไม่ได้มีผลมากนัก เนื่องจากนักลงทุนต้องการลงทุนอยู่แล้ว แต่จะเป็นการขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น และเป็นประโยชน์กับนักลงทุนที่ไม่เคยลงทุนให้เข้ามาทดลองลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีและมีความปลอดภัยสูง

นายวนา กล่าวว่า กองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลี (UOBSD) ในช่วงที่ผ่านมามีเม็ดเงินไหลออกในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาประมาณ 2-3 พันล้านบาท ขณะที่มีเม็ดเงินไหลกลับเข้ามากองทุนดังกล่าวเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้บริษัทเตรียมปรับลดเป้าหมายสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของกองทุนดังกล่าวเหลือ 3.5 หมื่นล้านบาท จากที่เคยตั้งเป้าหมายของกองทุนล่าสุดไว้ที่ 7 หมื่นล้านบาท ภายในสิ้นปี 2551ทั้งนี้ ปัจจุบันเริ่มมีเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาวันละประมาณ 0.5-1 ร้อยล้านบาท

ทั้งนี้ จากปัญหาสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกา (ซับไพรม์) ที่ประสบกับทั่วโลกในปัจจุบัน ทำให้คนทั่วไปหันไปฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้น และหากธนาคารพาณิชย์มีการชะลอการระดมเงินฝากแล้ว บริษัทจะเริ่มกลับมาทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และให้ความรู้กับประชาชนว่ามีกองทุนที่มีความเสี่ยงน้อย และสามารถให้ผลตอบแทนที่ดี โดยเมื่อเปรียบเทียบกับเงินฝากบัญชีออมทรัพย์แล้วมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเตรียมออกกองทุนที่มีนโยบายลงทุนซับซ้อนมากกว่ากองทุนตราสารหนี้ เช่น กองทุนประเภทคุ้มครองเงินต้นที่อ้างอิงผลตอบแทนกับดัชนีราคาสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง (สตรักเจอร์โน้ต) และกองทุนที่เน้นลงทุนในต่างประเทศ (FIF) เป็นต้น โดยเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับหากสถานการณ์ลงทุนทั่วโลกฟื้นตัวดีขึ้น

สำหรับกองทุน UOBSD จะเน้นลงทุนในลงทุนในตราสารแห่งหนี้ภาครัฐ ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน และเงินฝากธนาคาร ทั้งนี้ จะไม่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือตราสารที่เสนอขายในต่างประเทศ ตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structured Notes) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivative)

ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนของกองทุนดังกล่าว ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2551 ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 96.90% ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงิน 2.90% และลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ อีก 0.21%

ส่วนรายชื่อผู้ออกหลักทรัพย์ 10 อันดับแรก ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2551 ได้แก่ 1.ธนาคารยูโอบี จำกัด ( มหาชน ) 2.11% 2.ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น เอ 0.72% 3.ธนาคาร คาลิยง 0.04% 4.บมจ. ธนาคารทิสโก้ 0.02% 5. บมจ. ธนาคาร ธนชาต 0.01% 6. ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงก์กิ้งคอร์เปอร์เรชั่น 0.00% และลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน 96.90%

สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุน ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2551 สามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.81% ขณะที่ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.50% และผลตอบแทนจากดัชนีกองทุนตราสารหนี้ย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 5.02% ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 2.93% ขณะที่ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 2.72% และผลตอบแทนจากดัชนีกองทุนตราสารหนี้ย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 10.91%

ผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 2.81% ขณะที่ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 2.54% และผลตอบแทนจากดัชนีกองทุนตราสารหนี้ย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 2.77% ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 2.76% ขณะที่ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 2.45% และผลตอบแทนจากดัชนีกองทุนตราสารหนี้ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 3.92%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.