|
แผนลงทุน10ปี'ราชบุรีโฮลดิ้ง'ทุ่ม8หมื่นล.ผลิตไฟเพิ่มเท่าตัว
ผู้จัดการรายวัน(25 กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯวางแผนลงทุน 10ปี ใช้เงินไม่น้อยกว่า 8 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 8.8 พันเมกะวัตต์เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบันที่ผลิต 4.3 พันเมกะวัตต์ แย้มได้เจรจาเข้าไปทำธุรกิจโรงไฟฟ้าเพิ่มในลาว พม่า เขมร อินโดฯและเวียดนาม รวมถึงเข้าถือหุ้นในไอพีพีด้วย ชี้โครงการโรงไฟฟ้าในลาวดีเลย์ทำให้ไม่มีแผนออกหุ้นกู้ไปอีก 2-3ปีข้างหน้า ลุ้นกฟผ.ใจดีให้บริษัทฯเข้าร่วมถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าท่าซาง หลังพม่ายึดสิทธิการดำเนินการโรงไฟฟ้าดังกล่าวของเอ็มดีเอ็กซ์ให้กฟผ.ทำแทน
นายณรงค์ สีตสุรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)(RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทฯจัดทำแผนธุรกิจ 10ปีข้างหน้า (2552-2561) บริษัทฯจะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 8 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 8,800 เมกะวัตต์ภายในปี 2559 จากปัจจุบันที่บริษัทฯมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 4,347 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในต่างประเทศแล้วขายไฟฟ้าเข้าไทย โดยล่าสุดมีการเจรจาหลายโครงการทั้งในลาว พม่า กัมพูชา เวียดนามและอินโดนีเซีย โดยไม่รวมโครงการผลิตไฟฟ้าถ่านหินที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา หากการเจรจาบรรลุข้อตกลงโครงการดังกล่าวเชื่อว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็นกว่า 6,000 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ บริษัทฯได้มีการเจรจากับบริษัทได้ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีรอบใหม่นี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าไปร่วมถือหุ้นโรงไฟฟ้าดังกล่าวในสัดส่วนที่ต่ำกว่า 50% หากการลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้จะทำให้สัดส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศเพิ่มเป็น 50%จากประมาณการณ์เดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 30%
สำหรับแหล่งเงินทุนนั้นจะมาจากกระแสเงินสดจาการดำเนินงานซึ่งแต่ละปีจะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA)ประมาณ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท และการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งเดิมบริษัทฯมีแผนจะออกหุ้นกู้ในปีหน้า แต่เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าในลาวหลายโครงการได้เลื่อนโปรเจ็กต์ออกไป ทำให้ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินในช่วงนี้ ดังนั้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทฯจึงค่อยพิจารณาที่จะออกหุ้นกู้ โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทฯเมื่อปี 2549 ได้อนุมัติให้บริษัทฯออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 7.5 พันล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯไม่ได้ออกหุ้นกู้เลย เพราะหลายโครงการล่าช้าออกไป
นายณรงค์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อเร็วๆนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในลาวที่ได้ประกาศยกเลิกบันทึกช่วยจำ (เอ็มโอยู) หลังจากไม่สามารถแก้เงื่อนไขการขอปรับขึ้นอัตราค่าไฟใหม่ได้ ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 3 โครงการโรงไฟฟ้าหงสา โครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 โครงการโรงไฟฟ้าน้ำอู และโครงการโรงไฟฟ้าน้ำเงี๊ยบ ซึ่งมี 2 โครงการโรงไฟฟ้าที่เป็นราชบุรีฯถือหุ้นอยู่ คือ โรงไฟฟ้าหงสาและโรงไฟฟ้าน้ำงึม 3 โดยจะมีการเจรจาค่าไฟใหม่ตามต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น 25-30% กับรัฐบาลไทย หากโครงการโรงไฟฟ้าหงสาสามารถตกลงค่าไฟและลงนามเอ็มโอยูได้ภายในสิ้นปีนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะแล้วเสร็จป้อนไฟเข้าระบบตามกำหนดเดิมคือปี 2556 ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหากเลื่อนเอ็มโอยูออกไปไม่ว่าจะ2-3 เดือนก็คงต้องเลื่อนเวลาการส่งป้อนไฟฟ้าเข้าระบบออกไปเป็น 1ปี
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยไม่ได้อยู่ในข่ายนี้ เพราะเพิ่งเสนอราคาค่าไฟไปให้กฟผ.พิจารณา ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าน้ำบากยังไม่ได้ยื่นเสนอราคาค่าไฟเลย
" จากนี้ไปโครงการโรงไฟฟ้าในลาวที่ถูกยกเลิกเอ็มโอยูนี้ ก็คงต้องเจรจาทำเซ็นเอ็มอูยูใหม่ โดยพิจารณาค่าไฟใหม่และเวลาส่งไฟเข้าระบบ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นโรงไฟฟ้าเขื่อนหากดีเลย์ไป 3-6 เดือนก็ต้องเลื่อนออกไป 1ปี แต่หงสาเป็นโรงไฟฟ้าใช้ถ่านหิน จึงไม่มีปัญหาเรื่องนี้ หากเลื่อนไม่นานก็สามารถป้อนไฟเข้าระบบได้ตามกำหนดในปี 2556 "
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กฟผ.อยู่ระหว่างการทบทวนแผนความต้องการใช้ไฟฟ้า (PDP)ใหม่ โดยจะนำความต้องการใช้ไฟฟ้าในระบบและนอกระบบว่ามีการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(PEAK)ในระบบลดลง แต่ค่าพลังงานที่จ่ายออกไปมากกว่าปีก่อน ขณะเดียวกันกฟผ.ต้องมีค่าใช้จ่ายในการสำรองไฟฟ้าสูงกว่า 15% เนื่องจากต้องสำรองไฟให้กับการใช้ไฟฟ้านอกระบบ เนื่องจากผู้ประกอบการนิคมฯหรือสวนอุตสาหกรรมที่มีการสร้างโรงไฟฟ้าขายให้โรงงานในนิคมฯได้มีการซื้อBACK UP จากระบบ ทำให้กฟผ.ต้องสำรองเพิ่ม ซึ่งถือเป็นภาระและไม่เป็นธรรมต่อกฟผ.
