|

ซัมซุงโคแบรนด์ อาร์มานีเจาะตลาดพรีเมียมทีวี
ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ยักษ์ใหญ่วงการแอลซีดีทีวี เดินหน้าเจาะตลาดพรีเมียม หนีสงครามราคา พร้อมยกระดับฐานลูกค้าเก่าให้หันมาใช้สินค้าที่มีระดับสูงขึ้น ล่าสุดซัมซุง ผนึก จิออร์จิโอ อาร์มานี โคแบรนด์ รุกตลาดแอลซีดีทีวี แบบ Made to Order ราคา 2 แสนกว่าบาท เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
สมรภูมิรบในตลาดแอลซีดีทีวี ที่เริ่มจากการเป็นสินค้าพรีเมียม มีราคาหลักแสนบาท ในขณะที่ปริมาณความต้องการในขณะนั้นมีเพียง 10,000 เครื่องต่อปีเท่านั้น จนกระทั่งมีการปรับกระบวนการผลิตพร้อมกับการทำแคมเปญการตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้าไปสู่ตลาดแมสจนมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าแอลซีดีทีวีเป็นเทรนด์ของทีวีแห่งอนาคต ส่งผลให้หลายๆค่ายต่างหันมาพัฒนาเทคโนโลยีแอลซีดีกันมากขึ้น ควบคู่ไปกับสงครามราคา ส่งผลให้ราคาแอลซีดีทีวีลดลงมาอยู่ที่หลักหมื่นบาทต้นๆ โดยปัจจุบันปริมาณความต้องการแอลซีดีทีวีในเมืองไทยสูงถึง 5.5 แสนเครื่อง และคาดว่าในปีหน้าความต้องการจะสูงถึง 8 แสนเครื่องและขยับขึ้นไปเป็น 1 ล้านเครื่องในปีถัดไป โดยมีซัมซุงเป็นผู้นำตลาดแอลซีดีทีวีด้วยส่วนแบ่งการตลาด 39% ตามด้วยโซนี่ 22% ฟิลิปส์ 9% แอลจี 9% และชาร์ป 5%
ในขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดในเชิงมูลค่า แบรนด์ท็อปไฟว์ยังคงมีอันดับเช่นเดิม ทว่าเปอร์เซ็นต์ของโซนี่และฟิลิปส์สูงขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 แบรนด์ต่างมุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าด้วยการโฟกัสไปที่แอลซีดีทีวีระดับพรีเมียมมากกว่ารุ่นไฟติ้งโมเดล โดยส่วนแบ่งการตลาดแอลซีดีทีวีในเชิงมูลค่า ซัมซุงอยู่ที่ 37% โซนี่ 26% ฟิลิปส์ 11% แอลจี 8% ชาร์ป 5% จากมูลค่าตลาดรวม 14,750 ล้านบาท
ซัมซุงในฐานะผู้นำตลาดจึงพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำตลาดด้วยการเจาะเซกเมนต์พรีเมียมเหมือนเช่นที่โซนี่และฟิลิปส์ทำอยู่ ทว่าด้วยภาพลักษณ์แบรนด์เกาหลียากที่จะสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น ซัมซุงจึงโคแบรนด์ร่วมกับ จิออร์จิโอ อาร์มานี เพื่อให้แอลซีดีทีวี จิออร์จิโอ อาร์มานี ซัมซุง ได้รับการยอมรับในตลาดพรีเมียม อีกทั้งยังเป็นการ Cross Target ไปสู่ฐานลูกค้าของอาร์มานี ซึ่งมีการทำเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์หรู และสามารถสอดรับกับดีไซน์ของแอลซีดีทีวีรุ่นใหม่ของซัมซุง โดย Complete Look ถือเป็นคอนเซปต์ในการออกแบบของ อาร์มานี ที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่ออกแบบโดย จิออร์จิโอ อาร์มานี สามารถใช้ร่วมกันได้อย่างเป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน ผ้า โคมไฟ ตลอดจนผลิตภัณฑ์จากซัมซุงที่ออกแบบโดยอาร์มานี ซึ่งมิได้จบที่แอลซีดีทีวีเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ ซัมซุงได้โคแบรนด์ร่วมกับอาร์มานีในการทำโทรศัพท์มือถือ และในช่วงปลายปีจะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่โคแบรนด์ร่วมกันออกวางสู่ตลาดอีก 1 รายการ
