|
ตลาดหุ้นลุ้นแผนฟื้นการเงินUS การเมืองร้อนกดดันนักลงทุน
ผู้จัดการรายวัน(29 กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดหุ้นไทย ลุ้นทางการสหรัฐฯ อนุมัติแผนแก้วิกฤตสถาบันการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่โบรกเกอร์ ชี้หากทางการไฟเขียวจะช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นทั่วโลก พร้อมแนะนำให้ชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจนก่อน หรือขายทิ้งหากราคาหุ้นขึ้น ด้านบล.บัวหลวง ระบุการเมืองไม่นิ่งกดดันนักลงทุนไทยขนเงินหนีไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น พร้อมประเดิมล็อตแรก 500 ล้านบาท
บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ นักลงทุนยังคงต้องติดตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นเอเชียว่าจะทางไหน โดยมีปัจจัยหลักๆ คือเรื่องของมาตรการแก้วิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาคองเกรส หลังจากมีการเจรจากับเกือบตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และส่งผลให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคผันผวนในตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน
นางจิตติมา อังสุวรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟาร์อีสท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ คาดว่าจะไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวมากนัก โดยนักลงทุนจะให้ความสำคัญกับมาตรการแก้วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐ ว่าจะผ่านการพิจารณาจากสภาคองเกรสหรือไม่ หากผ่านการอนุมัติจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นเอเชีย ซึ่งจะต่อเนื่องถึงหุ้นไทย แต่หากแผนดังกล่าวไม่ผ่านการอนุมัติจะส่งผลด้านลบต่อภาพรวมการลงทุน
“ขณะนี้นักลงทุนควรชะลอการลงทุน เพื่อรอดูความชัดเจนก่อน โดยให้แนวรับที่ 603-610 จุด และแนวต้านที่ 620 จุด”
นางสาวจิตรา อมรธรรม ผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือSYRUS เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยค่อนข้างเงียบเหงา จากข่าวการที่สภาคอมเกรสของสหรัฐฯ ยังไม่อนุมัติมาตรการแก้ไขปัญหาทางการเงิน กดดันให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมา เพื่อรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนก่อน
ขณะที่สัปดาห์นี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยคงจะปรับตัวในกรอบแคบๆ ท่ามกลางแนวรับที่ 603-610 จุด และแนวต้านที่ 620 จุด โดยปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือผลการพิจารณามาตรการแก้ปัญหาทางการเงินของสหรัฐฯ ส่วนหุ้นที่น่าลงทุนจะเป็นหุ้นกลุ่มส่งออกและสินค้าทางเกษตร เนื่องจากยังมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี
ด้านนักวิเคราะห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดัชนีอาจแกว่งตัวในกรอบแคบในสัปดาห์นี้ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ยังติดตามประเด็นที่สภาคองเกรสจะผ่านความเห็นชอบ เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินช่วยเหลือภาคการเงินของสหรัฐฯ หรือไม่ ขณะเดียวกันยังต้องติดตามปัจจัยภายในประเทศร่วมด้วย โดยเฉพาะการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่
“กลยุทธ์การลงทุนนักลงทุนควรขายหุ้นออกมา เมื่อราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือซื้อเมื่อราคาปรับตัวลดลง ประเมินแนวรับที่ 610-600 จุด แนวต้าน 624-628 จุด”
ขณะที่บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับฐานต่อเนื่องจากสัปดาห์ทีผ่านมา โดยมีปัจจัยหลักคือ การพิจารณาแผนฟื้นฟูภาคการเงินสหรัฐฯ มูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนกันยายนของกระทรวงพาณิชย์ และตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การปรับตัวของตลาดหุ้นในภูมิภาค และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ทั้งนี้ได้ประเมินแนวรับที่ 614 และ 600 จุด และแนวต้านที่ 626 และ 666 จุด ตามลำดับ
