แบงก์ชาติปฎิวัติเงียบสกัดการเมืองเปลี่ยนวิธีคุมเงินเฟ้อคานอำนาจ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติเดินเกมลดทอนอำนาจนักการเมืองที่เข้ามากุมอำนาจ เริ่มตั้งแต่ออกประกาศคุมนักการเงินหวังสะท้อนคนจากภาคการเมืองสำนึก รวมถึงการเปลี่ยนวิธีคุมเงินเฟ้อที่ทันการณ์มากขึ้น อีกทั้งบอร์ด กนง.ใหม่ที่ยังตั้งไม่ได้อาจใช้ชุดเก่าทำหน้าที่แทน

หลังจากพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ โครงสร้างการทำงานของแบงก์ชาติที่ต้องมีคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย 12 ท่าน โดยให้สิทธิกระทรวงการคลังในการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่ง ซึ่งในฝ่ายของแบงก์ชาติมีเสียงอยู่ในบอร์ดชุดดังกล่าวเพียง 5 คน ที่เหลือเป็นฝ่ายของกระทรวงการคลัง

บอร์ดชุดนี้ในฝ่ายของกระทรวงการคลังที่เสนอชื่อมานั้น จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมเนื่องจากบางคนมีคดีความอยู่ทั้งคดีหวยบนดินและคดีซีทีเอ็กซ์ แต่สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกมายืนยันถึงคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าว

ทั้งนี้เมื่อ 27 สิงหาคม 2551 คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ซึ่งเป็นกรรมการชุดเดิมที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายเป็น 3.75% โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินชุดดังกล่าวหมดวาระลงเมื่อ 30 สิงหาคม 2551 และต้องรอนโยบายบอร์ดชุดใหญ่ของธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่เพื่อทำหน้าที่ในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 8 ตุลาคม 2551

อย่างไรก็ตามชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กล่าวถึงปัญหาสำหรับการดำเนินงานครั้งต่อไปของคณะกรรมการนโยบายการเงินว่า เนื่องจากประธานคณะกรรมการที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อคือพรชัย นุชสุวรรณ ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำให้ยังไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงินชุดใหม่ได้ ดังนั้นจึงต้องส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หารือในเรื่องคณะกรรมการนโยบายการเงินว่าจะดำเนินการอย่างไร

โดยกรรมการนโยบายการเงินภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะมีกรรมการทั้งหมด 7 คนเหมือนเดิม โดยมีผู้ว่าการเป็นประธาน เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมติที่ กนง. กำหนด และเพื่อให้มีการเชื่อมโยงกับคณะกรรมการด้านนโยบายอื่นๆ ของ ธปท. นอกจากนั้นมีรองผู้ว่าการอีก 2 คนและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 4 คนเป็นกรรมการใน กนง. เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจผู้ว่าการตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

เปลี่ยนเพื่อสกัด

แหล่งข่าวจากวงการเงินกล่าวว่า ช่วงที่ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาในทางปฏิบัติ แน่นอนว่าแบงก์ชาติต้องหาทางออกในปัญหาเฉพาะหน้านี้ก่อน แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าหลังจากที่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว แล้วทราบชื่อคณะกรรมการคัดเลือกจากกระทรวงการคลัง รวมถึงชื่อบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกมานั้น ใช่ว่าแบงก์ชาติจะปล่อยให้ภาคการเมืองทำงานได้สะดวกตามความต้องการเพียงฝ่ายเดียว

เพราะแบงก์ชาติได้ตอบโต้ภาครัฐอย่างละมุนละม่อม เห็นได้จากการออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส.60/2551 เรื่องธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน ออกมาเมื่อ 3 สิงหาคม 2551 ทันทีโครงสร้างใหม่ในแบงก์ชาติเริ่มใช้ เพื่อบังคับใช้ต่อสถาบันการเงินในประเทศ โดยให้เหตุผลในการออกประกาศดังกล่าวว่า ผู้นำที่มีคุณธรรม จริยธรรม ความรอบคอบในกรบริหารงานและความสามารถในการดูแลและบริหารกิจการ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลในองค์กร