แอลซีดีทีวี จิออร์จิโอ อาร์มานี ซัมซุง มี 2 ขนาดคือ ขนาด คือ 46 นิ้ว ราคา 249,990 บาท และ 52 นิ้ว ราคา 289,990 บาท ซึ่งแพงกว่าแอลซีทีวี ที่เป็น Full HD ของซัมซุงรุ่นอื่นๆในขนาดเดียวกัน 40% โดยมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดีที่สุดในบรรดาแอลซีดทีวีของซัมซุง เช่นการเชื่อมต่อผ่าน USB port การใช้ชิป DNIe Pro ฯลฯ พร้อมกับตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างยอดขายพรีเมียม แอลซีดีทีวี ซัมซุง อาร์มานี ได้ 120 เครื่อง หรือคิดเป็นมูลค่า 30 ล้านบาท ภายในปีนี้ ทั้งนี้ ซัมซุง อาร์มานี จะเป็นงาน Made to Order ซึ่งผู้บริโภคที่สนใจต้องสั่งจองที่ โชว์รูมของ อาร์มานี คาซ่า และที่ซัมซุง เอ็กซ์เพียแรนซ์ ในสยามพารากอน ซึ่งจะมีการผลิตที่เกาหลีและนำส่งเข้ามภายใน 5-6 สัปดาห์ โดยมีโลโก้ ซัมซุง คู่กับ โลโก้ของ อาร์มานี ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกโชว์แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งหรือทั้ง 2 แบรนด์พร้อมกันก็ได้ นอกจากนี้ยังมีการทำรีโมตสำรองรูปหินทะเล สามารถวางใต้ฐานทีวีเพื่อให้ดูเป็นเสมือนของตกแต่งชิ้นหนึ่ง ขณะที่ตัวแอลซีดีทีวีก็จะเป็นเสมือนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งภายในบ้าน
“ปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพควบคู่กับสไตล์ของสินค้ามากขึ้น ดังนั้นการร่วมมือกับอาร์มานี จึงเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น” สุพจน์ ลีลานุรักษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ธุรกิจภาพและเสียง บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าว
ทั้งนี้ปัจจัยในการเลือกซื้อสินค้าลักชูรีของผู้บริโภคจะคำนึงถึงเรื่อง Emotional Benefit หรือคุณค่าทางอารมณ์ความรู้สึก ด้วยสัดส่วนกว่า 45% ตามมาด้วย Functional Benefit หรือ อรรถประโยชน์ของตัวสินค้า คิดเป็นสัดส่วน 32% ส่วน 23% ที่เหลือเป็นเรื่องของ User Friendly หรือความเป็นมิตรต่อผู้ใช้ เช่น ใช้งานง่าย สะดวก ปลอดภัย ซัมซุงจึงให้ความสำคัญกับการทำ Emotional Marketing มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องของการดีไซน์ การสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ ซึ่งการโคแบรนด์กับอาร์มานีจะช่วยให้เกิดการ Short Cut ได้อย่างรวดเร็ว
ก่อนที่ซัมซุงจะโคแบรนด์ร่วมกับ จิออร์จิโอ อาร์มานี ซัมซุงได้พัฒนาดีไซน์แอลซีดีทีวีตั้งแต่ บอร์โดซ์ มาเป็น บอร์โดซ์ พลัส และ คริสตัล ดีไซน์ ซึ่งถือเป็นกุญแจความสำเร็จตัวหนึ่งที่ทำให้ซัมซุงสามารถสร้างส่วนแบ่งการตลาดแซงหน้าโซนี่ โดย แอลซีดีทีวี จิออร์จิโอ อาร์มานี ซัมซุง จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมูลค่าให้กับซัมซุงมากขึ้น
