ตลาดหุ้นไทยมีสิทธิเด้งต่อรับข่าวดับวิฤตการเงิน


ผู้จัดการรายวัน(22 กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

นักลงทุนโล่ง หลังธนาคารกลางทั่วโลก ร่วมมืออัดฉีดสภาพคล่องบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ก่อนจะขยายวงกว้าง คาดตลาดหุ้นสัปดาห์นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ 5 วันทำการต่างชาติทิ้งหุ้นไทยรวม 4.3 พันล้านบาท สังเวยพิษเลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย ด้านนักวิเคราะห์ แนะขายทำกำไร พร้อมจับตากรอบมาตรการแก้วิกฤต-การเมืองในประเทศ ด้าน ก.ล.ต. ยันกองทุนเอฟไอเอฟไม่น่าห่วง หลังตรวจสอบพบลงทุนหุ้น-ตราสารหนี้ ของเอไอจีแค่ 20 ล้านบาท และเงินฝากอีก 2 พันล้าน ขณะที่ลงทุนกับมอร์แกน สแตนเลย์ -โกลด์ แมนแซคส์ 68 ล้านบาท

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ นักลงทุนคงเบาใจได้ระดับหนึ่ง หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยต้องเจอมรสุมอย่างหนักจากวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ จนกระทั่งเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 4 ต้องประกาศล้มละลาย จนส่งผลขยายวงกว้างต่อตลาดการเงิน รวมทั้งกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงถ้วนหน้า

ทั้งนี้ ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้ประกาศความร่วมมือที่จะให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินภายในประเทศของตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 วันสุดท้าย โดยเฉพาะวันศุกร์ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นแรงถึง 24.45 จุด ปิดที่ระดับ 624.83 จุด

จากการสำรวจยอดการซื้อขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างประเทศพบว่า ตลอดสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติขายทิ้งหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นวันศุกร์ (19 ก.ย.) ที่มียอดซื้อสุทธิ 1,406.44 ล้านบาท ส่งผลให้ตลอดสัปดาห์ตั้งแต่เกิดวิกฤตเลห์แมนฯ มียอดขายสุทธิ 4,347.61 ล้านบาท และยอดขายสุทธิตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนรวม 23,058.06 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีสูงถึง 120,713.15 ล้านบาท

นางสาวมยุรี โชติวิกรานต์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวถึง แนวโน้มตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ (22-28 ก.ย.) ว่า ดัชนีตลาดหุ้นน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลสหรัฐฯ มีมาตรการออกมาช่วยเหลือสถาบันการเงินในประเทศ และจะมีประกาศมาตรการออกมาในสัปดาห์นี้ ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเรื่องวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ในระยะสั้น แต่ปัจจัยดังกล่าวจะยังคงกดดันตลาดต่อเนื่องหากมีสถาบันการเงินประสบปัญหาเพิ่มขึ้นอีก

ประกอบกับสัปดาห์นี้ จะมีนักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นเพื่อปิดสมุดทะเบียน (Window dressing) เพราะเป็นช่วงใกล้ปิดงบไตรมาส 3/51 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 30 จุด

"เราได้แนะนำให้นักลงทุนเข้าไปทยอยซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไรตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ พร้อมประเมินแนวรับไว้ที่ระดับ 624 จุด และแนวต้านที่ระดับ 650 จุด"

นางสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคทีบี กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้จะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากปรับตัวลดลงแรงในช่วงที่ผ่านมา จากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมออกมาตรการที่จะดูแลปัญหาสถาบันการเงิน ด้วยการเตรียมตั้งบรรษัทบริหารหนิ้เสียเข้ามาดูแล ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงระยะสั้น

ทั้งนี้ หากดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 638-640 จุด ซึ่งเป็นแนวต้านนั้น จะมีการปรับตัวลดลงมาจากแรงขายทำกำไรของนักลงทุน จึงทำให้ดัชนีในสัปดาห์หน้าจะค่อยข้างผันผวน และจากการที่ปัจจัยทางการเมืองขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าหรือปัจจัยที่เป็นลบ โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 601-620 จุด

นางสาวปองรัตน์ รัตนะตวณานนท์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดหุ้นน่าจะมีแนวน้าที่ดีขึ้นจากการเข้าแก้ไขภาวะทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยให้แนวรับที่ 610 จุด และแนวต้านที่ 640 จุด พร้อมทั้งแนะนำให้ติดตามทิศทางนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ส่วนหุ้นที่น่าลงทุนจะเป็นหุ้นในกลุ่มธนาคารและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

นายชัย จิรเสวีนุประพันธื ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังทางการสหรัฐฯ ประกาศแก้ไขภาวะทางการเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยให้แนวรับที่ 610 จุด แนวต้านที่ 635-640 จุด ซึ่งหุ้นที่น่าลงทุนจะเป็นหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

นักวิเคราะห์กล่าวเพิ่มเติมว่า นักลงทุนจะต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการที่จะเข้ามาช่วยแก้วิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ว่าจะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด แม้ระยะสั้นๆ ตลาดหุ้นจะได้รับผลดีจากมาตรการดังกล่าวที่จะช่วยผ่อนคลายวิกฤตได้ระยะหนึ่ง โดยในช่วงต้นสัปดาห์คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องไปทดสอบแนวต้านที่ 640 จุด

