ภามรีตัวนี้บินไกลถึงยุโรป


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ในปี 2000 เทียนพรรษา ที่เราเห็นคุ้นตามาตั้งแต่เล็กๆ ได้ถูกเลียนแบบ และดีไซน์รูปทรงใหม่ และกลายเป็นสินค้าส่งออกอย่างหนึ่งไปแล้ว

จุดดึงดูดสายตาอย่างแรกของร้านภามรีคือ เทียน ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าเทียนแฟนซีทั่วไป เช่น รูปทรง ที่เป็นแท่งกลมๆ แท่งสามเหลี่ยม แท่งสี่เหลี่ยม เป็นรูปคลื่น มีตั้งแต่อันเล็กๆจนถึงขนาดใหญ่หนักถึง .25 กิโลกรัม และบางแท่งสูงถึง 80 เซนติเมตร

เทียน ที่ผลิตในเมืองไทยนี้มี ดีไซเนอร์เป็นชาวฝรั่งเศสร่วมกันกับเจ้าของคนไทย เพื่อให้สอดคล้องกับการทำตลาดส่งออก ที่มีฝรั่งเศสเป็นประเทศเป้าหมายแรก

เจ้าของร้านภามรี คือ ซินดี้ ภมรมนตรี ลูกสาวคนเล็กของกัปตันโยธิน ซึ่งชีวิตส่วนใหญ่ของเธอจะอยู่ ที่ประเทศฝรั่งเศสนานกว่า 10 ปีที่นั่นเธอ และ เพื่อนๆ จะชื่นชอบอย่างมาก ที่จะใช้เทียนเป็นส่วนหนึ่งของงานสังสรรค์ปาร์ตี้ และจุดสร้างบรรยากาศในบ้านมาเป็นประจำ แต่เธอก็ไม่ได้คาดคิดว่า วันหนึ่งสิ่งที่เธอชอบนี้จะกลายมาเป็นธุรกิจไปได้

"ลองปิดไฟ จุดเทียนในบ้านตรงนั้น ตรงนี้ดูซีคะ สวย และได้บรรยากาศดีออก แต่เทียนทุกประเภทไม่ควรจุดทิ้งไว้เกิน 4 ชั่วโมง เพราะมันจะเปลี่ยนรูปร่างของตัวเทียน ทำให้ควันหรือการเผาไหม้จะไม่ดี แต่ไม่ควรต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ไม่ว่าจะขนาดเล็กใหญ่แค่ไหนค่ะ"

ซินดี้ เริ่มบทสนทนา และให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเทียนด้วยน้ำเสียง ที่แจ่มใสกับ "ผู้จัดการ" ที่ออฟฟิศภามรี บนคอนโดของบ้านสมถวิล ซอยมหาดเล็กหลวง ในห้องทำงานเล็กๆ นั้น มีงานเอกสารเกี่ยวกับการสั่งซื้อวางอยู่จำนวนหนึ่ง ส่วนอีกห้องหนึ่งจะเป็นสินค้าเทียนตัวอย่างวางกระจัดกระจายทั่วห้อง

ช่วง ที่เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจซินดี้อยู่เมืองไทย เห็นรัฐบาลส่งเสริมเรื่องการส่งออก ก็เลยพลอยสนใจไปด้วย เธอคิดอยู่นานเหมือนกันว่าจะทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าอะไร จนวันหนึ่งไปเห็นโรงงานทำเทียนแฟนซี ที่เชียงใหม่ ซึ่งได้รับการออกแบบสวยงาม ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่าเราเองก็ชอบเทียนทำไมไม่ทำเรื่อง ที่ตนเองชอบ

เธอจึงได้ปรึกษา เพื่อนชาวต่างชาติ ที่ทำธุรกิจทางด้านอิมพอร์ตของจากเมืองจีน ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ไปขาย ที่ฝรั่งเศส ซึ่ง เพื่อนก็เห็นด้วย นอกจากนั้น เธอยังได้พบสถิติ ที่ว่าชาวฝรั่งเศสจะใช้เทียน 250 กรัมต่อคนต่อปี แต่ในเยอรมนีใช้เทียน 9 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จากตัวเลขนี้ทำให้เธอมั่นใจว่า ในอนาคตมีความเป็นไปได้อย่างมาก ที่คนฝรั่งเศสจะใช้เทียนมากขึ้น และหากมีความเป็นไปได้ตลาดของยุโรปคือ อีกแหล่ง ที่เธอต้องไปให้ได้

ในยุโรปเทียนส่วนใหญ่จะเป็นสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศ ที่มีวัตถุดิบ และแรงงานถูกมากทำให้ราคาค่อนข้างถูกตามไปด้วย แต่ตัวสินค้าไม่ค่อยมีดีไซน์อะไรมากมายนัก

เทียนของภามรีจึงมีจุดต่าง ที่ค่อนข้างชัดเจน นอกจากชิ้นใหญ่กว่าเทียนแฟนซีทั่วไปแล้ว ยังได้ออกแบบรูปทรงของเทียนแต่ละชิ้นให้เป็นเหมือนงานประติมากรรมชิ้นเอก ที่อยู่ในบ้าน ทุกเล่มจะเป็นการทำด้วยมือ บางแบบจะมีการสลักลายสวยงาม

"กลุ่มลูกค้าของเราจะต้องกลางถึงสูง ไม่ใช่ตลาดล่าง เพราะต้องยอมรับว่าเป็นสินค้า ที่ฟุ่มเฟือย แต่คุณภาพดีมาก ตัวไส้เราจะสั่งจากอเมริกา ละลายช้า ไม่มีควัน พาราฟิน ซึ่งเป็นส่วนผสม ที่สำคัญในการทำเทียนก็นำเข้าจากเมืองจีน"

ส่วน ที่เมืองไทยเธอบอกว่าเทียนกับแอร์อย่างไรก็ไม่เข้ากัน ไม่ว่าเทียนจะคุณภาพดีแค่ไหนก็จะถูกลมตี และอาจจะไหลเร็วขึ้น ดังนั้น การเปิดสาขาในเมืองไทยคงเป็นไปได้ยาก

"หลายคนอาจจะไม่เข้าใจขอซื้อแล้วไม่ขาย หยิ่งจริงๆ แต่ไม่ใช่ค่ะ สินค้า ที่คิดขึ้นมา เพื่อตลาดเมืองนอกจริงๆ ถ้าจะวางขาย ที่นี่จะต้องพัฒนาโปรดักส์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีคนถามมามากเหมือนกันยอดสั่งซื้ออย่างน้อยต้อง 4 พันเหรียญขึ้นไปค่ะ" เสียงหวานใสของเธอทิ้งท้าย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.