"ความสำเร็จในการซื้อกิจการสนามกอล์ฟไพน์เฮิร์ท แต่ต้องล้มเหลวในการซื้อกิจการไอทีเอฟหลังจากที่กลุ่มซัมมิท
ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของ "สรรเสริญ จุฬางกูร" พี่ใหญ่ของตระกูลพี่น้องสกุล
"จุฬางกูร" และ "จึงรุ่งเรืองกิจ" ต้องเจอปัญหานโยบายภาษียานยนต์และชิ้นส่วนเมื่อปีที่แล้วและแรงกดดันที่จะตามมาจากแกตต์ในอนาคต
การโตของกลุ่มต่อไปทั้งในและนอกส่วนกิจการที่เกี่ยวเนื่องชิ้นส่วนรถยนต์
จึงเป็นหนทางที่ต้องดำเนินไปเพื่อวางโครงสร้างการเติบโตที่มั่นคงให้กลุ่มต่อไป"
การที่กลุ่ม "ซัมมิทโอโตซีท" เป็นธุรกิจหน้าใหม่ที่โดดเด่นขึ้นมาในยุทธจักรการเงินได้ในคราวประมูลไอทีเอฟนั้น
อาจจะเป็นที่งุนงงสำหรับคนที่ไม่รู้จักดีเพราะว่าภาพพจน์ของสรรเสริญ จุฬางกูร
ประธานกลุ่มบริษัทนี้เป็นคนประเภท "LOW PROFILE" มาก ๆ อันเป็นคุณสมบัติประการสำคัญของคนในตระกูลนี้
แม้แต่ในฐานะบทบาทอุปนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ก็ตามที
สรรเสริญเป็นเศรษฐีใหม่ที่เริ่มต้นสร้างตัวมาจากอาชีพช่างซ่อมเบาะเมื่อ
28 ปีที่แล้ว ตำนานของการก่อร่างสร้างตัวของชาวจีนโพ้นทะเลแต่ละคนต่างก็มีสีสันของชีวิตที่แตกต่างกันไป
ขณะที่เมื่อร่ำรวยแล้วจึงมีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกัน
สรรเสริญในอดีต เขามีชื่อว่า "ฮังตง แซ่จึง" ชาติกำเนิดเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่มณฑลกวางตุ้ง
พ่อชื่ออาฮง และแม่ชื่อม้วยเฮียง น้องชายน้องสาวสี่คนคือพัฒนา โกมล สุริยะและอริสดาล้สนโชคดีที่เกิดในแผ่นดินไทย
ขณะที่ฮังตงหนีความยากจนจากเมืองจีนมาสร้างตัวที่นี่เมื่อายุได้ 21 ปีแล้ว
"พ่อผมเป็นคนมองการณ์ไกล ท่านเป็นคนชี้ทางให้ผมไปฝึกงานเป็นลูกจ้างซ่อมเบาะรถ
เพราะคิดว่ายังหากินกับรถได้อีกนาน เรียกว่ากินไม่หมดชั่วลูกชั่วหลาน"
ประธานซัมมิทโอโตซีทย้อนรำลึกถึงคำพูดของพ่อ
จากชีวิตเริ่มต้นลูกจ้างร้านซ่อมเบาะได้สามปี สรรเสริญกับเพื่อนสนิทอีกสองคนก็มองเห็นลู่ทางการทำมาหากิน
ทั้งสามจึงร่วมกันตั้งร้านซ่อมเบาะ "สามมิตร" รับจ้างซ่อมเบาะจักรยานยนต์และรถยนต์
ทำอยู่ได้ปีเศษก็แยกย้ายกันไป
ยุคปี 2511 บทบาทสำคัญยุคต้นของสรรเสริญคือเป็นเถ้าแก่วัย 26 ปีของ "ห้างหุ้นส่วนจำกัด
สามมิตรชัยกิจ" ที่ถนนทรัพย์ นับว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของการสะสมทุน กิจการห้างนี้มีทุนจดทะเบียนหนึ่งแสนบาท
ที่ทำการก็อาศัยห้องแถวไม้คูหาเดียว ซึ่งระเกะระกะด้วยวัสดุเย็บซ่อมเบาะเช่นจักรเย็บผ้า
ฟองน้ำและกาว มีพัดลมตัวเดียว การทำงานก็มีลักษณะแบบครอบครัวที่ทุกคนต้องช่วยกันบุกงาน
โดยมีลูกจ้างแค่ 6 คน
"กลุ่มซัมมิทนี้เกิดจากซอยทรัพย์ด้วยกัน ตั้งแต่ผมยังเด็ก ๆ เห็นอาเจ็กขี่สกู๊ตเตอร์มารับออเดอร์จากเรา
เดี๋ยวนี้เขาขยายใหญ่มาก" วัชระ พรรณเชษฐ์แห่งบริษัทเอ็มเอ็มซีสิทธิผลผู้ผลิตรตมิตซูบิชิเล่าภาพอดีตที่ทำการค้าด้วยกันให้ฟัง
ยุคต้น ๆ สรรเสริญมีน้องชายสองคนช่วยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคือพัฒนา
จึงรุ่งเรืองกิจ และโกมล พัฒนาเปลี่ยนจากชื่อสกุลจีน "ฮั้งฮ้อ แซ่จึง"
ในปี 2512 ขณะที่โกมลได้เปลี่ยนชื่อสองครั้ง ครั้งแรกเปลี่ยนจากชื่อ "เอี่ยมจุ่ง"
เป็น "เสรี" ในปี 2516 และเปลี่ยนอีกครั้งเป็น "โกมล"
เพื่อศิริมงคล
"น้อง ๆ ผมทุกคนเย็บเบาะเป็นหมด คุณพ่อผมก็ช่วยด้วย เราทำงานกันหามรุ่มหามค่ำ
ช่วงแรกมีลูกจ้างแค่ 6 คนเดี๋ยวนี้กลุ่มเรามีพนักงาน 5,600 กว่าคนแล้ว"
สรรเสริญเล่าด้วยความภูมิใจ
สามปีต่อมา ความเติบโตอย่างเงียบ ๆ ของกิจการซ่อมเบาะเริ่มมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเนื่องจากผลกระทบของนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมในปี
2514 บังคับให้โรงงานทุกแห่งใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (LOCAL CONTENT) ในอัตรา
