ชีวิตคน ๆ หนึ่งเกิดมาแล้วดับสิ้นไปแต่ร่างกาย แต่ชื่อเสียงและคุณความดีของบุคคลนั้นได้เล่าขานสืบต่อมาถึงรุ่นหลัง
ม.ล. ชูชาติ กำภู กำเนิดในราชสกุล บิดาชื่อพลตรี พระยาสุรเสนา (ม.ร.ว. ชิต
กำภู) จบการศึกษาระดับสูงด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยลอนดอน แต่อุทิศร่างกายและจิตใจแก่งานมวลชน
ในฐานะนักสร้างสรรค์งานราษฎร์และงานหลวงแบบครบวงจร นับตั้งแต่งานสร้างคนและงานสมัยเป็นอธิบดีกรมชลประทานโดยก่อตั้งโรงเรียนช่างชลประทานในปี
2481 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นคณะวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตร เพื่อผลิตบุคลากรให้กับโครงการริเริ่มใหม่
ๆ ในอนาคต
ข้าราชการที่จิตสำนึกแห่งผู้ประกอบการผู้นี้ได้สร้างสรรค์งานในรูปของบริษัทหลายต่อหลายโครงการอาทิเช่น
บริษัทชลประทานซีเมนต์ ซึ่งเกิดจากโครงการเขื่อนภูมิพล บริษัทปุ๋ยเคมีอันเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการเหมืองลิกไนท์
อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปางซึ่งให้ผลิตผลแอมโมเนียอันเป็นวัตถุดิบทำปุ๋ย โครงการนี้เป็นต้นกำเนิดแนวความคิดของบริษัทปุ๋ยแห่งชาติและบริาทอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย
"ไม่ว่าท่านจะกู้เงินมาสร้างการชลประทาน มาสร้างเขื่อนภูมิพล มาสร้างโรงไฟฟ้า
มาสร้างโรงซีเมนต์ มาสร้างโรงปุ๋ย ทุกเรื่องไม่ใช่ได้มาง่าย ๆ งานที่สำเร็จได้ก็เพราะท่านเป็นผู้เสียสละผลประโยชน์และความสุขส่วนตัว
โดยมิได้เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เรื่องการทำงานในวันหยุดวันเสาร์อาทิตย์ หรือทำงานกลางคืน
รู้สึกว่าจะเป็นงานประจำของท่าน และข้าราชการกรมชลประทาน บางคนสมถะหน่อยก็ปรารภในเชิงเห็นใจว่า
ท่านจะทำไปถึงไหน ทำแล้วก็ไม่เห็นได้อะไรกับตัวเองเลย เงินเดือนก็เต็มขั้นแล้ว
ถ้าจะนั่งเฉย ๆ ก็ได้รับเงินบำนาญเท่าเงินเดือน เหรียญตราสายสะพายก็ได้รับจนเกือบครบทุกอย่างแล้ว
ยังจะคิดทำอะไรอีก ควรจะพักผ่อนหาความสุขใส่ตัวเองเสียบ้าง" ฉลาด ไวทยานุวัติ
อดีตข้าราชการกรมชลประทานที่เป็นลูกหม้อเก่าของบริษัทชลประทานซีเมนต์เล่าให้ฟัง
มูลค่างานที่ ม.ล. ชูชาติ กำภูได้สร้างสำเร็จไว้ในครั้งกระนั้นทั้งด้านชลประทานและบริษัทดังกล่าวคิดเป็นเงินจำนวนมหาศาลประมาณ
6,545 ล้านบาท ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติเป็นเงินปีละ
2,589 ล้านบาท และมีคนจำนวนนับ 6-8 ล้านคนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการไฟฟ้า
ชลประทานและก่อสร้างงานขนาดใหญ่นี้
กล่าวได้ว่า "บิดาแห่งชลประทานซีเมนต์" คือ ม.ล. ชูชาติ กำภู
เพราะเป็นผู้ให้กำเนิดโครงการนี้ ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากที่รัฐบาลได้ตัดสินใจจะสร้างเขื่อนภูมิพลเพื่อเพิ่มกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำขึ้นอีกจำนวน
560,000 กิโลวัตต์หรือปีละ 2,300 ล้านยูนิต
โดยเหตุที่โครงการสร้างเขื่อนนี้ต้องใช้ปูนซีเมนต์พิเศษที่มีคุณสมบัติเฉพาะการก่อสร้าง
และเพื่อให้ต้นทุนการก่อสร้างถูกลง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2497 ม.ล. ชูชาติ กำภูก็ดำริและก่อตั้ง
