ที่โฮจิมินห์ซิตี้ มีบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายอยู่ไม่ต่ำกว่า 22 แห่ง แต่ทางสมาคมทนายความให้การรับรองอย่างเป็นทางการในชื่อเรียกว่า
"สำนักงานที่ปรึกษาทางกฎหมาย" เพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ "แม่โขง
บิสซิเนส" หรือชื่อเดิมว่า "ศูนย์ที่ปรึกษาและวิจัยทางกฎหมาย"
ซึ่งมี TRUONG HOAI TAM บริหารกิจการอันประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญประจำ 6 คน
กับผู้ช่วยพาร์ท-ไทม์อีก 14 คน ส่วน "ศูนย์ที่ปรึกษาทางกฎหมาย THANG
LONG" นั้นตั้งอยู่ในย่านห่างไกลจากฮานอยออกไป และมีความสัมพัธ์โยงใยกับสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายทางตอนใต้อีกหลายแห่ง
แหล่งข่าวรายหนึ่งยังชี้ด้วยว่า ฟาน ฮู ชี ทนายความที่เกษียณอายุแล้ว และเป็นอดีตที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ฟาน เฮียน กำลังดำเนินการจัดตั้งสำนักงานที่ปรึกษาทางกฎหมายขึ้นแห่งหนึ่ง
โดยมีทนายความร่วมทีมทั้งหมด 7 คน รวมถึง ลู วัน ดัต อดีตประธานสภาอนุญาโตตุลาการด้านเศรษฐกิจด้วย
แม้ว่าสำนักงานกฎหมายขนาดใหญ่ในแถบเอเชียตะวันออกจะมีเครือข่ายกิจการอยู่ในอินโดจีน
และเป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมทางธุรกิจสูง แต่ปัญหาที่ทุกบริษัทเผชิญอยู่ก็คือ
ทางการของฮานอยยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการตั้งสำนักงานตัวแทน หรือตั้งกิจการร่วมทุน
"ชาวเวียดนามออกจะระมัดระวังเกี่ยวกับธุรกิจที่ปรึกษาและไม่ต้องการให้ทนายความประกอบธุรกิจที่ปรึกษาทางกฎหมายเท่าไหร่"
ลอเรนซ์ บราห์ม แห่ง "จอห์นสัน สโต๊ค แอนด์ มาสเตอร์" ให้ทัศนะ
ส่วน ทิม ด็อบสัน แห่ง "ดีคอนส์ แอนด์ เกรแฮม แอนด์ เจมส์" ให้ความเห็นว่า
"ขั้นตอนในการเจรจาในเวียดนามมีลักษณะที่ว่า คุณจะยังไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากทนายความจนกว่าจะต้องการให้มีการร่างสัญญาอย่างเป็นทางการ"
และเสริมว่า "ลูกค้าของเราเป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์และไม่ต้องการให้ใครมาชักจูง
ทนายที่บอกว่าจะต้องเดินทางไปเวียดนามเพื่อจัดทำร่างสัญญานั้น เป็นพวกที่ต้องการหาค่าเดินทางฟรี
และแม้แต่เวลาที่พวกเขานั่งดูรายการโทรทัศน์อยู่ในโรงแรมก็ยังคิดค่าบริการกับลูกค้าด้วย"