|
ซับไพร์มครั้งต่อไปตัวชี้ขาดลุ้นเงินไหลกลับไทย-บาทไม่อ่อนต่อ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
3เกจิชี้ ซับไพร์มในสหรัฐปมปัญหาใหญ่ ส่งผลไทยโดนหางเลขทำบาทอ่อน แต่แนวโน้มระยะยาวอาจอ่อนต่อไปได้อีกไม่มาก ส่วนอัตราดอกเบี้ยต่อจากนี้มีสิทธิ์ขึ้น ได้แต่คงไปได้ไม่ไกล
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ รมว.คลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุในงานสัมมนาของ บลจ. ทหารไทย ในหัวข้อเรื่อง "ทิศทางดอกเบี้ย และค่าเงินบาท" ว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯในระยะสั้น ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในสหรัฐฯที่ต้องรอลุ้นว่า ปัญหาซับไพร์มจะส่งผลต่อสถาบันการเงินเป็นระลอกที่ 3 หรือไม่
หากพ้นเดือนนี้แล้วไม่มีสถาบันการเงินล้มอีก เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่โยกกลับไปสหรัฐฯเพื่อแก้ไขวิกฤติ ซับไพรม์ ก็น่าจะไหลกลับมาลงทุนในไทยได้ โดยเฉพาะในตลาดหุ้น แต่หากยัง มีสถาบันการเงินล้มต่อ เงินที่เตรียมไหลเข้าเอเชียก็จะหยุดทันที อย่างไรก็ตามสกุล เงินดอลลาร์ไม่อยู่ในสถานะแข็งแรงนัก ดังนั้นเงินบาทในระยะยาวจึงไม่น่าอ่อนค่าลงนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์
"ถ้าซับไพร์มรอบ 3 เกิดอีกในเดือนนี้ สหรัฐจะมีปัญหาอีกรอบ เงินส่วนใหญ่ที่เตรียมไว้สำหรับการลงทุนในเอเชียก็จะหยุด เพราะต้องเอาไปดูแลสถาบันการเงินของตัวเอง ดังนั้นต่างชาติก็ไม่มาตลาดหุ้นไทย ขณะที่เงินลงทุนของต่างชาติทุกวันนี้ 40% ของมาร์เก็ตแคป และเป็นเงินที่ Active ส่วนอีก 60% เป็นเงินของนักลงทุนไทยไม่ค่อยActive เท่าไร ดังนั้นหากผ่านเดือนกันยายนไปได้ ตลาดหุ้นไทยก็เฮได้ เพราะจะมีเงินไหลเข้ามา ส่วนตอนนี้ที่ยังไม่เข้ามาเพราะเขาไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก"
สำหรับจีดีพีของไทยไตรมาสที่ 2 ที่โต 5.3% ลดลง 0.8% จากไตรมาสแรกที่โต 6.1% นั้น เป็นตัวเลขที่ลดลงไม่มาก หากเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียที่ส่วนใหญ่ปรับลงราว 2% ทั้งนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 5.3% เป็นผลจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ติดลบ 1.3% ขณะที่ภาคเอกชนมีการใช้จ่ายสูงกว่า 2% โดยปัจจัยหลักเชื่อว่าการเติบโตของภาคเอกชนมาจากการที่ประชาชนในภาคเกษตรกรรม ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ได้รับผลดี จากราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะ ข้าว ยาง มันสำปะหลัง อ้อย และ ปาล์ม ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก และเชื่อว่า ราคาสินค้าเกษตร น่าจะทรงตัวในระดับสูง ในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า และการใช้จ่ายของภาคเกษตรกร จะเป็นตัวนำเศรษฐกิจไทย
ส่วนภาคการส่งออก มองว่าประเทศไทยยังพึ่งพาการส่งออกในระดับสูง ดังนั้น ค่าเงินบาทอ่อนค่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของประเทศ โดยปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกไปในประเทศแถบเอเชียสูงถึง 40% และในอนาคตมีแนวโน้มสูงถึง 50-60% เนื่องจากอุตสาหกรรมหลัก ยังคงอยู่ในจีน อาเซียนและ ญี่ปุ่น และมีอัตราการเติบโตสูงกว่าในอเมริกาและยุโรป
