|
"วงศ์สวัสดิ์"ตามรอยชินวัตร
ผู้จัดการรายวัน(23 กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
แกะรอยเครือข่ายธุรกิจตระกูลวงศ์สวัสดิ์หลัง "สมชาย" ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ จับตาเจ๊แดงเล่นบท "พจมาน" รูปแบบจัดการหุ้นและผลประโยชน์ไม่ต่างจากครอบครัวชินวัตร พ่อแม่เล่นการเมืองโอนให้ลูกถือหุ้นใหญ่ จับตามหากาพย์ซุกหุ้นภาคต่อ
พฤติกรรมการผ่องถ่ายทรัพย์สินของกลุ่มนักการเมืองไทยก่อนลงสนามการเมืองอย่างเต็มตัวดูจะเป็นเรื่องที่ปกติไปแล้ว นักการเมืองส่วนใหญ่มักจะใช้แนวทางการโอนทรัพย์สินให้กับบุคคลที่มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ไม่ว่า จะเป็นสามี ภรรยา หรือลูกๆ หรืออาจจะมีการจัดตั้งบริษัทหรือกองทุนเพื่อเข้ามารับทำหน้าที่แทน เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากหน่วยงานของภาครัฐ
ล่าสุด หลังจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 26 ของไทยหลายฝ่ายจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะที่ไปที่มาของทรัพย์สินดูสลับซับซ้อนยิ่ง บวกกับชื่อเสียงของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ภรรยาของนายสมชายและในฐานะของน้องสาวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรซึ่งช่วงที่พี่ชายเป็นนายกฯและครองอำนาจอยู่นั้นมีทรัพย์สินงอกเงยขึ้นมาอยู่ในระดับแถวหน้าของวงการธุรกิจอย่างน่าสนใจ
โดยทุกฝ่ายต่างจับจ้องขุมข่ายทรัพย์สินของตระกูลวงศ์สวัสดิ์ ว่า ขณะนี้บุคคลที่เกี่ยวข้องในตระกูลวงศ์สวัสดิ์มีทรัพย์สินอะไรบ้าง มูลค่ามหาศาล หรือมากน้อยขนาดไหน และโยงใยถึงกลุ่มบุคคลใดบ้างที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีการโอนให้บุคคลหรือกลุ่มทุนใดถือแทนบ้าง
ทั้งนี้ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า พฤติกรรมการโอนถ่ายทรัพย์สินของตระกูลวงศ์สวัสดิ์ จะซ้ำรอยกับตระกูลชินวัตร ของพ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ ซี่งได้มีการโอนทรัพย์สิน โดยเฉพาะหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งสะดวกต่อการตรวจสอบให้กับบุตรชาย บุตรสาว หรือบุคคลใกล้ชิด แต่ยังมีอำนาจการตัดสินใจแบบเบ็ดเสร็จจนเป็นที่มาของคดี “ซุกหุ้น” ทั้งสองยุค และ การหลีกเลี่ยงการเสียภาษีดังเป็นคดีที่อื้อฉาวมาแล้ว
“ผู้จัดการรายวัน” ได้สืบค้นข้อมูลย้อนรอยขุมทรัพย์ตระกูลวงศ์สวัสดิ์ พบว่า มีมูลค่าหลายพันล้านบาท โดยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รับเหมาก่อสร้าง คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
เริ่มตั้งแต่นางสาวชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ บุตรสาวคนโตของตระกูล ถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุด จากการโผล่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารของบริษัท วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ WIN ซึ่งทำธุรกิจลอจีสติกส์ ก่อนจะเทขายหุ้นทั้งหมดให้กับนายจักร จามิกรณ์ จำนวน 172.50 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 35.18% ของทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว ในราคาหุ้นละ 1.02 บาท รวมมูลค่ากว่า 176 ล้านบาท
โดยการขายหุ้นทิ้งของนางสาวชินณิชา ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากนางเยาภา ผู้เป็นแม่ ถูกศาลรัฐธรรมนูตัดสินทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และ เป็นการขายหุ้นเพื่อมาลงเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว ท่ามกลางข้อกังขาของหลายฝ่ายว่า การขายหุ้นครั้งนี้ เป็นการขายหุ้นกับเครือข่ายเดียวกัน โดยมองว่านายจักร ยังเป็นกลุ่มเดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการ
ขณะที่บริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MLINK ซึ่งถือว่าเป็นฐานที่มั่นสำคัญของตระกูลวงศ์สวัสดิ์ ตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ล่าสุด (ปิดสมุดทะเบียน 8 เม.ย. 51) ได้ปรากฏรายชื่อนายยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ บุตรชายของนายสมชาย ถือหุ้นอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรก 67.30 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 12.46% และ 17.30 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.20% ทำให้ถือหุ้นรวมกว่า 84.60 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนรวมทั้งสิ้น 15.66% ของทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 2 และ 3 ของ MLINK
