"บมจ. เส้นทางใหม่ของบริษัทจดทะเบียน"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ภายในเวลา 2 ปีข้างหน้า บริษัทจดทะเบียนและรับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องแปรสภาพเป็นบริษัท มหาชน จำกัด (บมจ.) ตามข้อบังคับในกฎหมายใหม่ 4 ฉบับ คือ กฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีผลยกเลิกกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ฉบับเก่าทั้งหมด, กฎหมายบริษัทมหาชนซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกฉบับเก่าและตราขึ้นมาใหม่, พรบ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับที่ 12 และ พรบ. แก้ไข พรบ. เงินทุนหลักทรัพย์และเครดิตฟองซิเอร์

กฎหมายใหม่เหล่านี้ได้รับการแก้ไขสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน โดยกฎหมายฉบับแรกประกาศใช้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 16 มีนาคม 2535 และมีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 16 พฤษภาคม 2535

ส่วนกฎหมาย 3 ฉบับหลังเพิ่งประกาศเมื่อ 8 เมษายน 2535 เท่ากับมีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 มิถุนายน 2535

กฎหมายฉบับแรกและ 3 ฉบับหลังจะมีผลบังคับใช้ห่างกันประมาณ 23 วัน ซึ่งนที วิพุธกุล หัวหน้าฝ่ายจดทะเบียน1 กระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า "ระยะเวลาบังคับใช้ที่ห่างกันไม่มีผลกระทบ มันสามารถประสานใช้ร่วมกันได้"

นทีเปิดเผยถึงลักษณะของกฎหมายมหาชนฉบับใหม่ที่ต่างออกไปจากฉบับเก่าซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2521 และมีการแก้ไขปรับปรุงรวม 2 ครั้งว่า "กฎหมายเก่านั้นกำหนดเรื่องหุ้นและผู้ถือหุ้นไว้ละเอียดมาก นี่เป็นประเด็นที่ยุ่งยากมากแต่ในกฎหมายใหม่แทบจะไม่มีการกล่าวถึงเลย"

ในกฎหมายมหาชนฉบับเก่ากำหนดว่าบริษัทมหาชนต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ในจำนวนหุ้นหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนต้องมีการแบ่งสัดส่วนผู้ถือหุ้นออกเป็น 2 พวก คือ รายใหญ่และรายย่อย

หุ้นของบริษัททั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จะถือโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยซึ่งถือได้ไม่เกินรายละ 0.6% ของหุ้นทั้งหมด ส่วนหุ้นที่เหลือถือโดยรายใหญ่ คือรายละไม่เกิน 10% ของหุ้นทั้งหมด

นั่นเท่ากับว่าในข้อบังคับเดิม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่มีสิทธิถือหุ้นได้มากกว่าผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือข้อบังคับเดิมให้การปกป้องคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างมาก

ส่วนทุนจดทะเบียนนั้นกำหนดว่าต้องเป็นทุนที่ชำระด้วยตัวเงินไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท รายละเอียดในกฎหมายเก่าเหล่านี้ได้ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว ไม่มีปรากฏในกฎหมายใหม่แม้แต่น้อย

นทีเปิดเผยว่า "กฎหมายใหม่กำหนดไว้เพียงว่าบริษัทมหาชนคือ บริษัทที่มีความประสงค์จะเสนอขายหุ้นแก่ประชาชน แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าต้องขายให้ประชาชนอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าสามารถขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมได้ด้วย อันนี้ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสอดคล้องกับการขายหุ้นปัจจุบันในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีทั้งการขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมและขายให้ประชาชนสุดแท้แต่มติของคณะกรรมการบริษัทจะพิจารณาจัดสรร"

ส่วนการจัดตั้งบริษัทมหาชนสามารถทำได้ใน 2 กรณี คือจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ และวิธีที่สองคือการแปรสภาพบริษัทจำกัด (บจ.) เป็น บมจ. ซึ่งกรณีหลังนี้บริษัทที่เข้าข่ายคือ บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

บริษัทจำกัดในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแปรสภาพด้วยการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติพิเศษอนุมัติให้มีการแปรสภาพการเปลี่ยนแปลงหนังสือบริคณห์สนธิ การเปลี่ยนชื่อบริษัท การเปลี่ยนข้อบังคับใหม่ซึ่งบริษัทต้องร่างโดยไม่ขัดกับกฎหมายมหาชน วัตถุประสงค์ซึ่งต้องมีการระบุอย่างชัดเจนไม่ใช่การระบุแบบกว้าง ๆ อย่างที่เคยทำมา การเลือกกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คนและการเลือกตั้งผู้สอบบัญชีใหม่รวมถึงดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ตามที่จำเป็น

