คาโอหวนสังเวียนแชมพูพรีเมียมปั้น“เอเชียนซ์”หลังคู่แข่งทิ้งไม่เห็นฝุ่น


ผู้จัดการรายวัน(16 กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

คาโอ หวนคืนตลาดแชมพูพรีเมียม ปั้นแบรนด์ “เอเชียนซ์” ลุยตลาดแทนลาวีนัสหลังออกจากตลาดไปร่วม 4 ปี ชูคอนเซปต์เป็นแชมพูความงามเอเชีย ปูพรมสูตรเดียวทะลวงสาวไทย หวังสร้างความแข็งแกร่งกลุ่มธุรกิจแชมพูไล่บี้ยูนิลีเวอร์-พีแอนด์จี หลังโดนคู่แข่งทิ้งห่างคอร์ปอเรต แชร์ ไม่เห็นฝุ่น

แหล่งข่าวจากบริษัทคาโอ คอมเมอร์เชียล ประเทศไทย จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแชมพูและครีมนวดผมแฟซ่า เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายวัน” ว่า บริษัทฯได้เปิดตัวแชมพูและครีมนวดผมแบรนด์ใหม่ “เอเชียนซ์ ดีพนูริช” ลงสู่ตลาด โดยเป็นแชมพูระดับพรีเมียม ภายใต้คอนเซปต์ความงามแบบเอเชีย ปฏิวัติสู่มาตรฐานความงามใหม่

ขณะนี้ได้วางจำหน่ายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดและห้างสรรพสินค้าทั่วไปมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์ ในการสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ทั้งนี้บริษัทฯได้วางราคาจำหน่ายแชมพูเอเชียนซ์ ขนาด 220 มล. ราคา 138 บาท นำร่องเพียงสูตรเดียวก่อน หลังจากนั้นจึงจะมีสูตรใหม่ๆตามออกมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดตัวแชมพูและครีมนวดผมเอเชียนซ์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการตลาดครั้งใหญ่ในกลุ่มของสินค้าแชมพูของคาโอฯ ซึ่งจะส่งผลให้สินค้ากลุ่มแชมพูมีสินค้าที่ครบพอร์ตโฟลิโอมากยิ่งขึ้น คือ แฟซ่าเป็นแชมพูที่เจาะตลาดะดับแมส และล่าสุดเปิดตัวเอเชียนซ์เพื่อจับกลุ่มตลาดแชมพูระดับพรีเมียม ที่เข้ามาเติมเต็มธุรกิจแชมพูของคาโอฯให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถทำตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถต่อสู้กับคู่แข่งในตลาดนี้ได้อย่างดีกว่าเดิมกว่าที่เป็นมา

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับค่ายคู่แข่งอย่าง ยูนิลีเวอร์ซึ่งเป็นรายใหญ่ในตลาดก็มีทั้งโดฟที่เป็นแชมพูระดับพรีเมียม ซันซิลที่เป็นแชมพูเพื่อความงามระดับแมส คลินิก เคลียร์ เป็นแชมพูขจัดรังแค และซันซิล ฟรุตตามิน ขณะที่พีแอนด์จี มีแพนทีนเป็นแชมพูระดับพรีเมียม รีจ้อยส์ แชมพูเพื่อความงามระดับแมส แชมพูขจัดรังแคเฮดแอนด์โชว์เดอร์ และเฮอร์บัล เอสเซ้นส์ ที่ถื่อว่ามีครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

นับว่าเป็นการความพยายามกลับเข้ามาทำตลาดแชมพูพรีเมียมอีกครั้งของคาโอฯ เพราะก่อนหน้านี้คาโอฯได้เปิดตัวลาวีนัส แชมพูระดับพรีเมียมที่มีจุดขายสำหรับผู้หญิงที่ผมเสียมากเข้ามาทำตลาดเมื่อปี 2541 เนื่องจากในช่วงนั้นเทรนด์การทำสีผมกำลังมาแรง ตำแหน่งการตลาดที่วางส่งผลให้ในช่วงเวลา 2 ปี ลาวีนัส มีส่วนแบ่ง 4% จากมูลค่าตลาดแชมพู 6,000 ล้านบาท ถือว่าประสบความสำเร็จมากพอสมควร

อย่างไรก็ตาม คาโอฯก็เพลี่ยงพล้ำให้สินค้าคู่แข่งโดยเมื่อปี 2546 ลาวีนัส มีส่วนแบ่ง 5% ขณะที่แพนทีนผู้นำตลาดกลับมีส่วนแบ่งถึง 40% และโดฟ 20% กระทั่งเมื่อปี 2547 คาโอฯตัดสินใจเลิกทำตลาดแบรนด์ลาวีนัสไปในที่สุด เนื่องจากสินค้าไม่ได้รับการตอบรับที่ดี จึงหันมาโฟกัสแบรนด์หลักอย่างแฟซ่า ซึ่งเป็นสินค้าเรือธงและกลุ่มธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งอย่างผงซักฟอกแอคแทคแทน

สำหรับภาพรวมตลาดแชมพูและผลิตภัณฑ์บำรุงผมมูลค่า 10,700 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมาเติบโต 4.5% แบ่งเป็น ตลาดแชมพู 7,500 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์บำรุงผม 3,200 ล้านบาท โดยยูนิลีเวอร์เป็นผู้นำตลาดครองส่วนแบ่ง 49.4% แบ่งเป็น โดฟ 9% คลีนิค เคลียร์ 13.4% และซันซิล 27% ขณะที่พีแอนด์จี 31% ส่วนคาโอ ประมาณ 8.5% และเอลแซฟ 3%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.