อภิรักษ์ โกษะโยธิน คนเก่งวงการสแน็กเมืองไทย


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

นับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องทีเดียวที่เป๊ปซี่โค ฟูดส์อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ตัดสินใจเข้ามาบุกตลาดสแน็กด้วยตนเองเมื่อปี'38 เพราะมองว่าตลาดในประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตสูงมากด้วยอัตราการขยายตัวของตลาดรวมทั้งหมดสูงถึง 16% ในปี'38 และมูล่าตลาดรวมกว่า 6,000 ล้านบาท

การเข้ามาในตลาดสแน็กของเป๊ปซี่โค ฟูดส์ในครั้งนั้น แตกต่างจากการเข้าไปลงทุนในธุรกิจสายเครื่องดื่มและร้านอาหารฟาสต์ฟูดอย่างพิซซ่า ฮัท และเคเอฟซีของเป๊ปซี่โค อิงค์ เพราะทั้งสองธุรกิจดังกล่าวมีหุ้นส่วนคนไทยเป็นแกนหลักในการดำเนินกิจการ ขณะที่การบุกตลาดสแน็กเป๊ปซี่เข้ามาผลิตสินค้าและขายของเอง

ดังนั้นการโยกอภิรักษ์ โกษะโยธิน ขณะกำลังมีอนาคตกับเป๊ปซี่ โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ดูแลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทเป๊ปซี่โค ฟูดส์ ประเทศไทย นอกจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาถูก 'DEMOTE' แล้ว ยังเป็นภาระที่หนักสำหรับเขาทีเดียวเพราะต้องหาตั้งแต่ออฟฟิสทีมการตลาด ทีมขาย หรือแม้กระทั่งโรงงาน จนเจ้าตัวเองเคยปรารภว่า 'มาอยู่ที่นี่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์'

แต่ในวันนี้อภิรักษ์ได้พิสูจน์แล้วว่าเขาทำได้และทำได้ดีอีกด้วย จากผลงานตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เขาทำให้เป๊ปซี่โค ฟูดส์ ประเทศไทยสามารถขึ้นครองเป็นเจ้าตลาดอันดับ 3 ในธุรกิจขนมขบเคี้ยวไทยภายในระยะเวลาอันสั้น ด้วยส่วนแบ่งการตลาดถึง 9% จากที่เคยอยู่ในอันดับ 8 จากผลิตภัณฑ์ 3 ชนิดคือ มันฝรั่งแท้ทอดกรอบตราเลย์ มันฝรั่งแท้ทอดกรอบตราชิบปี้ ชิป และข้าวโพดทอดกรอบตราชีโตส

"เราปิดยอดจำหน่ายได้ถึงกว่า 1,000 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี'39 เมื่อเทียบกับปี'38 ซึ่งบริษัททำยอดขายในปีแรกได้ประมาณ 350 ล้านบาท" อภิรักษ์กล่าว

กลยุทธ์การตลาดที่ต่อเนื่องเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนในความสำเร็จของบริษัท โดยกิจกรรมทางการตลาดของเป๊ปซี่โคฟูดส์ประเทศไทย นับเป็นกิจกรรมที่สั่นสะเทือนวงการขนมขบเคี้ยวไทยแทบทั้งสิ้น เริ่มจากผลิตภัณฑ์ข้าวโพดทอดกรอบปรุงรสชีโตสโดยการแจกรูปลอกแบ็ทแมนและกิจกรรมที่บริษัทยอมรับว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งคือ 'เกมส์มันระดับโลกทาโซ'

"ทาโซ อยู่ในขนมชีโตสทุกซอง ตั้งแต่ต้นปี'39 เราจัดให้มีการแข่งขันทาโซตามสถานที่ต่างๆ ตลอดจนมีทาโซแถมตระเวนการสาธิตการเล่นพร้อมแจกตัวอย่างเกม ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ อย่างรวดเร็ว"

โดยถึงปัจจุบันได้ใช้ทาโซไปแล้วถึง 80 ล้านชิ้น เด็กไทยทุกคนที่มีทาโซสะสมเฉลี่ย 30 ชิ้น/คน และผลจากกิจกรรมทั้งหมดทำให้ชีโตสมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึง 200%

นอกจากนี้บริษัทยังมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์มันฝรั่งชิบปี้ ชิป ในรูปลักษณ์ใหม่พร้อมทั้งการพัฒนาในด้านรสชาดที่ผลิตจากโรงงานของตนเอง เพื่อเป็นการขยายการตลาดให้กว้างขึ้น

