ปัญหาการซื้อขาย บงล. ไอทีเอฟจบสิ้นลงแล้วเมื่อแบงก์ชาติตัดสินให้กลุ่มกฤษดามหานครเป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคาซื้อในอนาคตสูงสุดที่
41.25 บาทหรือราคามูลค่าปัจจุบันที่ 31.43 บาท ความสำเร็จในการซื้อครั้งนี้จะช่วยเสริมฐานธุรกิจของกฤษดาฯ
ให้แข็งแกร่งมากขึ้นโดยใช้ไอทีเอฟเป็นแหล่งเงินทุนในโครงการต่าง ๆ ของบริษัทฯ
และเป็นฐานบริการสินเชื่อทั้งบ้าน ที่ดิน รถยนต์
กฤษดามหานครหรือ KMC จัดเป็นหุ้น BLUESHIP ในตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
และไม่แน่ว่าอาจจะถูกจัดอันดับเป็นหุ้น BLUESHIP ได้ตลอดปี 2535 ด้วยซ้ำ
เพราะมีมูลค่าการซื้อขายจำนวนมากสะสมอยู่ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี ซึ่งมูลค่าการซื้อขายรวมของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในบางวันพุ่งทะลุหมื่นล้านบาท
ในยามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซบเซาภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส. และการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลงอย่างฮวบฮาบไม่ต่ำกว่า 10-20 จุดเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน
KMC ก็ยังคงเป็นหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดอยู่นั่นเอง
หากไม่นับข่าววงในของนักลงทุนทั้งหลายที่รู้กันว่าหุ้นตัวนี้ "คนในเครื่องแบบ"
ชอบเล่นมากเป็นพิเศษแล้ว ข่าวเรื่องผลการดำเนินงานและความสไเร็จในการเจรจาซื้อ
บงล. ไอทีเอฟ น่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้ราคาหุ้นตัวนี้ดีวันดีคืนและมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
ผลการดำเนินงานของกฤษดามหานครเมื่อสิ้นปี 2534 ดีกว่าที่มีประมาณการไว้อย่างมาก
โดยเฉพาะในงบกำไรขาดทุนซึ่งแสดงตัวเลขรายได้กำไรสุทธิและกำไรต่อหุ้นที่ดีอย่างมาก
ๆ แม้ว่าในงบดุลฉบับนี้ผู้สอบบัญชีฯ จะได้แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขเกี่ยวกับบัญชีที่เกิดกับบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากก็ตาม
รายได้รวมเมื่อสิ้นปี 2534 ของกฤษดามหานครสูงถึง 956.54 ล้านบาทเทียบกับเมื่อสิ้นปี
2533 มีรายได้รวมเพียง 68.12 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนตัวเลขประมาณการรายได้รวมที่ไห้ไว้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ
ก็คาดหมายไว้เพียง 445.07 ล้านบาท (ดูตารางตัวเลขสำคัญทางการเงินของบริษัทกฤษดามหานคร
จก.)
นั่นหมายความกฤษดาฯ สามารถทำรายได้รวมเพิ่มขึ้นจากปี 2533 ประมาณ 888.42
ล้านบาทหรือคิดเป็น 1,304%
ส่วนกำไรสุทธินั้นก็เพิ่มจาก 18.18 ล้านบาทในปี 2533 เป็น 516.27 ล้านบาทในปี
2534 หรือเพิ่มขึ้น 498.1 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 2,741%
นับเป็นความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรที่น่าทึ่งและควรบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์บริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ
ไทยทีเดียว!?!
