|
หุ้นดิ่งต่ำสุดรอบ20เดือนสังเวยเลห์แมนฯล้ม-การเมือง
ผู้จัดการรายวัน(16 กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ดัชนีตลาดหุ้นไทยดิ่งทำสถิติต่ำสุดในรอบ 20 เดือน ที่ระดับ 637.63 จุด เหตุวิกฤตซับไพรม์พ่นพิษทำให้ "เลห์แมน บราเธอร์ส" วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 4 สหรัฐฯ ต้องล้มละลาย ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงถ้วนหน้า บวกกับปัจจัยการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีทางออก แม้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-สมัครลาออกแล้ว เพราะโผนายกฯ คนใหม่ยังมากจากพรรคพลังประชาชน ด้านโบรกเกอร์ แนะชะลอลงทุน จับตาปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯ บานปลาย-การเมืองคุกรุ่น ส่วน ปตท. ถอดใจชะลอขายหุ้นกู้หมื่นล้าน
ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (15 ก.ย.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตลอดทั้งวันจากปัจจัยต่างประเทศ กรณีที่เลแมนห์ บราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดทุนจนต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย บวกกับปัจจัยการเมืองในประเทศไม่คลี่คลาย แม้จะยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) แต่การเสนอตัวแทนจากพรรคพลังประชาชนเข้ามาดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี จะยังคงเกิดกระแสความขัดแย้งต่อไป
จากปัจจัยดังกล่าวเป็นแรงกดดันดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงแตะระดับต่ำสุดที่ 640.03 จุด สูงสุด 652.07 จุด ก่อนจะปิดที่ 642.39 จุด ลดลง 11.95 จุด หรือลดลง 1.83 % ซึ่งถึงเป็นราคาปิดต่ำสุดในรอบเกือบ 20 เดือน นับจากวันที่ 11 มกราคม 50 ดัชนีปิดที่ 637.63 จุด มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งวัน 7,453.57 ล้านบาท
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศยังคงขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง คือมียอดขายสุทธิรวม 295.51 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 610.25 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 905.76 ล้านบาท
กลบกระแสยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST กล่าวว่า วานนี้ (15 ก.ย.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง จาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยต่างประเทศจากที่บาร์เคลย์ และแบงก์ออฟอเมริกา ยกเลิกการซื้อหุ้นขอ เลห์แมน บราเธอร์ส ทำให้เลห์แมน บราเธอร์ส ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ซึ่งส่งผลต่อระบบการเงินและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ขณะที่ปัจจัยในประเทศที่ยังต้องติดตามสถานการณ์การเมือง โดยเฉพาะการหาบุคคลที่จะเข้ามาเป็นนายกฯ แม้จะเริ่มคลี่คลายไปบ้างแล้วหลังนายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงการประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
"ตลาดหุ้นไทยอาจจะได้รับผลดีจากการเมืองที่เริ่มคลี่คลาย แต่ต้องเจอปัญหาเรื่องเลห์แมนฯ ประสบภาวะล้มละลาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงสถาบันการเงินสหรัฐฯ โดยทั้ง 2 ปัจจัยจะมีน้ำหนักต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเท่ากันๆ และมีผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุนในตลาดหุ้นไทย" นายมนตรี กล่าว
จับตาแนวทางแก้ปัญหาของเฟด
นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคทีบี กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยทำจุดต่ำของปีนี้ โดยมีปัจจัยลบจากต่างประเทศที่คาดการณ์ปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯ จะบานปลายมากยิ่งขึ้น หลังจากเลห์แมน บราเธอร์ส ล้มเหลวในการระดมทุน ทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ขณะที่ทางการสหรัฐฯ เองไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือเหมือนกรณีของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค
"นักลงทุนกังวลว่าปัญหาเลห์แมนฯ จะส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงิน และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ซึ่งจะต้องติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ว่าจะมีแนวทางแก้ปัญหาสถาบันการเงินอย่างไร"
นางสาวสุภากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดหุ้นไม่ได้ขานรับปัจจัยในประเทศที่มีการยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน และนายสมัคร ลาออกจาการเป็นนายกฯ เพราะปัญหาทางการเมืองยังไม่คลี่คลายจากที่ผู้ที่จะเข้ามานายกรัฐมนตรีคนใหม่ยังคงมาจากพรรคพลังประชาชน รวมถึงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะก่อให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้นักลงทุนชะลอดูความชัดเจนก่อน ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศเองยังมียอดขายสุทธิต่อเนื่อง
สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้คาดว่าจะแหว่งตัวในกรอบแคบๆ ในทิศทางที่ปรับตัวลดลง จากปัจจัยทั้งสถานการณ์ต่างประเทศและปัจจัยทางการเมืองในประเทศ โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 632-655 จุด แนวต้านที่ระดับ 660 จุด
คาดตลาดหุ้นซบเซาต่อเนื่อง
นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากการประกาศล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักใหญ่อันดับ 4 ของประเทศสหรัฐฯ ภายหลังขาดทุนสะสมและมีหนี้เสียในกลุ่มตราสารหนี้จำนวนมาก และส่งผลขยายวงกว้างกดดันตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวดลง
ขณะที่แนวโน้มดัชนีตลาดวันนี้ คาดว่าตลาดจะยังตกอยู่ในภาวะซบเซา โดยมีแนวรับที่ 630 จุด แนวต้านที่ 650-655 จุด เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อยู่ในขาลง รวมถึงการเมืองในประเทศที่ยังไม่คลีคลาย
ด้านนางสาวปองรัตน์ รัตนะตวณานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประกาศล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และพลังงานปรับตัวลดลง กดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงอย่างรุนแรง รวมถึงการที่รัฐบาลเสนอนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้ามาเป็นนายกฯ ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ส่วนแนวโน้มวันนี้ ตลาดหุ้นไทยยังคงเงียบเหงา โดยให้แนวรับที่ 627จุด แนวต้านที่ 650 จุด โดยปัจจัยที่จะส่งผลกระทบคือ สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายหลังที่เลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐประกาศล้มละลาย, ราคาน้ำมัน และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ดังนั้นนักลงทุนควรชะลอการลงทุนออกไปก่อนเพื่อรอดูความชัดเจน
ปตท.ชะลอออกหุ้นกู้1หมื่นล.
