บัณฑูร ล่ำซำ Role Model

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ต้องยอมรับความจริงว่า ความสนใจของผู้คนในสังคมในเวลานี้ สนใจตัวตนของเขามากกว่าธนาคารกสิกรไทย และดูเหมือนว่าตัวตนของเขาได้แยกออกจากโมเดลธุรกิจของตระกูลล่ำซำมากขึ้นด้วย ถึงอย่างไรก็มีบางคนวิเคราะห์ว่าความสนใจในตัวตนของเขาในเชิงบวก ย่อมจะมีผลดีต่อภาพลักษณ์ของธนาคารกสิกรไทยอย่างมิพักสงสัย เขาเป็นภาพลักษณ์ของความต่อเนื่องของรากเหง้าสังคมไทยและรากฐานธุรกิจเก่าแก่ ที่เอาตัวรอดด้วยจิตวิญญาณของผู้มีความคิดทันสมัย

บัณฑูร ล่ำซำ เพิ่งพิมพ์นามบัตรใหม่ เข้าใจว่าหลายคนคงได้รับแจกไปแล้ว เพราะดูเหมือนเขาจะตั้งใจแจกนามบัตรใหม่นี้มากเป็นพิเศษ ผมก็ได้รับด้วยเช่นเดียวกัน ในวันที่สนทนากันหน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารเป็นครั้งแรกที่นามบัตร (ส่วนใหญ่ใช้กันในวงการธุรกิจ) หรือ business card ของคนไทย ที่ใช้สามภาษาในบัตรเดียวคือไทย อังกฤษ และจีน เชื่อว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยสนใจชื่อจีนของเขา "หวู่ วั่น ทง" อย่างมาก ซึ่งไม่ใคร่จะมีใครรู้จัก

นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงการบริหารครั้งสำคัญล่าสุดของธนาคารกสิกรไทย เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องมาจากการย้ายช้างมาสถิตแทนสิงโต ตั้งศาลใหม่ ด้วยความเชื่อของชาวตะวันออก ก่อนหน้านั้น จนถึงการเปลี่ยนแปลงชื่อภาษาอังกฤษจาก Thai Farmer Bank มาเป็น Kasikorn Bank เพื่อที่โลกตะวันตกที่เป็น Market Force เข้าใจง่ายขึ้น แล้วมาจบเซ็ตที่การเพิ่มชื่อภาษาจีนของธนาคารกลับเข้าไปใหม่ (ความจริง สำนักงานใหญ่แห่งแรกของธนาคาร ที่ถนนเสือป่ากว่า 50 ปีก่อน ก็เคยทำเช่นนี้มาแล้ว) ถึง รวมการเปิดเว็บไซต์และ Call Center ภาษาจีนเพิ่มอีกภาษาหนึ่ง นอกจากไทยกับอังกฤษตามมาตรฐาน คงจะเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ทำเช่นนี้ในการตอบสนองกระแสความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีนที่เข้มข้นขึ้น

ความเคลื่อนไหวที่ดูมีสีสัน และดูเหมือนง่ายๆ เช่นนี้ เมื่อพิเคราะห์แล้วล้วนเป็นความคิดเชิงยุทธ์ในฐานะผู้บริหารที่เป็นผู้นำทางความคิดในสังคมธุรกิจไทยด้วย

บัณฑูร ล่ำซำ เป็นนักวางกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพอย่างลงรายละเอียด เขาปฏิบัติการเชิงรุกด้วยแนวทางใหม่ ก่อนที่สังคมธุรกิจทั่วไปจะตื่นตัว โดยเฉพาะการปรับตัวรวดเร็วเพื่อแก้วิกฤติการณ์ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา การปรับธนาคารอย่างลงลึกและสลับซับซ้อนมากขึ้น แน่นอนย่อมยากที่จะอรรถาธิบาย ผมไม่แปลกใจเลยในงานแถลงข่าวประจำปีที่ผ่านมา ซึ่งมีนักข่าวร่วมงานมากเป็นประวัติการณ์ ในที่นั้นไม่มีใครถามเรื่อง IT outsourcing แม้แต่คนเดียว (โปรดอ่านเรื่องนี้ในล้อมกรอบ) ทั้งๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงในการบริหารเทคโนโลยีครั้งใหญ่ที่สุดในวงการธนาคารไทยและภูมิภาค เรื่องนี้เข้าทำนองเดียวกับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว นิตยสารบางฉบับสัมภาษณ์พิเศษ บัณฑูร ล่ำซำ พอถึงเรื่อง Balance Scorecard บทสนทนาก็จบลงอย่างรวดเร็ว

