กลุ่มเคพีเอ็นฟื้นตัว ปรับทัพใหญ่ขยับตัวอีกครั้ง รุกธุรกิจใหม่หลังปรับโครงสร้างหนี้
หั่นทิ้งกิจการไม่มีอนาคต จนหนี้กว่าหมื่นล้านเหลือเพียง 2,000 ล้านบาท ส่งผลปีที่ผ่านมาทำกำไรครั้งแรก
เดินหน้าขยายธุรกิจในกลุ่ม เปิดแฟรนไชส์ค้าส่งและค้าปลีกอะไหล่รถจักรยานยนต์
KPN PLUS ตั้งเป้าฟันราย ได้ขั้นต้นปีละกว่า 1.5 พันล้านบาท เผยแผนสองส่ง 2 บริษัทในเครือเข้าไประดม
ทุนในตลาดหลักทรัพย์ หวังรองรับแผนบุก ตลาดส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์
นายกฤษณ์ ณรงค์เดช ประธานคณะกรรมการบริหาร (CEO) เคพีเอ็น กรุ๊ป ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของไทย
เปิดเผยว่าภายหลังจากมีการปรับโครงสร้างธุรกิจเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งปรับโครงสร้างหนี้
และขายหุ้นส่วนใหญ่ในบางบริษัทไป ทำให้ปัจจุบันกลุ่มเคพีเอ็นมีบริษัทในเครือเหลืออยู่เพียง
14 บริษัท และมีหนี้อยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่กว่า 14,000 ล้านบาท
สำหรับหนี้ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา จะอยู่ที่รถจักรยานยนต์ยามาฮ่ากว่าหมื่นล้านบาท
ดังนั้นเมื่อ กลุ่มเคพีเอ็นขายหุ้นใหญ่ให้กับยามาฮ่า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น โดยเหลือหุ้นอยู่ในปัจจุบันเพียง
15% จึงทำให้จำนวนหนี้ที่มีอยู่ไม่มากนัก และธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มเคพีเอ็นยอดขายไม่ได้ลดลงมากนัก
ส่งผลให้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นไปอย่างราบรื่น และขณะนี้ธุรกิจรถจักรยานยนต์ไม่ถือว่าอยู่ในกลุ่มเคพีเอ็นอีกต่อไป
แม้ว่าตนจะยังเป็นกรรมการอยู่ก็ตาม
ทั้งนี้เดิมธุรกิจในกลุ่มเคพีเอ็นจะเน้นที่อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก แต่ภายหลังจากมีการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่
ได้มีการแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ เทรดดิ้ง ลอจิสติกส์
และธุรกิจด้านการเงิน ทำให้ มีความหลากหลายในธุรกิจมากขึ้น
"โดยนโยบายของกลุ่มเคพีเอ็นต่อไปนี้ จะไม่มุ่งเน้นด้านใดด้านหนึ่งเหมือนเช่นที่ผ่านมา
แต่จะมองว่าธุรกิจไหนที่มีโอกาสบางอย่างอาจจะเป็น ธุรกิจเล็กๆ แต่หากทำแล้วมีกำไร
กลุ่มเคพีเอ็น ก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนทันที" นายกฤษณ์กล่าว
ในส่วนของผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ภายหลังจากปรับโครงสร้างหนี้ ในปีที่ผ่านมากลุ่ม
เคพีเอ็นมีกำไรเป็นปีแรก นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา โดยมีกำไรอยู่ในหลักสิบล้าน
บาท จากผลการดำเนินงานทั้งหมดประมาณกว่า 6 พันล้านบาท ส่วนปีนี้หลังจากดำเนินงานมาครึ่ง
ปีเป็นไปตามเป้าหมาย คาดว่าสิ้นปีน่าจะมีผลกำไร ในหลักร้อยล้านบาท หรือมีผลประกอบการ
ประมาณกว่า 7 พันล้านบาท
นายกฤษณ์กล่าวว่า จากผลการดำเนินงาน ที่เริ่มดีขึ้น ทำให้ปีนี้กลุ่มเคพีเอ็นมีการขยายธุรกิจครั้งแรก
นับตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ เป็นต้นมา โดยได้เริ่มทำธุรกิจศูนย์ค้าปลีกและค้าส่งอะไหล่รถจักรยานยนต์ครบวงจร
ในรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งถือว่าเป็นรายแรกในประเทศไทย หรือของโลกก็เป็นได้ โดยใช้ชื่อว่า
