ลงทุนกิจการใหม่ ขยายการลงทุน มองหาผู้ร่วมลงทุน ขาดทุนทำอย่างไร อยากปรับโครงสร้างหนี้
ที่นี่ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับวิสาหกิจ ขนาดกลาง ขนาดย่อม และประชาชน
(ศงป.) มีคำแนะนำดีๆ เรื่องการเงินให้สำหรับ SMEs
ศงป. จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2542 ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการเงินให้แก่
วิสาหกิจขนาดเล็ก และขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งรวมถึงคำแนะนำในเรื่องการดำเนินงานธุรกิจ
และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดย ศงป.จะเป็นผู้ประสานงานกับสถาบันการเงิน
เพื่อช่วยระดมทุน และปรับปรุงหนี้ของ SMEs ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่
1 ตุลาคม 2542 เป็นต้นมา
นับตั้งแต่เปิดให้บริการผลการดำเนินงานของศงป. ในช่วง 6 เดือนครึ่ง ปรากฏว่าปัญหายอดฮิตผู้ประกอบการ
SMEs คือ การเข้ามาปรึกษาแหล่งเงินทุน รองลงมาหวังแก้ปัญหาหนี้เสีย (NPLs)
แสดงให้เห็นว่าธุรกิจ SMEs ของไทยยังคงมีปัญหาอยู่อีกหลายประการ "โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน"
ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการนโยบายศงป.อธิบาย
ปัญหาช่วงแรกๆ ของผู้ประกอบการดังกล่าว ที่เดินเข้ามาหา ศงป. ความไม่เข้าใจในเรื่องการเงิน
การไม่เข้าใจเกี่ยวกับฐานะการเป็นลูกหนี้ของตนเอง จนไปถึงความไม่เข้าใจว่าการไปต่อรองกับสถาบันการเงินจะได้ประโยชน์อย่างไร
"ปัญหาหนี้เสียก็มีมาก และการไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าการกู้ยืมเงินจะต้องมีอะไรบ้าง
และ ที่เข้าใจผิดกันมาก คือ ศปง.เป็นหน่วยงานให้กู้ยืมเงิน" ดร. วรากรณ์กล่าว
อย่างไรก็ตามปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยเฉพาะความไม่เข้าใจระบบการทำงานของศงป.ว่ามีหน้าที่อะไร
ส่งผลให้ปัญหา NPLs ของผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ที่เข้ามาใช้บริการลดน้อยลงไปมาก
"ในอดีตเขาเดินเข้ามาหาเรา 4 ราย จะมี 3 รายที่มีปัญหาเรื่องหนี้เสีย ปัจจุบันปัญหานี้เหลือไม่ถึงครึ่ง"
ด ร.วรากรณ์บอก
เหตุผลเกิดจากผู้ประกอบการที่มีปัญหาหนี้เสียได้เจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้สำเร็จไปมาก
การเลิกกิจการ และมีการเปิดกิจการใหม่โดยหันมาขอเพิ่มทุนแทน "ปัจจุบันผู้ประกอบการจะมาปรึกษาว่าทำอย่างไรจะขอกู้เงินกับสถาบันการเงินได้"
ปัญหาสำหรับผู้ประกอบการในส่วนของหนี้เสียส่วนใหญ่มักจะเป็นการกู้ยืมเงินไป
เพื่อการบริโภคมากกว่าไปลงทุน เนื่องจากระบบธุรกิจ SMEs ในไทยมักจะแยกกันไม่ออกระหว่างธุรกิจกับครอบครัว
"บางครั้งกู้เงินไปจึงแยกไม่ออกว่านำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจหรือในครอบครัวกันแน่"
อย่างไรก็ดี ดร.วรากรณ์บอกว่าไม่ค่อยหนักใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ "เพราะ นี่คือ
ธรรมชาติของธุรกิจ SMEs ในไทย" แต่ ที่หนักใจ และไม่สามารถแก้ไขได้ในจุดที่ผู้ประกอบการที่มีปัญหาแล้ว
ไม่ยอมเข้ามาขอความช่วยเหลือจากศงป. "ทั้งๆ ที่ให้บริการฟรี" เนื่องจากเขาเหล่านั้น
มีความคิดแบบไทยๆ ว่าไม่มาหา คือ หนทางที่ดีที่สุด หรือไม่มาก็คือ ไม่มีปัญหา
วิธีแนะนำง่ายๆ ที่ศงป. ให้บริการ คือ จะต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ประกอบการจะกู้เงินไปทำอะไร
มีความจำเป็นใช้เงินหรือไม่ ผู้ประกอบการบางคนขาดสภาพคล่อง แต่มีสินทรัพย์
ที่สามารถขายได้ ศปง.จะแนะนำให้ขาย เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินทุน "เราจะไม่แนะว่าให้ไปกู้กับสถาบันการเงินแหล่งใดแหล่งหนึ่ง
แต่จะร่างจดหมายในการขอกู้เงินให้ หรือ คำแนะนำในการเขียนโครงการ" ดร. วรากรณ์บอก
นับตั้งแต่เปิดให้บริการมีผู้ขอความช่วยเหลือทั้งสิ้น 11,168 ราย คิดเป็นมูลค่า