กลยุทธ์ในการทำเรื่องยากให้ดูง่าย เช่นกรณีที่ธนาคารกสิกรไทยสร้างบริการ eBanking ด้วยคำอธิบายผ่านสุภาพสตรีสาวสวย (TFB e-girl) ไปจนถึงสร้างความรู้สึก หรือความประทับใจต่อธนาคาร กรณีในช่วงที่ธนาคารมีผู้ถือหุ้นต่างชาติ รวมทั้งแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารเป็นชาวตะวันตกนั้น สาขาทุกแห่งของธนาคารกสิกรไทย เริ่มต้นชักธงชาติไทยอย่างพร้อมเพรียงและแข็งขัน ท่ามกลางกระแสต่อต้านตะวันตกในช่วงหลังวิกฤติการณ์จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยกลายเป็นธนาคารที่ได้รับความเข้าใจจากสังคมด้วยดี

กรณีความเคลื่อนไหวล่าสุด ก็น่าจะอรรถาธิบายถึงแนวทางเชิงกลยุทธ์ได้ทำนองเดียวกัน

มิติที่สำคัญมากประการหนึ่งของบัณฑูร ล่ำซำ ในฐานะกรรมการผู้จัดการและเพิ่งได้เป็น CEO อีกตำแหน่ง (เป็นตำแหน่งที่บัญชาเคยเป็นคนแรก) ของธนาคารกสิกรไทย ที่สุดท้ายมาถึงการเปลี่ยนแปลงชื่อและภาพลักษณ์นั้น แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงภายในนั้นผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากไปแล้ว

ปรากฏการณ์ที่สนับสนุนแนวความคิดนี้มีหลายประการ

ท่านผู้อ่านที่ได้อ่านแผนยุทธศาสตร์ 8 ประการ ในการเขียนครั้งก่อนของผมนั้น จะเห็นได้ว่าแรงขับเคลื่อนสำคัญสองประการได้มีกระบวนการแก้ปัญหาไปแล้ว หนึ่ง-ระบบการพัฒนาบุคลากรที่นำเครื่องมือและระบบ Balance Scorecard มาใช้ระยะหนึ่งแล้ว สอง-IT outsourcing มาแก้ปัญหาระบบงานทั้งหมดที่จำเป็นต้องจัดการด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ตามแผนภูมิที่เคยเสนอมาแล้ว (อ่านเรื่อง บัณฑูร ล่ำซำ Change Agent ซึ่งผมเคยเขียนแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา)

ขณะเดียวกัน บัณฑูร ล่ำซำ เริ่มมีบทบาทข้างนอกมากขึ้น ไม่นับรวมตำแหน่งไวยาวัจกร วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดญาณสังวราราม และผู้จัดการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย เมื่อประมาณ 2 ปีมาแล้ว สิ่งที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของธนาคารกสิกรไทย ก็คือภาพรวมนั้นขยายออกสู่ข้างนอก เช่น แผนการเชื่อมโยงเชิงกลยุทธ์ไปถึงบริษัทกองทุนรวมกสิกรไทย

บัณฑูร ล่ำซำ เชื่อในบทบาทที่เสริมซึ่งกันและกัน ระหว่างธนาคารกับกองทุนรวม เขาจึงชักชวนปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นผู้รู้เรื่องและวางแผนยุทธศาสตร์พลังงานของไทยในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา มาเป็นประธานกรรมการบริษัทเงินทุนกองทุนรวมกสิกรไทย เมื่อไม่นานมานี้ (อ่านในล้อมกรอบ)