25% สำหรับรถจักรยานยนต์ และอัตรา 20% สำหรับรถยนต์ที่ประกอบภายในประเทศ
เงื่อนไขของนโยบายเศรษฐฏิจนี้ ได้เปิดโอกาสทองให้กับธุรกิจซ่อมเบาะขนาดย่อมอย่าง
"สามมิตรชัยกิจ" พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็น "บริษัท ซัมมิทโอโตซีท
อินดัสตรี จำกัด" ในปี 2515 งานจำนวนมากได้ไหลมาเทมาจนกระทั่งไม่มีการรับซ่อมหรือทำเบาะขายปลีกเช่นแต่ก่อน
หากแต่บริษัทใหม่นี้มีฐานะเป็น OEM ที่ทำหน้าที่ผลิตและจัดส่งมอบสินค้าให้กับโรงงานประกอบรถยนต์
"ลูกค้ารายแรกของเราคือ สยามยามาฮ่า เขาว่าจ้างให้เราทำเบาะรถจักรยานยนต์
ในช่วงต้น ๆ ก็ผลิตเบาะรถไม่ค่อยสูง ที่ทางร้านสี่คูหาก็ยังพอกล้อมแกล้มไปได้
แต่ต่อมามีแนวโน้มสูงขึ้น ๆ เราก็เลยขยายไปซื้อที่ดินและสร้างโรงงานที่สาธุประดิษฐ์ซึ่งสภาพเป็นสวน
ตอนแรกซื้อได้ 357 ตารางวา ๆ ละพันบาท เดี๋ยวนี้เนื้อที่โรงงาน 14 ไร่และได้ขยายไปที่ใหม่ตรงบางนา-ตราดอีก
50 ไร่ซึ่งซื้อไว้ 5-6 ปีที่แล้ว" สรรเสริญกล่าวถึงการขยายกิจการ
ถึงตอนนี้แล้ว กิจการซัมมิทโอโตซีทก้าวทะยานไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง ทุนของครอบครัวเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้นตามภาวะเติบโตของอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนในประเทศศึ่งถูกกระตุ้นโดยนโยบายของรัฐบาล
ตั้งแต่ปี 2514 จนถึงปัจจุบันมีการเพิ่มอัตราการใช้ LOCAL CONTENT รถจักรยานยนต์เป็น
70% และรถยนต์นั่งให้ใช้ชิ้นส่วนในประเทศไม่ต่ำกว่า 54%
ปัจจุบันยอดขายของซัมมิทโอโตซีทไม่ต่ำกว่า 1,788 ล้านบาทและได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น
30 ล้านบาท รับจ้างผลิตเบาะรถยนต์ แผงกันแดด ผ้าบุหลังคา พรมปูพื้น แผงประตู
เบรก ให้กับรถยนต์ทุกแห่งกำลังผลิตเดือนละ 15,000 ชุด โดยแต่ละชุดจะมีชิ้นส่วนย่อย
ๆ ประกอบนับได้ 13,000 รายการ
"ในขั้นต้นเทคโนโลยีเรายังไม่มี ก็เริ่มจากเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ มาประกอบเป็นชิ้น
เราก็ได้แต่เพียงแค่ค่าแรง แล้วหลังจากนั้นเราก็เริ่มเรียนรู้เองว่าชิ้นส่วนไหนที่พอจะทำเองได้"
สรรเสริญเล่าให้ถึงยุคบุกเบิกโรงงาน
ซัมมิทโอโตซีทจึงเป็นบริษัทที่พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง แม้ว่าภาพพจน์การผลิตเบาะจะเป็นสินค้าที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง
แต่ในยุคเริ่มต้นสรรเสริญก้ได้ขอความรู้ด้านเทคนิคทำเบาะและวัสดุตกแต่งรถจากบริษัทญี่ปุ่น
NAMBA PRESS WORKS เป็นแห่งแรกในปี 2517
"ช่วงนั้นหลังจากที่เราได้เบาะแล้ว ลูกค้าก็ยังให้เราทำชิ้นส่วนประเภทโครงเบาะเหล็กที่ต้องมาขึ้นรูปปั๊ม
เราจึงเริ่มผลิตชิ้นส่วนที่ง่ายก่อน เช่นชิ้นส่วนพวกแบคเก็ตต่าง ๆ ซึ่งซ่อนอยู่ในตัวถังเพื่อเสริมให้แข็งแรง"
สรรเสริญกล่าว
ในปี 2517 สรรเสริญได้ตั้งบริษัทใหม่ "ไทยออโต อินดีสทรี" เพื่อทำแม่พิมพ์ชิ้นส่วนและระบบท่อไอเสีย
โดยให้พัฒนาน้องชายคนที่สองซึ่งอายุห่างกัน 5 ปีเป็นผู้ดูแล
สรรเสริญเรียนรู้ถึงการก้าวไปข้างหน้าโดยมีโนว์ฮาวจากญี่ปุ่นเป็นหัวหอก
ในปีต่อมา เขาก็ได้เซ็นสัญญาด้านเทคนิคกับบริษัท IMASEN ELECTRIC INDUSTRIAL
เพื่อสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มขึ้นในเบาะด้วยการเสริมเทคนิคเข้าไป
เมื่อโอกาสทางเศรษฐกิจเปิดเนื่องจากนโยบายรถยนต์ของรัฐบาล สรรเสริญก็ได้ประยุกต์การลงทุนของตนให้สอดคล้องกันในปี
2519 สรรเสริญได้ขยับฐานะบริษัทจากผู้รับจ้างผลิตกลายเป็นผู้ร่วมลงทุนกับ
บริษัท เอเชียนฮอนด้ามอเตอร์ ซึ่งผลิตรถจักรยานยนต์มอเตอร์ไซค์ก่อตั้งบริษัท
"เอเชียน ออโตพาร์ท"
"ในระยะหลังเราคิดว่าข่ายงานของเราเติบโตมาก ลำพังถ้าเราไปลงทุน 100%
