เลื่อนฟื้นฟูเอสวี ลูกบ้านผวาล้มฯ บสท.พร้อมช่วย


ผู้จัดการรายวัน(24 กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

มหากาฬโครงการเอส วี การ์เด้นท์ ของกลุ่มสหวิริยาวุ่นวายไม่จบ ผู้เสียหายซื้อห้องชุด เคลื่อนกดดันผู้บริหารกรมบังคับคดีและบสท.ยืดแผนฟื้นฟูอีก 1 ปี หลังครบในแผนฟื้นฟูมา6 ปีแล้ว ผู้ซื้อแฉ นอมินีซื้อห้องชุดคืนจากคนที่มีชื่อเสียงและลูกบ้านบางกลุ่ม หวังได้สิทธิในการโหวตมากขึ้น ด้านบสท.ระบุพร้อมดูแลและช่วยเหลือผู้ซื้อ ยันไม่ใช่เจ้าหนี้รายใหญ่มีคะแนนโหวตแค่ 27% กลุ่มสหวิริยา 21% เจ้าหนี้รายอื่นๆ 11% จวกเจ้าของโครงการ 6 ปีทำอะไรอยู่!

แม้ว่าจะล่วงเลยมากกว่า 10 ปีแล้ว แต่สำหรับความทุกข์ของผู้ซื้อห้องชุดในโครงการ เอส วี การ์เด้นท์ ซึ่งเป็นโครงการของบริษัท พระราม 3 แลนด์ จำกัด ธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือสหวิริยา ของตระกูล "วิริยะประไพกิจ" ซึ่งในอดีตเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ตั้งตระหง่านบนถนนพระราม 3 ใกล้ๆกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา แต่ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้โครงการต้องหยุดชะงักในการก่อสร้างลง เหลือไว้แต่เพียงโครงสร้างเหล็กที่สูง กลายเป็นอนุสรณ์สถานที่โชว์ให้เห็นถึง "ซาก"ของความเจริญของอสังหาฯในอดีต ขณะที่ ผู้ซื้อห้องชุดจริงที่เป็นมือแรก ต้องเก็บเงินออม จ่ายค่าดาวน์ให้แก่โครงการไปจนครบ 40% ของราคาขาย รวมเป็นเงินคราวๆประมาณ 2,850 ล้านบาท และมีผู้เสียหายที่ซื้อห้องชุดในโครงการเอส วี การ์เด้นท์ ในช่วงนั้นกว่า 1,000 คน

ล่าสุด กลุ่มผู้เสียหายจากโครงการนี้ประมาณ 60-70 คน ได้รวมตัวเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานของรัฐ โดยในช่วงเวลา 09.00 น. ร่วมกลุ่มที่หน้าตึกโครงการเอส วี การ์เด้นท์ หลังจากในเวลา 11.00 น. ได้มารวมกลุ่มที่หน้ากรมบังคับคดี เพื่อให้ทางนายสิรวัต จันทรัฐ อธิบดีกรมบังคับคดี มารับฟังความเดือนร้อนของผู้เสียหาย และจากนั้นได้ไปชุมนุมหน้าตึกธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) เป็นที่ตั้งของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย(บสท.)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เสียหายต่างไม่พอใจกับการกระทำของกรมบังคับคดีและบสท. โดยชูแผ่นป้ายที่มีข้อความว่า "คนล้มบนฟูก บสท.ดูแล ประชาชนเสียหาย บสท.เมินเฉย ฟื้นฟูได้แต่กลับให้ล้มละลายเพื่อประโยชน์ใคร แต่ไปให้ความช่วยเหลือกับนายทุนที่ตั้งใจโกงประชาชน " ขณะเดียวกัน ต่างตำหนิอดีตเจ้าของโครงการ "โครตโกง"

หลังจากเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2551 ที่ทางเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ มีจดหมายเชิญลูกบ้าน(ฐานะเจ้าหนี้)ไปลงคะแนนโหวต ในการแก้ไขแผนของบริษัทแอสทแซท แพลนเนอร์ ที่โรงแรมรอยัลริวเวอร์ เพื่อขอแก้ไขแผนและขยายเวลาในการฟื้นฟูกิจการออกไปอีก 1 ปีนั้น ไม่ผ่าน เนื่องจากบสท. ในฐานะเจ้าหนี้ไม่เห็นด้วยกับแผน และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของคดีสหวิริยาซิตี้ ก็ลงคะแนนไม่เห็นด้วยเช่นกัน ทำให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 คือ ลูกบ้านที่รวมกลุ่มกันต้องแพ้คะแนนโหวตในครั้งนี้ นั้นหมายความว่า บริษัทพระราม 3 แลนด์ฯ ลูกหนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย คดีหมายเลขแดงที่ 1307/2544 ศาลล้มละลายกลาง เพื่อทำการจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ นำรายได้มาเฉลี่ยคืนเจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน และเจ้าหนี้รายอื่นๆตามสิทธิ ทั้งนี้ ศาลได้ให้ไปฟังคำตัดสินของคดีในวันที่ 21 ต.ค.นี้ ที่ศาลล้มละลายกลาง อาคารกรุงเทพประกันภัย ชั้น 15 ถ.สาทร

