"เฉก ธนะศิริ ตัวอย่างผู้เกษียณแต่เนิ่นๆ"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่บอกก็ไม่น่าเชื่อว่าหนุ่มใหญ่สูงวัยผู้นี้ จะได้รับเหรียญทอง เงิน ทองแดง ในการแข่งขันกีฬาแพทย์ทั่วโลกที่ประเทศแคนาดา ในการว่ายน้ำ 100 เมตร และ 1,500 เมตรในปี 2532 และยังผ่านการทดสอบการวิ่งเร็ว ว่ายน้ำเร็ว ว่ายน้ำ 1,000 เมตร กระโดดไกล กระโดดสูง และทุ่มน้ำหนักจากศูนย์กีฬาวิทยาศาสตร์กีฬา ตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปัจจุบัน ทั้งที่ตัวเลขอายุย่าง 67 ในปีนี้แล้ว

นายแพทย์เฉก ธนะศิริ ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเกี่ยวกับโครงการอบรมการเตรียมตัวเกษียณให้แก่องค์กรต่าง ๆ ตามที่ได้รับเชิญมา เนื่องเพราะเขาเป็นแพทย์ที่ให้ความสนใจไม่เฉพาะแต่การรักษาโรคภัยไข้เจ็บทางกายเฉพาะด้านแต่เพียงโดด ๆ เท่านั้น แต่ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของกายกับจิต และให้ความสำคัญกับการออกกำลังตลอดกว่า 25 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการออกกำลังกายโดยมีสมาธิและสติกำกับ

เขาจึงดูสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรงอย่างยิ่ง สอดคล้องกับจิตใจที่ได้รับการฝึกฝนจนมีพลังจิตสะสมมากพอและสามารถเรียกใช้ได้อย่างอัตโนมัติ

นั่นก็คือ เฉกได้ฝึกสมาธิใช้สติกำหนดรู้เท่าทันในการทำงาน รวมไปถึงการออกกำลังกาย..!

เขาจึงดูหนุ่มกว่าวัยอย่างไม่น่าเชื่อ ยังเดินป่าปีนเขาได้ชนิดที่ว่าหนุ่ม ๆ บางคนก็ยังต้องชิดซ้าย..!

ด้วยร่างกายที่สมบูรณ์และแข็งแรงอย่างมาก เฉกจึงบริจาคโลหิตติดต่อกันได้ตั้งแต่ปี 2510 รวมแล้ว 100 กว่าครั้ง และตั้งใจว่าจะบริจาคไปเรื่อยจนกว่าสภากาชาดจะไม่รับเพราะแก่เกินไป

เฉกมีผลงานหนังสือชีวิตที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ร่างกายและจิตใจอยู่หลายเล่ม เช่น ทำอย่างไรจะปราศจากโรคและชะลอความชรา หรือสมาธิกับคุณภาพชีวิต ซึ่งแต่ละเล่มล้วนแล้วแต่พิมพ์ไม่น้อยกว่า 4 ครั้งขึ้นไป โดยเฉพาะเล่มที่ชื่อว่า "ทำอย่างไรชีวิตจะยืนยาวและมีความสุข" ที่พิมพ์ถึง 63 ครั้ง ในระยะ 11 ปี หรือเกือบ 3 ครั้งต่อปี

เขาเคยเป็นแพทย์โรงพยาบาลบางรัก อนามัยจังหวัดนครราชสีมา และรักษาการนายแพทย์ตรวจการสาธารณสุขภาค 3 กระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งทางสังคมอีกมากมายได้แก่ นายกสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราชคนแรก พ.ศ. 2492 และหัวหน้านักศึกษาแพทย์ นายกสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช นายกยุวสมาคมแห่งประเทศไทย นายกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย สมาชิกสภานิติบัญญัติ กรรมการอำนวยการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการวางแผนพัฒนาสาธารณสุขแห่งชาติ กรรมการสมาคมคลังปัญญาอาวุโสแห่งประเทศไทย และกรรมการสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้าย และเฉกบอกว่าปีนี้จะไม่ขอรับตำแหน่งอีก

เพราะเวลาหลังเกษียณของเฉกหมดไปกับกิจกรรมที่เขาถนัด ไม่ว่าจะเป็นโครงการอบรมเตรียมตัวเกษียณดังที่ไทยออยล์ได้เชิญเขาไปเป็นวิทยากรมาแล้ว 2 ครั้ง หรือที่กำลังจะจัดโครงการเดียวกันนี้ขึ้นที่การบินไทย เอไอเอ และสยามกลการ เป็นต้น