การดูแลก็ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะชิ้นส่วนบางอย่างต้องลงทุนสูงมาก ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีของเขา
และอีกอย่างญี่ปุ่นเขาก็อยากจะมาตั้งโรงงานที่นี่ซึ่งเขาก็อยากได้เราเป็นหุ้นส่วน"
นี่คือเหตุผลการร่วมลงทุนที่สรรเสริญกล่าวถึง
สรรเสริญยังได้อธิบายถึงลักษณะของบริษัทร่วมทุนที่เขาทำอยู่มีสองลักษณะคือ
หนึ่ง-ส่วนที่ผู้บริหารซัมมิทโอโตซีทเข้าไปบริหารแต่ด้านโรงงานญี่ปุ่นดูแล
สอง-ส่วนที่กลุ่มซัมมิทโอโตซีทเข้าไปเพียงถือหุ้น เช่นบริษัทอีเกิลวิง
อย่างไรก็ตามบริษัทร่วมลงทุนอย่างเอเชียน โอโตพาร์ทแห่งนี้มีผลการดำเนินงานที่เด่นมากในกลุ่ม
ยอดขายในปัจจุบันปีละ 1,340.7 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 136.6 ล้านบาท ปี 2530
สรรเสริญได้โอนตำแหน่งประธานให้กับพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ
ปัจจัยของความสำเร็จของเอเชียน ออโตพาร์ทมาจากโครงสร้างตลาดและความเติบโตของอุปสงค์กับราคาของรถจักรยานยนต์ที่สูงมากถึงปีละไม่ต่ำกว่า
3 แสนคัน ตลอดจนกระบวนการผลิตและการวิจัยพัฒนาก็อิสระจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นเพราะขนาดรถจักรยานยนต์ในไทยแค่
70-150 ซีซี. ขณะที่ญี่ปุ่นนิยมใช้ไม่เกิน 250 ซีซี. ทำให้ผู้ประกอบการของไทยซึ่งมีอยู่
5 รายสามารถพัฒนาไปสู่การผลิตทั้งคันได้ส่งผลถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ได้รับประโยชน์นี้ด้วย
สรรเสริญพอใจกับสถานะใหม่แบบผู้ร่วมลงทุนนี้ เพราะทำให้กิจการของซัมมิทโอโตซีทมีความมั่นคงขึ้นและได้รับผลประโยชน์ด้านโนว์ฮาวและรับบการบริหารการผลิตแบบญี่ปุ่น
ตลอดเวลา 10 ปีที่พี่น้องตระกูล "แซ่จึง" ได้มุมานะสร้างฐานะ
สรรเสริญจะเป็นผู้นำที่เชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก และมีอำนาจตัดสินใจแบบรวมศูนย์ในฐานะพี่ใหญ่
ที่ถือปรัชญาของชีวิตเพียงคำเดียวว่า "ซื่อสัตย์"
ภายใต้ชายคาเดียวกันที่มีลักษณะครอบครัวใหญ่ประกอบด้วยพี่น้อง 5 คน แต่ละคนมีครอบครัวมีลูกหลาน
ทำให้ต่างคนต่างความคิดและไม่มีระบบชัดเจน
ความเป็นอยู่เช่นนี้ย่อก่อให้เกิดความรู้สึกต่อน้องชายคนรองอย่างพัฒนาอยู่มาก
ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่พัฒนาคิดว่าเขารอบรู้วิทยายุทธได้เรียนรู้จัดสินค้าตลาด
ลูกค้าจนครบถ้วนแล้ว ก็ถึงเวลาอันสมควรที่จะแยกตัวออกไปสร้างอาณาจักรเอง
ดังนั้นในปี 2520 "บริษัทซัมมิทโอโตพาร์ท อินดัสตรี" ภายใต้การนำของ
"พัฒนา จุงรุ่งเรืองกิจ" ได้ก่อตั้งขึ้นใหม่ และสรรเสริญได้ยกตลาดลูกค้าที่มีอนาคตดีมากคือส่วนของรถจักรยานยนต์ทั้งหมดให้น้องชายทำ
นับว่าเป็นการเริ่มต้นสร้างดาวกันคนละดวงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ความคิดในเรื่องแนวทางการบริหารและการลงทุนของพี่ชายกับน้องชายจึงเริ่มแยกกันอย่างชัดเจน
ความจริงการถือตนเป็นใหญ่ระหว่างสองพี่น้องที่มีนิสัยใจคอใกล้เคียงกันนี้
สามารถเห็นได้จากเหตุผลของการตั้งนามสกุลใหม่ของสรรเสริญซึ่งเปลี่ยนจาก "แซ่จึง"
เป็น "จุฬางกูร" แทนที่จะใช้นามสกุล "จึงรุ่งเรืองกิจ"
ของน้องชายเหมือนคนในครอบครัว นอกจากเหตุผลของการเป็นคนต่างด้าวแล้ว ความที่อยากสร้างข้อแตกต่างกว่าคนอื่น
เพื่อสร้างความเป็นตัวของเขาเอง ก็ทำให้สรรเสริญตั้งนามสกุลที่เขาคิดว่าไพเราะกว่าของเดิม
ทั้ง ๆ ที่นามสกุลของน้องชายเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการแล้ว ตั้งแต่ปี 2515
ที่พัฒนาหันมาใช้ชื่อสกุลไทย
เรื่องราวการตั้งตัวเป็นอิสระโดยลำพังของพัฒนากับครอบครัวของเขาซึ่งมีสมพรเป็นคู่ชีวิต
คนภายนอกอาจจะมองว่าเป็นการแตกสามัคคี แต่จริง ๆ กลับเป็นเรื่องให้ผลดีเกินคาด
เพราะในเวลาต่อมากลุ่มไทยซัมมิทโอโตพาร์ทนี้ก็มีศักยภาพเติบโตไม่แพ้กลุ่มบริษัทของพี่ชาย
"กลุ่มของน้องชายจะเพิ่มคำว่า "ไทย" เข้าไปในชื่อเช่น ไทยซัมมิทโอโตพาร์ท
