|

เฟรชแอร์ พลิกเกมธุรกิจ สปอร์ต เอนเตอร์เทนฯ แรงเหนือคอนเสิร์ต
ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
อาร์เอส เฟรชแอร์ ปรับเกมธุรกิจ หลัง S-One ทะลุเป้า ส่งสปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์บูม เดินหน้าเปิด 3 สนามรวดปีหน้า สนามบินน้ำ,บางแค และรามอินทรา พลิกสัดส่วนกลายเป็นธุรกิจหลัก ด้านธุรกิจอีเวนต์บันเทิงยังไม่ทิ้ง เดินหน้าขึ้นแท่นผู้จัดอันดับหนึ่งของ "มิวสิค เฟสติวัล" ด้วยการส่ง 3 ธีมคอนเสิร์ตต้อนรับฤดูหนาว คาราบาว, อินดี้, และรวม เอเอฟ 1-5 ใน Winter Music Series 2008@Bonanza Khao-Yai
สร้างกระแสฮือฮาเมื่อครั้งเปิดแผนงาน ที่ค่ายอาร์เอส เฟรชแอร์ ซึ่งนำโดย วินิจ เลิศรัตนชัย กรรมการผู้จัดการ ตัดสินใจทุ่มงบประมาณราว 100 ล้านบาทในการสร้างสนามฟุตบอลหญ้าเทียม S-One ย่านบางนา สร้างสนามกีฬาในรูปแบบสปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในเมืองไทย มีบริการต่างๆไว้รองรับทั้ง คลับเฮ้าส์ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ รวมไปถึงระบบเทคโนโลยีมัลติมีเดียที่นำมาใช้ในสนามฟุตบอลเป็นครั้งแรก โดยลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการสามารถเก็บภาพการเล่นของตนเองในระบบซีดีหรือดีวีดีได้
นอกจากนั้นแล้วภายในสนาม S-One ยังสามารถนำไปใช้ในการจัดอีเวนต์ต่างๆ ตลอดทั้งปี ซึ่งเบื้องต้นจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนสมาชิกอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี โดยปัจจุบันมีสปอนเซอร์หลักได้แก่ เนสกาแฟ , สามารถ ไอ-โมบาย, พานาโซนิค, ยามาฮ่า และ เอ็ม-150
"S-One คิดค่าเช่าสนามตั้งแต่ 1,300 - 1,500 บาทต่อชั่วโมง โดยมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการที่สนามคิดเป็นรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 2.5 ล้านบาท รายได้รวมตลอด 7 เดือนที่ผ่านมาทำได้แล้วกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งแผนการส่งเสริมธุรกิจในปีหน้า จะเน้นการจัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายมาใช้บริการให้มากขึ้นอีก" วินิจ กล่าว
นอกเหนือจากความสำเร็จของ S-One บางนาแล้ว ในส่วนของเทรนด์ฟุตบอล 7 คนหรือมินิซอคเกอร์ก็เห็นได้ชัดว่าโหมแรงขึ้นในประเทศไทย ทำให้วินิจมั่นใจว่าตลาดสปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์มีอนาคตอีกยาวไกล จึงเตรียมเปิดสนาม S-One เพิ่มอีกในปีหน้า โดยสนามต่อไป ย่านสนามบินน้ำ บนพื้นที่ 18 ไร่ มีรูปแบบของสนามครบครัน เช่นเดียวกับ S-One บางนา แต่จะเหนือกว่าตรงพื้นที่ซึ่งใหญ่กว่าและอาจจะมีการเพิ่มคอมมูนิตี้ มอลล์ เข้าไปด้วย โดยแห่งที่2 นี้จะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมปีหน้า
นอกจากนั้นแล้วยังเตรียมเปิดสนาม S-One อีก 2 แห่งภายในปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในย่านบางแค และ รามอินทรา ขณะที่รูปแบบบริหารของอีก 2 แห่งนั้น อาจจะเป็นในรูปแบบของการจับมือกับพาร์ทเนอร์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน หรือ อาร์เอส เฟรชแอร์ เป็นเจ้าของ หรืออีกหนึ่งแนวทางหนึ่งที่มีความเป็นไปได้คือ การเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ที่สนใจต้องการประกอบธุรกิจนี้