บัณฑูร ล่ำซำ แสดงบทบาทในการบริหารธนาคารในยุคก่อนและท่ามกลางวิกฤติการณ์ระบบสถาบันการเงินไทย ในช่วง 10 ปีมานี้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ แสดงความเป็นผู้นำความคิดอย่างชัดเจนที่สุดในประวัติศาสตร์ธนาคารไทย ด้วยความเชื่อมั่นและมุ่งมั่นในประสิทธิภาพการทำงานอย่างมาก เขาได้นำความรู้การบริหารแบบตะวันตกเข้ามาจัดการกับกิจการ ระบบครอบครัวไทยอย่างได้ผล ลงลึก ประสมประสานด้วยอำนาจการบริหารแบบเด็ดขาดของผู้นำคนเดียวของตะวันออก ทำให้ธนาคารกสิกรไทยก้าวพ้นความยุ่งยากอย่างหนักไปก่อนธนาคารอื่นๆ ในระบบ

ด้วยแนวคิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพระดับโลก และด้วยมาตรฐานตะวันตก เขาจึงนำธนาคารกสิกรไทยก้าวพ้นจากเครือข่ายธุรกิจตระกูลล่ำซำไปอย่างช่วยไม่ได้ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ตั้งใจแม้แต่น้อย

พิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจไทยที่ยึดธนาคารเป็นแกนในการระดมทุน บริหารเงินของตระกูล เพื่อการขยายอาณาจักรธุรกิจในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ปิดฉากตัวเองอย่างสิ้นเชิงไปแล้วเมื่อปี 2540 บวกกับสถานการณ์ที่คนตระกูลล่ำซำไม่มีความสามารถในการเพิ่มทุนธนาคารในช่วงวิกฤติธุรกิจ ซึ่งเป็นวิกฤติของตระกูลล่ำซำด้วย บัณฑูร ล่ำซำ จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนของต่างชาติ ในที่สุดตระกูลล่ำซำจึงเหลือหุ้นในธนาคารที่บรรพบุรุษของเขาก่อตั้งขึ้นเพียง 6-7% แต่ยังโชคดีที่มีคนตระกูลล่ำซำคนหนึ่งเป็นผู้บริหาร

ในความเป็นล่ำซำ บัณฑูรแตกต่างจากบัญชา ล่ำซำ มากทีเดียว บนพื้นฐานที่เขาเลือกไม่ได้

บัญชา ล่ำซำ เป็นบุตรคนโตของโชติ ล่ำซำ ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของตระกูลด้วย เมื่อบัญชาก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย มีเพียงอาคนเดียวที่ช่วยสนับสนุนเขา คือจุลินทร์ ล่ำซำ โมเดลการสร้างเครือข่ายธุรกิจล่ำซำยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาให้ยิ่งใหญ่ นั่นสอดคล้องกับบทบาทของบัญชา ล่ำซำ อย่างยิ่ง

บัญชาในฐานะผู้ผ่านการศึกษาจากสหรัฐฯ คนแรกของตระกูล ทำให้เครือข่ายความสัมพันธ์กับยุโรปเชื่อมถึงอเมริกา ในช่วงที่อิทธิพลของสหรัฐฯ เข้ามาในภูมิภาคนี้ พร้อมๆ กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องถึง 3 ทศวรรษทีเดียว บัญชามีบทบาทผู้นำตระกูล ผู้นำในการสร้างเครือข่ายธุรกิจตระกูลอย่างยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายการเงินที่ใหญ่ที่สุด* เครือข่ายอุตสาหกรรมร่วมกับธุรกิจตะวันตกที่ใหญ่ที่สุด** ตระกูลล่ำซำอยู่ในแกนกลางสังคมไทย มีธุรกิจที่สานสัมพันธ์กับตระกูลใหญ่ เช่น หวั่งหลี ยิบอินซอย ร่วมทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ความจริงก็คือตระกูลล่ำซำ เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการตลาดหุ้นที่มีบริษัทจดทะเบียนมากที่สุดตั้งแต่ปี 2518-2537 เกือบๆ 20 บริษัท***

บัณฑูร ล่ำซำ เข้ามาบริหารธนาคารกสิกรไทย ภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างจากบิดา ท่ามกลางแรงกดดันอย่างสูง แม้เขาจะเป็นบุตรชายคนโตของบัญชา ในฐานะผู้นำตระกูล แต่เขาต้องอยู่ท่ามกลางแวดล้อมของผู้อาวุโส โดยเฉพาะบรรดาอาๆ ที่มีถึงประมาณ 10 คน ซึ่งแต่ละคนมีกิจการที่ต้องดูแลของตนเองอย่างมั่นคงอยู่แล้ว ความจริงอีกประการหนึ่งก็คือ บรรดาธุรกิจที่พวกเขาและเธอดำเนินการนั้น ล้วนอยู่ในธุรกิจทั้งดั้งเดิมและบุกเบิกใหม่ ครอบคลุมธุรกิจที่ได้ชื่อว่า กำลังมาแรงในช่วงเวลานั้น ตั้งแต่ก่อสร้าง จนถึงสื่อสาร ตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์จนถึงลงทุนในตลาดหุ้น