ในงบการเงินซึ่งรวมเอาบริษัทกฤษดาพัฒนาเคหะการ อันเป็นบริษัทลูกที่กฤษดามหานครถือหุ้นอยู่มากกว่า
90% นั้น ก็มีตัวเลขที่แสดงถึงความสำเร็จอันงดงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่างบเดี่ยวเฉพาะของกฤษดามหานคร
รายได้จากการขายที่ดินทำได้สูงถึง 1,141.21 ล้านบาทในปี 2534 ขณะที่งบเดี่ยวมีเพียง
728.02 ล้านบาท หมายความว่าเฉพาะบริษัทลูกแห่งนี้ สามารถขายที่ดินได้ถึง
413.19 ล้านบาท (ดูตารางตัวเลขสำคัญทางการเงินของบริษัทกฤษดามหานคร จก. และบริษัทย่อย)
แม้ว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากในงบรวม ทว่ากำไรสุทธิกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย!!
กำไรสุทธิของงบรวมเท่ากับ 514.15 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขของงบเดี่ยวเท่ากับ
516.27 ล้านบาท แสดงว่าบริษัทลูกแห่งนี้มีผลการดำเนินงานขาดทุน!!
นี่อาจจะเป็นตัวเลขเล็กน้อยที่สะท้อนการแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขของผู้สอบบัญชีก็เป็นได้!!
อันที่จริงกฤษดามหานครมีตัวเลขทางการเงินที่ "ประหลาด" อยู่ค่อนข้างมากตั้งแต่สมัยที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ใหม่
ๆ โดยเฉพาะตัวเลขความสัมพันธ์ระหว่างกฤษดามหานครกับบริษัทลูกรายนี้
กล่าวคืองบของบริษัทกฤษดาพัฒนาเคหะการในปี 2533 ปรากฏว่ามีขนาดใหญ่กว่ากฤษดามหานคร
ไม่ว่าจะในแง่ของยอดขาย กำไร หรือทรัพย์สินก็ตาม
จากตัวเลขล่าสุดกฤษดาพัฒนาเคหะการซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาทสามารถทำรายได้จากการขายในปี
2533 เท่ากับ 446.59 ล้านบาท สูงกว่ากฤษดามหานครที่มีรายได้จากการขาย 68.12
ล้านบาทถึง 6.5 เท่า ส่วนกำไรสุทธิ 83.41 ล้านบาทขณะที่กฤษดามหานครทำได้เพียง
18.17 ล้านบาทหรือสูงกว่า 4.59 เท่า
ครั้นมาในปี 2534 กลับกลายเป็นว่าบริษัทลูกแห่งนี้ขาดทุนเสียแล้ว!!
ตัวเลขที่สลับซับซ้อนของบริษัทในกลุ่มกฤษดาฯ เช่นนี้คงต้องอาศัยความสามารถพิเศษของนักการบัญชีและนักวิเคราะห์การเงินช่วยอรรถาธิบายกระมัง!!
วิชัย กฤษดาธานนท์ กรรมการผู้จัดการกฤษดามหานครให้เหตุผล 4 ข้อกับตลาดหลักทรัพย์ฯ
ถึงกรณีที่มีความสามารถสร้างผลการดำเนินการได้สูงกว่าประมาณการว่า "บริษัทฯ
สามารถขายที่ดิน, บ้านได้ในราคาสูงกว่าประมาณการ มีการเพิ่มกลยุทธ์ด้านการตลาดและระบบการขายตรง
ได้จำหน่ายที่ดินบางส่วนในโครงการกฤษดาซิตี้ กอล์ฟ ฮิลล์ ได้ก่อนประมาณการ
และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ต่ำกว่าประมาณการด้วย"
เหตุผลเหล่านี้แม้จะเป็นที่ยอมรับได้ แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะทำให้เชื่อได้ว่าผลประกอบการจะเพิ่มสูงเด่นออกมาถึงขนาดนี้!
