"พิไลกับผลงานวิจัยเรื่องนกเงือก"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

อาจจะมีคนจำนวนไม่มากนักในเมืองไทยที่รู้จักพิไล พูลสวัสดิ์ แต่ในวงการปักษีวิทยา ชื่อพิไลกับผลงานวิจัยเรื่องนกเงือกจัดอยู่ในแถวหน้าของวงการปักษีวิทยาของโลกเลยก็ว่าได้

พิไลสนใจเจ้าสัตว์ปีกขนาดใหญ่ที่ถือกำเนิดมาราว 55 ล้านปีและอยู่รอดมาจนกระทั่งเธอได้พบเห็นเข้าในวันหนึ่ง ขณะเดินป่าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เสียงร้อง เสียงบินและขนาดตัวของนกกกหนึ่งในตระกูลนกเงือกที่ตัวยาวเมตรครึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับอดีตนิสิตครุศาสตร์จุฬาฯ ผู้นี้เป็นอย่างยิ่ง

ขณะนั้นเธอทำงานกับ H. ELLIOTT McCLURE ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกอยู่ที่โครงการสำรวจสัตว์ย้ายแหล่งทางพยาธิวิทยา สถาบันวิทยาศาสตร์ประยุกต์ McCLURE เป็นแรงดลใจอันสำคัญที่ทำให้พิไลสนใจเรื่องนกและเขายังเป็นแบบอย่างที่ดีของคนที่เสมอต้นเสมอปลาย ทำงานเพื่องานจริง ๆ ซึ่งพิไลยึดถือมาโดยตลอด

เสน่ห์ของเจ้านกเงือกชวนให้พิไลค้นคว้าเรื่องนกประเภทนี้แต่ก็มีข้อมูลที่เขียนถึงน้อยเต็มที เธอจึงจำเป็นต้องลงมือค้นคว้าด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น

ทุกครั้งที่เอ่ยถึงการเริ่มต้นของการสำรวจเรื่องนกเงือก ผู้ร่วมงานสองคนแรกที่พิไลไม่เคยลืมที่จะเอ่ยถึงคือ ATSUOTSUJI อาจารย์สอนคณิตศาสตร์ชาวญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยเมจิ ที่สนใจเรื่องนก และบุญมา แสงทอง ยามบนป่าเขาใหญ่

ทั้งสามมีความสามารถพิเศษต่าง ๆ กัน TSUJI ถนัดในการถ่ายรูป บุญมามีความสามารถในการจับทิศทางเก่งและผู้หญิงคนเดียวคือพิไล ทั้งอดทนและตั้งใจจริงในการศึกษา พวกเขาเริ่มต้นที่ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าแหล่งที่อยู่ของเจ้านกโบราณพวกนี้อยู่ที่ไหนกันบ้างในป่าลึกกว้างที่เขาใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ละคนต้องแบกเป้เดินทางที่บรรจุอาหาร เครื่องครัว เต้นท์ ถุงนอน อุปกรณ์ถ่ายรูป เครื่องอัดเสียงร้องของนก รวมน้ำหนักต่อเป้หนึ่งใบไม่ต่ำกว่า 20 กิโลกรัม ออกเดินเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร เวลาหลายวันหลายคืนกว่าจะพบแหล่งที่อยู่ของนก จากนั้นจึงสร้างห้างร้านบนยอดเขาเพื่อเตรียมไว้สำหรับเฝ้าดูพฤติกรรมของนกเงือกที่มากินอาหารบนต้นไทร

ไม่ใช่ว่าเข้าป่าครั้งเดียวจะสามารถเรียนรู้พฤติกรรมของนกได้ทั้งหมด

หลังจากเลิกงานประจำที่สอนอยู่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิไลทุ่มเทเวลาให้กับงานนกเงือกเป็นเวลากว่าสิบปีจึงเรียนรู้และเข้าใจประเภทต่าง ๆ ของนกเงือก ตลอดจนพฤติกรรมการกินอยู่ทำรัง

