"ผลตอบแทนจากการลงทุนเลือกตั้ง ส.ส. ใน กทม."

โดย สุนทราภรณ์ เตชะพะโลกุล มารียะ สาราศาน์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

"การวิจัยเขตเลือกตั้งเพียง 2 เขตใน กทม. พบว่าพรรคที่มีการลงทุนประสิทธิภาพสูงใช้เงินเพียง 1.2 ล้านบาทต่อ ส.ส. 1 คน เทียบกับ 10 ล้านบาท ของอีกพรรคหนึ่งและยังพบว่าบางพรรคลงทุนหาเสียงด้วยค่าใช้จ่ายสูงกว่าคะแนนเสียงที่ได้มามากนัก

ในฤดูกาลรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เรื่องที่เราได้ยินได้ฟังอยู่เสมอก็คือ เรื่องของการใช้เงินทั้งในทางตรงและทางอ้อมเป็นจำนวนมากเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัคร แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขสถิติยืนยันก็ตาม แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีอาชีพเป็นพ่อค้าหรือนักธุรกิจจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภาผู้แทนเป็นจำนวนมากกว่าสาขาอาชีพอื่น

การเลือกตั้งที่ผ่านมามี ส.ส. เป็นนักธุรกิจถึง 164 คน หรือร้อยละ 46 ของสมาชิกทั้งหมด เนื่องจากเป็นผู้ที่มีฐานะทางเงินดี มักจะได้เปรียบกว่าผู้มีทุนทรัพย์น้อยหรือขาดการสนับสนุนทางด้านเงิน

แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้มีอาชีพเป็นนักธุรกิจ ก็มีแหล่งจากนักธุรกิจสนับสนุน ดังกรณีเรื่องข่าวลืออื้อฉาวของประธานที่ปรึกษาพรรคกิจสังคม

อันที่จริงการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ผู้สมัครแต่ละคนจะเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเขตเลือกตั้งที่มีการแข่งขันสูง หรือผู้สมัครซึ่งเป็นบุคคลสำคัญต้องชนะการเลือกตั้งเท่านั้น ค่าใช้จ่ายก็จะสูงมากขึ้นโดยเฉพาะในหมวดค่าพิมพ์แผ่นปลิวและป้ายโฆษณาหาเสียง ค่าใช้จ่ายในการระดมผู้มีสิทธิเลือกตั้งละเว้นการลงคะแนนเสียงให้กับผู้อื่น หรือให้ไปลงคะแนนเสียงให้กับตน และค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งของตนเพื่อเสริมสร้างบารมีและฐานคะแนนเสียงให้มั่นคง ตลอดจนการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ตัวเองโดยเทคนิคและวิธีการหาเสียงแบบใหม่ เพื่อให้เด่นกว่าคู่แข่งขันและจะได้คะแนนเสียงมากขึ้น

ดังนั้น กระบวนการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในสายตาของผู้สมัครรับเลือกตั้งก็คือ การลงทุนทางการเมืองที่มี "ประชาธิปไตย" หรืออำนาจในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนเป็น "สินค้า" ที่จะได้รับเป็น "ผลตอบแทน" กลับมาเมื่อลงทุน และต้องเป็นผลตอบแทนที่สูงในระดับที่จะทำให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าดำรงตำแหน่งเป็น ส.ส. ได้ จึงถือว่าเป็นการลงทุนนั้นเป็นผลสำเร็จหรือคุ้มทุน

ผลตอบแทนจากการลงทุนจะมีทั้งลักษณะที่เหมือนกันและแตกต่างกัน คือ ในทางธุรกิจผลตอบแทนมีความสำคัญไม่เพียงแต่จะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจว่าควรจะลงทุนต่อไปหรือไม่ ยังเป็นรากฐานที่จะนำไปสู่อิทธิพลต่อการดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร ตลอดจนเป็นตัวบ่งชี้ถึงผลการปฏิบัติงานภายในองค์กรหนึ่ง ๆ และอาจใช้เปรียบเทียบกับองค์กรหรือธุรกิจอื่นว่าการดำเนินการของธุรกิจนั้นให้ผลสำเร็จหรือมีประสิทธิภาพเพียงใด

