ดอกเบี้ยต่ำดันกองทุนส่วนบุคคลโต สถิติ 5 เดือนแรกสินทรัพย์เพิ่ม 6.2 พันล้านบาท
สบช่องโบรกเกอร์ร่วมวงทำธุรกิจ โดยเฉพาะ บล.แอสเซทพลัส พอร์ตกองทุนส่วนบุคคลโตแบบก้าวกระโดด
มูลค่าสินทรัพย์เกือบพันล้านบาท รองรับความต้องการลูกค้ารายใหญ่ และนิติบุคคล ตามภาวะหุ้นที่ปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่อัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับใกล้เคียงตลาด ส่งผลให้ธุรกิจบริการจัดการการลงทุนบริหาร
เม็ดเงินทะลุเป้า 10,000 ล้านบาท ด้านบลจ.มองอนาคตกองทุนส่วนบุคคลโตไม่ต่ำกว่า
20% ต่อปี
รายงานจากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน ณ 31 พฤษภาคม 2546 กองทุนส่วนบุคคล (Private
Funds)มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวม 95,241.84 ล้านบาท จำนวน 1,438 กองทุน เพิ่มขึ้น
6,224.85 ล้านบาท คิดเป็น 6.99% จาก ณ 31 ธันวาคม 2545 ที่มีมูลค่าสุทธิ 89,016.99
ล้านบาท จำนวน 1,433 กองทุน จากจำนวนสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจ
จัดการกองทุนส่วนบุคคล 18 ราย บล.หันทำธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล
จากจำนวนสถาบันการเงิน ดังกล่าวมีบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการด้านกองทุนส่วนบุคคลจำนวน
5 แห่ง ข้อมูล ณ 31 พฤษภาคม 2546 รวมสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 6,128.95 ล้านบาท
จำนวน 806 กองทุน ประกอบด้วย บล.บัวหลวง สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 4,325.82 ล้านบาท
จำนวน 777 กองทุน บล.กรุงศรีอยุธยา สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 958.17 ล้านบาท จำนวน
1 กองทุน บล. แอสเซทพลัส สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 689.61 ล้านบาท จำนวน 18 กองทุน
บล.ซีมิโก้ ภายใต้การบริหารงานของบลจ.ซีมิโก้ ไนท์ ฟันด์ แมเนจเม้นท์ สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร
155.35 ล้านบาท จำนวน 10 กองทุน
แอสเซทพลัสพอร์ต 1,000 ล้านบาท
นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์แอสเซทพลัส
จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินทรัพย์กองทุนส่วนบุคคลภายใต้การบริหารของบริษัทมีอยู่ประมาณ
1,000 ล้านบาท หรือประมาณ 20 กองทุน โดยลูกค้าของบริษัทประกอบด้วยบุคคลธรรมดารายใหญ่
สัดส่วน 50% นักลงทุนประเภทนิติบุคคล และสถาบันการเงิน สัดส่วน 50% โดยคาดว่ารายได้จากธุรกิจจัดการลงทุนในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย
จากภาวะตลาดที่ขยายตัว
ทั้งนี้ การที่นักลงทุนรายใหญ่ให้ความสนใจการ จัดการกองทุนส่วนบุคคลมากขึ้น เกิดจากปัจจัยหลายด้านที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน
โดยเฉพาะระยะหลังที่อัตราดอกเบี้ยเงินออมปรับลดลง ประกอบกับจังหวะการลงทุนในตราสารหนี้มีแรงจูงใจต่ำลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้
ขณะที่ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีทิศทางที่ดี
แม้บางช่วงตลาดจะมีการปรับฐานบ้าง แต่มีบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งที่จ่ายปันผลดี
ทำให้นักลงทุนบางส่วนกระจายเงินมาลงทุนในตราสารทุนมากขึ้น
นางลัดดาวรรณ กล่าวว่า กองทุนส่วนบุคคลของบริษัทเป็นการลงทุนในตราสารทุน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะลงทุนเต็มจำนวน
เพราะการลงทุนขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพิจารณาการลงทุน (Asset Management Commitee)
เป็นผู้กำหนดกลยุทธ์การลงทุน โดยผลตอบแทนการลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลภายใต้การบริหารของบริษัทให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนในระดับมาตรฐาน
ของตลาดหลักทรัพย์ (SET)
"ธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลเป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้ธุรกิจบริการการจัดการลงทุน
ในเป็นตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน และการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
ซึ่งบริษัทได้เริ่มทำธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเริ่มธุรกิจ จากศูนย์"
หนุนรายได้ค่าธรรมเนียม
ปัจจุบันส่วนงานด้านธุรกิจบริการจัดการการลงทุน มีขนาดของเงินลงทุนที่เกิดจากการการดูแลให้กับลูกค้าที่ซื้อหน่วยลงทุน
ตราสารทุน ตราสารหนี้ และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลใกล้เคียงระดับ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้
สำหรับกลุ่มลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่ใช้บริการกับบริษัท ซึ่งให้ความไว้วางใจและกลับมาใช้บริการด้านอื่นๆ
ของบริษัท เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัทที่มีประสบการณ์ทั้งในภาพกว้างและเชิงลึกทางด้านการเงิน
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่มีคุณภาพ ความโปร่งใส รวมถึงผู้นำองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุน
ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของบริษัทที่ต้องการรองรับการทำธุรกรรมของลูกค้าให้ครบวงจร
ดังนั้น คาดว่าอนาคตบริษัทหลักทรัพย์จะเริ่มหันมาทำธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น
เพราะเป็นช่องทางหนึ่งในการหารายได้เพิ่ม แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของบริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่งด้วย
เพราะบางแห่งมีความถนัดด้านค้าหลักทรัพย์ แต่ บล.แอสเซทพลัส มีความแตกต่างจากบริษัทหลักทรัพย์อื่น
อัตราการขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20%
นายเรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อยุธยาเจเอฟ
จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละไม่ต่ำกว่า
20% ซึ่งกองทุนส่วนบุคคลมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ การลงทุนของนักลงทุนสถาบันที่มีการลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้
และการลงทุนของบุคคลธรรมดา ที่ลงทุนในตลาดหุ้น แต่การลงทุนของกองทุนส่วนบุคคลส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในตราสารหนี้
เพราะผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทุนสถาบัน ลูกค้าของบริษัทที่มีอยู่เป็นลูกค้าสถาบันทั้งหมด
เพราะนิติบุคคลหากต้องการลงทุนในหุ้นหากไม่ลงทุนโดยตรง หรือซื้อหน่วยลงทุนก็จะจัดตั้งเป็นลักษณะของกองทุนส่วนบุคลให้บริษัทจัดการกองทุนเป็น
ผู้บริหารให้
ขณะที่บุคคลธรรมดาหากต้องการลงทุนในหุ้นแต่มีวงเงินไม่มากนัก บริษัทก็จะแนะนำให้ลงทุนในกองทุนหุ้น
เพราะเชื่อว่าการลงทุนในพอร์ตของกองทุนรวมให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า เนื่องจากเม็ดเงินที่ระดมทุนจำนวนมากมีย่อมมีอำนาจต่อรองการลงทุนที่ดีกว่า
และหากต้องการลงทุนในตราสารหนี้ การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ก็ได้รับประโยชน์ทางด้านภาษีที่ดีกว่า
นายเรืองวิทย์ กล่าวว่า จุดเด่นสำคัญที่ทำให้ลูกค้าไว้ใจและเลือกบริษัทให้เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคลให้
เนื่องจากประสบการณ์เป็นหลัก โดย ณ วันนี้ บริษัทเป็น บลจ.ที่มีขนาดของกองทุนรวมภายใต้การบริหารเป็นอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรม
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการได้ดี แม้ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
มูลค่าสินทรัพย์กองทุนส่วนบุคคลภายใต้การบริหารของ บลจ.เอเจเอฟ ณ 31 พ.ค. 2546
3,225.75 ล้านบาท จำนวน 5 กองทุน เพิ่มขึ้น 209.26 ล้านบาท คิดเป็น 6.93% จากมูลค่าสินทรัพย์
ณ สิ้นปี 2545 ที่ 3,016.49 ล้านบาท จำนวน 5 กองทุน