ส่วนผู้ถือหุ้นอันดับแรกของ MLINK ตกเป็นของบริษัท เอ็ม แคปปิตอล โฮลดิ้ง จำกัด (ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ก่อตั้งเดือนก.พ. 2546) ถือหุ้นจำนวน 210.00 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 38.89% ของทุนจดทะเบียน หลังจากรัฐซื้อหุ้นส่วนใหญ่จากนางสาวชินณิชา เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 51 จำนวน 70 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.61 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 112.70 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ตั้งข้อสังเกตถึงแหล่งที่มาของความร่ำรวยของตระกูลวงศ์สวัสดิ์มีความเป็นมาอย่างไรโดยเฉพาะการใช้ตลาดหุ้นสร้างความมั่งคั่ง เพราะตั้งแต่ปี 2546 ที่ผ่านมา นางสาวชินณิชา ถือหุ้นรวมมูลค่ากว่า 759 ล้านบาท ติดอันดับเศรษฐีหุ้นในอันดับที่ 68 ของประเทศ ทั้งที่ก่อนหน้าไม่มีประวัติเล่นหุ้นมาก่อน ขณะที่นางสาวชยาภา และนายยศชนัน ถือหุ้นมูลค่า 645 ล้านบาท และ 636 ล้านบาท ติดเศรษฐีหุ้นอันดับ 84 และอันดับ 87 ของประเทศ
จากการตรวจสอบเครือข่ายธุรกิจของตระกูลวงศ์สวัสดิ์ นอกจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง 2 บริษัทแล้ว ยังพบว่า เครือข่ายธุรกิจของคนในตระกูลวงศ์สวัสด์มีบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์อีกกว่า 10 บริษัท ได้แก่
1.บริษัท วาย. ชินวัตร เทเลคอม ตัวแทนนายหน้าขายวิทยุ-โทรทัศน์ ก่อตั้งวันที่ 26 กรกฎาคม 2533 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท
2.บริษัท เอส.ดับบลิว เทเลคอม ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ก่อตั้งวันที่ 18 ธันวาคม 2535 ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท
3.บริษัท เอส.ที เทเลซิสเต็มส์ (ฟอร์จูน) ขายโทรศัพท์มือถือ ก่อตั้งวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2537 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท (เลิกกิจการในปี 2543)
4.บริษัท สตรองพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ผลิตเพลง สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ ก่อตั้งวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท
5.บริษัท เทคนิค เทเลคอม จำกัด บริการขาย-ซ่อมโทรศัพท์มือถือ ก่อตั้งวันที่ 5 กันยายน 2537 ทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท
6.บริษัท ฟอร์จูน เวนเจอร์ จำกัด ขายโทรศัพท์มือถือ ก่อตั้งวันที่ 18 กันยายน 2537 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท
7.บริษัท เอ็มลิงค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น ขายโทรศัพท์มือถือ ก่อตั้งวันที่ 18 กันยายน 2538 ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท (จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545)
8.บริษัท ที.ที.เทอร์มินอล ขายโทรศัพท์มือถือ ก่อตั้งวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท
9.บริษัท เทเลแม็กซ์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น ขายโทรศัพท์มือถือและชำระบริการค่าโทรศัพท์ในระบบ GSM เซลลูลาร์ 900 ก่อตั้งวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท
10.บริษัท เอ็ม แคปปิตอล โฮลดิ้ง จำกัด ก่อตั้งวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ก่อตั้งทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท (ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MLINK)
11.บริษัท เอ็ม ช็อป โมบาย จำกัด ก่อตั้งวันที่ 13 มีนาคม 2546 ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท
นอกจากนี้ตระกูลวงศ์สวัสดิ์ ได้ขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจด้านพลังงานหลังจากธุรกิจโทรคมนาคม ภายใต้บริษัท อินนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท อินนิค เซอร์วิส จำกัด