สำหรับประเด็นการเมืองในประเทศนั้น แม้ว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ยอมรับว่า ได้มีโอกาสพูดคุยทางโทรศัพท์กับตัวแทนของรัฐบาลเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แต่ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่คาดว่าการเจรจาคงจะหาข้อยุติได้ยาก ดังนั้นนักลงทุนจะต้องติดตามท่าที่ของรัฐบาล รวมถึงโผคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยกลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้หาจังหวะขาย ประเมินแนวรับไว้ที่ 600 จุด และแนวต้าน 640 จุด

เล็งเพิ่มข้อจำกัดไพรเวทฟันด์ลงทุนนอก

ด้านนายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า จากที่ในสหรัฐฯเกิดวิกฤตทางการเงิน เริ่มจากเลย์แมน บราเธอร์ เอไอจี ที่ประสบปัญหาทางการเงิน และอาจจะรวมถึงมอร์แกน สแตนเลย์ และโกลด์ แมนแซคส์ ที่มีความเสี่ยง ซึ่งก.ล.ต.ได้ติดตามการลงทุนของกองทุนในต่างประเทศ (FIF) ซึ่งมีมูลค่าลงทุนในต่างประเทศ 4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้พบว่ากองทุนส่วนใหญ่ 95% มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล โดยประเทศที่มีการลงทุน ที่สูง เช่น พันธบัตรรัฐบาลเกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีบางส่วนที่ลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวทฟันด์) และที่เหลือ 5% ลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้เอกชน ซึ่งมองว่าปัญหาสหรัฐฯ นั้นจะไม่กระทบการลงทุนของกองทุนFIF จากที่ก.ล.ต.มีการจำกัดการลงทุนในสินค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ

สำหรับ ก.ล.ต. พบว่ามีกองทุนที่ลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้ของเอไอจี เพียง 10-20 ล้านบาท และมีการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ของเอไอจี จำนวน 2,000 ล้านบาท ซึ่งไม่น่ากังวลเพราะการฝากเงินในต่างประเทศนั้นได้รับการค้ำประกันเงินฝากจากรัฐบาล และมีการลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้ของเลห์แมน บราเธอร์ส จำนวน 58 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน จากการตรวจสอบได้พบว่ามีกองทุนไทยไปลงทุนหุ้นและตราสารหนี้ในมอร์แกน สแตนเลย์ และโกลด์ แมนแซคส์ วาณิชธนกรอันดับต้นๆของสหรัฐ มูลค่ารวม 68 ล้านบาท ซึ่งทั้งในส่วนของ มอร์แกนสแตนเลย์ และโกลด์ แมนแซคส์ ยังไม่ได้ล้ม เพียงแต่มีความเสี่ยงเท่านั้น ก.ล.ต.จึงจับตามองกองทุนที่เข้าไปลงทุนใน 2 บริษัทดังกล่าว เพราะก.ล.ต.ได้มีการติดตามจากตราสารหนี้ประกันความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ผ่านระบบ(Credit Default Swap: CDS) ซึ่งมีการจัดอันดับความเสี่ยง ซึ่งปรากฏว่า มอร์แกนสแตนเลย์ และโกลด์ แมนแซคส์ ติดอันดับความเสี่ยงต้นๆ จึงทำให้ก.ล.ต.มีการจับตามองอย่างใกล้ชิด ว่ากองทุนเอฟไอเอฟไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

"ก.ล.ต.ได้เข้าไปสำรวจดูการลงทุนของกองทุนเอฟไอเอฟ และพบว่าเม็ดเงินการลงทุน และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก จึงไม่ต้องการให้นักลงทุนมีความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยก.ล.ต.จะติดตามการลงทุนของกองทุนเอฟไอเอฟอย่างใกล้ชิด ด้านความเสี่ยงทางด้านค่าเงินนั้น ส่วนใหญ่กองทุนที่ลงทุนในต่างชาติจะมีการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้แล้ว" นายประเวช กล่าว

นายประเวช กล่าวต่อว่า ส่วนการลงทุนของกองทุน Feeder Fund นั้น ซึ่งเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อไปลงทุนในกองทุนหลักเพียงกองทุนเดียวเกิน 80% ขึ้นไป โดยกองทุนหลักคือ Master Fund ดังนั้นกองทุนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อไปลงทุนใน Master Fund เรียกว่า Feeder Fund ซึ่งก.ล.ต. ต้องเข้าไปดูโดยละเอียดอีกครั้ง โดยจะไม่ติดตามกองทุนที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์และทองคำ ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. อาจขยายข้อจำกัดของกองทุนไพร์เวทฟันด์ ที่เกี่ยวข้องกับรายย่อย โดยจะขยายเป็นขั้นตอน และจะสำรวจความคิดเห็น (เฮียริ่ง) ทุกครั้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนจะมีการออกเกณฑ์ใหม่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.