เมื่อได้มติพิเศษมาดำเนินการแล้ว กรรมการในบริษัทจำกัดต้องส่งมอบกิจการให้กรรมการชุดใหม่ของบริษัทมหาชนจำกัดภายใน 7 วัน และต้องดำเนินการจดทะเบียนแปรสภาพภายใน 7 วันนับแต่วันที่ประชุมมติพิเศษดังกล่าวเสร็จ

กระบวนการแปรสภาพจาก บจ. เป็น บมจ. นั้นต้องจดทะเบียนทั้งที่กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์และที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนหรือบุคคลอื่นนอกจากผู้เริ่มจัดตั้ง

พิเศษ เสตเสถียร รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็นว่า "ข้อต่างของ บจ. กับ บมจ. คือการแจ้งเกิด หากจดทะเบียนแจ้งเป็นบริษัทมหาชนก็สามารถขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปได้ หากจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ไม่สามารถขายได้ ส่วนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะเพิ่มทุนเสนอขายหุ้นต่อประชาชนต้องแปรสภาพเป็น บมจ. เท่านั้นจึงจะทำได้ นั่นหมายความว่าต้องแปรสภาพตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้ หากต้องการเพิ่มทุนขายหุ้นต่อประชาชน ยกเว้นบริษัทที่ได้ขออนุญาตเพิ่มทุนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ไว้ ก่อนหน้ากฎหมายประกาศใช้ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องแปรสภาพเป็น บมจ."

นทีและพิเศษต่างให้ข้อคิดเห็นที่เหมือนกันประการหนึ่งว่าขั้นตอนการแปรสภาพเป็น บมจ. หรือจดทะเบียนเป็น บมจ. ในกฎหมายมหาชนฉบับใหม่ค่อนข้างสะดวก ไม่หยุมหยิมเหมือนกฎหมายฉบับเดิมเมื่อปี 2521 และไม่น่ากลัวอย่างที่เคยคิดกันไว้

แพทย์หญิงประภา วงศ์แพทย์ กรรมการรองผู้จัดการบริษัท สำโรงการแพทย์ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงความยุ่งยากมากมายสมัยที่สำโรงฯ ต้องแปรสภาพเป็น บมจ. ตามกฎหมายเก่าว่า "ระยะเวลาที่ดำเนินการเพื่อแปรสภาพเป็น บมจ. ใช้เวลานานถึง 2 ปีกว่า แถมยังมีปัญหาจุกจิกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายย่อยที่ต้องคอยดูให้เป็นไปตามกฎหมายตลอดเวลา"

แต่ในกฎหมายใหม่ประเด็นเรื่องสัดส่วนการถือหุ้น ไม่มีระบุไว้อีกต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก ๆ ในความเห็นของผู้บริหารสำโรงการแพทย์ฯ ที่มีประสบการณ์แปรสภาพเป็น บมจ. มาก่อน

ศิรินันท์ จันทโร กรรมการผู้จัดการ บล. ยูเนี่ยน ให้ความเห็นสนับสนุนการที่จะต้องเป็น บมจ. ในอนาคตว่า "ข้อดีอย่างหนึ่งที่จะได้หากมีการแปรสภาพก่อนวันที่ 8 มิถุนายนนี้ คือการประหยัดค่าธรรมเนียมประมาณ 40,000 บาท เพราะค่าธรรมเนียมหลังกฎหมายใหม่ประกาศใช้จะเพิ่มขึ้นทุกอย่าง"

อย่างไรก็ดี ศิรินันท์ ยืนยันว่าหากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีการเพิ่มทุนอะไรเลยก็สามารถอยู่ได้อีก 2 ปี โดยไม่ต้องแปรสภาพเพราะกฎหมายจะบังคับก็ต่อเมื่อบริษัทต้องการระดมทุนจากประชาชน

พิเศษ กล่าวอย่างชัดเจนว่า "การเป็น บมจ. เอื้อประโยชน์แก่การระดมทุนมากกว่า บจ. ในแง่ที่สามารถขายหุ้นให้กับประชาชนได้ บมจ. กับการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นคนละเรื่องกัน บมจ. สามารถอยู่นอกตลาดฯ ได้และกฎหมายหลักทรัพย์ก็เปิดโอกาสให้มีการระดมทุนในหลายรูปแบบด้วย"

ภายใน 2 ปีข้างหน้า สำโรงการแพทย์ฯ คงจะไม่โดดเดี่ยวเป็น บมจ. เพียงรายเดียวในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกต่อไปเพราะจะมี บจ. จำนวนมากแปรสภาพมาเป็น บมจ.



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.