บัณฑูรอยู่ท่ามกลางมืออาชีพที่บริหารเครือข่ายการเงิน พวกเขาเป็นผู้อาวุโสกว่า และพวกเขากำลังแสวงหาหนทางการดำเนินกิจการของตนเอง โดยธนาคารกสิกรไทยไม่ได้อยู่ในฐานะกำกับแนวทางแต่อย่างใด พวกเขาไม่เพียงเป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ ส่วนตัวพวกเขาสะสมความมั่งคั่งมากมาย จนเป็นที่น่าอิจฉา แต่อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารจะมีกำไรซ่อนอยู่ ซึ่งต่อมาไม่ทันได้ประโยชน์ แต่สำหรับบรรดาพวกล่ำซำระดับบุคคล พวกเขาดูเหมือนจะ enjoy กับผลตอบแทนทั้งเงินปันผล และ Capital Gain อยู่เสมอ

เมื่อวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่มาถึงล่ำซำอาวุโส ส่วนใหญ่พวกเขาไม่เคย หรือไม่โตพอที่จะมีประสบการณ์ตรงในเรื่องความล้มเหลวเกี่ยวกับสถานการณ์มาก่อนเลยก็ว่าได้ (ตามประวัติศาสตร์ วิกฤติการณ์ล่ำซำเกิดขึ้นครั้งล่าสุดช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) ยิ่งไปกว่านั้นวิกฤติการณ์คราวนี้ขยายวงมากกว่าทุกครั้ง เนื่องจากเครือข่ายธุรกิจล่ำซำโยงเป็นใยแมงมุม ธนาคารกสิกรไทยเองก็แทบเอาตัวไม่รอด ความมีชั้นเชิงของบัณฑูร ล่ำซำ ที่พยายามรักษาความอยู่รอดของธนาคารนี้เอาไว้ เป็นเส้นทางที่ยากลำบาก แน่ละ ย่อมจะทำร้ายความรู้สึกในบางกรณีต่อตระกูลของตนเองด้วยอย่างช่วยไม่ได้

ไม่มีใครรู้ว่าความเสียหายของตระกูลนี้มากมายเพียงใด หากไม่มีข้อมูล "กรณีตัวอย่าง" ของโพธิพงษ์ ล่ำซำ ที่จำเป็นต้องเปิดเผยฐานะตนเอง**** ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในช่วงก่อนวิกฤติการณ์ ปี 2540 จากฐานข้อมูลนี้ย่อมทำให้ผู้คนวิเคราะห์ความ "บอบช้ำ" ของตระกูลล่ำซำ ได้บ้างไม่มากก็น้อย

ในที่สุดโครงสร้างความสัมพันธ์ของเครือข่ายธุรกิจครอบครัวไทยดั้งเดิมพังทลายไปมากทีเดียว เช่นเดียวกับเครือข่ายธุรกิจล่ำซำที่ได้ปรับตัวเอง ความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจแบบเดิมที่พังทลายไป พร้อมๆ กับผู้อาวุโส โดยเฉพาะระดับอาๆ ของบัณฑูร ล่ำซำ ที่มีธุรกิจของตนเองก็แก้ปัญหากันไป ดำเนินธุรกิจตามแนวทางของตนเองต่อไปด้วยความเป็นอิสระกันมากขึ้น

หลายต่อหลายครั้งที่บัณฑูร ล่ำซำ ออกมาวิเคราะห์วิกฤติการณ์ครั้งที่ผ่านมา โดยพุ่งเป้าไปที่ "ตัวแทน" ความรุ่งเรืองในยุคนั้นไปที่คนบางคนมากเป็นพิเศษ แม้ในบางกรณีจะมีเหตุผลของเรื่องนั้นตามแต่กรณี แต่คำวิจารณ์ที่ค่อนข้างออกรสไปบ้าง อาจจะเป็นปฏิกิริยาสะท้อนบางด้านของเรื่องราวข้างต้นก็เป็นได้