อย่างไรก็ดีนอกจากซัมซุงจะรุกตลาดพรีเมียมแอลซีดีทีวีแล้ว ปีนี้ซัมซุงยังให้ความสำคัญกับการรุกตลาดในทุกเซกเมนต์โดยหวังว่าจะสามารถยกระดับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มให้สูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดซีอาร์ที ทีวี ที่ปัจจุบันมีปริมาณความต้องการในตลาด 2 ล้านเครื่อง โดย 35% ของตลาดเป็น สลิม ทีวี ซึ่งซัมซุงเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งกว่า 60%
โซนี่ โหม Full HD TV
ในขณะที่ซัมซุงพยายามเจาะตลาดพรีเมียม แบรนด์อื่นๆต่างก็พยายามสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแอลซีดีทีวีของตน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสร้างมูลค่าได้มากกว่ากัน เช่น ค่ายโซนี่ที่เน้นตลาดพรีเมียมเป็นหลักก็พยายามยกระดับความต้องการของลูกค้าเก่า ควบคู่ไปกับการขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยมีการทำแคมเปญ Big Match…Big Screen…Big Fun ซึ่งเป็นแคมเปญที่โซนี่ลอนช์ในช่วงมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลยูโร และโอลิมปิค 2008 เพื่อเป็นการกระตุ้นฐานลูกค้าเก่าของโซนี่ให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีขึ้น โดยลูกค้าสามารถนำซีอาร์ที ทีวี ของโซนี่ 29 นิ้ว มาแลกซื้อแอลซีดีทีวีบราเวียเครื่องใหม่ โดยจะได้รับส่วนลดสูงสุด 10,000 บาท พร้อมขยายระยะเวลารับประกันนานถึง 20 เดือนสำหรับแอลซีดีทีวีบราเวียรุ่น 40 นิ้วขึ้นไป
นอกจากนี้โซนี่ยังขยายฐานลูกค้ารุ่นใหม่ด้วยการลอนช์แอลซีดีทีวี รุ่น KLV-20S400A ขนาด 20 นิ้ว ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมเพื่อเจาะตลาดผู้บริโภครุ่นใหม่ที่อาศัยในคอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์ รวมถึงเป็นแอลซีดีทีวีเครื่องที่ 2 ในห้องนอน โดยมีสีต่างๆให้เลือกถึง 5 สี คือ ดำ ชมพู ส้ม เขียว ฟ้า พร้อมกับจับคู่กับเครื่องเล่นดีวีดี รุ่น DVP-PR50 ซึ่งมี 5 สีคู่กับแอลซีดีทีวีของโซนี่ได้ ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคผู้หญิงที่เข้าถึงสีสันและดีไซน์ของสินค้าได้ง่ายกว่าเรื่องเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีราคาไม่สูงมากนักโดยจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท ทำให้สามารถเจาะตลาดคนเริ่มทำงานได้ไม่ยาก
ขณะที่ตลาดผู้ใหญ่หรือสาวกรุ่นเก่าที่มีกำลังซื้อสูงก็จะใช้แอลซีดีทีวีบราเวียรุ่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไป รวมถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่เหล่านี้เมื่อมีฐานะการงานการเงินที่มั่นคงก็อาจจะมีการเปลี่ยนไปใช้แอลซีดีทีวีบราเวียรุ่นจอใหญ่ต่อไป ซึ่งในปีนี้โซนี่ได้ปรับมาตรฐานแอลซีดีทีวีบราเวียขนาด 40 นิ้วขึ้นไปทุกรุ่นจะให้สัญญาณภาพในระดับ Full HD จากเดิมที่มีสัญญาณภาพระดับ HD Ready ร่วมด้วย โดย แอลซีดีทีวีระดับ Full HD จะมีราคาโดยเฉลี่ยสูงกว่า แอลซีดีที่เป็น HD Ready ประมาณ 50% ดังนั้นการเปลี่ยนมาเป็น Full HD จึงช่วยสร้างมูลค่าให้กับยอดขายของโซนี่