KPN PLUS
ส่วนสาเหตุที่ทางกลุ่มเคพีเอ็นสนใจที่จะมาทำธุรกิจนี้ เนื่องมาจากการสำรวจตลาดอะไหล่รถจักรยานยนต์ในปัจจุบัน
พบว่ายังเป็นตลาดที่เปิดกว้างอย่างมาก ผู้จำหน่ายแต่ละรายต่างต้องดิ้นรนจัดซื้อจัดหาสินค้าเอง
ทำให้ขาดอำนาจ ต่อรองที่ดี ทั้งยังต้องการอาศัยคนกลางหลายทอด ทำให้เสียส่วนแบ่งกำไรไปมากและขาดความ
สะดวก ทั้งที่อะไหล่รถจักรยานยนต์ เป็นสินค้าที่จำเป็นและกลุ่มลูกค้า คือ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์
ทั่วประเทศมีนับสิบล้านคัน คือเป็นมูลค่าตลาด ปีละกว่า 30,000 ล้านบาท
"จากจุดนี้ทำให้กลุ่มเคพีเอ็นเล็งเห็นโอกาส ประกอบกับประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจใน
กลุ่ม จึงได้ผนวกความเชี่ยวชาญทั้งสามสาขาคือ ด้านอะไหล่รถจักรยานยนต์ ด้านระบบลอจิสติกส์และด้านธุรกิจแฟรนไชส์
จากสถาบันดนตรี เคพีเอ็น มารวมเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิต
ทั้งนี้มั่นใจว่าธุรกิจศูนย์ค้าปลีกและค้าส่งอะไหล่รถจักรยานยนต์ครบวงจร KPN PLUS
จะประสบความสำเร็จด้วยดี โดยคาดว่าในเบื้องต้น 3 ปีแรก จะมียอดขายประมาณปีละ 1,500
ล้านบาท"
สำหรับรูปแบบของแฟรนไชส์ KPN PLUS จะมีการออกแบบจัดวางร้านคล้ายกับร้านเซเว่น
อีเลฟเว่น แต่จะเป็นสินค้าประเภทอะไหล่รถจักร ยานยนต์ครบวงจรและขายอะไหล่รถจักรยาน
ยนต์ทุกยี่ห้อ ที่สำคัญจุดเด่นของร้านจะอยู่ที่ราคา สินค้าถูกกว่าร้านอื่นทั่วๆ
ไป
โดยขณะนี้ได้ทำสัญญาแฟรนไชส์ไปแล้ว 8 สาขา ในเขตกรุงเทพฯ และคาดว่าในสิ้นปีนี้จะขยายได้ทั้งสิ้น
25 สาขา และถึง 250 สาขา ภายใน ระยะเวลา 3 ปี นอกจากนี้จะยังขยายแฟรนไชส์ ไปในภูมิภาคเอเชีย
อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน ทั้งนี้ในอนาคตจะนำธุรกิจนี้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในอีก
3-4 ปีข้างหน้า
นายฤกษ์กล่าวว่า ในส่วนธุรกิจอื่นๆ ของกลุ่มเคพีเอ็น ปัจจุบันถือว่าดำเนินไปได้ด้วยดี
และคาดว่าประมาณในช่วงไตรมาสที่สองปี 2546 จะนำบริษัทในกลุ่ม 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท
เคพีเอ็น ออโตโมทีฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้น ส่วนช่วงล่างรถยนต์และบริษัท
เคพีเอ็น พลาสติก จำกัด เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมเงินลงทุนรองรับการส่งออกชิ้นส่วนไปยังต่างประเทศ
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มจะเติบโตอย่างมาก ขณะนี้เป็นกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้ง
ซึ่งเป็น ธุรกิจที่ไม่ต้องมีการลงทุนมาก แต่สามารถทำกำไรได้ดี ดังนั้นอนาคตกลุ่มนี้น่าจะมีสัดส่วนรายได้สูงขึ้น
จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 30% ส่วนมาก ที่สุดยังเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ 60% ที่เหลือเป็นธุรกิจในกลุ่มลอจิสติกส์
และการเงิน
อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มเคพีเอ็นจะมีการทำ ธุรกิจที่หลากหลายขึ้น แต่ทุกกลุ่มธุรกิจจะต้องสามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันได้
สเช่นเดียวกับธุรกิจแฟรนไชส์ศูนย์ค้าส่ง และค้าปลีกอะไหล่ รถจักรยานยนต์ครบวงจร
เพราะนั่นจะทำให้ช่วย ลดต้นทุนในการลงทุน สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