โดยเนื้อแท้ประการสำคัญประการหนึ่งที่บัณฑูร ล่ำซำ แตกต่างจากบัญชา ล่ำซำ อย่างมากก็คือ ภาพอีกด้านที่ทรงพลานุภาพในหลายมิติของรากฐานราชสกุลของฝ่ายมารดา ยิ่งเมื่อบัญชาจากโลกไปแล้ว ความเป็นเครือข่ายธุรกิจแบบเดิมเสื่อมไป อิทธิพลของมารดามีมากขึ้นๆ ผมเคยเขียนเรื่องนี้มาบ้างแล้ว คราวนี้พยายามขยายภาพให้กระจ่างขึ้น

ความจริงแล้วอิทธิพลทางฝ่ายมารดาของบัญชา ล่ำซำ ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน มารดาของบัญชา ชื่อน้อม อึ๊งภากรณ์ เป็นพี่สาวแท้ๆ ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ปี 2502-2514) คนสำคัญที่สร้างธนาคารชาติให้เข้มแข็ง และกำลังพยายามสร้างกติกาให้ธนาคารไทยพัฒนาไปในทางที่ก้าวหน้า ช่วงนั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับช่วงต้นที่บัญชา ล่ำซำ มารับผิดชอบธนาคารกสิกรไทย (ปี 2505) เป็นที่เข้าใจว่าธนาคารกสิกรไทยมีพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์มากในหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องพัฒนาบุคลากร โดยให้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศครั้งแรกในปี 2509 อันเป็นช่วงหลังจากที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศมาแล้วประมาณ 5 ปี อาจวิเคราะห์ได้ว่าได้รับอิทธิพลความรู้และคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากน้าคนนี้มาบ้างไม่มากก็น้อย

สิ่งที่แตกต่างอย่างเด่นชัดในเรื่องบุคลิกภาพระหว่างบัญชากับบัณฑูร ย่อมมาจากภูมิหลังของฝ่ายมารดาที่แตกต่างไม่น้อยทีเดียว เรื่องราวของบัณฑูร ล่ำซำ กับฝ่ายล่ำซำ มีการเขียนถึงมามาก โดยเฉพาะผมเอง คราวนี้ใคร่เสนอภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับมารดาให้มากขึ้น ให้สอดคล้องกับอิทธิพลที่มีต่อนักบริหารที่เป็นผู้นำทางความคิดในสังคมไทยคนหนึ่งด้วย

"นี่คือพระสยามเทวาธิราช แต่เป็นพระพักตร์รัชกาลที่ 4 หายากนะ มีอาจารย์คนหนึ่งหามาให้ผม เป็นของเก่าแน่นอน ฝีมือแบบนี้ไม่มีทางทำในสมัยนี้ได้ รัชกาลที่ 4 เป็นต้นคิดที่สร้างพระสยามเทวาธิราชขึ้นมา ท่านบอกเมืองไทยที่รอดมาได้ ไม่ใช่ว่าคนไทยเก่ง แต่ต้องมีเทวดารักษา ซึ่งผมก็เชื่ออย่างนั้น เพราะดูฝีมือการจัดการแล้ว ไม่ได้เรื่อง แต่ยังรอดมาได้" บัณฑูร ล่ำซำ อรรถาธิบายกับผมถึงประติมากรรมชิ้นใหม่ล่าสุดที่สำคัญมาก ในห้องทำงานของเขาที่ธนาคารกสิกรไทย

เรื่องราวนี้เป็นภาพต่อเนื่องไปถึงสาแหรกของราชสกุลฝ่ายมารดาของเขา (โปรดพิจารณาสาแหรกประกอบ) ซึ่งสืบเนื่องมาจากรัชกาลที่ 4 มาถึง ม.ร.ว.สำอางวรรณ เทวกุล เพียงรุ่นที่ 4 เท่านั้น

จุดเปลี่ยนที่นำพาให้ชีวิตบัณฑูร ล่ำซำ มาเกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่างๆ มากมาย เริ่มต้นตั้งแต่เข้าเรียนจนจบการศึกษาจากต่างประเทศ ด้วยการมาบวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร จากคำแนะนำของ ม.ร.ว.พัชรีสาน ชุมพล ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องของ ม.ร.ว.สำอางวรรณ (อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน) โดยสืบเชื้อสายมาจากเทวกุล ในฐานะธิดาของ ม.จ.พวงรัตนประไพ ซึ่งเป็นน้องของ ม.จ.ปรีดิเทพย์พงษ์ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าเดินทางไปต่างประเทศ บัณฑูรบวชเณรที่วัดเทพศิรินทร์ฯ ตามสายล่ำซำ