ทั้งนี้ บริษัท อินนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท สตรองพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ส่วนบริษัท อินนิค เซอร์วิส จดทะเบียนวันที่ 7 มิถุนายน 2549 ทุน 1 ล้านบาท โดยตระกูลวงศ์สวัสดิ์ ถือหุ้นร่วมกับ นายชาคริต เฉลิมวัฒน์ เจ้าของบริษัท สยาม ออยล์ โปรดักส์ จำกัด บริษัท ไอยรา อินเตอร์เทรด จำกัด และบริษัท ไทย เคมิคอล โปรดักส์ จำกัด ในสัดส่วน 60% ต่อ 40%
สำหรับบัญชีทรัพย์สินของนายสมชาย และนางเยาวภา ที่แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 22 มกราคม 51 ปรากฎว่า มีทรัพย์สินรวมทั้ง 2 คน จำนวน 94.3 ล้านบาท แบ่งเป็นทรัพย์สินของนายสมชาย 54.3 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินฝาก 22.6 ล้านบาท เงินลงทุน 346,000 บาท (บมจ.ซีเอส ล็อกซอินโฟ 100,000 หุ้น) ที่ดิน 8 แปลง 9.2 ล้านบาท บ้าน 2 หลัง 4 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น 18.1 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน
ขณะที่ภรรยา มีทรัพย์สิน 39.9 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินฝาก 25,024 บาท เงินลงทุน 13,684 บาท (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด 5,000 หุ้น) ที่ดิน 14 แปลง 22 ล้านบาท บ้าน 1 หลัง 2 ล้านบาท รถยนต์ 3 คัน มอเตอร์ไซค์ 3 คัน 734,000 บาท ทรัพย์สินอื่น 15.1 ล้านบาท หนี้สิน 101,005 บาท
หากจะเปรียบเทียบพฤติกรรมโยกย้ายถ่ายเทหุ้นให้บุคคลใกล้ชิดของตระกูลวงศ์สวัสดิ์อย่างละเอียดแล้วก็จะเห็นว่า ไม่ต่างจากการดำเนินการของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และภริยา ที่ได้โอนหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมดให้กับบุตรชาย บุตรสาว รวมถึงบุคคลใกล้ชิด ก่อนที่จะเข้ามาเล่นการเมือง จนส่งผลให้ติดโผอันดับเศรษฐีหุ้นกันถ้วนหน้า (ก่อนที่จะเทขายหุ้นให้กองทุนเทมาเส็ก สิงคโปร์)
โดยวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2548 ระบุว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ที่ถือหุ้นหลักๆ ในเครือชินวัตร และบมจ. เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น หรือ SC ติดโผเศรษฐีหุ้นอันดับ 1 คือ น.ส. พิณทองทา ชินวัตร บุตรสาว ครองแชมป์เศรษฐีหุ้นมูลค่ารวม 19,188.69 ล้านบาท อันดับ 2 นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายของคุณหญิงพจมาน มูลค่าหุ้น 16,581.64 ล้านบาท นายพานทองแท้ ชินวัตร ทายาทคนแรกของพ.ต.ท.ทักษิณ ติดอันดับ 4 มูลค่า 12,051.96 ล้านบาท
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ทายาทคนสุดท้องอดีตนายกรัฐมนตรี อยู่อันดับ 45 มูลค่ารวม 1,078.69 ล้านบาท ส่วนคุณหญิงพจมาน ติดอันดับ 397 ถือหุ้นรวมมูลค่า 116.42 ล้านบาท ลดลง 22.33% และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวอดีตนายกฯ อยู่อันดับ 62 มูลค่ารวม 820 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมมูลค่าหุ้นที่เครือญาติถืออยู่ทั้งหมด ในปี 2548 ตระกูลชินวัตร ยังคงรักษาแชมป์ตระกูลเศรษฐีหุ้นรวมมูลค่าทั้งสิ้น 33,199.78 ล้านบาท และตระกูลดามาพงศ์ ติดอันดับ 4 มีมูลค่ารวม 16,581.64 ล้านบาท
จากพฤติกรรมการโยกหุ้นให้กับบุคคลที่เกี่ยวของอดีตนายกรัฐมนตรี และภริยา ได้ถูกตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ทั้งคดีการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบมจ. เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น และการจงใจหลีกเลี่ยงภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ป ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาอัยการ ก่อนที่จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองชี้ขาดอีกต่อหนึ่ง
จากนี้ไปตระกูลวงศ์สวัสดิ์ซึ่งสาธารณชนรับทราบทั่วกันแล้วว่ามีสายสัมพันธ์เใกล้ชิดจนแทบจะเป็นตระกูลเดียวกันกับชินวัตร พฤติกรรมการผ่องถ่ายหุ้นมีลักษณะคล้ายๆกันนี้ คงนำไปสู่การตรวจสอบที่เข้มข้น ส่วนจะมีบทสรุปจบลงตรงไหนจะเข้าข่ายแบบเดียวกับตระกูลชินวัตร ซุกหุ้นภาคต่อ จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่อย่างไรล้วนเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|