ส่วนของผมจะขึ้นต้นชื่อด้วย "ซัมมิท" ของเขาจะเน้นด้านเบาะและชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์
ส่วนผมเน้นเบาะและชิ้นส่วนรถยนต์ ต่างคนต่างแยกการบริหารชัดเจน มีบ้างที่แต่ละฝ่ายจะถือหุ้นซึ่งกันและกัน"
สรรเสริญแก้ความสับสนที่มีคนไม่เข้าใจภาพพจน์ของทั้งสองกลุ่ม
ผลการดำเนินงานปีที่แล้วของทั้งกลุ่มไทยซัมมิทฯ 5 บริษัทได้แก่ไทยซัมมิทโอโตพาร์ท
ไทยชนาธรอุตสาหกรรม ไทยฮาร์เนส ไทยซัมมิทเอนจิเนียริ่งและไทยซัมมิทพีเค มีรายได้ไม่ต่ำกว่า
1,865 ล้านบาท และมีทิศทางการเติบโตที่น่าจับตา เนื่องจากกลุ่มไทยซัมมิทเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บีซีซีได้เมื่อต้นปีนี้
งานนี้สรรเสริญยืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย
แม้น้องชายจะแยกตัวไปทำเอง ขณะนั้นซัมมิทโอโตซีทคงเหลือไว้เพียงงานชิ้นส่วนรถยนต์
และสรรเสริญก็ต้องเดินหน้าหาสิ่งใหม่ ๆ ต่อไป สรรเสริญได้ลงหลักปักฐานทีละน้อยอย่างแน่นหนา
ในปี 2521 เกิด "บริษัทไทยสตีลเคเบิล (ทีเอสเค)" เพื่อผลิตสายเบรคของรถจักรยานยนต์และรถยนต์
และอีกสามปีต่อมาสรรเสริญได้ใช้กลยุทธ์ร่วมลงทุนกับบริษัทญี่ปุ่น NIPPON
CABLE SYSTEM เพื่อพัฒนาการผลิตและการตลาดของสายเบรค
การลงสู่ภาคการผลิตที่กว้างออกไป ก่อให้เกิดบริษัทใหม่ ๆ ตามมาในปี 2522
คือบริษัทสามมิตร โอโตซีสแอนด์พาร์ท ซึ่งสรรเสริญให้น้องชายคนที่สาม "โกมล
จึงรุ่งเรืองกิจ" ดูแลการผลิตภัณฑ์โพลียูริเทนและเบาะมอเตอร์ไซค์ให้กับอีกตลาดส่งออกและขายท้องตลาดโดยตรง
มิใช่ป้อนโรงงาน เป็นคนละลูกค้ากัน
โกมล จึงรุ่งเรืองกิจเป็นน้องคนที่สามของสรรเสริญ มีบุตรสามคนกับยาใจ และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญของครอบครัวที่สรรเสริญให้ความไว้วางใจมาก
ในที่สุดสรรเสริญก็ใช้กลยุทธ์ขยายตัวออกไประหว่างปี 2529 จนถึงปี 2534
ปีละไม่ต่ำกว่าสองแห่งหลังจากที่ไม่มีการตั้งบริษัทใหม่ตั้งแต่ปี 2522
สถาบันการเงินที่กลุ่มซัมมิทโอโตซีทใช้เป็นหลักก็มี ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารโตเกียว
ในสามแห่งนี้กลุ่มซัมมิทโอโตซีทจะใช้ธนาคารกรุงเทพมากที่สุด
การขยายกิจการครั้งหลังนี้ สรรเสริญเอื้อโอกาสแก่น้อง ๆ คือให้โอกาสน้องชายน้องสาวที่อยู่กันมานานและมีวี่แววไปได้ไกลออกไปตั้งบริษัทใหม่
และมีอิสระในการบริหารหรือลงทุนได้
บริษัทหนึ่งที่มีความสำคัญคือบริษัทซัมมิทโอโตบอดี้ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า
"เอสเอบี" ซึ่งตั้งในปี 2529 ได้กลายเป็นภาคการผลิตชิ้นงานใหญ่
เช่นชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์ซึ่งได้เช่าสิทธิบัตรเทคโนโลยี STAMPING DIES จากบริษัทมิตซูบิชิ
มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น
"เราจะเน้นทำตัวถังรถยนต์ทั้งหมด เริ่มจากชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์โดยเสริมเครื่องจักรหนักเช่นแม่พิมพ์ซึ่งเราได้สั่งซื้อ
5 ตัวมูลค่านับสิบล้าน ที่เอสเอบีเราจะเน้นชิ้นงานใหญ่ ส่วนที่ซัมมิทโอโตซีทเราจะผลิตแต่เบาะ"
สรรเสริญอธิบายถึงการแบ่งแยกสายการผลิต ซึ่งเอสเอบีได้ตั้งอยู่บนเนื้อที่
50 ไร่ที่ถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 12
เป็นที่น่าสังเกตว่าผลการดำเนินงานของบริษัทซัมมิทโอโตบอดี้ยังอยู่ในภาวะขาดทุน
หทัยรัตน์ จุฬางกูร ภรรยาของสรรเสริญซึ่งดูแลด้านบัญชีการเงินของกลุ่มบริษัทอยู่ได้เล่าให้ฟังว่า
"มันเป็นการลงทุนระยะยาว เราเพิ่งเปิดมาได้สามปี ได้ลงทุนด้านที่ดินและเครื่องจักรมูลค่านับร้อยกว่าล้านบาท
ดิฉันคิดว่าปีหน้าจะพอมีกำไรบ้างแล้ว"
อย่างไรก็ตาม ทิศทางการแตกตัวของซัมมิทโอโตซีทในระยะ 5 ปีหลังนี้ มีความพยายามฉีกแนวไปจากเดิม
เช่นกิจการผลิตรองเท้าเพื่อส่งออกแก่ดันลอปในนามบริษัท ซัมมิท ชูส์ อัปเปอร์