นายสุรศักดิ์ จิตเพียรธรรม กรรมการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ซื้อห้องชุด เอส วี การ์เด้นท์ และเป็นหนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวภายหลังการเข้าหารือกับอธิบดีกรมบังคับว่า ตัวแทนทางชรมรมได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายสิรวัต เพื่อขอคัดค้านผลโหวตในวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมขอความเป็นธรรมให้ทางกรมบังคับคดีพิจารณาโหวต เพื่อขยายเวลาของแผนฟื้นฟูออกไปอีก 1 ปี (จากก่อนหน้านี้ ที่ลูกหนี้และผู้ซื้อห้องชุดอยู่ในความคุ้มครองของศาล โดยได้มีกระบวนการฟื้นฟูมาแล้ว 5 ปี และมีการต่อแผนฟื้นฟูอีก 1 ปี ตั้งแต่ปี 2550 จนมาครบเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ) ซึ่งทางอธิบดีฯรับปากจะดูแลเรื่องให้ โดยให้ทางชมรมฯทำหนังสือมาถึงกรมบังคับคดี

หนึ่งในผู้เสียหายและเคยคลุกคลีกับการทำงานให้แก่โครงการเอส วี การ์เด้นท์ กล่าวเตือนว่า ใครที่คิดจะซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม อย่าซื้อโครงการกระดาษเปล่า เพราะจะไม่มีหลักประกันให้เมื่อเวลาเกิดปัญหา ไม่เหมือนเจ้าหนี้รายอื่นที่มีหลักประกัน แต่เราผู้ซื้อไม่มีหลักประกันเลย อย่างไรก็ตาม ทางลูกบ้านมีความกังวลว่า เมื่อลูกหนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและทางกรมบังคับคดีจะต้องดำเนินการขายทรัพย์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้ว อาจจะได้ราคาที่ต่ำเกินกว่าเป็นจริง และอาจจะเป็นช่องทางที่ทำให้เจ้าของเดิมได้รับประโยชน์

"แม้ในช่วงที่ผ่านมา ลูกบ้านจะมีสิทธิในความเป็นเจ้าหนี้ในการโหวตคะแนนเสียงมาก แต่กลับพบว่า มีการจัดตั้งตัวแทนแฝงหรือนอมินีมาซื้อห้องชุดคืนจากคนที่มีชื่อเสียงของลูกบ้านไป เช่น คนในตระกูลโสภณพนิช พล.ต.อ.อำนวย เพชรศิริ รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ซึ่งเท่าที่รู้มาซื้อไปคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของผู้เสียหาย ประมาณ 30 กว่ายูนิต โดยจ่ายคืน 20% ของเงินดาวน์ที่ชำระแก่โครงการ 40% "ผู้เสียหายรายหนึ่งกล่าวและว่า สำหรับผู้เสียหายจากโครงการนี้มีประมาณ 1,000 ราย ได้จ่ายดาวน์ให้แก่โครงการประมาณ 2,850 ล้านบาท คอนโดฯมี 4 ตึกสูงตึกละ 42 ชั้น ราคาขายในช่วงนั้น 2 ล้านบาทขึ้นไป

สำหรับรายละเอียดของหนังสือที่ส่งถึงอธิบดีกรมบังคับคดี นางวัชรี วรรักษ์กุล และนายสุรศักดิ์ จิตเพียรธรรม ในฐานะแกนนำของตัวแทนเจ้าหนี้กลุ่ม ระบุว่า การที่เจ้าพนักพิทักษ์ทรัพย์ลงคะแนนเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้ของบริษัท พระราม 3 แลนด์ จำกัด ไม่เห็นชอบตามแผนแก้ไขดังกล่าว จนอาจนำไปสู่ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ อันเป็นผลที่จะต้องนำทรัพย์สินของบริษัท พระราม 3 แลนด์ จำกัด ขายทอดตลาด และนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ โดยจะต้องชำระให้แก่หนี้ประกันลำดับแรก คือ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 เจ้าหนี้มีประกันที่ไม่ใช่บสท.มีจำนวนหนี้ประมาณ 919.245 ล้านบาท และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้มีประกันบสท. มีจำนวน 2,909.594 ล้านบาท แต่ปรากฎว่า บริษัทพระราม 3 แลนด์ จำกัด มีทรัพย์สินเฉพาะเป็นที่ดินซึ่งติดจำนองกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 และที่ 4 อยู่ประมาณ 605.812 ล้านบาท ดังนั้น โอกาสเงินที่ได้จากการขายตลอด แล้วนำมาชำระแก่เจ้าหนี้มีประกันทั้งหมด ทำให้เจ้าหนี้ไม่มีประกัน( รวมถึงเจ้าหนี้รายที่ 1011 บริษัท สหวิริยา ซิตี้ จำกัด ) ไม่ได้รับชำระหนี้เลย เป็นหนี้สูญทั้งหมด ดังนั้น เมื่อ บริษัท พระราม 3 แลนด์ จำกัด เข้าสู่กระบวนการล้มละลายแล้ว บสท.จะได้รับผลประโยชน์ เพราะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน

บิ๊กบสท.พร้อมช่วยเหลือ ยันไม่ใช่เจ้าหนี้ใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานจากหน้าอาคารเอ็กซิมแบงก์ว่า นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการบสท.ได้กล่าวชี้แจงกับผู้มาร้องเรียนว่า จริงๆแล้ว คงมีความเข้าใจผิดคิดว่าบสท.เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ในสัดส่วนที่มีอำนาจโหวตคะแนนเกินกว่า 50% ตรงนี้ไม่ใช่ เพราะตามโครงสร้างเจ้าหนี้แล้ว ทางบสท.มีสัดส่วนความเป็นเจ้าหนี้ 27% กลุ่มสหวิริยา 21% สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้หลายแห่งรวมกัน 11% ลูกบ้านประมาณ 30% และอื่นๆซึ่งรวมเจ้าหนี้การค้าอีก 10% แต่ถึงกระนั้น ทางบสท.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ซื้อตัวจริงอย่างเต็มที่

" บสท.พร้อมให้ความช่วยเหลือเต็มที่ ซึ่งลูกบ้านยังมีช่องทาง หากว่าในวันที่ 21 ต.ค.นี้ ศาลสั่งให้ลูกหนี้คือ บริษัท พระราม 3 แลนด์ ล้มละลายแล้ว ก็ยังอุทธรณ์คัดค้านได้ "

ลูกหนี้(สหวิริยา)จริงใจแค่ไหน

ผู้เกี่ยวข้องรายหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าศาลจะให้คุ้มครองลูกหนี้และผู้ซื้อโครงการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ทางเจ้าหนี้ก็ยอมรับสภาพและให้โอกาสสหวิริยา เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว และหาผู้ร่วมทุนในกาพัฒนาโครงการให้แล้ว แต่มาถึงวันนี้ ก็พิสูจน์เจตนาที่ชัดเจนของลูกหนี้ได้เป็นอย่างดี

"จริงๆแล้ว หาก 6 ปีที่ผ่านมา ถ้าสหวิริยาไปสร้างโครงการคอนโดมิเนียมให้แล้วเสร็จ ก็คงไม่มีปัญหาเหมือนวันนี้ ถามว่าเจ้าหนี้รวมได้อะไร ก็ได้ให้โอกาสแก่ลูกหนี้ แต่ถึงวันนี้ ก็ควรเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะดำเนินการ เพื่อเคลียร์ปัญหาดังกล่าว โครงการเอส วี การ์เด้นท์ ราคาประเมินออกมา 1,000 ล้านบาท จ่ายเจ้าหนี้ไป 300-400 ล้านบาท ที่เหลือก็ให้ลูกบ้าน ตรงนี้ก็พอยอมรับได้ แต่ขณะนี้เรารับไม่ได้ กฎหมายก็ดูแลมา 6 ปีแล้ว และหลังจากนี้ เมื่อลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย นั่นหมายความว่า สิทธิของลูกบ้านที่ซื้อห้องชุดไว้ ก็หมดสภาพตามกฎหมาย การที่จะดูแล ผู้ซื้อห้องชุดโครงการนี้ต่อไป เป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก เพราะกระบวนการต้องเริ่มตั้งแต่การก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จ แล้วหาผู้ร่วมทุน ขณะเดียวกัน เจ้าหนี้ไม่มีแค่รายเดียว มีหลายแบงก์ ต้องคุยกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จริงๆแล้ว ผู้ซื้อห้องชุดในโครงการ ก็ควรรู้ว่า เจ้าหนี้ให้เวลาสหวิริยาแล้ว คุณต้องกลับไปถามว่า สหวิริยาบริสุทธิ์ใจแก่เจ้าหนี้และผู้เสียหายที่ซื้อห้องชุดโครงการมากแค่ไหน "


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.