อย่างไรก็ดี นักลงทุนส่วนมากที่แห่ตามกันเล่นหุ้นกฤษดาฯ ดูเหมือนจะไม่ได้พิจารณาความสลับซับซ้อนเหล่านี้สักเท่าใด
ดูกันแต่เรื่องการเคลื่อนไหวของราคาที่เป็นเรื่องเทคนิคคัลล้วน ๆ เท่านั้น
มันก็เป็นเรื่องไม่ผิดหากจะวัดกันที่ผลตอบแทนซึ่งคนเล่นที่เข้าไวออกไวสามารถทำกำไรไปได้เป็นจำนวนมาก
นักลงทุนเหล่านี้ไม่ได้สนใจวิธีทำธุรกิจของวิชัยสักเท่าใดนอกจากขอให้มีข่าวดีไว้เป็นพอ
และอาจจะไม่ได้มีการสงสัยด้วยซ้ำไปว่าวิชัยที่ตลอดเวลาไม่เคยจับธุรกิจการเงินมาก่อนจะบริหาร
บงล. ไอทีเอฟที่เพิ่งซื้อกิจการมาได้หมาด ๆ อย่างไร
การซื้อกิจการไอทีเอฟได้สำเร็จ หลังจากที่ความพยายามของนักลงทุนกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าไม่ประสบผลสำเร็จก็ถือเป็นข่าวดีอีกอย่างหนึ่งของกลุ่มกฤษดามหานคร
วิชัยซุ่มเงียบอยู่นานก่อนที่จะมีการเปิดเผยว่ามีเป้าหมายซื้อกิจการไอทีเอฟ
โดยผู้ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในงานนี้คือฝ่ายวาณิชธนกิจของธนาคารกรุงเทพ
ไอทีเอฟเป็น บงล. ที่มีนักลงทุนหลายรายสนใจซื้อ แต่ไม่สามารถตกลงในเรื่องราคาได้สักราย
ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนไทยหรือต่างประเทศ
กลุ่ม บ. กองทุนรวมร่วมกับนายแพทย์บุญ วนาสินและกลุ่มเจียซินซีเมนต์จากไต้หวัน
เสนอซื้อเมื่อปี 2533 ในราคาหุ้นละ 15 บาท กลุ่มที่สองคือเครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ราคาหุ้นละ
9.50 บาทเท่านั้น กลุ่มที่สามคือ บงล. ทิสโก้ ราคาที่แต่ละกลุ่มเสนอดูเหมือนไม่เป็นที่พอใจของทางแบงก์ชาติสักรายเดียว
กลุ่มต่อมาคือกลุ่มชินวัตรที่เสนอซื้อในราคาหุ้นละ 15 บาทด้วยเช่นกัน แต่เจรจารอบแล้วรอบเล่าก็ไม่ประสบผล
จนเมื่อมีการประมูลเพราะมีผู้สนใจเพิ่มเข้ามาอีก 3 กลุ่ม ชินวัตรได้ขยับราคาปัจจุบันขึ้นมาเป็น
24 บาทและราคาในอนาคตคือรวมดอกเบี้ยแล้วประมาณ 35 บาท แต่ก็พ่ายกลุ่มกฤษดาฯ
ที่ให้ราคาสูงกว่ามาก ๆ
ดร. ทนง พิทยะ ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มชินวัตรเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "ที่ผมตั้งราคาไว้ 15 บาทนั้น ก็เพราะเห็นว่า BOOK VALUE ของไอทีเอฟตอนนี้ประมาณ
7 บาทกว่า ยังไม่ได้ลบซอฟท์โลน 500 ล้านบาทที่ต้องจ่ายคืนแบงก์ชาติ ยังไม่ได้คิดว่าเรียลเอสเตทที่เขาทำนี้ขายออกไปหมดแล้ว
ประมาณการรายได้ออกมาเท่าไหร่และมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นหรือ BOOK VALUE จะลดลงไปเหลือเท่าไหร่"
"ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งของไอทีเอฟคือมีจำนวนหุ้นถึง 160 ล้านหุ้นราคาพาร์
5 บาท ใหญ่กว่าแบงก์หลายแบงก์ BOOK VALUE จะคิดมาจากไหนมันมีเรื่องของการ
WRITE OFF ที่จะต้องลดลงไปอีก แล้วยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นจากการคืนซอฟท์โลนรวมทั้งดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจากการเอาซอฟท์โลนนี้มาใช้
ซึ่งต้องจ่ายพร้อมการคินซอฟท์โลน ผมคิดสะระตะอย่างนี้แล้ว ผมเห็นว่าควรจะซื้อไอทีเอฟในราคาประมาณ
2,000 ล้านบาท และผมจะให้พรีเมี่ยมอีกประมาณ 400-500 ล้านบาท แค่นี้แหละ"
ดร. ทนงเปิดเผยแนวการคำนวนราคาหุ้นไอทีเอฟกับ "ผู้จัดการ"
อย่างไรก็ดีราคาหุ้น 15 บาทนั้นไม่เป็นที่ยอมรับของแบงก์ชาติ ซึ่ง ดร.
