NFCสางปัญหาหนี้ไทยพีค่อนฮุบ71%


ผู้จัดการรายวัน(23 กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

NFC ดึง "ไทยพีค่อน" จากจีนถือหุ้นใหญ่ 71% ส่งผลแผนปรับโครงสร้างหนี้บริษัทเจ้าปัญหาฉลุย โดยไทยพีค่อนทุ่ม 1,588 ล้านบาทใช้หนี้ พร้อมอัดฉีดเงินใหม่ เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรและเสริมสภาพคล่องอีก กว่า 2,500 ล้านบาท บสท. มั่นใจมีศักยภาพฟื้นฟูกิจการได้ ไม่ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน แต่มีปุ๋ยคุณภาพดีและราคาเหมาะสม

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา ของ บมจ.ปุ๋ยแห่งชาติ (NFC) ว่า บสท.และธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะเจ้าหนี้มีหลักประกัน ได้ข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับการสรรหาผู้ร่วมทุนใหม่ ตามที่บริษัทเสนอ หลังเจ้าหนี้สั่งให้ที่ปรึกษาการเงินเปิดประมูล เพื่อคัดเลือกข้อเสนอดีที่สุดถึง 3 ครั้ง โดยผู้เสนอแนวทางร่วมทุนดีที่สุด คือ กลุ่มไทยพีค่อน ซึ่งกลุ่ม Xi Yang ผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของประเทศจีน เป็นผู้ร่วมทุน

คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาข้อตกลงเบื้องต้นได้ภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่บริษัทจะนำแผนร่วมทุนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการกับศาลล้มละลายกลาง ตามที่ผู้ร่วมทุนใหม่เสนอ

หาคนฮุบกิจการ 3 รอบ

"สาเหตุที่การแก้ปัญหาของปุ๋ยแห่งชาติ เป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้เวลานาน เนื่องจาก เจ้าหนี้ต้องการให้การแก้ปัญหาในครั้งนี้ เป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จ และมีความโปร่งใส จึงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้บริษัท ทำการสรรหา ผู้ร่วมทุนอย่างกว้างขวางและเปิดเผย ซึ่งหลังดำเนินการสรรหากว้างขวางถึง 3 ครั้ง ในที่สุด ก็ได้มีการพิจารณาคัดเลือกกลุ่มไทยพีค่อนเป็นผู้ร่วมทุนใหม่"

"ซึ่งประเด็นที่เจ้าหนี้ให้ความสำคัญมากที่สุด นอกเหนือจากการแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินแล้ว เจ้าหนี้ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขในการประมูลว่า กลุ่มผู้ร่วมทุนใหม่จะต้องไม่ดำเนินการใดๆ ใน อนาคตอันจะก่อให้เกิดการผูกขาด หรือการกำหนดราคาปุ๋ย อันจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ใช้ปุ๋ย ให้ได้รับความเดือนร้อนจากภาวะการขาดแคลนปุ๋ย หรือทำให้ปุ๋ยมีราคาแพงเกินจริง" นายสถิตย์กล่าว

ให้สิทธิธ.ก.ส.ซื้อ NFC 20%

นอกจากนี้เพื่อผลประโยชน์อนาคตต่อเกษตรกรผู้ใช้ปุ๋ย เจ้าหนี้ยังกำหนดเป็นเงื่อนไขการประมูลด้วยว่า ผู้ร่วมทุนใหม่จะต้องให้สิทธิธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ซื้อหุ้นเพิ่มทุนปุ๋ยแห่งชาติ ในส่วนผู้ร่วมทุนใหม่ได้ 20% ราคาเดียวกับผู้ร่วมทุนใหม่ โดย ธ.ก.ส. อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้การลงทุนดังกล่าว

ซึ่งหาก ธ.ก.ส.ตัดสินใจร่วมทุน นอกจากจะมีสิทธิออกเสียง ร่วมบริหารปุ๋ยแห่งชาติ ยังจะช่วยให้ปุ๋ยแห่งชาติสามารถจำหน่ายปุ๋ยได้มากขึ้น ซึ่งตัวเลขในอดีต ธ.ก.ส. มียอดสั่งซื้อปุ๋ยเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรถึง 300,000-400,000 ตันต่อปี"

