แบงก์ชาติ เดินหน้าแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับใหม่ เปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นสถาบันการเงินในเครือได้ทั้ง
100% จากเดิมให้ถือได้ไม่เกิน 10% โดยธปท.จะเข้าไปคุมเข้มทั้งระบบ เพื่อป้องกันความเสียหาย
ขณะที่ นายกรัฐมนตรี เผย "เอส แอนด์ พี" พอใจตัวเลขเศรษฐกิจไทย แต่ยังกังวลระบบสถาบันการเงินและ
การศึกษา ด้าน "บัณฑูร ล่ำซำ" หวั่นหนี้เอ็นพีแอลรอบใหม่ หลังจากแบงก์แข่งขัน กันอย่างรุนแรง
แนะให้แบงก์ชาติเข้าไปตรวจสอบระบบการปล่อยสินเชื่อ
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.กำลังดำเนินการตามกรอบแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับใหม่
(มาสเตอร์แพลน) หลังจากที่ในเบื้องต้นได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้ว โดยในแผนดังกล่าวจะมีการเพิ่ม
สัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในสถาบัน การเงินในเครือให้เพิ่มขึ้นได้เป็น
100% จากเดิมที่ถือได้ไม่เกิน 10%
สำหรับสถาบันการเงินในเครือหมายถึง บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุนรวม
หรือบริษัทประกัน แต่ในการบริหารงานให้แยกบริษัทในเครือเป็นนิติบุคคลต่างหาก ไม่ได้บริหารขึ้นตรงโดยธนาคารพาณิชย์
เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินของธนาคารพาณิชย์
ส่วนด้านการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์นั้น ธปท.จะเพิ่มความระวัดระวังมากขึ้น โดยการกำกับดูแลฐานะของธนาคารพาณิชย์
จะรวมถึงฐานะรวมของธนาคารพาณิชย์ และบริษัทในเครือ หากคิดสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง
(บีไอเอส) หรือการกันสำรองหนี้เสียจะต้องเป็นการคิดสัดส่วนรวมของสถาบันการเงินรวมทั้งเครือของธนาคารพาณิชย์
"การกำกับดูแลอย่างเข้มงวดข้างต้น จะไม่ทำให้ธนาคารพาณิชย์เกิดปัญหา เพราะขณะนี้การถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในบริษัทในเครือก็มีลักษณะนี้
แต่อาจจะไม่ชัดเจน และขณะนี้สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ของธนาคารทุกแห่งอยู่ในระดับที่สูงกว่า
8.5% ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำของธปท.สูงมาก จึงไม่น่าเป็นห่วง"
ส่วนเรื่องการเข้ามาถือหุ้นของสถาบันต่างชาติในธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น ที่ผ่านมาถือได้ไม่เกิน
25% ในมาสเตอร์แพลนนี้ได้เพิ่มสัดส่วนที่ถือได้เป็น 49% โดยในช่วงการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่ผ่านมา
มีหลายธนาคารพาณิชย์ ที่ธปท.อนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ให้ถือหุ้นได้ 100% แต่ต่อจากนี้จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นได้เป็น
49% ในกรณีทั่วไป
สำหรับในกรณีที่ถือหุ้นอยู่เกินกว่าที่กำหนดเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งธปท.อนุญาตให้
10 ปี จะต้องลดสัดส่วนลงมาให้เหลือ 49% สำหรับธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินนั้น
ธปท.ยังอนุญาตให้ถือหุ้นได้ในอัตราไม่เกิน 10% โดย ธปท.ยังต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวัง
และกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในธุรกิจต่างๆ
นางธาริษา กล่าวต่อว่า ในส่วนของอนาคต ของสถาบันการเงินของประเทศไทยนั้น ธปท.จะมีมาตรการเป็นแพกเกจชัดเจน
เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินขนาดเล็กยกระดับตัวเองเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือมีการควบรวมกิจการกันเพื่อขอเป็นธนาคารพาณิชย์แบบจำกัดธุรกรรม
เพราะธปท.มองว่าในอนาคตระบบการเงินของไทยจะมีธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ส่วนสถาบันการเงินอื่นจะมีน้อยมากหรือไม่มีเลย
เหมือนอย่างเช่นระบบการเงินของต่างประเทศที่มีแต่ธนาคารพาณิชย์เท่านั้น
ส่วนเรื่องใบอนุญาตการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์นั้น จะมีแบ่งย่อยเป็นธนาคารพาณิชย์ประเภทต่างๆ
ที่มีการประกอบธุรกรรมได้มากน้อยแตกต่างกันไป หรือเป็นประเภทธุรกรรมเฉพาะ เช่นปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์
กับธนาคารพาณิชย์แบบจำกัดธุรกรรม ในแผนแม่บทนี้ อาจจะมีการแยกย่อยต่อไปอีก เช่น
ใบอนุญาตสำหรับธนาคารพาณิชย์ในเมือง และใบอนุญาตสำหรับธนาคารพาณิชย์ในแหล่งที่