อีกทั้งยังเป็นตัวเร่งให้กลยุทธ์ HD World ของโซนี่ประสบความสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น เพราะกลยุทธ์ดังกล่าวมีการลอนช์มาประมาณ 2 ปีแล้ว ทว่ายังไม่แพร่หลายเพราะนอกจากจะมีราคาแพงแล้ว โซนี่ยังเปิดช่องว่างให้ผู้บริโภคเลือกรุ่นที่ต่ำกว่า สำหรับในปีนี้ โซนี่จะเร่งสร้างตลาดเครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์ โดยอาศัยความเป็น Sony United ที่มีบริษัทในเครือ อย่างโซนี่ พิคเจอร์ และโซนี่ บีเอ็มจี ในการผลิตแผ่นภาพยนตร์และแผ่นเพลงในรูปแบบของแผ่นบลูเรย์ออกมาตอบสนองตลาด Full HD
“หัวใจสำคัญ 4 ประการในการดำเนินธุรกิจของเราในปีนี้คือเรื่องของนวัตกรรม การเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ การบริการลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจ และการมีส่วนร่วมในการดูแลสังคม” ไทสุก นากานิชิ กรรมการผู้จัดการ โซนี่ ไทย กล่าว
แอลจีงัดดีไซน์สร้างมูลค่า
ส่วนแอลจีก็มีการเปิดศึกเขย่าบัลลังก์แอลซีดีทีวีของซัมซุง ด้วยการ ลอนช์ สการ์เล็ต แอลซีดี ทีวี ซึ่งเน้นเรื่องดีไซน์ โดยวางตำแหน่งให้เป็นแอลซีดีระดับพรีเมียม มีราคาสูงกว่าแอลซีดีรุ่นปรกติเกือบ 1 หมื่นบาท โดยในช่วงแรกมีการลอนช์ 4 รุ่น คือ รุ่น 32 นิ้วมีราคาอยู่ที่ 29,990 บาท รุ่น 37 นิ้วมีราคา 39,990 บาท ส่วนอีก 2 รุ่นรองรับสัญญาณระดับฟูลเอชดีคือ 42 นิ้ว ราคา 74,990 บาท และ รุ่น 47 นิ้ว ราคา 99,990 บาท แม้จะเป็นโปรดักส์ไฮเอนด์ แต่ก็ถือว่าแอลจียังมีราคาถูกกว่าพรีเมียมแอลซีดีทีวีของซัมซุง ค่อนข้างมาก
“เดิมทีเราใช้เรื่องเทคโนโลยีเป็นตัวสื่อสารไปถึงผู้บริโภค แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยแรกในการเลือกซื้อของผู้บริโภค หากแต่จะต้องมีดีไซน์ที่สวยงามควบคู่ไปกับเทคโนโลยีที่ดีด้วย การใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้ยอดขายดีขึ้น ดังนั้นเราจึงเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ในการสื่อสาร มีการลิ้งก์ความเป็นผู้หญิง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสวยงาม เป็นเรื่องของอีโมชันนอลมาร์เกตติ้งที่จะทำให้สินค้าของแอลจีเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น” ฉันท์ชาย พันธุฟัก ผู้จัดการอาวุโสการตลาดผลิตภัณฑ์หมวดจอภาพและเสียง แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าว