"บริษัท ชลประทานซีเมนต์" ได้สำเร็จในเดือนกันยายน 2499 โดยประเดิมทุนจดทะเบียนเริ่มแรก
60 ล้านบาทและได้มีการกระจายหุ้นให้ข้าราชการกรมชลประทานเป็นผู้ถือหุ้นด้วย
ในขณะนั้นราคาปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดาที่บริษัทปูนซีเมนต์ไทยผลิตนั้น
ราคาถึงเมตริกตันละ 650 บาท ซึ่งเมื่อรวมค่าขนส่งอีกตันละ 350 บาท ราคาปูนซีเมนต์จะแพงขึ้นเป็นตันละ
1,000 บาท แต่เมื่อชลประทานซีเมนต์ผลิตออกจำหน่ายเพียงราคาตันละ 500 บาท
และเมื่อรวมค่าขนส่งจะตกตันละ 600 บาทเท่านั้น และในเวลาต่อมาราคาปูนซีเมนต์ก็ต่ำลง
เช่นในปี 2502 ปูนปอร์ตแลนด์ลดเหลือตันละ 520 บาท และปูนผสมเหลือตันละ 440
บาทเท่านั้น
โรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทชลประทานซีเมนต์ ตั้งอยู่ที่ตำบลโพนทอง อำเภอตาคลี
จังหวัดนครสวรรค์ มีเนื้อที่ 1,025 ไร่ แต่เป็นที่ตั้งโรงงานเพียง 50 ไร่
ส่วนที่เหลือเก็บไว้สำหรับขุดดินขาวมาใช้เป็นวัตถุดิบ
ปูนซีเมนต์ที่บริษัทผลิตในระยะแรกเริ่มใช้ตรา "พญานาค" อันเป็นสัญลักษณ์ประจำของกรมชลประทานเป็นสำคัญ
โดยประเภทของปูนซีเมนต์มีอยู่ 4 ชนิด คือ ปูนปอร์ตแลนด์ชนิดธรรมดา ปูนสำหรับตอม่อสะพานหรือเขื่อนกั้นน้ำ
ปูนชนิดแข็งตัวเร็วพิเศษสำหรับงานคอนกรีตที่ต้องเทในน้ำ และปูนผสมหินปูนตรางูเห่า
สำหรับงานก่อสร้างทั่วไป
การออกปูนซีเมนต์ใหม่ขึ้นมาในตลาดภาคเหนือ ได้ทำให้ราคาปูนซีเมนต์ที่เดิมขายแพงถึงตันละ
1,000 บาท (รวมค่าขนส่งด้วย) ก็ได้มีราคาถูกลงครึ่งหนึ่งคือ ขายเพียงราคาตันละ
500 บาทเท่านั้น เป็นเงินที่สามารถประหยัดต้นทุนได้ถึงปีละ 116 ล้านบาท
ด้วยปัจจัยการตลาดที่เอื้ออำนวย ทำให้ในเวลาช่วงนั้น ปูนซีเมนต์ "ตราพญานาค"
ของบริษัทชลประทานซีเมนต์กลายเป็นผู้นำตลาดในภาคเหนือตอนบนทั้งหมด ขณะที่ปูนซีเมนต์ของค่ายบริษัทปูนซีเมนต์ไทยต้องตกเป็นรองเพราะต้นทุนค่าขนส่งสูงกว่าทำใหีราคาขายแพงกว่า
ลูกค้าไม่นิยม
ยุคต้นของความเป็นปึกแผ่นของบริษัทชลประทานซีเมนต์ ม.ล. ชูชาติ กำภู ได้ทุ่มเทเวลา
ไม่ต่ำกว่า 10 ปีสร้างทรัพยากรบุคคล วางแผนด้านเทคโนโลยีและกำลังเครื่องจักรเครื่องมือ
อันเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก
นอกจากนี้ ม.ล. ชูชาติ เป็นผู้มองการณ์ไกล ที่พิจารณาเห็นว่าไม่เฉพาะแต่เพียงปูนซีเมนต์เท่านั้นที่อยู่ในความต้องการ
แต่ยังมีวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เช่น กระเบื้องและท่อซึ่งเป็นผลผลิตของปูนซีเมนต์และใยหินสำลี
(ASBESTOS) ที่จำเป็นต้องผลิตควบคู่กันไปด้วย จึงริเริ่มโครงการทำโรงงานกระเบื้อง
มูลค่าประมาณ 7 ล้านบาทเศษขึ้นมาอีกแขนงหนึ่ง
ภายหลังจาการมรณกรรมของ ม.ล. ชูชาติ กำภู ซึ่งเป็นผู้จัดการใหญ่คนแรกของบริษัทชลประทานซีเมนต์
ได้มีการแต่งตั้งให้ ม.ล. ชวนชื่น กำภู น้องชายขึ้นรับตำแหน่งแทนจนกระทั่งถึงยุคการบริหารของสองผู้จัดการใหญ่
คือ นพ. สมภพ สุสังกรกาญจน์ และ ดร. รชฏ กาญจนวณิชย์ บริษัทได้ขยายตัวไปตั้งโรงงานอีกแห่งที่
ชะอำ จ. เพชรบุรี แต่ไม่นานนักศึกปูนเล็กระหว่างกลุ่มธนาคารเอเชียทรัสต์ซึ่งนำโดน
วัลลภ ธารวณิชกุล กับ คุณหญิงลลิลทิพย์ ก็ได้ชัยชนะมีอำนาจครอบครองกิจการบริษัทชลประทานซีเมนต์จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้