กลุ่มทุนจีนฮุบ 71%

ทางด้านนายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย กล่าวถึง ข้อเสนอกลุ่มไทยพีค่อนว่า เจ้าหนี้มีหลักประกันทั้ง 2 ราย จะได้รับชำระเป็นเงินสดรวม 1,866 ล้าน บาท โดยเป็นเงินจากการเพิ่มทุน 71% ของผู้ร่วมทุนใหม่ 1,588 ล้านบาท อีก 78 ล้านบาท เป็นเงินสดในบัญชีบริษัท ซึ่งเป็นหลักประกันอยู่กับเจ้าหนี้ ส่วนอีก 200 ล้านบาท จะเป็นเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย มีกำหนดชำระภายใน 3 ปี

นอกจากนั้นบริษัทจะโอนที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท ให้เจ้าหนี้ด้วย สำหรับสัดส่วนถือหุ้นอีก 29% ที่เหลือ ซึ่งเจ้าหนี้จะแปลงหนี้บางส่วนเป็นทุน บมจ. ปุ๋ยแห่งชาติ อยู่ระหว่างพิจารณาสัดส่วนถือหุ้น ระหว่างเจ้าหนี้กับผู้ถือหุ้นเดิม ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ด้วย ว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน

"ปุ๋ยแห่งชาติมีปัญหายืดเยื้อมานาน เนื่องจากโครงสร้างการผลิตที่ซับซ้อน ซึ่งใช้เงินลงทุนในอดีตสูงกว่า 10,000 ล้านบาท ประกอบกับปริมาณการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 30% เนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียน ทำให้ต้นทุนการผลิตของปุ๋ยแห่งชาติ สูงกว่าคู่แข่ง มาก" นายสมเจตน์ กล่าว

ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในอดีต ตั้งแต่มีการก่อตั้งบริษัทมามีผลขาดทุนมาโดยตลอด ในปี 2545 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิกว่า 1,962 ล้านบาท และมีขาดทุนสะสมถึง 12,887 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 1,329 ล้านบาท การ แก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องได้ผู้ร่วมทุนที่มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี เพื่อที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตของบริษัทให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้ และมีเงินทุนเพียงพอที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทได้ในระยะยาว

นายสมเจตน์ กล่าวเพิ่มว่าจากข้อเสนอของกลุ่มไทยพีค่อน นอกเหนือจากเงินสด 1,588 ล้านบาท ที่ต้องใส่เข้ามาแล้ว ทางกลุ่มยังต้องจัดหาเงินทุนใหม่เข้ามาอีกไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของบริษัท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากธุรกิจปุ๋ยจำเป็นต้องมีเงินทุนหมุนเวียนสูงมาก ซึ่งตามข้อเสนอดังกล่าวบวกกับประสบการณ์ของกลุ่ม Xi Yang น่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาของปุ๋ยแห่งชาติได้นอกจากนี้ทางผู้ร่วมทุนยังได้ขอให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้กระบวนการทุกอย่างเป็นไปอย่างชัดเจนและโปร่งใส ตลอดจนเพื่อทราบภาระหนี้สินทั้งหมดของบริษัทอย่างชัดเจนด้วย โดยคาดว่าจะสามารถ ยื่นเรื่องต่อศาลฟื้นฟูภายในต้นเดือนสิงหาคม และเจ้าหนี้จะได้รับชำระเงินภายในสิ้นปีนี้แน่นอน

ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2545 บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วรวม 13,139 ล้านบาทมีขาดทุนสะสม 12,887 ล้านบาทโดยมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 1,329 ล้านบาทมีภาระหนี้สินรวม 14,154 ล้านบาท เป็นภาระหนี้เฉพาะเงินต้นกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินที่มีหลักประกัน 2 รายรวม 8,386 ล้านบาท ประกอบด้วย บสท. จำนวน 6,181 ล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์จำนวน 2,204 ล้านบาท โดยมีดอกเบี้ยค้างชำระตามบัญชีกว่า 4,000 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.