เป้าหมายก็เพื่อให้บรรดาคนทำงานที่ใกล้เกษียณอายุได้เตรียมตัวเกษียณ ทำงานในขณะนี้ได้อย่างรื่นรมย์ และเตรียมตัวเตรียมใจใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุอย่างมีความสุขและมีคุณค่า

การปฏิเสธตำแหน่งทางสังคม เฉกเห็นว่าจะทำให้เขามีเวลาทำในสิ่งที่ตนปรารถนามากขึ้น ซึ่งต้องเดินทางเป็นประจำ จึงไม่ควรผูกมัดตัวเองอยู่กับตำแหน่ง

เขาให้ข้อคิดว่า คนทำงานไม่ว่าจะเป็นใคร จะแค่มือบริหารอาชีพ นักธุรกิจ หรือแม้แต่ประชาชนคนเดินดินที่ไม่ได้มีตำแหน่งใหญ่โตอะไร ล้วนแล้วแต่ควรจะมีการเตรียมใจตัวเองไว้แต่เนิ่น ๆ สำหรับในแต่ละเรื่อง

เช่น ควรจะเตรียมความคิดว่าถ้าได้รับตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ ควรจะทำยังไง และจะมีอุปสรรคอะไรบ้าง แต่ที่อยากให้ตระหนักก็คือ "ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ" เพราะถ้ามีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนจะบั่นทอนสุขภาพจิตอย่างมหาศาลด้วย เพราะฉะนั้นควรฟิตตัวเองอยู่เสมอ

ที่ควรทำก็คือ หมั่นตรวจสุขภาพปีละครั้ง และให้ออกกำลังกาย ซึ่งเฉกมองว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้มีกิจกรรมทำจะเพลิดเพลิน ทำให้ผ่านเวลาไปอย่างมีประโยชน์ แต่ถ้าไม่ออกกำลังกาย จะงุ่นง่าน คิดมาก ฟุ้งซ่าน อาจจะเสาะแสะ จะไปไหนก็ไปไม่ได้

ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว เราก็จะเตรียมตัวของเรา ทำให้คิดช่วยตัวเอง รวมทั้งไม่คิดพึ่งลูกหลาน เพราะถ้าหวังแล้วไม่ได้ดังหวังก็ผิดหวัง และลูกหลานก็จะรำคาญ

เฉกย้ำว่าอย่าพยายามเรียกร้องอะไรจากลูก เนื่องจากถ้าดีก็ดีไป แต่ถ้าไม่ดีก็แย่ เพราะลูกก็มีหน้าที่ที่จะต้องเลี้ยงลูกของตนต่อไปอีก "ธรรมชาติของสัตว์ อย่างแม่นกมีหน้าที่ป้อนอาหารให้ลูก ไม่มีที่ลูกจะมาป้อนอาหารให้พ่อแม่เมื่อแก่"

"ไม่หวังพึ่ง" คือสโลแกนที่เฉกให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้เราได้เตรียมตัวเตรียมใจใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีความสุขเสียแต่เนิ่น ๆ

เขาเล่าถึงหัวอกพ่อแม่โดยทั่วไปว่า มักจะอยากให้ลูกทำโน่นทำนี่ให้ "นาน ๆ ทีถ้าลูกหลานทำอะไรให้ ก็ให้ถือว่าเป็นกำไรชีวิต แต่ควรจะปรับใจไม่คาดหวัง และให้คิดอยู่เสมอว่าธุระอะไรจะเอาทุกข์มาใส่ตัวอันนี้เราต้องทำตัวให้เหนือทุกข์"

ยิ่งถ้าเป็นคนใหญ่คนโตด้วยแล้ว ให้ถือหลักว่า "ไม่แส่เข้าไปหาเรื่อง" เพราะคนมีตำแหน่งสูง ๆ พอเกษียณบางทีก็อยากทำโน่นทำนี่ เป็นนั่นเป็นนี่ ซึ่งบางทีก็ไม่ได้ผล คือ ไม่ได้เป็น หรือได้เป็นแต่เป็นไม่ได้ดังใจ จึงไม่ควรจะดิ้นรนให้มาก ถ้าคนไหนเห็นความสำคัญ เขาอยากให้เราเป็นเขาก็มาหาเราเอง เราก็ดีใจที่ได้ทำประโยชน์ หรือไปโน่นไปนี่แต่อย่าไปติดกับตำแหน่งว่าถ้าเราไม่อยู่ แล้วคนอื่นจะทำไม่ได้ หรือทำไม่ดีเท่า ให้คิดว่าคนรุ่นหลังยิ่งต้องทำได้ดีกว่าเรา