นกเงือกเป็นนกที่มีนิสัยการทำรังแปลกกว่านกชนิดอื่น คือจะทำรังตามโพรงไม้สูงใหญ่ นกตัวเมียจะเข้าไปอยู่ภายในแล้วปิดปากโพรงทางเข้าให้เหลือเพียงช่องแคบ ๆ เพียงพอที่นกเงือกตัวผู้จะส่งอาหารจำพวกแมลง ผลไม้ชนิดต่าง ๆ ผ่านเข้าไปได้ ตัวเมียจะกกไข่และเลี้ยงลูกโดยรับอาหารจากตัวผู้ซึ่งหาเลี้ยงไปจนกว่าลูกนกจะโตเพียงพอ แม่นกหรือลูกจึงกระเทาะปากโพรงที่ปิดไว้ออก กว่าจะเสร็จสิ้นฤดูทำรังต้องใช้เวลานานถึง 4 เดือน

พิไลบอกว่าโชคดีที่นกทำรังช่วงปิดเทอมพอดี เธอจึงมีเวลาที่จะไปเฝ้าดูได้อย่างเต็มที่

ตลอดระยะเวลาที่ศึกษา นอกจากที่จะต้องเผชิญกับสัตว์เล็กสัตว์น้อยตั้งแต่เห็บ ทาก ไปจนถึงสัตว์ใหญ่อย่างช้าง และที่ดุร้ายที่สุดอย่างเสือ ในการออกป่าแต่ละครั้ง การทำวิจัยยังต้องเจอปัญหาเรื่องทุนรอนในการศึกษา ช่วงต้น ๆ ก็อาศัยเงินเดือนส่วนตัวที่มีอยู่และการสนับสนุนจากเพื่อนฝูงที่เห็นความตั้งใจจริง กระทั่งมาในระยะหลังจึงได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ เช่น INTERNATIONAL FOUNDATION FOR THE CONSERVATION OF BIRD, นิตยสาร EARTH WATCH เป็นต้น ทำให้โครงการวิจัยเรื่องนกเงือกสามารถจ้างผู้ช่วยวิจัยมาร่วมงานได้เป็นระยะ ๆ

พิไลได้รับเชิญไปร่วมงานประชุมในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกเงือกเอเซียในต่างประเทศเสมอ ๆ ปี พ.ศ. 2529 เธอได้ไปเสนอผลงานวิจัยที่ประเทศแคนาดาในการประชุม ครั้งที่ 20 ของ INTERNATIONAL ORNITHOLOGICAL CONGRESS (IOC) ซึ่งเป็นสภานานาชาติของนักปักษีวิทยาที่ตั้งขึ้นกว่า 80 ปีแล้วและยังได้รับเลือกเป็นหนึ่งในกรรมการของสภาแห่งนี้ คนไทยคนแรกที่เคยได้รับตำแหน่งนี้คือ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล

ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติครั้งที่หนึ่งเรื่องการอนุรักษ์นกเงือกเอเซียและถิ่นที่อยู่อาศัย พิไลเป็นแรงสำคัญที่ผลักดันให้เกอดการประชุมครั้งนี้ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนชนิดของนกเงือกเอเซียมากที่สุดคือ 13 ชนิด จากจำนวนทั้งหมด 30 ชนิด

ตัวแทนที่เข้าร่วมการประชุมมาจาก 14 ประเทศจำนวน 50 คน ได้เสนอรายงานสถานภาพของนกเงือก ปัญหาในการอนุรักษ์ในประเทศของตนและได้เรียนรู้เทคนิควิธีการศึกษาวิจัยนกเงือก รวมทั้งลงมือปฏิบัติโดยการเฝ้ารังนกเงือก ให้สังเกตพฤติกรรมการจับนกเงือกเพื่อติดเครื่องส่งวิทยุสำหรับศึกษาการใช้พื้นที่ และการติดตามหาตำแหน่งนกเงือกด้วยการรับสัญญาณวิทยุ