ทนงก็ไม่ทราบว่าแบงก์ชาติต้องการราคาเท่าไหร่ "หากแบงก์ชาติคิดว่าราคาควรจะสูงกว่านี้ต้องบอกผมว่าคิดอย่างไร
แต่ก็ไม่มีการบอกนอกจากพูดว่าราคาที่ผมเสนอเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาในตลาดหลักทรัพย์ฯ
หากให้ผมคิดไอทีเอฟมูลค่า 3,000 กว่าล้านบาทนี่ คิดอย่างไร ผมคิดไม่ออก แบงก์ศรีนครตอนนี้
capitalization ประมาณ 2,800 ล้านบาทเท่านั้น สาขาอีกเป็น 100 น่าซื้อ แต่เขาไม่ขาย
หลายแบงก์ทีเดียวที่ผมเอาเงิน 3,000 กว่าล้านบาทนี่ไปซื้อได้" ดร. ทนงกล่าวทิ้งไว้อย่างมืออาชีพ
กลุ่มชินวัตรนั้นมีเป้าหมายที่จะหาสถาบันการเงินเข้ามาค้ำจุนอุดหนุนการทำธุรกิจโทรคมนาคมต่าง
ๆ ของกลุ่มทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งเงินทุนและการบริการด้านการเงิน แต่คงต้องมีข้อแม้ว่าต้องเป็นราคาที่สมเหตุสมผล
ในเมื่อมีผู้เสนอซื้อไอทีเอฟในราคาที่สูงกว่ามาก ๆ เกินกว่าที่กลุ่มชินวัตรจะเข้าใจเหตุผลได้
กลุ่มนี้จึงล่าถอยไป เพราะอย่างไรเสีย ดร. ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังมีเป้าหมายในสถาบันการเงินอื่น
ๆ อีกมาก
นอกจากชินวัตรแล้ว ยังมีกลุ่มเซ็นทรัลที่มอบหมายให้ สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์และศิริ
ศิรินันทลักษณ์ อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย กรณ์
จาติกวณิช กรรมการผู้จัดการ บล. เจ.เอฟ. ธนาคมเป็นที่ปรึกษาทางการเงินมายื่นซองประมูล
กลุ่มเซ็นทรัลเสนอซื้อไอทีเอฟในราคา 23 บาท มีเงื่อนไขการผ่อนชำระ 5 ปีโดยไม่มีเงินสดในงวดแรก
ส่วนราคาอนาคตคือราคาหุ้นบวกดอกเบี้ยจะตกประมาณหุ้นละ 28 บาท
กลุ่มบริษัทซัมมิทออโต้ซีท ซึ่งมอบหมายให้ ดร. ไพบูลย์ เสรีวัฒนา เป็นที่ปรึกษาและตัวแทนในการยื่นซองประมูลซื้อไอทีเอฟ
กลุ่มฯ นี้เสนอราคามูลค่าปัจจุบันที่ 29.40 บาทและราคาในอนาคตซึ่งรวมดอกเบี้ยแล้วที่
37.88 บาท
อย่างไรก็ดี กลุ่มซัมมิทฯ อ้างว่าการที่ราคาที่กลุ่มเสนอไม่ว่าจะเป็นราคามูลค่าปัจจุบันหรือราคาในอนาคต
ต่ำกว่าราคาของกลุ่มกฤษดาฯ เพราะใช้อัตราดอกเบี้ย DISCOUNT RATE ที่แตกต่างกัน
ทุกกลุ่มที่เข้าประมูลต่างใช้อัตราส่วนลดที่ร้อยละ 12 เป็นฐานในการคำนวณหามูลค่าปัจจุบัน
เนื่องจากมีความเข้าใจตรงกันว่าแบงก์ชาติกำหนดให้ใช้อัตรานี้ แต่กลุ่มกฤษดาฯ
เพียงรายเดียวเท่านั้นที่ใช้ฐานการคำนวณที่อัตราส่วนลดร้อยละ 9
การใช้อัตราการคำนวณดอกเบี้ยที่ต่างกันมีผลให้ราคาเสนอซื้อของกลุ่มกฤษดาฯ