และบริษัทซัมมิท สปอร์ตแวร์ ทั้งนี้สรรเสริญได้ให้อริสดา น้องคนสุดท้องเป็นผู้ดูแลกิจการส่วนนี้
และกิจการสนามกอล์ฟไพน์เฮิร์ทซึ่งโกมล น้องชายคนที่สามบริหารอยู่
ส่วนสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายคนที่สี่ของสรรเสริญยังได้บริหารบริษัทซัมมิท
อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ หรือ "เอสอีซี" ซึ่งก่อตั้งในปี 2530
ทำหน้าที่ผลิตวิทยุ ซีดีให้กับบริษัทโซนี่ ประเทศไทยด้วย
"ซัมมิทโอโตซีท" เป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรผู้นำอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในชื่อของ
"ซัมมิทโอโตซีทกรุ๊ป" และ "ไทยซัมมิทโอโตพาร์ทกรุ๊ป"
ที่เป็นหัวรถจักรลากเอาความเจริญมั่งคั่งในรูปของการลงทุนแตกแขนงออกไปเป็นธุรกิจอีกมากมายไม่ต่ำกว่า
19 แห่ง ที่มีสินทรัพย์รวมไม่ต่ำกว่า 5,669 ล้านบาท มีรายได้รวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า
7,447 ล้านบาท
ผลที่ได้จากการก่อรูปเงินทุนอันแข็งแกร่งนี้ ในระยะเวลาสองทศวรรษทำให้สรรเสริญกับครอบครัวมีนโยบายที่จะหาลู่ทางกระจายเงินไปลงทุนในกิจการ
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สักแห่ง อันเป็นการประยุกต์การลงทุนให้เข้ากับเศรษฐกิจยุคสมัยปัจจุบัน
ที่เปิดโอกาสทองให้โดยที่แบงก์ชาติเพิ่มใบอนุญาตขยายประเภทธุรกิจประกอบกิจการเงินทุนหลักทรัพย์ให้มากขึ้น
ขณะเดียวกันแนวความคิดนี้ก็ทำให้กลุ่มไทยซัมมิทโอโตพาร์ทของพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจซื้อ
บงล. บีซีซี จะสังเกตว่าสไตล์การบริหารงานและการตัดสินใจของพัฒนาจะรวดเร็วกว่าพี่ชายที่ยังคงสไตล์
CONSERVATIVE มาก
บงล. ไอทีเอฟ เป็นเป้าหมายซึ่งมีผู้บริหารกลุ่มซัมมิทโอโตซีทสนใจ แรงดึงดูดที่เร้าใจ
นอกจากสาขาไอทีเอฟทั้ง 6 แห่งแล้ว ยังมีสิ่งสำคัญคือการลงทุนเพื่ออนาคตที่สดใสจากใบอนุญาตไอทีเอฟ
ซึ่งมีอยู่ 8 ใบ ประกอบด้วย หนึ่ง-ใบอนุญาตประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการลงทุนและพาณิชย์
สอง-ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนา สาม-ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการจำหน่าย
สี่-ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการจำหน่าย ห้า-ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการบริโภค
หก-เพื่อการเคหะ เจ็ด-ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และแปด-กิจการค้าหลักทรัพย์
ซึ่งเป็นแรงดึงดูดใจมาก ๆ สำหรับผู้ที่อยากได้ SEAT ในฐานะโบรกเกอร์ของตลาดหลักทรัพย์
"เหตุผลที่เข้าไปจะซื้อไอทีเอฟ เพราะปัจจุบันกิจการของเรา 90% เป็นด้านธุรกิจยานยนต์ทั้งหมด
เราทำมา 20 ปีก็บริหารได้อยู่ตัวแล้ว จึงอยากจะทำธุรกิจอื่น ๆ ที่มีอนาคตดีอย่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่แหวกแนวออกไป
แต่ไม่ใช่ว่าจะมาเป็นฐานเงินทุนที่สนับสนุนอุตสาหกรรมของเรา เราคิดว่าที่น่าสนใจคือตัวใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์ซึ่งมีราคาแพงมาก
และเรื่องบุคลากรเราก็ไม่ห่วงเท่าไหร่ แต่เผอิญมีเรื่องขัดข้องทางเทคนิคเกี่ยวกับดอกเบี้ยว่า
9% หรือ 12% แต่ก็ยุติแล้ว เราก็คิดว่าในอนาคตก็ยังสนในด้านนี้อีก"
สรรเสริญเปิดเผยการรุกขยายไปในไอทีเอฟ
แต่การก้าวเข้าไปในธุรกิจที่ตนเองไม่มีความรอบรู้อย่างละเอียดนำมาซึ่งความจริงอันยากปฏิเสธว่า
ในความสำเร็จนั้นย่อมมีความล้มเหลวผิดพลาดบ้าง ประโยชน์ของความล้มเหลวก็คือบทเรียนอันมีค่าที่ผู้บริหารซัมมิทโอโตซีทต้องจำให้แม่นและถือเป็นข้อเตือนใจครั้งต่อไป
ศึกประมูล บงล. ไอทีเอฟประกอบด้วยสี่กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เสนอตัวเข้ามาชิงชัย
กลุ่มแรก ทักษิณ ชินวัตร ผู้บุกเบิกธุรกิจโทรคมนาคมชื่อดัง ซึ่งให้ ดร. ทนง