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้ตัดสินใจชะลอการออกหุ้นในกลุ่มเครือปตท.ในปีนี้ออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์การเมืองในไทยประเทศจะคลี่คลาย มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีใหม่ ขณะเดียวกันตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็ไม่ดี โดยล่าสุดเลห์แมน บราเธอร์ส ธนาคารเพื่อการลงทุนใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐประสบปัญหาล้มละลายจึงต้องยื่นเรื่องขอพิทักษ์ทรัพย์สินภายใต้กฎหมายล้มละลายของสหรัฐ ทำให้การระดมทุนในตลาดต่างประเทศทำได้ยากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในตลาดหุ้นไทยอาจจะหาได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปีนี้บริษัทฯจะชะลอการออกหุ้นกู้ ก็ไม่กระทบฐานะการเงิน เนื่องจากในเครือปตท.มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งตามแผนในปลายปีนี้ กลุ่มเครือปตท.จะออกหุ้นกู้วงเงินรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมาก โดยบริษัทฯอาจหันมากู้ยืมระยะสั้นในรูปสกุลเงินบาทผ่านสถาบันการเงินในประเทศแทน
นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า การยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ จะส่งผลดี ทำให้นักลงทุนสถาบันต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยได้ และในวันที่ 17 ก.ย.นี้จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรึคนใหม่ จะทำให้สถานการณ์การเมืองคลี่คลายดีขึ้นในสายตานักลงทุนต่างชาติที่ให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตย เพราะที่ผ่านมาเกิดภาวะสุญญากาศ ขณะที่นักลงทุนต่างรอความชัดเจนของปัญหาทางด้านการเมือง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป
ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ปัจจัยการเมืองส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงจาก 800 จุดมาอยู่ที่ 600 จุด ปรับลดลง 20%โดยต่างชาติเทขายหุ้นคิดเป็นมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ทั้งๆที่ผลประกอบการไตรมาส 2 บริษัทจดทะเบียนมีผลการดำเนินงานดีขึ้น 40% มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และราคาหุ้นบางตัวต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี (บุคแวร์รู) ด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทฯคาดว่าจะมีรายได้รวมใกล้เคียง 2 ล้านล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว แม้ว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 3 จะไม่ดี โดยเฉพาะกลุ่มโรงกลั่น เนื่องจากราคาน้ำมันไตรมาส 3 ปรับลดลง ทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปกับราคาน้ำมันดิบของโรงกลั่น (มาร์จิ้น) ลดลงไปด้วย ประกอบกับมีการขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน แต่เชือว่าผลดำเนินงานไตรมาส 4 ปีนี้จะดีขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากสถานการณ์อื่นๆประกอบด้วย
ส่วนราคาก๊าซแอลพีจี ขณะนี้ปตท.ได้แบกรับภาระส่วนต่างการนำเข้ากับราคาขายในประเทศไปแล้ว 4,000 ล้านบาท โดยปตท.จะคงแบกรับภาระดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะมีการตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่เข้ามาดูแล โดยก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯมีมติให้ปตท.แบกรับภาระแอลพีจีในปีนี้ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท หากบริษัทฯต้องรับภาระสูงกว่านี้คงต้องพิจารณาอีกครั้ง
นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า ภายใน 1-2 วันข้างหน้านี้ปตท.จะพิจารณาว่าจะมีการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันหรือไม่ หลังจากการราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แต่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงทำให้ต้นทุนน้ำมันปรับสูงขึ้น รวมทั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ปรับตัวสูงขึ้นด้วย หากค่าเงินบาทไม่อ่อนค่าลง ราคาน้ำมันขายปลีกจะปรับลดลง 2-3 บาท/ลิตร
สำหรับความคืบหน้าการจัดโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารการเงินนั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างกาศศึกษา เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวมีหลายขั้นตอน รวมการพิจารณาจำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนด้วย ขณะนี้กันการซื้อหุ้นคืนจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าราคาหุ้นในตลาดขณะนี้ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|