นั่นก็คือ เจ้าตัวควรเตรียมความคิด และปรับใจให้ได้เสียแต่เนิ่น ๆ จะดีที่สุด ได้รับเชิญไปรั้งตำแหน่งใด เป็นสักครั้งสองครั้งก็ควรจะหยุด และให้รับลง (จากตำแหน่ง) เสียก่อน

เฉกเปรียบเทียบว่าเหมือนกับผิวหนัง แค่เดือนเดียวก็ตายเป็นขี้ไคล ซึ่งก็คือมีเกิดมีดับ ถ้ารู้และรับความจริงข้อนี้ แล้วเราดับเสียเองก็จะทำให้สบายใจ

"บางทีเพราะเขาเกรงใจเลยเชิญเราไปเป็น (ทั้งที่อาจจะไม่อยากให้เป็นเท่าไหร่) เมื่อเราจะไม่อยู่ ก็ไม่ต้องไปห่วงว่าเขาจะเป็นยังไง และให้มั่นใจว่าคนรุ่นใหม่จะต้องดีกว่าคนรุ่นเก่า" เฉกกล่าวถึงกลยุทธ์ที่จะฝึกใจให้เราไม่ไปติดยึดกับหัวโขนที่มีอยู่

คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจหลายอย่างก็ควรปล่อยวางไปทีละอย่างสองอย่าง ให้ลูกหลานรับช่วงไป อย่าแบกภาระไว้ในใจเด็ดขาด ยิ่งกว่านั้น ก็คือ เมื่อปล่อยไปแล้ว แม้กิจการจะแย่ลงก็จะต้องตัดใจให้ได้

เพราะถ้าเตรียมใจได้อย่างนี้แต่แรก เมื่อเกษียณไปก็จะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เดียวดาย ท้อแท้ หดหู่ ไร้คุณค่า

วิธีการก็คือ ควรจะบรรจุกิจกรรมไว้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการนอน การพักผ่อน ออกกำลังกาย และงานอดิเรก เพื่อไม่ให้เหลือเวลาว่างชนิดที่ไม่รู้จะทำอะไร ซึ่งจะทำให้เบื่อตัวเอง

สำหรับงานอดิเรกที่ทำก็ควรเป็นกิจกรรมที่เบาสมอง เช่น เข้ากลุ่มสโมสร มูลนิธิหรือกลุ่มต่าง ๆ เขียนหนังสือ หรือสนทนากับพระตามวัดต่าง ๆ เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวอย่างกระฉับกระเฉงและให้ใจได้สงบด้วย จึงไม่ควรไปเริ่มลงทุนธุรกิจใหม่ ซึ่งจะนำปัญหามาให้ขบคิดอีกต่อไป

สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่เฉกทำและเตรียมใจมาก่อนแล้ว จะเห็นว่าเขาเริ่มต้นกิจวัตรประจำวันด้วยการออกกำลังกายโดยวิ่งเหยาะๆ 4 กม. แล้วเข้าห้องยิมอีกประมาณ 25 นาที รวมทั้งโยคะท่าไหล่ตั้งและหัวตั้ง จากนั้นก็ว่ายน้ำอีกราว 25 นาทีด้วยวิธีกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นประจำอาทิตย์ละ 5 วัน นอกจากนั้น ก็หาเวลาไปนอนตามวัดป่าเป็นการสงบสติอารมณ์ และปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานพิจารณาตัวเองพร้อมทั้งเขียนหนังสือ และสนทนาธรรม

จนทำให้เฉกมีความเป็นหนุ่มกระชุ่มกระชวยอยู่เสมอ ความคิดความอ่านก็ดียิ่งขึ้นกว่าเก่าและเข้าใจตัวเองดีขึ้น ตัดความไม่สบายใจได้ดีกว่าอดีตอย่างได้ผล

พร้อมกันนี้ ก็ทำให้มีผลงานหนังสือขายดีเป็นเทน้ำเทท่าให้เราได้อ่านกัน

การใช้ชีวิตหลังเกษียณของเฉกจึงเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจไม่น้อย..!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.