วินิจวาดเป้าหมายในอนาคตหาก S-One ได้รับความนิยมมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็มีแผนที่จะเปิดเป็นอคาเดมี ซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบคล้ายๆกับโรงเรียนสอนภาษา แต่จะเปลี่ยนเป็นสอนฟุตบอล 7 คนแทน
จากแนวโน้มการขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้นของ S-One ทำให้วินิจต้องทำการปรับสัดส่วนรายได้ของอาร์เอส เฟรชแอร์ในปีต่อไป จากเดิมที่เคยโฟกัสไปที่กลุ่มอีเวนต์บันเทิง 70% และกลุ่มสปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์ 30% ก็จะกลับกัน โดยกลุ่มสปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์จะเข้ามามีส่วนแบ่งเป็น 70 % ขณะที่กลุ่มอีเวนต์บันเทิงจะลดลงเหลือเพียง 30%
แม้ภาพรวมในปีหน้าจะมีการปรับลดสัดส่วนรายได้ของกลุ่มธุรกิจบันเทิงอีเวนต์ แต่ในส่วนของการจัดแสดงคอนเสิร์ตยังคงมีให้เห็น โดยล่าสุดอาร์เอส เฟรชแอร์ ได้ลงทุนกว่า 40 ล้านบาท จัดเทศกาลดนตรี Winter Music Series 2008 @Bonanza Khao-Yai โดยจะจัดขึ้น 3 ครั้งบนพื้นที่ของโบนันซ่า เขาใหญ่ เริ่มตั้งแต่ Road To Country Carabao & Friend คอนเสิร์ตของคาราบาวที่จะศิลปินเพื่อนพ้องมาร่วมแสดงอาทิ สุรชัย จันทิมาธร ,พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ,พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ และปาน ธนพร ซึ่งคอนเสิร์ตจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 29 พ.ย.นี้ ตั้งแต่เวลา 17.00 - 02.00 น.
คอนเสิร์ตต่อมาคือ Acoustic Winter Fest #3 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ โดยมีศิลปินมากมายเข้าร่วมแสดงอาทิ กรู๊ฟไรเดอร์, สควีซ แอนิมอล, ฟอร์ด-สบชัย ไกรยูรเสน,โก้ มิสเตอร์แซกแมน, โป้ โยคี เพลย์บอย, อีทีซี, ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนเดล, น้อย วงพรู, ป้อม ออโตบาห์น, สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ และกลุ่มโดโจ ซิตี้ นอกจากนั้นยังมีศิลปินชื่อดังจากอิตาลีอย่าง Nossa Alma Canta
และคอนเสิร์ตสุดท้ายของเทศกาลลมหนาวคือ AF Home Coming ที่จะเป็นการรวบรวมเอานักล่าฝันตั้งแต่ซีซั่น1 จนถึงซีซั่น 5 มาประชันกันในวันที่ 31 มกราคม 2552 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. จนถึงเช้าวันใหม่
วินิจ กล่าวว่า คอนเสิร์ตทั้ง 3 ครั้งที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายปี ได้มีการเตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง ศูนย์อาหาร การดูแลรักษาความปลอดภัย และห้องน้ำ โดยในส่วนของห้องน้ำที่เคยสร้างปัญหามาทุกครั้งที่คอนเสิร์ตจัดขึ้นที่เขาใหญ่ ขณะนี้ได้มีการสร้างขึ้นมาใหม่จำนวนหลายร้อยห้อง และคาดว่าจะรองรับกับผู้เข้าชมงานนับหมื่นได้เป็นอย่างดี