47,701 ล้านบาท ซึ่งศงป. สามารถจบการให้คำปรึกษา 6,268 ราย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น
15,838 ล้านบาท
ถ้าแยกตามขนาดธุรกิจแล้วปรากฏว่า 98.28% เป็นธุรกิจขนาดย่อม ที่เหลืออีก
1.72% เป็นธุรกิจขนาดกลาง ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า ธุรกิจขนาดย่อมมีปัญหามากกว่า
"แต่เกิดจากธุรกิจขนาดกลางส่วนใหญ่จะมี ที่ปรึกษาการเงินอยู่แล้ว แต่ขนาดย่อมไม่มีจึงต้องวิ่งมาหาเรา
ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของธุรกิจ"
สำหรับกลยุทธ์ และแผนการดำเนินงานของศงป. ต่อไปจะมุ่งเน้นกำหนดเป้าหมาย
ให้ธุรกิจ SMEs และประชาชน มาใช้บริการปรึกษาด้านการเงินไม่ต่ำกว่า 2,600
รายต่อเดือน มุ่งพัฒนาคุณภาพการให้คำปรึกษา โดยนำข้อมูลจากยอดผู้ใช้บริการมาทำการวิจัย
และวิเคราะห์ปัญหา ที่เกิดขึ้น
"ศงป.ได้ติดตามไปด้วยว่า ที่ขอกู้ไปแล้วเกิดปัญหาอะไรตามมาหรือไม่" โดยกำลังทำวิจัยกรณี
ที่ศงป.ให้คำปรึกษาไปแล้ว แต่ธุรกิจนั้น ล้มเหลวมีสาเหตุมาจากไหน "เราจะนำมาศึกษาแล้วปรับปรุง
เพื่อให้การฟอกเงินครั้งต่อไปของผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ" ดร.วรากรณ์บอก
มีคำถามตามมาว่าเมื่อมีหน่วยงานอย่างศงป.แล้วปัญหาของผู้ประกอบการ SMEs
จะหมดไปหรือไม่ คำตอบคือ ไม่เลย เพราะศงป.ไม่รู้ปัญหาว่า อยู่ตรงไหนกันแน่
ไม่รู้ข้อมูลทั้งหมด และหนี้เสียมีจำนวนมาก ไม่รู้ว่ามีการ ประนอมหนี้ไปได้มากน้อยแค่ไหน
แต่เชื่อว่าได้มีการพยายามให้ปัญหาลดลงไป และได้มากมาย และศงป.ช่วยเหลือผู้ประกอบได้แค่ระดับหนึ่ง
และเป็นขนาดเล็กๆ เท่านั้น
แต่การที่มีศงป. ก็สามารถทำให้ผู้ประกอบการมองว่าจะไม่เสียเปรียบเจ้าหนี้
เพราะบางคนเป็นหนี้แต่ไม่รู้ว่าจะไปเจรจากับสถาบันการเงินอย่างไร " เพื่อไม่ให้เสียเปรียบเรามีคำแนะนำที่ดีให้
และวางใจได้"
อย่างไรก็ตามศงป.เป็นเพียงหน่วยงาน ที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจ ที่มีอายุเพียง
2 ปีเท่านั้น และมีงบประมาณ ที่รัฐบาลอนุมัติแค่ 100 ล้านบาท ดังนั้น ความเป็นไปได้
ที่การทำงานจะครอบคลุมทั่วประเทศริบหรี่เหลือเกิน
"เราทำงานในหน่วยงานนี้ในแง่มุมหนึ่งสามารถลดความรุ่มร้อนลงไปได้ เพราะผู้ประกอบการที่เข้ามาปรึกษาแล้วออกไปด้วยรอยยิ้ม"
รอยยิ้มของผู้ประกอบการที่เข้ามาขอความช่วยเหลือดูจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหา
สังเกตได้จากเป้าหมาย ที่ศงป.ตั้งไว้ว่าก่อน ที่จะปิดให้บริการ จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ
SMEs ได้ประมาณ 6 หมื่นรายเท่านั้น
กระนั้น ก็ตามศงป.ก็มีบทบาทหน้าที่ ที่สามารถคลี่คลายปัญหาให้กับผู้ประกอบการ
SMEs และประชาชน ที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินไปได้บ้าง อย่างน้อยก็ชี้ทางสว่างให้กับกลุ่มคนเหล่านั้น
ได้มีทางออก
ปัจจุบัน ดร.วรากรณ์ อายุ 53 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสต์เทิร์น
ออสเตรเลีย เมื่อปี 2513 จากนั้น เดินทางกลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เป็นอาจารย์ได้เพียง 4 ปีก็ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และเอกด้านเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยแคนซัส สหรัฐอเมริกา และกลับมาสอนนักศึกษา ที่เดิมอีกครั้ง เมื่อปี
2524 และขึ้นเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน ในช่วงปี 2526-2529 และผู้อำนวยการส่งเสริมการศึกษา
และบริการสังคม มหาวิทยาลัย ในช่วงปี 2531-2534 และขึ้นเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2534-2537
ปี 2538 ลาออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสสำนักประธานกรรมการบริหาร
บมจ. จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล และลาออกในปี 2540 มาทำงานด้านการเมืองโดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
และแม่ทัพในศงป.