ให้6 สถาบันลงทุนตปท. แก้ปัญหาเงินล้น8แสนล.


ผู้จัดการรายวัน(24 กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท.คลายเกณฑ์คุมแลกเปลี่ยนเงิน หวังแก้ปัญหาสภาพคล่องล้นระบบตลาดเงินไทยกว่า 8 แสนล้านบาทขณะนี้ และเพิ่มทางเลือกใหม่การลงทุนหาผลตอบแทนช่องทางต่างประเทศ เปิดทางสถาบัน 6 ประเภทลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งเปิดช่องนักธุรกิจถือเงินดอลลาร์สหรัฐได้ 6 เดือน ก่อนแลกคืนเป็นเงินบาท จากเดิมให้ถือเพียง 3 เดือน พร้อมหนุนตั้งกองทุนรวมลงทุนเอเชียบอนด์ ขายหน่วยรายย่อย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายเสถียรภาพการเงิน เปิดเผยวานนี้ (23 ก.ค.) ว่า ธปท. ผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อสนับสนุนการลงทุนออกต่างประเทศ และเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ การลงทุน

สภาพคล่องส่วนเกิน8แสนล้านบาท

เนื่องจากขณะนี้ การออมในประเทศมีเกินกว่าความต้องการ สภาพคล่องระบบตลาดเงินไทย สูงมาก โดยสภาพคล่องส่วนเกินขณะนี้กว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งการเปิดโอกาสให้ลงทุนในต่างประเทศ จะพิจารณาตามความเหมาะสม

ธปท.ผ่อนผันผู้ลงทุนสถาบัน 6 ประเภทลงทุนในต่างประเทศ แบ่งเป็นตราสารหนี้ของคนไทย ที่จำหน่ายในต่างประเทศก่อนวันที่ วันที่ 1 มกราคมปีนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดย ให้ซื้อคืนได้ไม่จำกัดจำนวน

สำหรับตราสารหนี้ของคนไทยที่จำหน่ายต่างประเทศ ยอดทั้งสิ้น 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 7,200 ล้านดอลลาร์ เป็นตราสารออกโดยภาคเอกชน อีก 3,800 ล้านดอลลาร์ เป็นตราสารออกโดยรัฐบาล

ส่วนตราสารหนี้ต่างประเทศ อนุญาตเฉพาะตราสารหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ระดับที่ลงทุนได้ (อินเวสเมนต์ เกรด) โดยกำหนดวงเงินรวมไม่เกิน 500 ล้านดอลลาร์

"สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน 6 ประเภท ได้แก่ บริษัทประกันชีวิต กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนรวมไม่รวมกองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะ จัดตั้ง" นายธีระชัย กล่าว

หนุนเอกชนตั้งกองทุนเน้นลงทุนเอเชียบอนด์

ธปท.ยังสนับสนุนให้ภาคเอกชนตั้งกองทุนรวม เพื่อลงทุนในพันธบัตรเอเชีย (เอเชียบอนด์) ที่ออกโดยรัฐบาลเอเชีย หรือรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกัน เพื่อเสนอขาย ผู้ลงทุนรายย่อย โดยจะประสานงานกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อประเมินความสนใจของผู้ลงทุนและกำหนดวงเงิน

นายธีระชัยกล่าวด้วยว่า ธปท.เปิดโอกาสให้นิติบุคคลที่ทำธุรกิจ สามารถฝากเงินดอลลาร์ เข้าบัญชีสกุลต่างประเทศได้สะดวกขึ้น โดยขยายเวลาถือครองเงินดอลลาร์จาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน ก่อนแลกคืนเป็นเงินบาท เพื่อเพิ่มความ สะดวกให้ผู้ส่งออกและนำเข้า

ขณะเดียวกัน เปิดให้รัฐวิสาหกิจป้องกันความเสี่ยงหนี้เงินตราต่างประเทศได้เองโดยอิสระตามภาระที่มีอยู่ จากเดิมที่จำกัดเฉพาะหนี้ไม่เกิน 1 ปี และอนุญาตให้บริษัทไทยออกตราสารอนุพันธ์ ที่ผลตอบแทนอ้างอิงตัวแปรต่างประเทศ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ต่างประเทศ แต่ต้องขายให้ผู้ลงทุนสถาบันเท่านั้น

"ผลจากการผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินของ ธปท.ครั้งนี้ อาจทำให้สภาพคล่องในระบบลดลงได้บ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้ลงทุน ว่าจะย้ายเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน โดยนักลงทุนต้องบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม เนื่องจากนักลงทุนจะต้องมีความเสี่ยงเรื่องของอัตราแลก เปลี่ยน" นายธีระชัยกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.