ตลาดขนมขบเคี้ยวรสเค็มที่มีขายอยู่ในบ้านเรามีทั้งหมด 7 ประเภท แยกตามอัตราการเจริญเติบโตได้เป็นขนมขึ้นรูป 41%, ถั่ว 21%, มันฝรั่ง 14%, ข้าวเกรียบกุ้ง 11%, ปลาเส้น 8%, ข้าวโพดคั่ว 3%, และปลาหมึก 2% ในจำนวนนี้ที่เติบโตอย่างรวดเร็วคือมันฝรั่ง อัตราเติบโตช่วงปี'36-39 จาก 9% ขึ้นมาถึง 14%

เฉพาะตลาดมันฝรั่งในประเทศแยกเป็นมันฝรั่งในประเทศแยกเป็นมันฝรั่งแท้ทอดกรอบ 77% และแป้งมันอัดแผ่น 23% ในส่วนที่เป็นมันฝรั่งแท้นี้เลย์มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดถึง 40% รองลงมาเป็นมั้น มัน 28% นอกนั้นจึงเป็น ก๊อบ ก๊อบ, พริงเกิล, และเทสโต้อย่างละ 6% ที่เหลือเป็นคู่แข่งรายอื่นๆ อีก 14% ส่วนในปีนี้คาดว่าเลย์ครองส่วนแบ่งเพิ่มเป็น 60%

สิ่งหนึ่งที่ทำให้องค์กรก้าวรุดหน้าไปขนาดนี้ อภิรักษ์ยอมรับว่าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เขาจึงเน้นการพัฒนาบุคลากรทั้งในด้านวิชาการ จัดอบรมสัมมนาใหญ่สม่ำเสมอ และกีฬาภายในเพื่อสุขภาพและเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในองค์กร

ปัจจุบันลูกน้องภายใต้การดูแลของเขามีประมาณ 250 คน ในจำนวนนี้เป็นทีมงานการตลาด 6 คน และทีมขายอีก 5 คน ซึ่งทีมงานเหล่านี้เป็นผลจากการดึงบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานทั้งในส่วนสำนักงานใหญ่และโรงงาน รวมทั้งการปรับโครงสร้างการบริหารงานให้เกิดความคล่องตัวขึ้น

สำหรับปี'40 อภิรักษ์ได้ให้ทิศทางของบริษัทไว้ว่า "การดำเนินงานของเป๊ปซี่โคฟูดส์ในประเทศไทยในปี'40 สิ่งแรกที่เราจะประเดิมศักราชเพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดขนมขบเคี้ยวทั่วโลกของฟริโต-เลย์ คือ การเปลี่ยนชื่อบริษัทจากบ.เป๊ปซี่โค ฟูดส์ประเทศไทย เป็น บ.ฟริโตเลย์ ประเทศไทย"

จุดประสงค์ในการเปลี่ยนอภิรักษ์ชี้แจงว่า "เพื่อย้ำว่าถ้าพูดถึงสแน็กของเป๊ปซี่ก็คือ ฟริโต-เลย์ จะได้มีความชัดเจนและเหมือนกันทั่วโลก และเรามีแผนในด้านการขยายตลาดต่างประเทศทั่วโลกเพราะฉะนั้นในแง่ประเทศใหม่ๆ ที่ฟริโต-เลย์จะเข้าไปจะมีความเป็น Global ที่เหมือนกันหมดทั่วโลกเหมือนๆ กับสินค้าตัวอื่นของเรา เช่น เป๊ปซี่ หรือ KFC"

พร้อมๆ กันนั้น บริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นมันฝรั่งแท้ทอดกรอบชนิดเรียบใช้ชื่อว่า เลย์คลาสสิค ส่วนเลย์ชนิดหยักเพื่อให้มีความชัดเจนในตัวจึงตั้งชื่อว่า เลย์ร็อค ในระยะแรกตั้งเป้ายอดขายสำหรับเลย์คลาสสิคไว้ที่ 2,000 ตันต่อปี ส่วนตัวเลย์ร็อคประมาณ 4,000 ตันต่อปี

โดยบริษัทตั้งงบการตลาดสำหรับตัวใหม่ไว้ 50 ล้านบาท ถ้ารวมทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์แล้วมีงบกว่า 150 ล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่าภายในเวลา 1 ปีผลิตภัณฑ์ใหม่นี้จะแซงหน้าแบบหยักได้อย่างแน่นอน

ถึงวันนี้แม้อภิรักษ์และทีมงานจะไม่ได้ทำงานวันละ 24 ชั่วโมงแต่พวกเขาก็ยังคงทำงานอาทิตย์ละ 7 วันเหมือนเช่นที่ทำมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ด้วยปรัชญาที่ว่า "ถ้าเราหยุดนิ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการถอยหลัง" ดังนั้นยอดขายที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาทในปี 2540 คงเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องยากนักสำหรับเจ้าพ่อมันฝรั่งของเมืองไทยคนนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.