พิทยะเป็นตัวแทนเสนอราคาในนามของกลุ่มชินวัตร กลุ่มที่สอง-สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์แห่งกลุ่มเซ็นทรัลยักษ์ใหญ่ห้างสรรพสินค้าที่มาเอง
โดยที่ปรึกษาคือเจเอฟธนาคมเป็นผู้ยื่นซอง กลุ่มที่สาม-สรรเสริญ จุฬางกูร
ผู้บริหารหมายเลขหนึ่งของกลุ่มซัมมิทโอโตซีท ซึ่งเป็นม้ามืดในงานนี้ และกลุ่มที่สี่-วิชัย
กฤษดาธานนท์ แลนด์ลอร์ด ผู้ร่ำรวยจากการพัฒนาที่ดินและนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในนามของ "กลุ่มกฤษดานคร"
บทเรียนบทที่หนึ่งเริ่มบนเงื่อนไขในวันที่ 30 มีนาคมที่แต่ละกลุ่มได้รับทราบด้วยวาจามิใช่ลายลักษณ์อักษรจาก
จรุง หนูขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คือ หนึ่ง-จำนวนหุ้นของไอทีเอฟที่ถือครองโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงนจำนวน
67,442,846 หุ้น สอง-"การยกตัวอย่าง" อัตราดอกเบี้ย (DISCOUNT
RATE) 12% แก่ผู้บริหารทั้งสามกลุ่ม แต่มีกลุ่มกฤษดานครที่ไม่ทำตามตัวอย่างซึ่งให้ผลดีเกินคาด
และสาม-ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงินปันผลไอทีเอฟที่จะจ่ายหุ้นละ 25 ส.ต. ที่เตือนให้อย่าลืมคิดลงไปด้วย
ข้อมูลทั้งหมดนี้ผู้บริหารซัมมิทโอโตซีทได้ป้อนให้กับไพบูลย์ เสรีวิวัฒนาที่ปรึกษาประเมินราคาหุ้นไอทีเอฟ
ทุกอย่างดำเนินไปอย่างปิดลับเป็นระยะเวลาศึกษา 10 วัน แม้แต่ธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นสถาบันการเงินหลักของกลุ่มซัมมิทโอโตซีทและเป็นผู้อาวัลเงินก้อนใหญ่จำนวนไม่ต่ำกว่า
2,000 ล้านบาทก็ปกปิด
จนกระทั่งถึงวันที่ 7 เมษายนซึ่งเป็นวันเปิดซองประมูล เมื่อจับภาพเฉพาะกลุ่มซัมมิทโอโตซีทจะเห็นว่าสรรเสริญซึ่งเป็นคนไปเซ็นชื่อนั่งใกล้กับน้องชายสุริยะ
ส่วนหทัยรัตน์อยู่ด้านข้างกับไพบูลย์
เมื่อซองแรกของชินวัตรเปิดขึ้นด้วยราคาต่อหุ้น 24 บาท ตามด้วยซองที่สองของเซ็นทรัลให้ราคาต่อหุ้น
23 บาท อันดับสามกลุ่มกฤษดานครให้ราคาสูงถึง 41.25 บาทและกลุ่มสุดท้ายคือซัมมิทโอโตซีทเสนอราคาต่อหุ้นสูง
37.88 บาท
เมื่อพิจารณาให้ละเอียดระหว่างคู่ชิงดำระหว่างกลุ่มกฤษดานครกับกลุ่มซัมมิทโอโตซีท
จะพบว่าราคาต่อหุ้นที่กฤษดานครยื่นเสนอไป 41.25 บาท คิดเป็นเงินทั้งสิ้น
2,782,017,398 บาท ขณะที่กลุ่มซัมมิทโอโตซีทเสนอราคาต่อหุ้น 37.88 บาทคิดเป็นเงินรวม
2,554,735,006 บาท ทั้งคู่มีเงื่อนไขชำระเป็นแคชเชียร์เช็คประมาณ 20% ส่วนของซัมมิทฯ
จ่าย 500 ล้าน แต่ของกฤษดานคร 556 ล้านบาท
เงื่อนไขการชำระเงินของกลุ่มซัมมิทฯ ที่เทเงินสดให้ตั้งแต่ปีที่ 1-5 ปี
ๆ ละ 410 ล้านบาทกล่าวกันว่าอยู่บนฐานความเชื่อที่อัตราดอกเบี้ย 12% เสมอและคิดว่าถ้าจ่ายเงินสดช่วงต้นจะดีกว่าเพราะช่วงนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ถูกลงเหลือเพียงแค่
11% เท่านั้น ทำให้การคำนวณค่าเงินสดในปัจจุบันจะมีลักษณะจ่ายน้อยลงในปีสุดท้าย
ขณะที่กลุ่มกฤษดานครจะใช้หลักคิดอีกอย่างคือ จะเริ่มชำระเงินตั้งแต่ปีที่
3-5 โดยปีที่ 3 จะจ่าย 556 ล้านบาท ปีที่ 4 และ 5 จะจ่ายปีละ 834 ล้านบาท
ซึ่งเมื่อคำนวณค่าเงินสดปัจจุบันจะมีภาระที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในระยะหลัง
จำนวนเงินที่จ่ายทุกตัวได้ถูกคำนวณเป็นค่าเงินสดปัจจุบัน (PRESENT VALUE
) เพื่อใช้เปรียบเทียบโดยใช้ DISCOUNT RATE 9% ยอดเงินรวมของกลุ่มซัมมิท
2,098 ล้านบาท ราคาต่อหุ้น 31.114 บาท ส่วนกลุ่มกฤษดานครคิดออกจะได้ยอดเงินรวม
2,119 ล้านบาท และราคาต่อหุ้น 31.430 บาท
ผลต่างของราคาต่อหุ้นที่กลุ่มซัมมิทฯ พ่ายแพ้กลุ่มกฤษดานครไปคือ 31 สตางค์เท่านั้นเมื่อเอามาตรฐาน
DISCOUNT RETE 9% เป็นหลัก
ผลปรากฏว่าถ้าคิดเป็นกราฟเส้นตรงตัดกันสองเส้นที่แทนสองกลุ่มนี้ กรณีที่
DISCOUNT RATE ต่ำกว่า 10% กลุ่มซัมมิทโอโตซีทจะแพ้ แต่ถ้า DISCOUNT RATE
สูงกว่า 10% กลุ่มซัมมิทโอโตซีทจะชนะ