สูงกว่าราคาของกลุ่มซัมมิทออโต้ซีทฯ
ดร. ไพบูลย์กล่าวว่า "หากใช้ DISCOUNT RATE ที่ 12% กลุ่มซัมมิทฯ ต้องเป็นฝ่ายชนะเพราะเสนอราคาที่สูงกว่า"
ในที่สุด วิจิตร สุพินิจ ผู้ว่าการแบงก์ชาติได้ออกมากล่าวยุติการประมูลไอทีเอฟว่า
"มติของกองทุนการฟื้นฟูฯ ถือเป็นการตัดสินเด็ดขาดแล้ว"
มูลค่าไอทีเอฟที่กลุ่มกฤษกามหานครซื้อมา 67,442,846 หุ้นคิดเป็น 2,782 ล้านบาท
โดยการชำระเงินสดงวดแรก 20% ที่เหลือเป็นการผ่อนชำระพร้อมดอกเบี้ย (ดูตารางแสดงวิธีการชำระเงินในการซื้อหุ้นไอทีเอฟของวิชัย
กฤษดาธานนท์"
ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นไอทีเอฟหลังจากที่กลุ่มกฤษดาฯ เข้าซื้อหุ้นแล้วนั้น
โครงสร้างยังไม่ลงตัวชัดเจน เท่าที่ทราบคือบริษัทกฤษดามหานครจะร่วมถือหุ้นจำนวนนี้ด้วย
10%, บริษัทในเครือกฤษดามหานครอีก 10%, กลุ่มโนเบิล โฮลดิ้งซึ่งประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลโสภณพนิชร่วมถือ
5%, ธนาคารกรุงเทพ 5%, พงศธร ศิริโบธิน 1% และนายวิชัย กฤษดาธานนท์ถือไว้เอง
10%
ทั้งนี้กฤษดามหานครได้แจ้งการถือหุ้น 10% ในเอทีเอฟให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทราบแล้ว
โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับการชำระเงินจำนวน 669.44 ล้านบาท แบ่งออกเป็นเงินสด
20% แรกและตั๋วสัญญาใช้เงิน 3 ฉบับในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า (ดูตารางแสดงการชำระเงินของกฤษดามหานครในการซื้อหุ้นไอทีเอฟจำนวน
10%)
วิชัยเปิดเผยว่าได้มีการเตรียมเงินไว้ต่างหากอีก 300-500 ล้านบาทเพื่อที่จะซื้อหุ้นไอทีเอฟจาก
ดร.ทักษิณ ซึ่งได้ซื้อหุ้นจำนวน 18.8% หรือ 30,503,780 หุ้น มาจากธนาคารโอเวอร์ซีทรัสต์
แบงก์ ออฟ ฮ่องกง ในราคาหุ้นละ 15 บาทก่อนที่แบงก์ชาติจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าประมูล
ขณะที่ ดร. ทักษิณตั้งราคาขายที่หุ้นละ 45.50 บาท วิชัยเสนอราคาซื้อที่
37.75 บาทซึ่งเป็นราคาสุดท้ายก่อนที่ไอทีเอฟจะถูกแขวนป้ายห้ามการซื้อขายในช่วงที่มีการประมูลซื้อกิจการจากกองทุนฟื้นฟูฯ
วิชัยกล่าวว่า "ผมเชื่อว่าจำนวนหุ้นที่ ดร. ทักษิณถือไว้มีน้อยกว่า
18.8% เพราะได้มีการขยายออกไปในช่วงที่เขารู้ตัวว่าจะไม่ชนะการประมูล"
เป็นที่คาดหมายว่าหุ้นไอทีเอฟที่อยู่ในความครอบครองของ ดร.ทักษิณมีประมาณ
5% วิชัยกล่าวว่า "หาก ดร. ทักษิณพร้อมที่จะขายหุ้นจำนวนนี้ในราคาหุ้นละ
