สิงคโปร์บุกชิ้นส่วนรถทุ่มเงินลงทุน1.5หมื่นล้าน


ผู้จัดการรายวัน(25 กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ทุนสิงคโปร์บุกไทยนำทัพผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ เกือบ 50 บริษัท พบปะแลกเปลี่ยนกับไทย หวังสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน ด้วยการ นำเอาจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาปิดจุดอ่อนของอีกฝ่ายเพื่อสร้างมูลค่าทางธุรกิจเพิ่มขึ้นขณะที่ฝ่ายสิงคโปร์เผยผลความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดของทั้งสองประเทศจะทำให้มูลค่าการลงทุนจากสิงคโปร์ในไทยปีนี้เพิ่มขึ้น 15% จากปีที่แล้ว รวมมูลค่าเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท มากเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่นเท่านั้น

นายชัน เฮง วิง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสิงคโปร์ เปิดเผยในการเปิดงาน STEER Automotive Forum ว่าการจัดงานในวันนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งระหว่างความร่วมภาคเอกชนไทย และสิงคโปร์อย่างเป็นรูปธรรม ภายหลังจากการที่นายกรัฐมนตรีของไทย และสิงคโปร์ ได้พบปะหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของการเร่งการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่ามีศักยภาพที่ร่วมมือกัน ส่วนมากคนจะคิดว่าสิงคโปร์มีความเชี่ยวชาญ ด้านการพาณิชย์ บริการ และการค้า แต่ในส่วนของวิศวกรรม หรืออุตสาหกรรม สิงคโปร์ก็มีความชำนาญเช่นกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันสิงคโปร์เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ ที่สามารถผลิตส่งโรงงานประกอบรถยนต์ ด้วยมูลค่าต่อชิ้นอยู่ในระดับที่สูงมาก

ด้วยเหตุนี้การที่มีเวทีให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยและสิงคโปร์ ได้พบปะแลกเปลี่ยน ตลอดจนนำผลงานมาแสดง จะทำให้เกิดการสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกันในอนาคตอันใกล้นี้ โดย แต่ละฝ่ายจะนำจุดแข็งของตนเอง มาช่วยเสริมจุดอ่อนให้กันและกัน ซึ่งในที่สุดก็จะสร้าง มูลค่า สินค้าได้เป็นจำนวนมาก และผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับทั้งสองฝ่ายมากขึ้น

ทั้งนี้ในการจัดงานครั้งนี้ในไทย ภาคเอกชน สิงคโปร์กว่า 70 คน จากกว่า 40 บริษัท ได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนกับทางฝ่ายไทย แต่ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ทางภาคเอกชนไทยจะเดินทางไปประชุม และเยี่ยมชมผลงานของทางฝ่ายสิงคโปร์ ซึ่งในการเดินทางไปในครั้งต่อไป คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาความร่วมมือ (MOU) อย่างเป็นทางการ นั่นย่อมหมายถึงภาคเอกชนทั้งฝ่ายสิงคโปร์และไทยได้ตกลงให้มีการร่วมมือ ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดแล้ว

สำหรับการร่วมมือของเอกชนในส่วนของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ถือเป็นหนึ่งส่วนในความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ จากการพบปะของนายกรัฐมนตรีไทยและสิงคโปร์ โดยที่ได้มีการร่วมมืออย่างเป็นทางการไป แล้ว ได้แก่ การร่วมมือของอุตสาหกรรมอาหารการเกษตร และการร่วมมือทางการบินพาณิชย์ที่ จะใช้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคนี้

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการลงทุนมากที่สุดในไทย รองลงมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยในปีที่ผ่านมาสิงคโปร์ได้เข้ามาลงทุนทั้งสิ้น 314 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจากการร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ ชิดมากขึ้นนี้ จะทำให้ปีนี้มูลค่าการลงทุน ในไทย จากประเทศสิงคโปร์เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 15% หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท

นายดำริ สุโขธนัง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่างาน ในวันนี้นับเป็นก้าวใหม่ของความร่วมมือระหว่าง ภาคเอกชนไทยและสิงคโปร์อย่างแท้จริง โดยมีภาครัฐบาลของทั้ง 2 ฝ่าย ได้แก่ สศอ. สถาบันยานยนต์ และ IE Singapore และตัวแทนภาค เอกชนไทย ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) ให้ความสนับสนุนการจัด งานดังกล่าว

โดยวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศได้ร่วมแสดงผลงานและศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการ ในสาขาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ และเป็นเวทีให้แต่ละฝ่ายได้มีโอกาสพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดในการ พัฒนาภาคการผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมถึงการสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน และพัฒนาศักยภาพในการส่งออกไปยังประเทศอื่น

ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยจะมีจุดแข็งที่อุตสาหกรรมพื้นฐาน มีพื้นที่ในการผลิตมาก แต่มีจุดอ่อนเรื่องของการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง และเรื่องของการตลาด ขณะที่สิงคโปร์มีจุดแข็ง เรื่องของเทคโนโลยีระดับสูง ตลอดจนการตลาด ที่แข็งแกร่ง แต่มีจุดอ่อนในเรื่องของแรงงาน และพื้นที่การผลิตไม่เพียงพอ ดังนั้นหากทั้งสอง ฝ่ายมาสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกันก็จะทำให้มูลค่าการผลิตเพิ่มขึ้นแน่นอน

นอกจากนี้ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ นำโดย TAPMA ของไทย และ SPETA ซึ่งเป็น หน่วยงานเอกชนของสิงคโปร์ที่รับผิดชอบงานด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ และส่วนประกอบ ได้เห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้ง Singpore-Thailand Automotive Club เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการสานต่อการดำเนินงาน ด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับยานยนต์ของทั้งสอง ประเทศ และเป็นเวทีของภาคเอกชนในการขยาย ความร่วมมือทางธุรกิจร่วมกัน

โดยทั้งสองฝ่ายขณะนี้ได้ร่วมกันกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานขององค์กรร่วมกันเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำร่างข้อตกลง เพื่อจัดตั้งองค์กรร่วมกันต่อไป ซึ่งในส่วนนี้ไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก จากเทคโนโลยีและเครือข่ายในด้านการตลาดที่กว้างขวางของสิงคโปร์

นายสุขใจ เหลืองมีกูล รองเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผย ว่าการร่วมมือของผู้ประกอบการสิงคโปร์และ ไทย เชื่อว่าจะทำให้ทั้งสองฝ่ายล้วนได้รับผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นเพราะต่างฝ่ายต่างได้นำเอาจุดแข็งของตนเองมาปิดจุดอ่อนของอีกฝ่าย

"ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เราต้องยอมรับว่ายังมีจุดอ่อนอีกมาก โดยเฉพาะการผลิตที่จะต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งตรงนี้สิงคโปร์มีความชำนาญมากกว่าเราที่สำคัญเขามีความเชี่ยวชาญการวิจัยและพัฒนารวมถึงด้านการตลาดเป็นอย่างมาก จนผู้ผลิตชิ้น ส่วนของสิงคโปร์กลายเป็นผู้ผลิตที่สามารถส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ป้อนโรงงานผลิตรถยนต์ทั่วโลกไปแล้ว"

จากจุดแข็งของแต่ละฝ่ายเช่นนี้ หากได้มีโอกาสสร้างธุรกิจร่วมกัน เชื่อมั่นจะทำให้ทั้งสองต่างได้รับผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นและจากการพูดคุยกับสมาชิกของสมาคมฯส่วนใหญ่ก็สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันขึ้นและยินดีที่รัฐบาลและภาครัฐเปิดเวทีในการพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาภาคการผลิตของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.