ในทางกลับกัน ในทางการเมืองนั้นหากผู้สมัครรับเลือกตั้งทุ่มทุนในการหาเสียงไปเป็นจำนวนมาก ทว่ามิได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. แม้ว่าในแง่ของการลงทุนเขาไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็มิได้หมายความว่าในทางการเมืองแล้วเขาควรไปจากธุรกิจสายนี้

จากข้อเท็จจริงจะพบว่าผู้สมัครที่มีกำลังทางการเงินสูงและลงทุนไม่มาก แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ หรือด้อยประสิทธิภาพในการลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับผู้สมัครรายอื่น กล่าวคือได้รับการเลือกตั้งโดยใช้จ่ายสูงกว่าผู้อื่น ก็ยังคงสมัครรับเลือกตั้งเกือบทุกสมัย

เนื่องจากผลตอบแทนที่มองไม่เห็นทางการเมืองจากการลงทุนขั้นต้น นั่นคือ การชนะการเลือกตั้งจะเป็นพื้นฐานการขยายตัวต่อไปของอำนาจ อิทธิพลและเป็นพลังต่อรองในการเรียกร้องตำแหน่งต่าง ๆ ภายในพรรคตลอดจนตำแหน่งในรัฐบาล

การ "ทุ่มทุน" หาเสียงแม้ว่าจะได้รับเลือกตั้งหรือมิได้รับเลือกตั้งก็ตาม ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล และภายในระดับสังคมก่อให้เกิดผลที่ไม่เหมาะสมต่อประชาธิปไตย ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมการลงทุนดังกล่าวปิดโอกาสผู้มีความรู้ความสามารถที่มีกำลังทางการเงินน้อย หรือได้รับการสนับสนุนทางการเงินน้อย มิให้มีโอกาสชนะเลือกตั้ง พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้มีกำลังทางการเงินสูงมีโอกาสเข้ามาครอบงำทางการเมืองมากขึ้น สังคมจึงสูญเสียหลักสำคัญของประชาธิปไตย อันได้แก่ "หลักของความเท่าเทียมกันในโอกาส" ไป

ประเด็นสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้จึงอยู่ที่ว่า นักลงทุนทางการเมืองนั้นใช้จ่ายทุนทรัพย์ของตนไปเพื่อกิจกรรมใดบ้าง? มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่? และผลตอบแทนจากการลงทุนที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับผู้สมัครอื่นหรือทีมอื่น?

ทุ่มเงินหาเสียง

ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีสำหรับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2535 ที่ผ่านมาพบว่าค่าใช้จ่ายต่อบุคคลหรือผู้สมัครมีค่าสูงกว่ามาตรฐานทางกฎหมายเลือกตั้งที่ระบุไว้ไม่เกิน 1 ล้านบาททั้งสิ้น ยกเว้นทีม CX ที่พรรค R ให้ลงสมัครโดยมิได้มุ่งแข่งขันกับทีมใด แต่ให้ลงสมัคร "กันเบอร์" หรือลงให้เต็มเท่านั้น ค่าใช้จ่ายจึงต่ำที่สุด

จะเห็นได้ว่า เงินส่วนใหญ่ที่ใช้จ่ายเกิน 1 ล้านบาทนั้นมิได้ใช้เพื่อการแจกหรือซื้อเสียงอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่มองเห็นเป็นรูปธรรมและประเมินได้ก็มีค่าสูงกว่า 1 ล้านบาทแล้ว เช่น ค่าพิมพ์ใบปลิว โปสเตอร โปสการ์ด สติกเกอร์ ป้ายและผ้าโฆษณา (ดูตารางค่าใช้จ่ายหาเสียงประกอบ) 3 ทีมใน 6 ทีม ใช้เกิน 1 ล้านบาททั้งสิ้น

ส่วนค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ก็มีอยู่สูงมากเช่นกัน อาทิ ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริหาร และค่าใช้จ่ายเพื่อสาธารณะประโยชน์ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ทีม BX จากพรรค Q ใช้จ่ายเงินเพื่อการรณรงค์หาเสียงสูงที่สุดกว่าทุกทีมถึง 19 ล้านบาท เนื่องจากต้องการสร้างฐานคะแนนเสียงในเขตเลือกตั้ง X ให้มั่นคงนั่นเอง

