"ขาดแคลนน้ำ ปัญหาระยะยาวที่ต้องเร่งแก้ไข"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนตลอดระยะห้าปีที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบถึงคนทั้งประเทศหนีไม่พ้นปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ รัฐบาลแต่ละรัฐบาลในช่วงเวลานั้น ๆ ทุ่มเทงบประมาณจำนวนไม่น้อยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรที่ต้องอาศัยน้ำในการเพาะปลูก

วิธีการจัดการกับปัญหาภัยแล้งในแต่ละปี ยังคงวนเวียนอยู่ในสองสามวิธีการ ได้แก่ การจัดหารถบรรทุกน้ำแจกจ่ายไปยังแต่ละจังหวัดแต่ละอำเภอ หรือการส่งเครื่องสูบน้ำขนาดต่าง ๆ ไปช่วยในการปลูกพืชฤดูแล้ง และการทำฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนมาก ตลอดจนกระทั่งการประกาศลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้เกษตรกรได้

พื้นที่ความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี รายงานจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งว่าในช่วงต้นฤดูแล้งนี้ พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายไปแล้วถึง 8 ล้านไร่ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมีถึง 67 จังหวัด นับได้ว่าเกือบจะครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

หน่วยงานทั้งที่สังกัดกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรฯ ได้ทุ่มงบประมาณเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาทเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวและในปีนี้ อาจต้องใช้งบประมาณที่สูงไปกว่านั้นหลายเท่าตัวเนื่องจากเป็นงานชิ้นแรกที่รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกสุจินดา คราประยูรให้ความสำคัญอันดับหนึ่งในการจัดการแก้ไข

คงไม่มีใครคาดถึงว่าน้ำจะเป็นทรัพยากรที่อยู่ในขั้นขาดแคลนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ประชาชนอยู่กันอย่างอุดมสมบูรณ์มาชั่วนาตาปี

ปัญหาในเรื่องการขาดแคลนน้ำพุ่งสูงสุดตอนฝนขาดช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายนของแต่ละปี แต่หากพิจารณาโดยรวมแล้วปัญหาเรื่องน้ำกำลังกระจายความรุนแรงจากระยะสามเดือนเป็นทุก ๆ เดือนและเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี

ทั้ง ๆ ที่ในปีหนึ่ง ๆ ค่าใช้จ่ายของรัฐจะถูกจัดสรรไปใช้ในเรื่องเกี่ยวกับน้ำถึงสามหมื่นล้านบาท โดยที่มีหน่วยงานต่าง ๆ 24 กรม ภายใต้สังกัด 7 กระทรวงเป็นผู้ดูแล

แต่ละหน่วยงานต่างดูแลเฉพาะในขอบข่ายหน้าที่ของตน เช่น ด้านการเกษตร กรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในภาพรวมของการจัดสรรน้ำทั้งประเทศยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ

อภิชาต อนุกูลอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติให้ความเห็นในปัญหาเรื่องน้ำว่า

"ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะว่าเราไม่มีระบบการบริหารการจัดการที่ดี จริงอยู่เรามีหน่วยงานเยอะ ซึ่งดูเหมือนให้ความสนใจ แต่ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาเรื่องความไม่มีเอกภาพ กระทรวงเกษตรก็ดูแลของเขา กระทรวงวิทยาศาสตร์ก็มีแผน ต่างคนต่างมีแผน แต่ไม่เคยเอามาเทียบว่าซับซ้อนกันหรือเปล่า"

อภิชาติเห็นว่าการจัดการทรัพยากรน้ำต้องมีการวางแผนในระยะยาว จึงจะแก้วิกฤตในเรื่องการขาดแคลนน้ำได้ แต่ที่ผ่านมายังคงปล่อยให้แต่ละหน่วยงานทำกันไปโดยไม่มีหน่วยงานกลางที่ดูแลทรัพยากรน้ำทั้งประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หน่วยงานที่อภิชาติเป็นผู้ดูแลอยู่ก็มิได้มีอำนาจหน้าที่เพียงพอที่จะรับผิดชอบการจัดการบริหารน้ำโดยรวมทั้งประเทศได้ เพราะเป็นเพียงหน่วยงานเล็ก ๆ ที่ตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี บทบาทหน้าที่และความสำคัญในการจัดการทรัพยากรน้ำจึงขึ้นอยู่กับความใส่ใจของรัฐบาลแต่ละชุด ที่จะเห็นความสำคัญและสั่งการให้ทำในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ซึ่งต่างจากเรื่องการพลังงานแห่งชาติที่มีกฎหมายรองรับกำหนดอำนาจหน้าที่ ในการดูแลรับผิดชอบเรื่องพลังงานทั้งประเทศ