วัดบวรนิเวศวิหาร ถือเป็นศูนย์กลางของการศึกษาพุทธศาสนานิกายธรรมยุต รัชกาลที่ 4 ทรงก่อตั้งขึ้น ซึ่งรวมทั้งมกุฎราชวิทยาลัย หรือมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ก็ล้วนมีภารกิจสำคัญในด้านนี้ด้วย สถาบันสำคัญเหล่านี้มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับราชสำนักต่อเนื่องยาวนานด้วย

ในที่สุด บัณฑูร ล่ำซำ มีบทบาทสำคัญในการสืบทอดภารกิจสำคัญมาก ในด้านการส่งเสริมการศึกษาพุทธศาสนาที่เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาบางประการ ให้ดำเนินไปตามภารกิจที่สำคัญอย่างราบรื่นต่อไป และเมื่อไม่นานมานี้ เป็นครั้งแรกที่เรื่องราวของ บัณฑูร ล่ำซำ ได้ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์รายวันทั่วไปติดต่อกันเป็นสัปดาห์

ดูเหมือนภารกิจนี้มีความศักดิ์สิทธิ์และควรแก่การภาคภูมิอย่างมาก แม้จะเชื่อแน่ว่าภารกิจนี้ไม่ง่ายนัก ขณะเดียวกันคาดหมายกันว่าบทบาทของเขาจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับราชสำนักมากขึ้น ในโครงสร้างการดูแลและบริหารสินทรัพย์ของมูลนิธิมหามกุฎฯ นั้น มีบุคคลที่บริหารสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ร่วมด้วย ขณะเดียวกับที่บัณฑูรก็ได้ยึดแนวทางของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในการบริหารอสังหาริมทรัพย์ของมูลนิธิฯ ความใกล้ชิดทางความคิดย่อมชักนำให้เขาเข้าไปมีบทบาทในภารกิจส่วนนี้มากมาย ซึ่งคงจะแตกต่างจากบิดาของเขาในฐานะธนาคารกสิกรไทยเคยร่วมทุนกิจการในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ มาแล้ว โดยเฉพาะเครือซิเมนต์ไทย "แม้แต่ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์เอง ได้ศึกษาแนวทางของคุณปั้นในการบริหารธนาคาร คุณปั้น brief ให้ฟังหลายครั้ง" ผู้รู้เรื่องดียกตัวอย่างให้ฟังและเป็นที่รู้กันว่าธนาคารไทยพาณิชย์เป็นกิจการหลักที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ลงทุน

ภาพและบุคลิกของบัณฑูร ล่ำซำ จึงมีลักษณะเฉพาะตนมากกว่าบิดา สิ่งที่เขาคิดและทำมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเสมอมา หากไม่รวมแนวคิดในเรื่องการบริหารงานธนาคาร (ซึ่งมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว) ก็นับว่ามีลีลาชีวิตที่น่าติดตามไม่น้อย

จากการเป็นนักเรียนดนตรีไทยดั้งเดิม ซอสามสาย ซึ่งทุกวันนี้เครื่องดนตรีชิ้นสำคัญถูกเก็บไว้ในตู้ในห้องพระที่บ้านพักใกล้วัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี จนถึงนักดนตรีของวงธนาคารกสิกรไทยใช้แซกโซโฟน ในงานปีใหม่ล่าสุดก็ออกมาโชว์งานอดิเรกพายเรือกรรเชียงในแม่น้ำเจ้าพระยา นิตยสารธุรกิจต่างประเทศ (รวมทั้งนิตยสารผู้จัดการ) ก็เคยลงภาพนี้ ทั้งแซกโซโฟนและเรือกรรเชียง กลายเป็นบทสนทนาระหว่างประเทศที่ผู้สนทนาพยายามจะรู้จักนายธนาคารไทยคนนี้

