|

"กรุงเทพประกันภัย" เล็งลดเบี้ย "รถใหญ่"ปรับขึ้นเบี้ย "โตโยต้า-ฮอนด้า" ลดขาดทุน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
"กรุงเทพประกันภัย" เทน้ำหนักไปที่ประกันภัยรถยนต์เครื่องยนต์ตั้งแต่ 2000 ซีซีมีโอกาสขยับราคาเบี้ยลงมาอีก หลังไล่พอร์ตรถเล็ก รถตลาด โดยการขึ้นเบี้ยโตโยต้า และฮอนด้าในบางรุ่นที่มี สถิติความเสี่ยงสูง รถยนต์เครื่องต่ำกว่า 1800ซีซี ตั้งแต่ปลายปี 2550 จนเริ่มทำกำไรในครึ่งปีหลัง...
สนามแข่งขันประกันภัยรถยนต์ กลายเป็นสมรภูมิปราบเซียนสำหรับ ธุรกิจประกันวินาศภัยจนขึ้นชื่อลือชา เมื่อรายใดก็ตามกระโดดเข้ามาต้องประสบปัญหาตัดราคาเบี้ย จนทุกวันนี้บางบริษัทต้องถูกลบชื่อออกไปจากทำเนียบแบบไม่มีรู้ชะตากรรม
ปรากฏการณ์ต่อมาก็คือ แทบทุกบริษัท ต้องหันมาปรับขึ้นราคาเบี้ยรถในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง โดยวัดจากอายุคนขับ รุ่นและยี่ห้อ รวมถึงขนาดรถ ที่มีอัตราการเคลมสินไหมบ่อยครั้ง และประสบอุบัติเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนจับสถิติได้ว่า เป็นโซนอันตราย
"รถบางรุ่น มีมาร์จิ้นอยู่ และอาจทำราคาดีขึ้นได้ โดยเฉพาะรถเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ เราจึงมองว่า รถขนาดเครื่องยนต์ 2000 ซีซีขึ้นไป จะถือโอกาสปรับราคาเบี้ยลง"
ชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย หรือ BKI ยอมรับว่า ผลประกอบการครึ่งปีแรก กำไรจากการรับประกันภัยเพิ่มขึ้นถึง 365% คิดเป็น 272 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เบี้ยประกันภัยรถยนต์ลดลงถึง 11% โดยลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2550 เป็นต้นมา
จุดนี้เอง ที่ทำให้ผลประกอบการเริ่มทำกำไร เพราะการลดปริมาณเบี้ย โดยการปรับเพิ่มราคาเบี้ยในรถบางกลุ่ม บางรุ่น โดยเฉพาะรถเล็ก คือเหตุผลหลักที่ทำให้ กรุงเทพประกันภัยต้องยอมถอนตัวออกจากการสร้างพอร์ต ด้วยการหันไปรับประกันภัยรถยนต์ในกลุ่มที่ต่างไปจากตลาดทั่วไป
" เราต้องหันมาหายี่ห้ออื่นๆบ้าง เพราะรับรถที่แข่งขันในตลาดในอัตราเบี้ยที่คิดกันทำได้ลำบาก ดังนั้นเบี้ยที่เรารับเข้ามาก็จะยังน้อยลงต่อไป แต่จะรับงานน้อยลงและเลือกหางานจากเบี้ยที่คุ้มค่า ไม่รับที่ทำให้ขาดทุน"
กรุงเทพประกันภัย มองเป้าหมายสิ้นปีนี้ว่า จะหันมาจับตลาดรถใหม่ป้ายแดงที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8.8% ขณะที่รถบางรุ่นของโตโยต้าและฮอนด้า ได้ปรับราคาเบี้ย จนกลายเป็นว่า ราคาเบี้ยรถยนต์ฮอนด้า มีราคาสูงสุด รองลงมาคือรถยนต์โตโยต้า ที่เบี้ยอยู่ในเรทที่ราคาค่อนข้างสูง
" ที่เราไม่รับ หรือรับลดลง โดยการปรับขึ้นเบี้ย ก็เพราะคิดว่าอัตราที่รับประกันภัยไม่คุ้มกับผลประกอบการขาดทุน"
ชัย บอกว่า ต้องหันไปหารถยี่ห้ออื่นแทน ในราคาเบี้ยที่คุ้มกับผลกำไร ทั้งที่มองว่าทำกำไรได้ยากก็ตาม
อย่างไรก็ตาม สำหรับกำไรจากรับประกันภัยรถยนต์ปีนี้สรุปได้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภายหลังการปรับเพิ่มราคาเบี้ย อัตราความเสียหายก็ลดลง แม้เบี้ยที่รับมาอาจจะเท่าเดิม แต่ความเสียหายก็น้อยลง
นอกจากนั้น การที่ราคาน้ำมันปรับขึ้น ก็ทำให้คนใช้รถน้อยลง ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อัตราเคลมสินไหมลดลงด้วย
" ตั้งแต่ปรับขึ้นราคา 10-15% โดยเฉลี่ย ก็ทำให้เราพออยู่ได้ เพราะราคากับค่าใช้จ่ายเหมาะสมกันดี"
ทั้งนี้ ยังมองว่า ค่ายใหม่ โดยเฉพาะที่มีผู้ถือหุ้นต่างประเทศ ต้องการสร้างพอร์ตใหม่ ต้องการดึงลูกค้าใหม่ๆ ก็อาจเล่นตัดราคาได้ แต่ก็จำเป็นต้องขยายเครือข่ายเพื่อพร้อมให้บริการกับลูกค้าด้วย
ชัย บอกว่า นับจากปี 2549-2550 การเพิ่มเบี้ยรถเล็กขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1800 ซีซี ทำให้มีผลกระทบกับการรับงานใหม่ๆก็จริง เพราะการเพิ่มอัตราเบี้ยทำให้งานใหม่เข้ามาน้อยลง แต่ค่าสินไหมก็น้อยลงด้วย
ทั้งนี้ หลังจากปี 2551 เป็นต้นมา งานใหม่หรือรถต่ออายุ จะมีการเพิ่มเบี้ย ทำให้ครึ่งปีแรกสามารถทำกำไรได้ นอกจากนั้นประกันภัยประเภทต่างๆในช่วงครึ่งปีแรกก็ทำกำไรดีกว่าปีที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเป็น ประกันอัคคีภัยที่มีเบี้ยรับ 672 ล้านบาท ลดลง 1% จากปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟไหม้กับลูกค้าหลายราย และก็มีบางรายที่ย้ายไปทำประกันภัยกับบริษัทอื่น กำไรจากการรับประกันภัยจึงดีขึ้น
ขณะที่ประกันภัยทางทะเล มีเบี้ยรับเพิ่มขึ้น 225 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% ประกันภัยเบ็ดเตล็ดมีเบี้ยรับ 1,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% รวมเป็นกำไรจากการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น 272 ล้านบาท คิดเป็น 365% กำไรจากการลงทุนลดลงมาที่ 468 ล้านบาท หรือ 4% เพราะผลจากตลาดหุ้นที่ค่อนข้างซบเซา
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|