นายวิวัฒน์ วิชิตบุญญเศรษฐ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล) บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS เปิดเผยถึง กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศผ่านบริษัทหลักทรัพย์ และกองทุนส่วนบุคคล ว่า ขณะนี้บริษัทมีลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลจำนวน 10 ราย มูลค่ากองทุนประมาณ 500 ล้านบาท สนใจที่จะออกไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมที่จะไปลงทุนต่างประเทศได้ทันที่ แต่ต้องขึ้นอยู่กับจังหวะและราคาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ บริษัทมีลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลทั้งหมดจำนวน 150 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 6,000 ล้านบาท กองทุนส่วนบุคคล 6,000 ล้านบาท
“กองทุนส่วนบุคคลของบริษัทขณะนี้มีขนาด 12,000 ล้านบาท ขณะนี้นักลงทุนสนใจไปลงทุนต่างประเทศมูลค่า 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือนั้นเป็นการลงทุนในประเทศ โดยลงทุนในตราสารหนี้สัดส่วน 80% และลงทุนในตราสารทุน 20% ”
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า การลงทุนในต่างประเทศถือเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยจะได้กระจายความเสี่ยงในการลงทุนจากที่มีสินค้าที่ให้ลงทุนได้มากขึ้น เนื่องจากตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อย เพราะมีขนาดเล็ก และหุ้นขนาดใหญ่ที่จดทะเบียน เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับหุ้นในต่างประเทศ ขณะเดียวกันประเทศไทยมีปัญหาทางด้านการเมือง ทำให้การลงทุนต่างประเทศมีความน่าสนใจในการลงทุนมากกว่าการลงทุนในประเทศ
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า การลงทุนในต่างประเทศในช่วงเริ่มต้นนี้บริษัทแนะนำให้ลูกค้ามีการลงทุนในสินค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ จากภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกที่มีความผันผวนสูง โดยสินค้าที่น่าสนใจลงทุนจะเป็นหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ซื้อขายในต่างประเทศ และมีผลตอบแทนสูง เช่น หุ้นกู้ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง มีผลตอบแทน 8% เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และไม่ต้องเสียภาษีเมื่อรวมกับดอกเบี้ยแล้วจะให้ผลตอบแทน 10% ซึ่งจะมีความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งบริษัทก็จะแนะนำทำประกันความเสี่ยง
นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ เองก็ยังน่าสนใจ อาทิ หุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น ที่มีอัตราผลตอบแทนค่อนข้างสูง พันธบัตรรัฐบาลออสเตรเลีย ที่มีผลตอบแทนสูงถึง 5-6% รวมถึงตลาดหุ้นจีน หลังจากดัชนีปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 2,000 จุด หรือปรับตัวลดจากปลายปี 2550 ถึง 68% PE แค่ 11 เท่า ขณะที่เศรษฐกิจของจีนยังมีแนวโน้มเติบโตถึง 8% เป็นต้น
“การแนะนำลงทุนต่างประเทศของบริษัทนั้นไม่จำเป็นที่จะลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ของบริษัทไทยที่ไปเสนอขายในต่างประเทศ แต่ที่แนะนำให้ลงทุนเพราะ มีผลตอบแทนที่สูง ซึ่งถือว่าเป็นโอกาส แม้เครดิตเรทติ้งของหุ้นกู้ไทยจะไม่สูง แต่ มีความมั่นคงสูงกว่าแบงก์ในอเมริกา และสินค้าที่น่าสนใจลงทุนเช่นหุ้นกู้ของบริษัทญี่ปุ่น และพันธบัตรรัฐบาลออสเตรเลีย ทองคำ และหุ้นต่างประเทศสนใจจากที่มีการปรับตัวลดลงมาก แต่จะต้องระมัดระวังจากที่ปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯยังไม่จบ ”นายวิวัฒน์ กล่าวว่า
สำหรับในปี 2552 บริษัทตั้งเป้าจะมีลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลไปการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มจาก 500 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาท เพราะยังมีหุ้นที่สามารถลงทุนได้อีกกว่า 100 บริษัท ดังนั้นหากปัจจัยการเมืองในประเทศยังไม่คลี่คลายจะทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
“ผลตอบแทนการลงทุนต่างประเทศคาดว่าจะเฉลี่ยปีละ 15% ซึ่งถือเป็นอัตราผลตอบแทนที่ดี แต่ถ้าหากผลตอบแทนไม่ถึง 15% ก็ไม่น่าสนใจที่จะไปลงทุนต่างประเทศ”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|