"ไมด้า แอสเซ็ท" ติงตลท.จับลงผิดกลุ่ม กระทบลงทุนระยะยาว-กองทุนฯเมิน


ผู้จัดการรายวัน(28 กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"ไมด้า แอสเซ็ท" โวยตลท.จัดลงผิดกลุ่มทำให้กระทบต่อการลงทุนในระยะยาว และทำให้บางกองทุนฯที่เน้นลงทุนหุ้นกลุ่มการเงิน ไม่สามารถลงทุนได้ แม้ว่าธุรกิจของไมด้าฯจะเข้าข่ายก็ตาม

นายกมล เอี้ยวศิวิกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท จำกัด(มหาชน)(MIDA) เปิดเผยว่า การที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดให้หุ้นไมด้าเข้าไปอยู่ในกลุ่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แทนที่จะเป็นกลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์นั้น น่าจะส่งผลต่อการลงทุนของบริษัทในระยะยาว เนื่องจากบางกองทุนมีนโยบาย ที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงินเพียงอย่าง เดียว ทำให้กองทุนเหล่านั้นไม่สามารถลงทุนได้เพราะผิดนโยบาย แม้ว่าธุรกิจของไมด้าจะเข้าข่ายเป็นธุรกิจการเงินก็ตาม

อย่างไรก็ตาม MIDAได้รับความ สนใจจากนักลงทุนต่างประเทศมากพอสมควร เห็นได้จากสัดส่วนการถือหุ้น ผ่านใบสำคัญแสดงสิทธิในหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (เอ็นวีดีอาร์) ที่มีสัดส่วนเข้า มาถึง 8.27% หรือประมาณ 40 ล้านหุ้น จากจำนวนหุ้นจดทะเบียนที่มีอยู่ทั้งหมด 500 ล้านหุ้น และเมื่อหักลบกับกลุ่มที่ถือหุ้นMIDAไว้ในระยะยาวแล้ว เชื่อว่าขณะนี้ MIDA มีจำนวนหุ้นหมุนเวียนในตลาด (ฟรีโฟลต)เหลืออยู่แค่ 30 ล้านหุ้นเท่านั้น

สำหรับแผนการเดินทางไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) แก่นักลงทุนต่างประเทศ บริษัทได้ตอบรับการเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศสิงคโปร์ ในช่วงปลาย เดือนสิงหาคมนี้แล้ว ขณะเดียวกันทาง ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ได้ติดต่อขอให้ บริษัทเดินทางไปโรดโชว์ที่ฮ่องกงในช่วง กลางเดือนสิงหาคม และที่สกอตแลนด์, ลอนดอน, แฟรงก์เฟิร์ต และปารีส ระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคมด้วย โดยบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเข้าร่วมการโรดโชว์ดังกล่าวหรือไม่

นายกมล กล่าวว่า นอกเหนือจากไมด้า แอสเซ็ทแล้ว โดยส่วนตัวยังถือหุ้นอยู่ในบริษัทอื่น ๆ อีก 3 บริษัทหลัก คือ ไมด้า ลิสซิ่ง , ไมด้า คาร์ และไมด้า อุตสาหกรรม ซึ่งบริษัทไมด้า ลิสซิ่งนั้น มีแผนจะเข้าจดทะเบียนใน ตลท. ภาย ในสิ้นปี 2547 เนื่องจากธุรกิจลีสซิ่งเป็น ธุรกิจที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มการซื้อสินค้าเงินผ่อนของคนไทยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะผู้ที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจได้ จะต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่ หรืออยู่ในกลุ่มตระกูลที่มีธุรกิจส่วนตัวอยู่แล้ว ทำให้ความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะมีอยู่คู่กับประเทศไทยต่อไปแน่นอน

ปัจจุบัน MIDA ปล่อยสินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก และมีสินเชื่อเฟอร์นิเจอร์ และรถยนต์เป็นส่วนประกอบ โดยยังไม่มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อชนิดอื่น และMIDA มีการตลาดที่เข็มแข็ง โดยปัจจุบันมีสาขา จำนวนทั้งสิ้น 135 สาขา ใน 53 จังหวัด มีพนักงานขายรวมกว่า 3,600 คน รวม ถึงมีนโยบายการตลาดแบบ door to door service

โบรกเกอร์ ระบุว่า MIDA อยู่ใน ธุรกิจนี้มานานกว่า 10 ปี ทำให้บริษัทมี ความเข้าใจในพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้า เป้าหมายได้ดีกว่าคู่แข่งขันในอุตสาหกรรม เช่น AEONTS และ SINGER ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่อยู่ในชุมชนเมืองเป็นหลัก ดังนั้นโอกาสที่คู่แข่งจะเข้ามาทำตลาดกลุ่มลูกค้าเดียวกันในระยะเวลาอันสั้นจึงเป็น ไปได้ยาก และมีระบบการติดตามหนี้ และระบบการตรวจสอบสินเชื่อที่รัดกุม จึงทำให้มีหนี้สูญต่ำ โดยไตรมาสแรกปีนี้ มีปริมาณหนี้สูญคิดเป็น 0.33% ของสินเชื่อเช่าซื้อรวม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.