ส่วน ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า ความไม่แน่นอนในตลาดโลกยังมีอยู่ หลายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียยังเติบโตได้ดีอยู่ แต่ในสหรัฐฯมีธุรกิจอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดี จากจุดนี้ทำให้โลกจะต้องหาจุดสมดุลต่อไป ขณะที่ปัญหาซับไพร์มเองยังไม่จบ โดยมีการประเมินว่าน่าจะมีความเสียหายจากปัญหาดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบันเพิ่งแก้ไขปัญหาไปได้เพียง 50% ส่วนอีก 50% ที่เหลือยังต้องติดตามกันต่อไป
"การลงทุนช่วงนี้ต้องมองระยะยาว 3-5 ปี อย่าไปรีบร้อน เพราะตลาดหุ้นมีสิทธิที่จะปรับตัวลดลงได้อีก เนื่องจากปัญหาการเมืองก็ยังไม่ถึงจุดสุดท้าย แต่ถ้าเป็นการลงทุนระยะยาวแล้วเกิน 2-3 ปีขึ้นไปผลตอบแทนที่ได้ยังไงก็สูงกว่าเงินฝากอยู่แล้ว"
สำหรับการลงทุนในระยะสั้น ช่วงนี้คงเป็นเรื่องที่ประเมินได้ยาก เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่นิ่งพอ ทำให้คาดเดาได้ว่าผลตอบแทนที่ได้จะดีหรือไม่ บวกกับปัญหาเรื่องเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยยังต่ำกว่าเงินเฟ้อ
ดังนั้นการหาการลงทุนระยะยาว และให้ผลตอบแทนที่แน่นอน เช่นพันธบัตรรัฐบาล ก็จะเป็นทางเลือกที่เสี่ยงน้อยกว่า
ส่วนการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่ความไม่แน่นอนในปัจจุบัน แต่ก็เชื่อว่าในระยะยาวปัญหาก็จะหมดไป ด้วยปัจจัยพื้นฐานยังดีอยู่ ส่วนการลงทุนในทองคำ ราคาก็จะเป็นไปตามราคาพลังงาน ดังนั้นก็พิจารณาดูว่าราคาพลังงานจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นอีกหรือไม่
ด้าน คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคด้วยกันถือว่ามีเสถียรภาพ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่า 2.9% , สิงคโปร์ 4.3% , มาเลเซีย 4.9% , อินเดีย 4.8% ขณะที่ค่าเงินในยุโรปตะวันออกนั้น ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาอ่อนค่าไปแล้วกว่า 10% และยุโรปอ่อนค่าไป 6.6% ทั้งนี้การอ่อนค่าลงของเงินทั่วโลกนี้เป็นผลจากค่าเงินสหรัฐที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงหลังจากเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 2 ที่ปรับตัวดีขึ้น
ในระยะสั้น อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของสหรัฐ เพราะปัญหาซับไพร์มอาจมีปัญหาสลับซับซ้อนมากกว่าที่เห็นอยู่นี้ และอาจจะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าอัตราค่าเงินบาทของไทยถือว่ามีเสถียรภาพดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนั้น มองว่าการแก้ปัญหาของสหรัฐโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยคงมีโอกาสเป็นไปได้น้อย ดังนั้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยของตลาดโลกไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น โอกาสที่ดอกเบี้ยของไทยก็ยังไม่เพิ่มขึ้น แต่หากจะเพิ่มก็คงไม่มากนัก
"โอกาสของไทยที่จะขึ้นดอกเบี้ยมีน้อย เพราะว่าเงินเฟ้อก็ไม่ได้สูงมากนักครึ่งหลังน่าจะอยู่ที่ 6.3-6.5% น้ำมันก็ปรับตัวลดลงแล้ว ดังนั้นคงไม่มีผลทำให้ ธปท.มองเรื่องเงินเฟ้อมาก ส่วนระยะปานกลาง 5-10 ปี อาจมีโอกาสปรับขึ้นได้บ้างเล็กน้อย"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|