สามกลุ่มที่พ่ายแพ้จึงบ่นเสียดายว่าถ้ากำหนดชัดเจนว่าสู้กันในอัตรา 9%
ดังนี้ก็จะสู้ชนิดเทเงินในกระเป๋าเพิ่มให้กับราคาต่อหุ้นอีก 5 บาทยังไหว
เป็นการเพิ่มกำไรให้กับรัฐบาลมากกว่า 8 เท่าตัว
เพราะเงินที่รัฐรับชำระเข้ามา ถ้าคิดหาผลประโยชน์บนฐานจากอัตราดอกเบี้ย
12% ณ สิ้นปีที่ 5 จะมีเงินรวมทั้งสิ้นจากกลุ่มซัมมิท 3,491 ล้านบาท แต่ถ้าเลือกกลุ่มกฤษดานครจะได้
3,447 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มซัมมิท 43 ล้านบาท
แต่ถ้ารัฐเลือกที่จะใช้อัตราดอกเบี้ย 9% จากเงื่อนไขการชำระเงินของกฤษดานคร
รัฐจะได้เงินรวมในสิ้นปีที่ 5 คือ 3,261 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มซัมมิทฯ 3,228
ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มแรก 32 ล้านบาท
ดังนั้นสรุปผลรวมของผลประโยชน์สองตัวที่มาเปรียบเทียบกัน จะต่างกัน 230
ล้านบาท
แต่เมื่อทุกตัวเลขขึ้นตัวเลขบนกระดาน ปฏิกิริยาของกลุ่มซัมมิทโอโตซีทคืองุนงงเมื่อเทียบกับผู้ชนะรู้สึกตัวเลขสูสีกันมาก
มีการส่งสายตาข้ามฟากมองกันไปมาระหว่างที่ปรึกษาไพบูลย์ ซึ่งยกเครื่องคิดเลขมาเคาะตัวเลขที่อยู่ระยะไกลมากจนเคาะไม่ถูกกับสุริยะซึงขัดใจที่ไม่ได้พกพาเครื่องคิดเลขมาด้วย
เมื่อทำอะไรไม่ได้ดีกว่านั้นต่างฝ่ายก็ทำท่าจะวางใจซึ่งกันและกัน ไม่มีใครแย้งขึ้นมาถึงอัตราดอกเบี้ย
9 หรือ 12%
แต่เมื่อผลการประมูลสิ้นสุดลง สุริยะได้เดินไปหาผู้ชนะ มีเสียงถามว่า "คุณวิชัย
คุณคิด DISCOUNT RATE เท่าไหร่?" เสียงตอบจากวิชัยบอกว่า 10% แล้วเอาตัวเลขนั้นให้ดู
แต่เมื่อเห็นปฏิกิริยาสุริยะงุนงงราวถูกทุบหัว วิชัยรีบมองหาเลขารู้ใจซึ่งรีบเปิดกระเป๋าเจมส์บอนด์เอาเครื่องคิดเลขมาเคาะแล้วบอกว่านี่ไง
12% แม้จะไม่เชื่อเท่าใดนัก แต่เพื่อให้เกียรติแก่ผู้ชนะ ทุกคนก็เข้าไปจับมือแสดงความยินดีกับวิชัย
เย็นนั้น การตีกอล์ฟของสามพี่น้องเป็นไปอย่างกังวลถึงตัวเลขที่ต้องมีการทบทวนอีกครั้งหนึ่ง
และเมื่อพบความไม่โปร่งใสก็ได้ส่งจดหมายขอความเป็นธรรมไปตามขั้นตอน ในที่สุดการประมูลหุ้นไอทีเอฟ
67 ล้านหุ้นก็จบลงด้วยความเข้าใจว่ากฤษดานครชนะ และทุกสิ่งถือเป็นข้อสิ้นสุดแล้ว
งานนี้จึงถือเป็นบทเรียนบทสำคัญที่ผู้บริหารซัมมิทโอโตซีทต้องถือเป็นอาจารย์ในครั้งต่อไป
คือหนึ่ง-อย่าปากหนักเมื่อเกิดสิ่ง "ไม่โปร่งใส" ต้องถามให้ชัดเจนทันที
สอง-อย่าคิดหรือวางใจ "แทน" คนอื่น สาม-อย่าลืมพกพาเอาเครื่องคิดเลขไปด้วยทุกครั้งที่มีการซื้อขาย
นี่คือบทเรียนอันมีค่าที่ผู้บริหารซัมมิทโอโตซีทจำได้ตลอดจากนี้ไป
ทิศทางการขยายตัวของกลุ่มซัมมิทโอโตในสองทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะมีความผิดพลาดในความสำเร็จบ้างบางส่วน
แต่โดยส่วนใหญ่ยังมีลักษณะเป็นแนวนอนและแนวดิ่งโดยการตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนมากมายนับร้อยชนิดของรถยนต์
ทั้งที่เป็นส่วนบริษัทของครอบครัวตัวเองล้วน ๆ และบริษัทร่วมทุนกับต่างประเทศ
เช่นบริษัทอาเซียนออโตพาร์ท บริษัทซัมมิท สเตียริ่งวีล เป็นต้น
ในอนาคตของกลุ่มภายใต้การนำของสรรเสริญ ยุทธศาสตร์การขยายตัวก็ยังคงมีเป้าหมายหลักอยู่ที่อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์
ในปลายปีนี้จะมีการผลิตพวงมาลัยรถยนต์โดยบริษัทซัมมิท สเตียริ่งวีล นอกจากนี้โครงการนิคมอุตสาหกรรมรถยนต์ที่แหลมฉบังอันมีกลุ่มมิตซูบิชิเป็นหัวหอก
ก็ได้ชักชวนกลุ่มซัมมิทโอโตซีทไปเปิดโรงงานที่นั่น ด้วยการลงทุนในอนาคตเหล่านี้สรรเสริญยังยืนยันว่าอนาคตสดใสเพราะปริมาณการใช้รถต่อประชากรไทยแล้วยังอยู่ในอัตราต่ำมาก
ปัญหาผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลที่ในอดีตเคยเป็นเสมือนหนึ่งมือที่หยิบยื่นโอกาสทองแก่สรรเสริญ
กำลังเป็นที่น่าสงสัยว่าจะเป็นมือที่ฉุดกระชากให้ผู้ประกอบการต้องล้มหรือสะดุด?!