พม่ายกโครงการโรงไฟฟ้าท่าซางให้กฟผ.
นายณรงค์ กล่าวถึงโครงการโรงไฟฟ้าท่าซาง สหภาพพม่าว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าวได้หยุดไปแล้ว โดยรัฐบาลพม่าได้เปลี่ยนผู้ที่รับสิทธิเข้าไปดำเนินการจากเดิม คือบมจ. เอ็มดีเอ็กซ์ เป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)แทน เพราะรัฐบาลพม่าอยากเร่งรัดโครงการดังกล่าว แต่เอ็มดีเอ็กซ์ดำเนินงานได้ไม่ทันใจ จึงยกโครงการให้กฟผ. และราชบุรีฯเข้ามาศึกษาโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้น จึงมีความเป็นไปได้ที่กฟผ.อาจจะให้บริษัทฯเข้ามาร่วมทุนโครงการดังกล่าว เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่
โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ-ท่าซาง จะมีกำลังการผลิต 7,000 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยก่อนหน้านี้โครงการดังกล่าวได้วางศิลาฤกษ์ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการอะไร สุดท้ายรัฐบาลพม่าได้ยึดสิทธิการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้านี้ให้กับกฟผ.ไป
ปี52 รับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์800ลบ.
สำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังนี้ บริษัทฯคาดว่าจะมีกำไรสุทธิสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 6เดือนแรกของปีนี้ เนื่องจากครึ่งปีหลัง 2551 โรงไฟฟ้าราชบุรีไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ ทำให้ค่าความพร้อมจ่ายไม่ลดและไม่มีค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ในการเปลี่ยนซ่อม คงเป็นการหยุดตรวงวัดความดันเพียง 15 วันเท่านั้น โดยปีนี้จะมีกำไรขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบจากปีก่อน เนื่องจากรับรู้กำไรจากโรงไฟฟ้าราชบุรี เพาเวอร์ที่เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบเมื่อมิ.ย.ที่ผ่านมาประมาณ 400-500 ล้านบาท คาดว่าปีนี้บริษัทฯจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้สูงกว่าปีที่แล้วที่จ่ายปันผลไป 2.10 บาท/หุ้น
ในปี 2552 บริษัทฯคาดว่าจะมีกำไรสุทธิขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ เพราะรับรู้กำไรจากโรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์เต็มปี ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 700-800 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากโครงการนี้มีภาระหนี้อยู่ 480 ล้านเหรียญสหรัฐ
" ในช่วง 1-2ปีนี้ จะไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามา เว้นแต่โครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ที่จะจ่ายไฟเข้าระบบพ.ย. 2553 ทำให้บริษัทฯมีกำไรสุทธิทรงตัวไปจนถึงปี 2553 ก่อนที่จะรับรู้รายได้ใหม่เข้ามา"
นายณรงค์ กล่าวถึงกรณีที่ราคาหุ้นRATCH ได้ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาว่า บริษัทฯไม่มีนโยบายที่จะซื้อหุ้นคืนจากตลาดฯ แม้ว่าจะมีการศึกษาเรื่องดังกล่าวก่อนหน้านี้ เนื่องจากเห็นว่าราคาหุ้นในตลาดปรับตัวลดลงทั้งกระดานไม่ใช่เฉพาะหุ้นRATCH เท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นและไม่สมควรทำ เพราะเงื่อนไขการซื้อหุ้นคืนนั้นจะต้องมีการนำหุ้นดังกล่าวออกขายที่ตลาดฯหรือมิฉะนั้นก็ต้องลดทุนจดทะเบียนบริษัทตามจำนวนหุ้นที่ซื้อคืน ซึ่งบริษัทไม่มีแผนที่จะลดทุนฯและหากช่วงนั้นราคาหุ้นไม่กระเตื้อง ก็ไม่เห็นประโยชน์ที่จะซื้อคืนแต่อย่างใด
นอกจากนี้ บริษัทได้มีการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ต่างชาติถือหุ้นในRATCH จำนวน 210 ล้านหุ้นสูงกว่าเมื่อเดือนเม.ย. ที่ต่างชาติถือหุ้นอยู่ 209 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นต่างชาติถือหุ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|