บ้านทรงไทย 2 ชั้น หลังเล็กๆ นี้อยู่หลังอาคารสำนักงานใหญ่ ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย
จำกัด (มหาชน) เป็นที่ทำงานของกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนแต่เป็นผู้แบกภาระที่สำคัญของการสร้างสังคมไทย
คอนเซ็ปต์พื้นฐานของการทำกิจกรรมสังคม เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเป็นภารกิจ ที่ต้องใช้เวลาพอสมควรทีเดียวในการพิสูจน์ควมจริงใจ
มูลนิธิซิเมนต์ไทยใช้เวลามาแล้วนานถึง 27 ปี โดยมีรายได้หลักที่สำคัญจากการที่มีหุ้นของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย และบริษัทในเครือประมาณ
1 ล้าน 3 แสนหุ้น ดังนั้นในยุคหุ้นรุ่งเรือง รายได้จากเงินปันก็เลยพุ่งสูงตามไปด้วย
ในปี 2538 สูงถึง 44.3 ล้านบาท ทำให้ในปีนั้นเอง มูลนิธิฯ ซึ่งฝังตัวอยู่กับงานทางด้านประชาสัมพันธ์ของบริษัทปูนซิเมนต์
ไทยก็ได้แยกออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน ในปี 2539
รายได้ก็ยังสูงถึง 36.5 ล้าน ในปี 2540 ลดลงแต่ยังเป็นจำนวนเงิน 18.2 ล้าน
การใช้เงินเพื่อสร้างกิจกรรมทางสังคมในช่วงนั้น สูงถึงปีละประมาณ 23-28 ล้านบาท
ในปี 2541 ซึ่งเป็นยุคที่เศรษฐกิจของประเทศประสบกับวิกฤติอย่างหนัก ยอดรายได้ของมูลนิธิเองลดลงเหลือแค่
4.8 ล้านบาท เมื่อบริษัทปูนซิเมนต์ไทยขาดทุน มูลนิธิฯ ก็ไม่ได้รับเงินปันผลเลย
และจำเป็นต้องใช้วิธีการขอบริจาคจากคณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด
(มหาชน) แทน ทำให้เงินในการทำกิจกรรมต้องลดลงเหลือเพียงปีละประมาณ 8-10 ล้านบาทเท่านั้น
"เมื่อไม่มีรายได้จากเงินปันผลเราก็คงต้องใช้วิธีขอบริจาคต่อไปจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้น
เพราะมูลนิธิก็ยังมีงานที่ต้องทำต่อเนื่องเราหยุดไม่ได้" ธนิษฏ์ชัย นาคะสุวรรณ
กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิคนปัจจุบัน ยืนยันกับ "ผู้จัดการ"
มูลนิธิซิเมนต์ไทยจัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2506 ต่อมาในปี 2535 ได้รับการประกาศเป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามประกาศของกระทรวงการคลัง
ธนิษฏ์ชัยได้อธิบายถึงข้อกฎหมาย ที่กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการทำงานขององค์การประเภทนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
1. ต้องมีรายจ่ายกุศลสาธารณะไม่น้อยกว่า 60% ของรายได้ทั้งสิ้น 3 รอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา
2. มีรายจ่ายกุศลสาธารณะไม่น้อยกว่า 65% ของรายจ่ายแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
และ 3. มีรายจ่ายกุศลสาธารณะไม่น้อยกว่า 75% ของรายจ่ายทั้งสิ้น 3 รอบระยะเวลาบัญชี ที่ผ่านมา
ด้วยเหตุผลของเงื่อนไขดังกล่าวทำให้มูลนิธิการกุศลที่เกิดขึ้นมากมายในเมืองไทย
จึงเป็นเพียงมูลนิธิฯ ตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ ที่ไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว
แต่ไม่ได้รับการประกาศเป็นองค์การหรือสาธารณกุศลแต่อย่างใด ปัจจุบันมูลนิธิซิเมนต์ไทยได้มีกิจกรรมหลักๆ
ถึง 5 สาขาคือ
1. การสนับสนุนการศึกษาเพื่อผู้ด้อยโอกาส จนถึงปัจจุบันนี้มูลนิธิได้สนับสนุนทุนการศึกษา
ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับปริญญาเอกจำนวนทั้งสิ้น 2,459 ทุน กระจายอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ
ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยไม่มีข้อผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น
2. การส่งเสริมพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรครูสายวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการผลิตสื่อการสอน และได้ร่วมกับภาครัฐและองค์กรเอกชนจัดโครงการค่ายวิทยาศาสตร์เยาวชนช้างเผือกซิเมนต์ไทย
ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยขึ้น และได้ส่งเด็กไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ
เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเกิดความสนใจการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปี
2543 นี้ จะเป็นรุ่นที่ 11 จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยบูรพาในเดือนตุลาคม
3. การอนุรักษ์พัฒนาและส่งเสริมด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
"แนวคิดของเราจะไม่มีการสร้างวัด สร้างโบสถ์ สร้างรั้ว เราจะไม่สนับสนุน
แต่เราจะสนับสนุนทางด้านการเผยแพร่หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา" ธนิษฏ์ชัยกล่าวยืนยันถึงแนวทางนโยบายหลัก
ขณะนี้ทางมูลนิธิได้จัดพิมพ์หนังสือที่สำคัญๆ เพื่อไว้เป็นหลักฐานในการอ้างอิงทางศาสนา
ศิลปวัฒนธรรมของชาติที่น่าสนใจหลายเล่ม เช่น หนังสือการบริหาร และการจัดการวัดในยุคโลกาภิวัตน์
หนังสือวัดหลวงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้รวบรวมรายชื่อประวัติ ความสำคัญ และรายละเอียดของวัดหลวงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
หนังสือหุ่นวังหน้า หรือหุ่นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ซึ่งก่อนหน้านี้หุ่นเหล่านี้มีสภาพที่ชำรุดฉีกขาดเพราะมีอายุมากกว่า
100 ปี กรมศิลปากรจึงได้มอบให้อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ดำเนินการจัดการซ่อมแซมหุ่นที่ชำรุด และหมดสภาพ
โดยมีเครือซิเมนต์ไทยให้ความสนับสนุนในเรื่องค่าใช้จ่าย และทางมูลนิธิซิเมนต์ไทยก็ได้สนับสนุนให้มีการจัดพิมพ์หนังสือบันทึกการซ่อมหุ่น และประวัติของหุ่นวังหน้า
หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่อยู่ในระหว่างการจัดทำ และน่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือ
หนังสือ "วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญา"
ของจังหวัดต่างๆ 76 จังหวัด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ
และกรมศิลปากร โดยระดมทั้งผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ และปราชญ์ท้องถิ่น เพื่อค้นคว้าความถูกต้องด้านข้อมูลทั้งในอดีตและปัจจุบัน
4. กิจกรรมทางด้านส่งเสริมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น มีโครงการคัดเลือกเยาวชนจากชุมชนเข้ารับการศึกษา
แล้วจะต้องกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในท้องถิ่นของตนเอง มีการสนับสนุนให้มีรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่
และมีการจัดส่งเสริมให้มีการประกวดสาธารณสุขชุมชนต่างๆ ด้วย
5. กิจกรรมเพื่อสังคม โดยให้ความสำคัญต่อผู้ด้อยโอกาสในสังคมเป็นประการแรก
เช่น การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กที่ไร้ที่อยู่อาศัย มีโครงการปลูกจิตสำนึกให้กับครอบครัว
ได้มีการใช้สื่อประเภทละครจัดแสดงในชุมชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และปฏิเสธคำชักชวนของผู้หลอกลวง
"ผมหวังว่าวันหนึ่ง เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น มูลนิธิได้เงินปันผลมากขึ้นกิจกรรมต่างๆ ที่ดี และมีประโยชน์ ก็จะเกิดขึ้นมาเพิ่มขึ้นเช่นกัน" ธนิษฏ์ชัยกล่าวถึงความหวังทิ้งท้ายไว้กับ
"ผู้จัดการ" เขาเป็นบุคลากรเก่าแก่ของปูนซิเมนต์ไทย ที่ทำงานมานานถึง
25 ปี แม้ภาระของธนิษฏ์ชัยใกล้จะสิ้นสุดลง แต่บทบาทของมูลนิธิก็คงได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่องยาวนานต่อไป
ตามอุดมการณ์ที่แน่วแน่ของผู้บริหารบริษัทปูนซิเมนต์แน่นอน