"เราจะตั้งข่ายงานการศึกษานกเงือกเอเซีย มีประเทศต่าง ๆ เป็นสมาชิกของข่ายงานโดยโครงการศึกษานกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข่าวสารให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษาให้การช่วยเหลือ อย่างลาวเขาอยากให้เราไปช่วยเทรนคนของเขา เราก็จะไปช่วยดูให้ หรืออย่างจีนก็เหมือนกัน สำหรับประเทศที่ไม่มีนกเงือกเอเซียอย่างอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมันที่เข้าร่วมประชุมด้วย เขาก็จะเป็นสมาชิกแนะนำสนับสนุนในเรื่องข่าวสารข้อมูลที่เขาได้จากการเลี้ยงและช่วยหาแหล่งทุน และพยายามปรับปรุงการขยายพันธุ์ในกรงเลี้ยงเพื่อซัพพลายให้กับนกในสวนสัตว์โดยที่ไม่ต้องเอาไปจากป่า"

จากความสนใจศึกษาส่วนตัวของพิไล มาสู่ผลงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศภายใต้สังกัดโครงการศึกษานิเวศน์วิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงตอนนี้เรียกได้ว่าประเทศไทยมีการวิจัยเรื่องนกเงือกเอเซียที่ดีที่สุด

ขณะนี้พิไลกำลังรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับนกเงือกเอเซียซึ่งจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นสองส่วน ๆ แรกคือ วิวัฒนาการของนกเงือก ชีววิทยา และนิเวศน์วิทยา เทคนิควิธีการศึกษานกเงือก ในส่วนที่สองของหนังสือจะเป็นการรายงานสถานภาพนกเงือกเอเซียในแต่ละประเทศและสาเหตุที่ถูกคุกคาม และอีกไม่นานเกินรอเธอคงจะลงมือเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนกเงือกในประเทศไทย

แม้ว่างานศึกษานกเงือกที่เขาใหญ่ซึ่งมีอยู่ 4 ชนิดจะเสร็จแล้ว แต่ก็ต้องมีการเฝ้าสังเกตในพื้นที่เป็นระยะ ๆ และเธอยังมีโครงการศึกษาต้นไทรบนเขาใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งอาหารอันสำคัญของนกเงือก นอกจากนั้นพิไลยังมีโครงการศึกษานกเงือกคอแดงที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ. อุทัยธานี ซึ่งก็ยังติดปัญหาเรื่องเงินทุนที่จะทำการวิจัย

สิ่งที่พิไลอยากลงมือทำมากที่สุด คือ การสำรวจนกเงือกที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาและเงินทุนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

"งานวิจัยหลายโครงการมีปัญหาเรื่องเงิน ความจริงในเมืองไทยเงินสะพัด ตัวเองเป็นคนไม่ค่อยถนัดเรื่องประชาสัมพันธ์ เมื่อก่อนนี้เราเคยหอบหิ้วอัลบั้มนกเงือกไปเสนอขอสปอนเซอร์อะไรทำนองนั้น ไม่มีใครสนใจอะไรเลย ขาไปรีบหอบหิ้วขึ้นแท๊กซี่ไป ขากลับนั่งรถเมล์กลับ บางทีเราก็คิดว่าเรามานั่งทำกันอยู่ทำไม พูดถึงหน้าที่การงาน ถ้าเราโปรโมทตัวเองในด้านนั้นก็ทำได้ บางครั้งคนมองเราเหมือนขอทาน ปฏิกิริยาที่ทำกับเราก็แย่ ตัวเองเป็นคนไม่ค่อยชอบยุ่งกับคนมาก การยุ่งกับคนมีทั้งด้านบวกและลบ ถ้าเป็นด้านลบเราก็หมดกำลังใจ แต่คนข้างเคียงทำให้เรามีกำลังใจที่จะสู้โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่มาช่วยงาน" พิไลเปิดเผยความในใจ

มีบ้างบางครั้งที่คนเราจะท้อแท้ แต่รุ่งเช้ายังมีตะวันใหม่ นักวิจัยหญิงคนนี้ยังเปี่ยมด้วยความกำลังใจ มุ่งมั่นในการศึกษางานนกเงือกเพื่อเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.