ในประกาศฉบับดังกล่าวได้เน้นที่คุณสมบัติของกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการหรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน ซึ่งผู้บริหารในสถาบันการเงินเหล่านี้มีข้อห้ามที่เข้มงวดมากกว่าเดิมเช่น เพียงแค่เคยถูกธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือหน่วยงานของรัฐทั้งในและต่างประเทศกล่าวโทษ ร้องทุก ก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้แล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงกรณีที่กำลังถูกดำเนินคดี รวมถึงมีประวัติเสียหายหรือมีพฤติกรรมที่แสดงถึงการทำงานอันส่อไปในทางไม่สุจริต

ประกาศฉบับนี้แม้จะใช้กับผู้บริหารของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลอยู่ แต่ถ้ามองให้ดีจะพบว่าเมื่อบังคับใช้กับสถาบันการเงินย่อมต้องสะท้อนกลับไปยังผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในบอร์ดแบงก์ชาติด้วย เพราะแบงก์ชาติมีหน้าที่ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินหากคนในบอร์ดแบงก์ชาติมีข้อครหาเหล่านี้ก็ไม่ควรเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลผู้บริหารในสถาบันการเงินอื่น

คุมเงินเฟ้อสูตรใหม่

การปรับตัวของธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากพ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้ได้มีการเปลี่ยนแนวทางในการจัดการดูแลเงินเฟ้อจากเดิมที่ยึดเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นหลักในการพิจารณา แต่ได้เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อทั่วไปแล้ว โดยให้เหตุผลว่าระยะที่ผ่านมาเงินเฟ้อทั้ง 2 ตัวนี้ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การปรับจากเงินเฟ้อพื้นฐานมาใช้เงินเฟ้อทั่วไปนั้นจะทำให้แบงก์ชาติตัดสินใจใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อได้รวดเร็วกว่า เห็นได้จากที่ผ่านมาแบงก์ชาติกว่าจะตัดสินใจใช้ดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อนั้นค่อนข้างช้า” แหล่งข่าวกล่าว

อีกทั้งเงินเฟ้อทั่วไปจะเคลื่อนไหวค่อนข้างเร็วกว่าเงินเฟ้อพื้นฐาน หากเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วแบงก์ชาติก็จะตัดสินใจใช้นโยบายดอกเบี้ยได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน กรณีนี้ในอีกมุมมองหนึ่งก็ถือว่าเป็นการคานอำนาจของรัฐบาลได้เช่นกัน โดยเฉพาะแนวคิดที่ต้องการใช้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ปัญหาคือจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนไว้ก่อน รวมถึงต้องรอดูคณะกรรมการนโยบายการเงินชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ด้วย แม้จะมีคนของแบงก์ชาติ 3 คน แต่ที่เหลืออีก 4 คนจะเป็นคนที่ได้มาจากการเลือกของบอร์ดแบงก์ชาติชุดใหม่ ตรงนี้คงต้องรอดูว่าการทำงานร่วมกันจะเป็นอย่างไร

การปรับตัวของธนาคารแห่งประเทศไทยนับตั้งแต่มีการใช้พ.ร.บ.ฉบับใหม่ แม้ภาพภายนอกจะดูเหมือนเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ แต่ในอีกมิติหนึ่งนี่คือการใช้อำนาจของแบงก์ชาติที่มีอยู่ก่อนที่จะได้บอร์ดชุดใหม่ เตรียมความพร้อมเพื่อการทำงานของแบงก์ชาติมีความเป็นอิสระมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แตกต่างกับอีก 2 หน่วยงานอย่างสำนักงาน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ใช้พ.ร.บ.ฉบับใหม่เช่นกัน แต่ 2 หน่วยงานนี้กลับเดินตามที่ภาคการเมืองกำหนดโดยมิได้โต้แย้ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.