เผยผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ครึ่งปีแรก หนี้เอ็นพีแอลลดลงจากไตรมาสก่อนเพียง
14% ยอดรวมยังสูงเฉียด 7 แสนล้านบาท แม้ว่าผลกำไรสุทธิรวมกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 136% โดยมีแบงก์กสิกรไทย นำโด่งกำไรสุทธิสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท
เพิ่มขึ้น 183% ขณะที่แบงก์กรุงเทพ กำไรส่วนใหญ่มาจากการขายเงินลงทุนในตราสารหนี้
"ผู้จัดการรายวัน" ได้ทำการรวบรวมผลการดำเนินของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ประจำไตรมาสที่ 2 และสะสมงวด 6 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2546 เทียบกับผลการดำเนินงานของปีก่อน
รวมทั้งหมด 13 แห่ง
กลุ่มแบงก์กำไรสุทธิพุ่ง 136%
จากการพิจารณาตัวเลขผลประกอบการประจำงวด 6 เดือน พบว่า ธนาคารส่วนใหญ่มีกำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้น
คือ มีกำไรสุทธิรวมทั้งระบบ 29,718.05 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปี 2546 ที่กำไรสุทธิ
12,577.63 ล้านบาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 136.28%
สำหรับธนาคารที่มีผลประกอบการลดลงจากปีก่อนมีเพียง 3 แห่ง คือ ธนาคารไทยธนาคาร
ที่มีกำไรสุทธิ 93.83 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 84.74% ธนาคารกรุงไทย กำไรสุทธิ 1,584.16
ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 66.97% และธนาคารนครหลวงไทย กำไรสุทธิ 1,379.14 ล้านบาท
กำไรสุทธิลดลง 4.92%
กสิกรไทยกำไรรวมกว่าหมื่นล้าน
ขณะที่แบงก์พาณิชย์ที่มีกำไรสุทธิปรับตัวสูงขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1.ธนาคารไทยพาณิชย์
กำไรสุทธิ 5,971.40 ล้านบาท กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 764.79% อันดับ 2.ธนาคารทหารไทย
กำไรสุทธิ 1,568.85 ล้านบาท กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 243.60% และอันดับ 3.ธนาคารยูโอบี
รัตนสิน กำไรสุทธิ 11.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 235.31%
หากพิจารณาความสามารถในการทำกำไรสุทธิแล้ว ปรากฏว่า ธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารที่มีกำไรสุทธิรวมสูงที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์
คือมีกำไรสุทธิรวม 10,883.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 183.27%
หนี้เอ็นพีแอลสูงเกือบ 7 แสนล้าน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะมีกำไรสุทธิรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบ
140% แต่เมื่อพิจารณาถึงตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล แล้วพบว่า
หนี้เอ็นพีแอลรวม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2546 ยังสูงกว่า 698,058.00 ล้านบาท ลดลงจากเมื่อวันที่
31 มีนาคม 2546 ที่มีเอ็นพีแอลกว่า 812,949.21 ล้านบาท หรือ ลดลงเพียง 14.13% เท่านั้น
โดยธนาคารกรุงเทพ มีหนี้เอ็นพีแอลสูงสุด 240,097.13 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน
28.69% ของสินเชื่อรวมก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ธนาคารไทยพาณิชย์ เอ็นพีแอล
118,753.12 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 24.47% และธนาคารกรุงไทย เอ็นพีแอล 110,352.67
ล้านบาท หรือคิดเป็น สัดส่วน 11.29%
กสิกรฯสินเชื่อรวมเฉียด 5 แสนล้าน
นายบัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย
กล่าวว่า ในครึ่งปีแรกธนาคารมีสินทรัพย์จำนวน 796,509.2 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อ
494,237.9 ล้านบาท เงินฝาก 678,144.2 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 10,883.5 ล้านบาท
กำไรต่อหุ้น 4.63 บาท เทียบกับปี 2545 กำไร 3,842.1 ล้านบาท และกำไรต่อหุ้น 1.63
บาท เพิ่มขึ้น 183.27%
สำหรับผลดำเนินการเฉพาะไตรมาส 2 ปี 2546 กำไร 8,235.6 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 3.50
บาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 1,919.4 ล้านบาท และกำไรต่อหุ้น
0.82 บาท เพิ่มขึ้น 329.06%
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2546 ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) จำนวน 85,387
ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.23% ของเงินให้สินเชื่อที่ใช้คำนวณ (495,634 ล้านบาท) และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารที่
13.87% แบ่งเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 8.82% และชั้นที่ 2 ที่ 5.05%
ธ.กรุงเทพรายได้ดบ.ลดเหลือ 1.1 หมื่นล้าน
ธนาคารกรุงเทพ แจ้งเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่ทำให้ธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น เกิดจากการขยายตัวของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย
ที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกจำนวน 1,422 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.7 โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นที่กำไรจากการขายเงินลงทุนในตราสารหนี้
รวมทั้งการขยายตัวของสินเชื่อ คือ มียอดสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 8,027 ล้านบาท จากจำนวน
830,622 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2545 เป็น 838,649 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน
2546 หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.3%
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2546 ธนาคารมียอดเงินฝากรวม 1,088,792 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน
26,127 ล้านบาท จากยอดเงินฝากเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2545 ขณะที่ด้านรายได้ดอกเบี้ยลดลง
จากไตรมาสแรกที่มี 13,182 ล้านบาท เป็น 11,704 ล้านบาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง
371 ล้านบาท เป็น 6,988 ล้านบาท
แบงก์ไทยกำไรครึ่งปีลด 85%
เหตุรายได้ดบ.-เงินปันผลลด
นายประเสริฐ หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านการเงิน ธนาคารไทยธนาคาร
กล่าวถึง สาเหตุที่ทำให้ธนาคารมีกำไร สุทธิลดลงเกือบ 85% ว่า เกิดจากธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลลดลง
799 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากดอกเบี้ยรับลดลง 387 ล้านบาท และรายได้จากเงินปันผลจากเงินลงทุนลดลง
412 ล้านบาท เนื่องจากปีก่อน ธนาคารรับรู้เงินปันผลของบล.ธนสยาม ซึ่งเป็นบริษัทบริษัทย่อย
จำนวน 447 ล้านบาท
ขณะที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงจำนวน 542 ล้านบาท เนื่องจากเงินฝากและต้นทุนเฉลี่ยดอกเบี้ยเงินฝากลดลง
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 170 ล้านบาท เพราะกำไรจากการขายสินทรัพย์ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
95 ล้านบาท
ยูโอบีรายได้ดอกเบี้ยรับพุ่ง 385 ล้าน
นางสิริสิน พงศธราธิก ผู้ช่วยกรรมการจัดการสายงานบัญชีและการเงิน ธนาคารยูโอบี
รัตนสิน กล่าวว่า ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิจากงวดเดียวกันของปีก่อน
385 ล้านบาท หรือ 110% โดยมีรายได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น 176 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการที่ปริมาณสินเชื่อเฉลี่ยของธนาคารขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ
7,500 ล้านบาท ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลงทำให้ค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ยลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน
210 ล้าน บาท หรือลดลง 32%
สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 26 ล้านบาท หรือร้อยละ
7 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการลดลงของกำไรจากการปริวรรต 42 ล้านบาท และการลดลงของค่าธรรมเนียมรับจากธุรกิจบัตรเครดิต
18 ล้านบาท ในขณะที่ธนาคาร มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มขึ้น 31 ล้านบาท
ด้านค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก งวดเดียวกันของปีก่อน 93 ล้านบาท
หรือ 13% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวของสินเชื่อผู้บริโภค