ในกรณีที่รัฐบาลอาจจะ "ยกเลิก" ข้อกำหนดบังคับสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ไว้ที่
54% เพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องจากแกตต์ (ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีอากร)
ถ้าหากการยกเลิก LOCAL CONTENT นี้เกิดขึ้นจริง ความหายนะย่อมเข้ามาสู่ผู้ผลิตชิ้นส่วนใหญ่น้อย
300 กว่าราย สรรเสริญในฐานะอุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จำเป็นต้องดำเนินบทบาทในฐานะตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์เข้าเรียกร้องรัฐบาลให้ปกป้องอุตสาหกรรมนี้สุดชีวิต
"ผมคลุกคลีกับวงการนี้มา 20 กว่าปี ผมยังเห็นว่าอนาคตยังดีอยู่ แน่นอนอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนจาก
112% เหลือ 20% ขณะที่ผู้ผลิตในประเทศต้องนำเข้าวัตถุดิบเสียภาษี 60% เพราะฉะนั้นถ้ายกเลิก
LACAL CONTENT ผู้ผลิตอย่างผมอาจจะนำเข้าก็ได้เพราะเสียภาษีแค่ 20% หรือถ้าผลิตในประเทศก็ต้องให้มีปริมาณมากพอ
แต่ถ้ามีปริมาณชิ้นส่วนน้อยก็น่าหนักใจ" สรรเสริญกล่าวถึงปัญหาอนาคต
ความพยายามที่ธำรงไว้ซึ่งความอยู่รอดของกลุ่มทำให้สรรเสริญในฐานะผู้นำจำเป็นต้องคิดยุทธศาสตร์การเติบโตขยายไปในธุรกิจอื่น
ๆ เป็นการลงหลักปักฐานอีกฐานหนึ่งให้มั่นคงแข็งแรง
แนวโน้มที่เกิดขึ้นแล้วคือ การเข้าไปธุรกิจบริการและธุรกิจการพัฒนาที่ดินที่สรรเสริญได้เข้าไปเทคโอเวอร์สนามกอล์ฟไพน์เฮิร์ท
แล้วให้โกมล จึงรุ่งเรืองกิจน้องชายคนที่สามดูแล โดยจ้างมืออาชีพบริหารจนประสบความสำเร็จดี
ขณะที่หทัยรัตน์ ภรรยาของสรรเสริญได้ริเริ่มโครงการบ้านจัดสรรที่จังหวัดนครสวรรค์
โดยร่วมลงทุนกับเพื่อนสนิท และการซื้อที่ดินมูลค่า 200 กว่าล้านเพื่อพัฒนาเป็นโรงงานซึ่งเป็นที่เดิมของบริษัทธานินทร์ยูเนียน
และที่ดินที่จังหวัดระยอง
"พี่จะซื้อที่ดินโดยจะดูว่าที่ตรงนั้นต้องไม่ตรงกับทางสามแพร่ง แม้จะขายราคาแสนถูกอย่างไรพี่ก็ไม่เอา
เพราะมันไม่สบายใจ" หทัยรัตน์เล่าให้ฟัง
นอกจากธุรกิจที่ดินแล้ว ความสนใจในธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ยังเป็นลู่ทางการลงทุนที่เร้าใจอยู่
แม้จะพลาดหวังจากกรณีไอทีเอฟก็ตามที
"ความสนใจในธุรกิจนี้ก็คิดว่าทำให้เราสามารถขยายธุรกิจได้แตกต่างจากแนวอุตสาหกรรม"
หทัยรัตน์ให้ความเห็น
ทั้งที่ดินและธุรกิจการเงิน ว่ากันตามจริงแล้ว มันสามารถ CAPITALIZED ทุนและ
GENERATE LIQUIDITY ให้กลุ่มซัมมิทฯ ได้ในยามที่ตลาดชิ้นส่วนในประเทศเกิดภาวะตกต่ำลง
การเติบโตของกลุ่มซัมมิทโอโตซีทนั้นจะไม่ทำแบบหวือหวาหรือลงทุนอย่างใหญ่โต
แต่จะทำจากเล็กไปหาใหญ่ โดยค่อย ๆ ทำทีละขั้น จนกว่าจะพบว่าเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มไปได้ดีจึงขยายใหญ่โต
และวิธีการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เป็นสิ่งที่สรรเสริญปฏิเสธตลอดมา
ภาพพจน์นี้ได้สะท้อนถึงแนวคิดอันอนุรักษ์นิยมของเขา บนความเชื่อมั่นว่าธุรกิจของกลุ่มเขาไม่จำเป็นต้องพึ่งพากระบวนการระดมทุนในลักษณะนี้
โดยสรุปแล้ว อนาคตของกลุ่มซัมมิทโอโตซีทได้เปิดพรมแดนอาณาจักรของการลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไว้แน่หนามากกว่ายุคก่อน
และปูทางให้กับทายาทธุรกิจรุ่นลูกหลานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนโยบายรถยนต์ของรัฐบาลที่ใกล้ตัวใกล้ใจมากที่สุดนี้
สรรเสริญต้องพิสูจน์ความเป็นอัจฉริยภาพของเขาว่าจะสามารถมองการณ์ไกลและปรับยุทธวิธีให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้!!