การเคลื่อนไหวของการลงทุนขั้นต่ำสุดกับผลตอบแทนในรูปคะแนนเสียง

เมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปคะแนนเสียงที่ได้รับการเลือกตั้งกับการลงทุนจะพบว่ามีเพียง 4 ทีมที่ลงทุนแล้วได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาหรือมีผู้สมัครในทีมได้รับเลือกตั้งซึ่งได้แก่ ทีม AX, DY, FY และ BX โดยทีม AX, DY และ FY ลงทุนแล้วคุ้มทุน กล่าวคือได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเงินลงทุนที่เสียไป

ทีม AX หรือผู้สมัครจากพรรค P ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หรือมีผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าทุกทีม (ดูตารางผลตอบแทนและค่าใช้จ่ายประกอบ) ทีมที่ลงทุนได้อย่างประสิทธิภาพรองลงมาได้แก่ ทีม DY และ FY ส่วนทีม BX เป็นทีมที่ลงทุนแล้วด้อยประสิทธิภาพไม่คุ้มทุนแม้ว่าจะมีผู้สมัครได้รับเลือกตั้งก็ตาม

COST-BENEFIT เขตเลือกตั้ง X

ข้อมูลจากตารางผลตอบแทนจากการลงทุน ทีม CX จากพรรค R เป็นทีมที่ลงทุนแล้วล้มเหลว (ขาดทุน) เนื่องจากไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับการเลือกตั้ง ในขณะที่ทีม AX จากพรรค P ใช้เงินลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ประหยัด) กว่าทีม BX จากพรรค Q โดยมีค่าใช้จ่ายต่อการได้ ส.ส. หนึ่งคนประมาณ 4.4 ล้านบาท ในขณะที่ทีม BX ต้องใช้เงินลงทุนถึงกว่า 2 เท่าของทีม AX คือประมาณ 10.4 ล้านบาท จึงจะได้ ส.ส. หนึ่งคน

หากพิจารณาเงินลงทุนต่อคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกตั้งแล้ว การที่จะได้มาซึ่งคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกตั้ง 1 คะแนน ทีม AX จะลงทุนด้วยเงินเพียง 85 บาท ในขณะที่ทีม BX ต้องลงทุนด้วยเงินถึง 398 บาท (ดูตารางผลตอบแทนต่อการลงทุน)

เนื่องจากทีม BX หรือพรรค Q เป็นเจ้าของคะแนนเสียงในพื้นที่นี้มาก่อน การลงทุนมากมายในครั้งนี้เป็นไปเพื่ออนาคตการเมือง เพื่อศักดิ์ศรีของพรรคและเพื่อมิให้ทีม AX ซึ่งเป็นคู่แข่งขันหน้าใหม่ทีมสำคัญกลายมาเป็นตัวแทรกในระหว่างที่เคยได้รับชัยชนะยกทีม

ดังนั้นการทุ่มทุนและการแข่งขันในเขตนี้จึงมีความเข้มข้นสูง และหากพิจารณาเงินลงทุนต่อจำนวนผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ทีม BX ต้องใช้จ่ายเงินถึง 186 บาท/คน ในขณะที่ทีม AX และ CX ใช้จ่ายเงินเพียง 30 บาท/คน และ 0.5 บาท/คน เพื่อให้ผู้ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงให้ทีมของเขา

COST-BENEFIT เขตเลือกตั้ง Y

ทีมที่ลงทุนแล้วขาดทุนจากการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ทีม EY จากพรรค Q ในขณะที่ทีม DY จากพรรค P ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าทีม FY จากพรรค R โดยมีค่าใช้จ่ายต่อการได้ผู้แทนหนึ่งคนประมาณ 1.2 ล้านบาท ในขณะที่ทีม FY ต้องใช้จ่ายถึง 3.4 ล้านบาท จึงจะได้ผู้แทนหนึ่งคน