ทั้งนี้หลังจากแอลจีเปลี่ยนแปลงนโยบายในการทำการตลาดด้วยการยกระดับภาพลักษณ์แบรนด์จากสินค้าราคาถูกเปลี่ยนมาเป็นแบรนด์ระดับพรีเมียม แอลจีก็เริ่มหันมาใช้ Emotional Marketing มากขึ้นด้วยการใส่ดีไซน์ให้กับสินค้าในกลุ่มแอลซีดี โดยในการใช้ Emotional Marketing ของแอลจี ได้มีการแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มมินิมอล ซึ่งเน้นสินค้าราคาถูก กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มแวลูแมกซิไมเซอร์ เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มสไตลิสต์ ซึ่งให้ความสำคัญกับแบรนด์สินค้าที่เลือกซื้อ และกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มพรีเมียมซีกเกอร์ ที่เน้นเทคโนโลยีล้ำสมัย โดยทั้ง 4 กลุ่มมีสัดส่วนในตลาด 10%, 40%, 25% และ 25% ตามลำดับ ซึ่งแอลจีจะให้ความสำคัญกับผู้บริโภค 2 กลุ่มหลัง ซึ่งนอกจากจะมีสัดส่วนรวมกันเท่ากับครึ่งหนึ่งของตลาดแล้ว ยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและมีรสนิยมในการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ จึงไม่ไหวเอนไปกับสงครามราคา อีกทั้งยังสอดคล้องกับแบรนด์โพสิชันที่มุ่งไปสู่ Stylish Design & Smart Technology
ขณะเดียวกันก็ยังมีสินค้าที่ตอบสนองความต้องการกลุ่มแวลูแมกซิไมเซอร์ด้วย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงที่สุด อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะทำให้ฐานลูกค้าเหล่านี้ยกระดับวิถีชีวิตตัวเองให้สูงขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น อย่างไรก็ดีกลุ่มพรีเมียมซีกเกอร์ยังรวมเอากลุ่ม Early Adapter เข้าไว้ด้วย ซึ่งมีไม่ถึง 5% ของผู้บริโภคทั้งหมด เป็นกลุ่มที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี พร้อมที่จะรับนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น สินค้าประเภททีวีในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีจึงซื้อเครื่องใหม่ แต่กลุ่ม Early Adapter อาจจะเปลี่ยนทีวีเร็วกว่า 5 ปี
โตชิบา แอลซีดีประหยัดไฟ
ในขณะที่โตชิบาดำเนินกลยุทธ์การตลาดแอลซีดีทีวีด้วยจุดแข็งขององค์กรในการเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับเรื่องของการประหยัดพลังงาน ทั้งนี้แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าแอลซีดีทีวีประหยัดพลังงานมากกว่าพลาสม่าทีวี แต่ด้วยกำลังไฟที่สูงประมาณ 200-300 กว่าวัตต์ ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับซีอาร์ทีทีวีที่กินไฟอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 100 วัตต์ ดังนั้นโตชิบาจึงลอนช์แอลซีดีทีวี REGZA AV 500 โดยทำการตลาดภายใต้นโยบาย 5 Green คือ Green Product, Green Company, Green Purchasing, Green Service และ Green Society ทั้งนี้ REGZA AV 500 จะประหยัดพลังงานลงอีก25% โดยรุ่นขนาด 32 นิ้ว มีราคา 22,900 บาท กินไฟ 137 วัตต์ จากเดิมที่ใช้กำลังไฟ 185 วัตต์ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสินค้าให้มีขนาดเบาลง 56% โดยน้ำหนักเดิม 33 กิโลกรัม ลดเหลือ 14.3 กิโลกรัม ทำให้สามารถตั้งแขวนผนังได้สะดวกขึ้น สำหรับรุ่น 37 นิ้ว ราคา 34,900 บาท กินไฟ 170 วัตต์ และรุ่น 42 นิ้ว ราคา 42,900 บาท กินไฟ 208 วัตต์ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าคู่แข่งในท้องตลาด