เรื่องราวของเขาถูกตีพิมพ์ในต่างประเทศมากพอสมควร ไม่น้อยไปกว่ารางวัลที่นิตยสารต่างประเทศยกย่องธนาคารกสิกรไทย โดยเฉพาะนิตยสารทางอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัย Princeton หรือ Harvard Business School ก็กล่าวถึงเขาเป็นระบบด้วยความภูมิใจในศิษย์เก่าคนนี้ในฐานะ Princeton Class 75 และ HBS Class 1977

ปีนี้สำหรับบัณฑูร ล่ำซำ นับเป็นปีที่ดีของเขาปีหนึ่ง และเป็นปีที่พิสูจน์บารมีของเขาในสังคมวงกว้างมากขึ้น เขาเป็นคนหนุ่มอายุไม่ถึง 50 ปีดี ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ พร้อมกับที่มารดาได้เป็นท่านผู้หญิง ในด้านวิชาการไม่บ่อยนักที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย 2 แห่งทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมใจกันมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หากพิจารณาจากดัชนีนี้เขาได้ก้าวล้ำหน้าบิดาของเขาไปแล้ว

ชีวิตครอบครัวก็แตกต่างจากบิดาเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ ในการแต่งงานครั้งแรก ต่อมาได้แต่งงานกับอุษา จิระพงศ์ บุตรีของพลโทเอื้อม จิระพงศ์ กับคุณหญิงนงนุช (บุตรีจอมพลถนอม กิตติขจร) เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว มีบุตรีคนแรกทันที ปัจจุบันอายุ 13 ปี บัณฑูร ล่ำซำ มีบุตรี 1 คน และบุตร 2 คน คือสงกานดา (13 ปี) กรพัฒน์ (12 ปี) และ นากพิชญ์ (7 ปี)

เขาไม่ได้สร้างภาระและความคาดหวังอย่างมากมายต่อบุตรและบุตรีเช่นที่บิดาของเขามีต่อตัวเขา เขาเองยอมรับและเคยกล่าวว่า เขาอาจจะเป็นล่ำซำคนสุดท้ายที่บริหารธนาคารกสิกรไทย อย่างไรก็ตาม เขาก็มีความคิดสร้างโอกาสกว้างขวางให้กับทายาทของเขาอย่างมองการณ์ไกล บุตรีและบุตร 2 คนแรกเพิ่งถูกส่งเข้าโรงเรียนมัธยมที่สวิตเซอร์แลนด์ในปีนี้เอง

Aiglon College ตั้งอยู่ทางตอนใต้ใกล้ชายแดนของประเทศฝรั่งเศส ห่างจาก Lausanne ไม่ไกลนัก ในบ้านเมืองที่สวยงามตั้งบนที่ราบสูงกว่า 1 กิโลเมตรเหนือน้ำทะเล คนแถวนี้จึงพูดภาษาฝรั่งเศส โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อกว่า 50 ปีแล้วโดยชาวอังกฤษ ปัจจุบันมีนักเรียน 335 คน มีนักเรียนต่างชาติ 56 คน บัณฑูร ล่ำซำ ชอบประเทศนี้เป็นพิเศษ ตั้งแต่เรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เขาก็เคยข้ามฝั่งมาเรียนภาคฤดูร้อนที่นี่ ปัจจุบันเขามักพาครอบครัวไปเที่ยวที่ประเทศนี้เสมอ จึงได้ศึกษาเรื่องราวการศึกษาด้วย บุตรและบุตรีของเขาเคยถูกส่งเข้าเรียน Summer School ที่ Aiglon College มาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน โดยมีภรรยาไปดูแล

บัณฑูร ล่ำซำ กำลังเผชิญความท้าทายในชีวิตตนเองในการสร้างสมดุลระหว่างการบริหารธนาคารกสิกรไทย อันเป็นมรดกที่สะท้อนรากฐานตระกูลธุรกิจเก่าแก่ของสังคมธุรกิจไทย กับภารกิจใหญ่หลวงที่เชื่อมโยงเข้ากับศรัทธาในสถาบันหลักๆ ของชาติสองสถาบันเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกันในความพยายามสร้างความสมดุลระหว่างบทบาทของนายธนาคารที่บางคนบอกว่ามีต้องลักษณะ Subtle กับ Strong Personality ซึ่งเป็นบุคลิกเฉพาะของเขาที่เด่นชัดมากขึ้นๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.