ทางออกในการจัดการทรัพยากรน้ำ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เห็นว่ามีสามประเด็นใหญ่ ๆ ที่ควรเร่งปฏิบัติ

ประเด็นแรกคือการจัดตั้งองค์กรถาวรขึ้นมาดูแลเรื่องน้ำของประเทศ หรือที่เรียกว่า NATIONAL WATER BOARD ทำหน้าที่ในการประสานงานโครงการต่าง ๆ ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ

ประเด็นที่สองคือ การจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำทั้งประเทศ ประเทศไทยมีลุ่มน้ำทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำ แต่ไม่เคยมีการสำรวจศักยภาพต้นทุนน้ำ และการใช้น้ำของทุกลุ่มน้ำ มีเพียงไม่กี่ลุ่มน้ำที่ได้รับการพัฒนา และโครงการพัฒนาของแต่ละหน่วยงานที่ลงไปก็มิได้มีการวางแผนร่วมกัน บางแห่งมีโครงการพัฒนาที่ซ้ำซ้อนกัน เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีโครงการเขื่อนต่าง ๆ ที่จัดสรรการใช้น้ำมากเกินกว่าต้นทุนของน้ำทั้งหมดที่มีอยู่ จึงเป็นการสูญเสียงบประมาณไปอย่างไม่มีประโยชน์ ขณะที่บางลุ่มน้ำไม่ได้รับการเหลียวแลปล่อยให้น้ำไหลทิ้งลงสู่ทะเลไปอย่างสูญเปล่า

ประเด็นที่สำคัญที่สุดอีกประเด็นหนึ่งคือการออกกฎหมายในเรื่องสิทธิการใช้น้ำซึ่งควรมีการวางกติกาในการใช้น้ำระหว่างภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม กลุ่มผู้บริโภคทั่วไป มิเช่นนั้นความขัดแย้งระหว่างการใช้น้ำจะเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะแต่ละหน่วยเศรษฐกิจต่างต้องใช้ทรัพยากรร้ำเป็นปัจจัยหลักทั้งสิ้น

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโครงการต่าง ๆ ล้วนเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร แต่ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้น้ำ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการอันประกอบด้วยโรงแรม สนามกอล์ฟ เป็นต้น ความขัดแย้งระหว่างเอกชนกับเอกชนในเรื่องสิทธิในการใช้น้ำควรจะมีกรอบกติกาในการจัดสรรที่ชัดเจน

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีอยู่เป็นระยะ ๆ แม้กระทั่งระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง เช่น กรมชลประทานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทั้งสองหน่วยงานต่างใช้แหล่งน้ำเดียวกัน แต่ไม่มีหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเรื่องนี้ นอกจากเป็นการตกลงแบบสัญญาสุภาพบุรุษของทั้งสองฝ่าย เมื่อเกิดปัญหาในเรื่องน้ำขึ้น หากสองฝ่ายนี้ไม่สามารถตกลงกันได้ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีหรือเจ้ากระทรวงทีเกี่ยวข้องเป็นผู้สั่งการ

"ตอนนี้ศักยภาพของน้ำทั้งหมดเราใช้ไปประมาณ 30% เราสามารถพัฒนามาใช้ได้มากกว่านี้ ปัญหาคือเราไม่มีแผนชัดเจนว่าจะพัฒนาที่ไหน จะบริหารยังไง วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นเฉพาะหน้า ถ้ามีการวางแผนไม่มีปัญหาหรอก แต่ถ้าไม่มีแผนระยะยาว เราก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อย ๆ อย่างนี้"

ในช่วงนี้ที่ปัญหาเรื่องน้ำเป็นเรื่องใหญ่ สิ่งที่อภิชาติเป็นห่วงคือ การเร่งสร้างผลงานของ ส.ส. เพื่อเอาใจประชาชน โดยเสนอโครงการพัฒนาต่าง ๆ อย่างไม่ได้คำนึงถึงปัญหาโดยรวมทั้งหมด หลายครั้งที่ POLITICAL PROJECT เหล่านี้สูญเสียงบประมาณไปแต่ไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มประโยชน์

การแก้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ณ วันนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำในการอุปโภค-บริโภคและภาคการผลิตกำลังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะยาว ดังนั้นความใส่ใจของรัฐจึงไม่ควรจะจำกัดอยู่ในระยะที่ฝนขาดช่วงในสามเดือนนี้เท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.