ขณะที่การตอบรับจากผู้ชมงานในแต่ละครั้ง คาดว่าจะมีกว่า 6 หมื่นคน และคิดเป็นรายได้ที่จะเข้ามาราว 75 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น Road To Country Carabao & Friend จำนวน 12 ล้านบาท Acoustic Winter Fest #3 จำนวน 25 ล้านบาท และ AF Home Coming จำนวน 25 ล้านบาท
จัดแถวธุรกิจอีเวนต์บันเทิงหวังลดต้นทุนการผลิต
แผนการลงทุนในปีหน้าของอาร์เอส เฟรชแอร์ นอกเหนือจากการเทงบประมาณลงในสปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนท์ด้วยการเปิดสนาม S-One อีก 3 แห่งแล้ว ในส่วนของธุรกิจอีเวนต์บันเทิงได้มีการปรับระบบการจัดคอนเสิร์ต จากเดิมที่จัดหลายๆ ครั้งในแต่ละปี เปลี่ยนเป็นการรวมเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยการวางแผนในอนาคตนั้นจะเป็นในรูปแบบคอนเสิร์ตหลัก 3 ครั้งต่อปี ได้แก่ Winter Fest, Summer Fest และ Rainy Fest คาดว่าจะเริ่มดำเนินตามแผนงานได้ในปีหน้า โดย Winter Fest ที่จะยึดพื้นที่ของโบนันซ่า เขาใหญ่ Summer Fest ที่จะใช้พื้นที่ชายหาดเขาตะเกียบ หัวหิน ขณะที่ Rainy Fest ใช้พื้นที่กลางแจ้งในกรุงเทพฯ
นอกเหนือจากคอนเสิร์ตใหญ่ 3 งานแล้ว ยังมีคอนเสิร์ตย่อยๆที่จะขึ้น 3 ครั้งต่อปี อาทิ ปาร์ตี้ฟูลมูน ที่คาดว่าจะเริ่มแสดงครั้งแรกในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า โดยใช้พื้นที่ใกล้ๆกับกรุงเทพฯส่วนคอนเซปต์ในการจัดงานก็จะคล้ายกับฟูลมูนที่จัดขึ้นตามเกาะต่างๆ
การจัดระบบธุรกิจอีเวนต์บันเทิงต่างๆในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตแล้ว สิ่งที่ต้องการสื่อออกไปคือการแสดงให้ต่างประเทศเห็นว่าประเทศไทยมีการจัดเทศกาลดนตรีที่ได้รับความนิยม ซึ่งหากต่างประเทศได้เห็นการตอบรับที่ดี อาจจะมีความเป็นไปได้ในการบรรจุเทศกาลดนตรีนี้ไว้ในปฏิทินคอนเสิร์ตโลก ซึ่งจะทำให้มีความน่าเชื่อถือและเกิดมูลค่าเพิ่มในงานส่งผลให้ในอนาคตจะรายได้เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับมีชาวต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น
"การหาสปอนเซอร์ จะเน้นนำเสนอรูปแบบงานให้ตรงกับความต้องการและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยพุ่งเป้าไปที่สปอนเซอร์หลักเพื่อให้เกิดความคุ้มทุน และลดความเสี่ยงทางธุรกิจ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราได้ยึดแนวทางนี้ และทำให้เราสามารถรับรู้รายได้หลักและกำไรขั้นต้นที่ได้มากจากสปอนเซอร์ได้อย่างชัดเจน "กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอส เฟรชแอร์ จำกัด กล่าว
สำหรับรายได้ของ อารเอส เฟรชแอร์ คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ แบ่งออกเป็น ธุรกิจอีเวนต์บันเทิง150 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากสปอร์ตเอนเตอร์เทนเมนต์ แบ่งออกเป็นรายได้จากสปอนเซอร์หลักจำนวน 62 ล้านบาทในเวลา 2 ปี และรายได้ส่วนอื่น เช่น ค่าเช่าสนาม รวมแล้วกว่า 300 ล้านบาททั้งปี
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|