|
คลังหั่นเป้าจีดีพีเหลือ5.1ปีหน้า4%
ผู้จัดการรายวัน(26 กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
คลังประกาศลดเป้าจีดีพีทั้งปีเหลือ 5.1 จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 5.6 เหตุส่งออกวูบจากวิกฤตการเงินสหรัฐ ส่วนการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว ส่วนเป้าจีดีพีปีหน้าเหลือแค่ 4.0-5.0% ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 33-35 บาทต่อดอลลาร์ เชื่อแบงก์ชาติตรึงดอกเบี้ยที่ 3.75% จนถึงสิ้นปี ในขณะที่ปีหน้าการเงินโลกจะยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง
นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2551 ใหม่ลดลงมาอยู่ที่ 5.1% ต่อปี จากที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มิ.ย. 2551 ขยายตัวได้ 5.6% ต่อปี แม้ว่าการขยายตัวจะลดลงแต่ก็ยังขยายตัวได้กว่าปี 2550 ที่ขยายตัวได้ 4.8% ต่อปี โดยสาเหตุที่เศรษฐกิจปี 2551 ขยายตัวได้ลดลง เพราะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ช้ากว่าที่ประมาณการไว้ แยกเป็นการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 2.8% ต่อปี จากเดิม 3.5% ต่อปี และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 5% ต่อปี จากเดิม 8.5% ต่อปี
"ผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูง และปัญหาการเมืองที่รุนแรง ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน และผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย" นางพรรณีกล่าวและว่า การส่งออกในด้านปริมาณก็มีแนวโน้มที่ลดลงเหลือ 7.8% ต่อปี จากเดิม 8% ปี ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลดลง อย่างไรก็ตามด้านเสถียรภาพในประเทศปรับตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อเหลือ 6.3% ต่อปี จากเดิม 7.2% ซึ่งเป็นผลจากการออก 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อไทยทุกคนของรัฐบาล สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล 0.4% ของอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
สำหรับการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2552 คาดว่าจะอยู่ที่ 4-5% แม้ว่าการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนจะดีขึ้น แต่การส่งออกจะขยายตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหาโดยคาดว่าจะขยายตัว 3-3.5% จากปี 2551 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3-4% ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันปรับลดลง และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 1-2% ของจีดีพี
นางพรรณีกล่าวว่า การขยายตัวเศรษฐกิจเดือน ส.ค. 2551 ล่าสุดพบว่าขยายตัวชะลอลง เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนชะลอตัวลง ในด้านการบริโภคการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัว 9.5% ต่อปี เทียบเดือนก่อนหน้าขยายตัว 23.3% ต่อปี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดเหลือ 70.5 จุด จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 71.8 จุด ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเมื่อดูจากการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบขยายตัว 1.8% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้า 28.4% ต่อปี ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ดูจากการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะขยายตัวได้ 7.8% จากที่ 4 เดือนก่อนหน้านี้ขยายตัวระดับตัวเลขสองหลัก
ด้านมูลค่าการส่งออกชะลอตัวเหลือ 14.9% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าขยายตัว 43.9% ต่อปี ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในประเทศอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงเหลือ 6.4% ต่อปี จากเดือนก่อนหน้า 9.2% ต่อปี
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการกลุ่มการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สศค.กล่าวว่า ค่าเงินบาทในปี 2552 จะผันผวนตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนและดุลบัญชีดุลสะพัด โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 33-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่วนในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 33.2 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2551 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยคงไว้ที่ 3.75% ขณะที่ในปี 2552 ความผันผวนของการเงินโลกจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.5-4%ซึ่งเป็นการปรับนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ
นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวว่า ในปี 2552 รัฐบาลจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน รวมทั้งต้องเร่งฟื้นภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง ที่ประกาศพรก.ฉุกเฉิน ล่าสุดเดือนก.ย.2551 รายได้จากการท่องเที่ยวหายไป 3-7หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 30%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|