37.75 บาท กลุ่มกฤษดาฯ ก็พร้อมที่จะรับซื้อทันที ขณะนี้กลุ่มกฤษดาฯ ก็ถือหุ้นไอทีเอฟไว้ประมาณ
51% ซึ่งจัดเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดแล้ว"
ก่อเกียรติ กฤษดาธานนท์ กรรมการบริหารกฤษดามหานครเปิดเผยว่า "การซื้อหุ้นไอทีเอฟของวิชัยครั้งนี้เป็นการเสนอซื้อในนามส่วนตัว
วิชัยมีความสนใจที่จะขยายธุรกิจไปในกิจการเงินทุนหลักทรัพย์มานานแล้ว ตอนนี้มีการเตรียมทีมงานมืออาชีพและคงใช้เวลาศึกษางานไอทีเอฟระยะหนึ่งก่อนที่จะเข้าบริหารเต็มตัว"
วิชัยเปิดเผยว่าเขาจะบริหารไอทีเอฟในลักษณะ AGGRESSIVE มากกว่าที่ผ่านมาซึ่งดูคล้ายลักษณะการบริหารของราชการ
"ผมคิดว่าจะทำให้ไอทีเอฟถึงจุดคุ้มทุนได้ภายในเวลา 5 ปี ดดยผมจะให้ไอทีเอฟขยายสินเชื่อส่วนมากประมาณ
50% ให้กับกิจการอสังหาริมทรัพย์ซึ่งก็คือกฤษดามหานครนั่นเอง และให้ปล่อยกู้แก่ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์
ไอทีเอฟจะต้องตั้งเงินกองทุนไว้ 500 ล้านบาทเพื่อเป็นกองทุนสำรองในเรื่องบ้านและรถยนต์
กองทุนนี้คงจะมีบริษัทประกันภัยอีกแห่งหนึ่งเข้าร่วมด้วย ซึ่งตอนนี้ผมกำลังเจรจาติดต่ออยู่"
กิจการประกันภัยที่วิชัยสนใจซื้อครั้งนี้กำลังพิจารณาคัดเลือกอยู่ระหว่าง
4 บริษัท ซึ่งมีทั้งกิจการที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และอยู่นอกตลาดฯ คาดหมายว่าผลการเจรจาจะสำเร็จได้ภายในปลายปีนี้
ซึ่งหากวิธีซื้อกิจการไม่สำเร็จก็จะเปลี่ยนมาเป็นการร่วมทุน โดยตั้งงบประมาณเพื่อการซื้อธุรกิจประกันภัยเข้ามาไว้ในกลุ่มฯ
500 ล้านบาท
วิชัยเปิดเผยว่า "การดำเนินธุรกิจขายบ้านและรถยนต์ในอดีตที่ผ่านมานั้น
กฤษดาฯ ได้ส่งงานด้านประกันภัยไปให้บริษัทอื่นเป็นจำนวนมาก หากบริษัทมีธุรกิจประกันภัยในกลุ่มฯ
ก็สามารถโอนงานเหล่านี้มาได้ รายได้ก็จะไม่หนีไปไหน และยังเป็นการสะดวกสำหรับลูกค้าที่สามารถใช้บริการของกลุ่มฯ
ได้ครบวงจรด้วย"
ทางด้านทีมผู้บริหารนั้น จะมีการเสริมมืออาชีพใหม่เข้าไปร่วมกับทีมผู้บริหารเดิมขณะนี้อยู่ระหว่างการทาบทามผู้บริหารระดับกรรมการผู้จัดการและรองกรรมการผู้จัดการ
การทาบทามเช่นนี้มีนัยว่า ศุภรัตน์ ผ่องศรี กรรมการผู้จัดการที่เป็นคนของแบงก์ชาติและถูกส่งเข้ามาเพื่อช่วยกอบกู้
บงล. แห่งนี้เมื่อหลายปีก่อนจะถึงเวลาโบกมืออำลาไอทีเอฟเสียที
เมื่อพิจารณาประกอบกับนโยบายการบริหารใหม่ของวิชัย ดูเหมือนสไตล์จะไปด้วยกันไม่ได้กับศุภรัตน์อย่างแน่นอน!