หากพิจารณาเงินลงทุนต่อคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกตั้ง 1 คะแนนเสียง ทีม DY ใช้เงินเพียง 61 บาท ในขณะที่ทีม FY ต้องใช้จ่ายถึง 96 บาท การที่ทีม FY มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าทีม DY ซึ่งเป็นทีมคู่แข่งหน้าใหม่ทีมสำคัญก็เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นฐานคะแนนเสียงของทีม FY หรือพรรค R มาแต่เดิม

การลงทุนครั้งนี้ก็เพื่อ "แข่งขัน" และ "ปกป้อง" คะแนนนิยมของพรรคตนจากทีมอื่นที่จะมาช่วงชิงโดยเฉพาะต่อทีม DY ในขณะที่ทีม DY มีคะแนนนิยมของหัวหน้าพรรคเป็นเดิม ดังนั้นการใช้จ่ายเงินจึงไม่สูงมากนัก

หากพิจารณาค่าใช้จ่ายที่จะทำให้ผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 1 คนลงคะแนนให้ทีมเขา ทีม FY ต้องใช้จ่ายเงินถึง 37 บาท ในขณะที่ทีม DY ใช้จ่ายเงินเพียง 26 บาท และทีม EY ใช้จ่ายเงินเพียง 19 บาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายของทีม EY ต่ำกว่าทุกทีมและไม่มีผู้แทน

กล่าวโดยสรุป พรรค P หรือผู้สมัครจากพรรคนี้ในเขตเลือกตั้ง X และ Y ของกรุงเทพมหานครสามารถใช้จ่ายเงินเพื่อการหาเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือประหยัดกว่าผู้สมัครจากพรรคอื่นหรือทีมอื่น ทั้งในด้านการเงินการลงทุนต่อคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกตั้ง

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกตั้งและค่าใช้จ่ายที่ปรับฐานให้เท่ากับ 100 แล้ว ผู้สมัครทั้ง 2 ทีมจากพรรค P ทั้งทีม AX และ DY ยังคงเป็นผู้สมัครที่ลงทุนหาเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือประหยัดที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุกทีมในเขตเลือกตั้ง X และ Y และเมื่อเปรียบเทียบ 2 เขตเลือกตั้งร่วมกัน ทีม AX เป็นทีมที่ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือประหยัดที่สุด

อย่างไรก็ดี แม้มุมมองทางธุรกิจจะให้นัยทางการลงทุนของบางทีมหรือบางพรรคเป็นไปได้ในทางลบ กล่าวคือ ไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

แต่เหตุผลในทางการเมือง นักลงทุนในเส้นทางนี้แม้จะประสบความล้มเหลวหรือไม่คุ้มทุน พวกเขาก็ยังลงทุนอยู่ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์บทเรียน และรอการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์และผลตอบแทนที่อาจจะมีให้เขาในฤดูกาล (การเลือกตั้ง) ต่อไป

ถึงแม้ว่า ผลการศึกษาจะให้ข้อสรุปบางอย่างว่า กำลังเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิธีการหาเสียง เป็นไปได้อย่างกว้างขวาง ซับซ้อนและลึกซึ้ง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทน

แต่เงินก็มิใช่ปัจจัยเดียวที่บงการให้ผู้ใดเป็นผู้แทนเนื่องจากการได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทน ยังขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การหาเสียง ขึ้นอยู่กับคุณธรรม และการปรับปรุงบุคลิกภาพของผู้สมัครตลอดจนผู้นำพรรคให้สอดคล้องกับความนิยมของประชาชนด้วย

มิฉะนั้นแล้ว "ประชาธิปไตย" ก็จะกลายเป็น "ธนาธิปไตย" ที่หมายถึงเรื่องราวแห่งการต่อสู้กันทางการเงินมิใช่เรื่องของการต่อสู้ระหว่างนโยบายของแต่ละพรรคว่าประชาชนจะเลือกนโยบายใด

และหากเป็นดังนี้ในระยะยาว "ประชาธิปไตย" ก็จะแปลกแยกไปจากจินตภาพอันบริสุทธิ์อันเป็นตัว "ภูมิปัญญา" ที่สูงส่งของมนุษย์เอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.