ทั้งนี้เนื่องจากราคาแอลซีดีทีวีในตลาดรวมลดลงไป 25% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้โตชิบาต้องปรับราคาลงมา นอกจากนี้การที่โตชิบามีโรงงานประกอบแอลซีดีทีวีในประเทศไทย ส่งผลให้สามารถทำราคาแข่งขันกับตลาดได้ ซึ่งราคาที่ลงมาใกล้ซีอาร์ทีทีวีมากเท่าไรก็จะมีส่วนสำคัญในการสวิตช์ผู้บริโภคให้หันมาใช้แอลซีดีทีวีมากขึ้น
อย่างไรก็ดี หากยังคงทำตลาดแอลซีดีทีวีระดับแมสก็จะมีมาร์จิ้นที่ต่ำลง ดังนั้นโตชิบาจึงเพิ่มน้ำหนักแอลซีดีทีวีที่ให้ความละเอียดระดับ Full HD มากขึ้น โดยแอลซีดีทีวี 42 นิ้ว ฟูลเอชดีของโตชิบาอยู่ที่ 55,900 บาท ซึ่งแพงกว่ารุ่นธรรมดา 10,000 บาท ขณะที่ในอดีตแอลซีดีทีวีฟูลเอชดีจะมีราคาสูงกว่าแอลซีดีทีวีทั่วไปเกือบเท่าตัว นอกจากนี้โตชิบายังมีการทำโปรโมชั่นเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคด้วยการซื้อแอลซีดีทีวีจอใหญ่โดยผู้บริโภคที่ซื้อแอลซีดีทีวีขนาด 46 นิ้วราคา 84,900 จะได้รับแอลซีดีทีวี 32 นิ้วฟรี ส่วนแอลซีดีทีวี 52 นิ้ว ฟูลเอชดี 100 เฮิรต์ซ ราคา 199,000 บาท จะได้รับแอลซีดีทีวี 37 นิ้วฟรี
ขณะเดียวกันโตชิบากำลังพิจารณาการผลิตแอลซีดีทีวีขนาดเล็กกว่า 32 นิ้ว เช่นขนาด 20, 22 และ 26 นิ้ว เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถลอนช์เข้าสู่ตลาดเมืองไทยได้ในปีหน้า เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้แอลซีดีทีวีในแต่ละครัวเรือนให้สูงขึ้น โดยโตชิบามองว่าแอลซีดีทีวีเครื่องแรกของบ้านคือไซส์ใหญ่ ส่วนแอลซีดีในห้องนอนก็จะมีขนาดที่เล็กลงเพื่อให้พอเหมาะกับขนาดของห้อง
“Key Driven ของตลาดแอลซีดีทีวีอยู่ที่เรื่องของราคา ในอดีตผู้บริโภคต่างจังหวัดเปลี่ยนทีวีจาก 14 นิ้วมาใช้ 21 นิ้วไม่ใช่เพราะเขารวยขึ้น แต่ราคาของทีวี 21 นิ้วลดลงมาใกล้เคียงกับ 14 นิ้ว คนก็หันไปเลือกจอที่ใหญ่กว่า” ฮิเดโนริ มัตสุอิ ประธาน โตชิบาไทยแลนด์ กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวทางหลักในการสร้างมูลค่าให้กับผู้ผลิตแอลซีดีทีวีคือการเจาะตลาดพรีเมียม ทว่าการยกระดับความต้องการของผู้บริโภคก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างมูลค่า จาก ซีอาร์ที ทีวี ขาวดำ มาสู่จอสี จากทีวีจอโค้ง มาสู่ จอแบน จากทีวีจอแบน มาสู่สลิมทีวี และจากสลิม ทีวี ยกระดับขึ้นมาสู่ แฟลต พาแนล ทีวี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแต่ละแบรนด์ที่พยายามรุกตลาดพรีเมียม ต่างยังคงทีวีรุ่นธรรมดาเพื่อรักษาฐานลูกค้าระดับแมสเอาไว้ ก่อนจะยกระดับฐานลูกค้าดังกล่าวให้ขยับเข้าใกล้ความเป็นพรีเมียมให้มากที่สุด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|