ยังไม่ได้รับบริการอย่างทั่วถึง ซึ่งเงื่อนไขของการจัดตั้ง และธุรกรรมที่ดำเนินการได้จะแตกต่างกันไป
โดยข้อกำหนดที่กำหนดในแผนแม่บทนี้ จะต้องแก้ไขโดยประกาศกระทรวงการคลังในข้อ ที่กระทรวงการคลังมีอำนาจประกาศปรับเปลี่ยน
ได้เอง และดำเนินการแก้กฎหมายสถาบันการเงินในข้อที่จำเป็นต่อไป
"ในขณะนี้ธนาคารพาณิชย์เริ่มมีการดำเนินธุรกิจในเรื่องการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
แต่ธปท.เห็นว่ายังไม่ได้มีการแข่งขันกันจนมากเกินไป หรือมีการปล่อยสินเชื่อในอัตราที่สูงเกินไป
เพราะตัวเลขสินเชื่อในขณะนี้ยังไม่มากเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งในการปล่อยสินเชื่อยังมีขั้นตอนในการพิจารณาความสามารถในการชำระของลูกค้า
ไม่เหมือนในต่างประเทศที่ขอบัตรเครดิตสามารถอนุมัติได้ในทันที"
นายกชี้เอสแอนด์พีพอใจศก.ไทย
ด้านพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังที่นายทาคาฮิรา โอกาวา ผู้อำนวยการการจัดอันดับเครดิต
ประเทศในภูมิภาค เอเชียแปซิฟิก ของเอสแอนด์พี เข้าเยี่ยมคารวะว่า เอสแอนด์พีค่อนข้างพอใจ
และเห็นตัวเลขความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ทั้งตัวเลขการส่งออก และค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพ
แต่ยังเป็นห่วง อยู่ 2 เรื่องที่ล่าช้าคือ เรื่องระบบการพัฒนาสถาบันการเงิน ซึ่งต้องหาทางให้ภาคเอกชน
และธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเอง และเรื่องการศึกษาที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนา เพราะเป็นเรื่องที่ยาก
รวมทั้งยังมีการซักถามถึงเรื่องเศรษฐกิจการบริหาร โดยเอสแอนด์พีไม่ได้แนะนำอะไร
เพียงแต่มาสอบถามข้อมูล และถามถึงความแน่วแน่ในการดำเนินนโยบาย
"รัฐบาลไม่เคยคาดหวังจะให้ใครมายกระดับความน่าเชื่อถือของประเทศ เพียงแต่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
และเมื่อผลออกมาขณะนี้แล้ว ใครไม่ปรับเครดิตให้ ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะปัจจุบันนี้
ภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยดีกว่าหลายๆ ประเทศ ถ้าเป็นมืออาชีพและทำอย่างตรงไปตรงมา
ต้องปรับให้ไทยแน่ เพราะสถานภาพของไทยในวันนี้ ดีกว่าหลายประเทศ ที่มีสถานภาพความน่าเชื่อถือดีกว่าเรา
โดยเฉพาะอัตราส่วนของหนี้ระยะสั้นต่อทุน สำรองของประเทศดีมาก"
"บัณฑูร"หวั่นหนี้เสียรอบใหม่แนะธปท.คุมเข้มการปล่อยกู้
ด้านนายบัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย
(KBANK) กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันปล่อยสินเชื่อสูง มีการตัดราคา
เพื่อหารายได้ให้กับธนาคารในยามที่ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากแคบลง
หากว่าการแข่งขันมีมากจนเกินไป แล้วทำให้รายได้ไม่คุ้มกับความเสียหาย จะทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเสี่ยงมากขึ้น
ดังนั้นธปท.จะต้องเข้ามาดูว่าการแข่งขันมีความผิดปกติหรือไม่
"การตัดราคาแล้วรายได้ไม่คุ้มกับสถิติความเสียหาย นั่นคือทั้งระบบเสี่ยงเกินไป
แต่ไม่มีใครตอบได้ เรื่องนี้ธปท.ต้องเข้าไปดูว่าระบบแข่งขันกันพอสมควรหรือแข่งกันพาไปเสียหาย
ผู้ดูระบบควรเป็นผู้คอยติง แต่ถ้าถามว่าควรเข้ามาดูแลหรือยัง เป็นหน้าที่ของผู้ดูแลระบบ"
สำหรับในส่วนของธนาคารกสิกรไทยนั้น ธนาคารมีแนวทางในการบริหารความเสี่ยงด้วย
การจัดอันดับเครดิตของลูกค้า เพื่อคิดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม หากลูกค้ามีความเสี่ยงสูงธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยสูง
ถ้าลูกค้ามีผลการดำเนินงานดีธนาคารก็จะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ต้องยอมรับว่าในการปล่อยสินเชื่อนั้นย่อม
มีโอกาสที่จะเป็นหนี้เสียได้ด้วย
"ปัญหาหนักของธนาคารในระยะต่อไป คือการขยายสินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการแข่งขันสูง
และต้องยอมรับว่าโอกาสเกิดหนี้เสียก็ต้องมี แต่ขณะนี้หนี้เสียธนาคารอยู่ในระดับที่ไม่น่าห่วง"
สำหรับการหารายได้โดยการขึ้นค่าธรรมเนียมในการให้บริการต่างๆ นั้น นายบัณฑูร
กล่าวว่า ธนาคารไม่มีแนวคิดจะขึ้นค่าธรรมเนียมจากปัจจุบัน และเห็นว่าการขึ้นค่าธรรมเนียม
ในการให้บริการแก่ลูกค้าในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นธนาคารจึงพยายามออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
เข้าไปเสริมในการหารายได้ทดแทน