กลุ่มของวิชัยจะเข้ามาดูแลการบริหารธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเช่าซื้อและงานฝ่ายบัญชีเป็นด้านหลัก
ส่วนโครงสร้างรายได้ยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ในสัดส่วน
50:50 แต่เน้นรายได้จากธุรกิจเช่าซื้อและการปล่อยเงินกู้ หรือสินเชื่อให้กิจการอสังหาริมทรัพย์ของกฤษดาฯ
เป็นสำคัญ
เรื่องการคืนซอฟท์โลนให้แบงก์ชาตินั้น รัชฎา กฤษดาธานนท์ รองกรรมการผู้จัดการเปิดเผยว่า
"ตอนนี้ผู้บริหารไอทีเอฟกำลังพิจารณาว่าจะคืนซอฟท์โลนจำนวนนี้ก่อนกำหนดหรือไม่
หากคืนก่อนกำหนดไอทีเอฟก็ไม่สามารถจ่ายปันผลได้ หากไม่คืนก็จะมีส่วนต่างจากวงเงินจำนวนดังกล่าวเข้ามาเป็นกำไรสุทธิประมาณ
20 กว่าล้านบาท และการที่จะตัดสินใจอนุมัติจ่ายเงินปันผลก็ต้องให้เจ้าหน้าที่แบงก์ชาติเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย"
ก่อนหน้านี้ศุภรัตน์มีความต้องการที่จะคืนซอฟท์โลนให้แบงก์ชาติก่อนกำหนด
และคณะกรรมการฯ ไอทีเอฟก็มีมติฯ ออกมาเรียบร้อยแล้ว
แต่หลังจากที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ขายหุ้นในกลุ่มกฤษดาฯ กองทุนฯ ตัดสินใจมอบการพิจารณาเร่องนี้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่
วิชัยเคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่ามีความตั้งใจที่จะคืนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน
500 ล้านบาทนี้ให้แก่แบงก์ชาติทันทีหลังจากที่มีการโอนหุ้นและผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาดำเนินการบริหารแล้ว
แต่มาถึงเวลานี้อาจจะชะลอการคืนซอฟท์โลนนี้ไประยะหนึ่งก็เป็นได้ เพราะทางแบงก์ชาติเองก็ไม่ได้เรียกร้องในเรื่องนี้แต่อย่างใด
นั่นหมายความว่าผู้ถือหุ้นไอทีเอฟในตอนนี้คงจะไม่ได้รับเงินปันผลในอัตราหุ้นละ
0.25 บาทเป็นแน่
ความสำเร็จในการซื้อไอทีเอฟครั้งนี้มีค่ามากมายต่อตัววิชัยและกลุ่มกฤษดาฯ
แม้ว่าจะได้มาด้วยราคาแพงแสนแพงเท่าใดก็ตาม!!