เชนหน้าใหม่พาเหรดเข้าไทย เปิดเกมรุกตลาดโรงแรม


ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

จำนวนห้องพักโรงแรมที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ไป(2551-2553)เชื่อได้ว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 20,000 ห้อง สืบเนื่องมาจากการลงนามเซ็นสัญญาระหว่างโรงแรมไทยกับเชนต่างประเทศซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 15 แบรนด์ การเข้ามาของเชนบริหารโรงแรมจากต่างประเทศครั้งนี้กลายเป็นตัวช่วยที่จะเริ่มพัฒนาแบรนด์โรงแรมใหม่ๆรวมไปถึงการนำแบรนด์ตัวใหม่เข้ามาเสนอนักลงทุนโรงแรมในไทยเพื่อรับบริหารมากขึ้น

นอกจากนี้พฤติกรรมของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กำลังเปลี่ยนไปจากเดิมก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การแข่งขันของโรงแรมต้องพึงพาเชนต่างประเทศเพื่อหาลูกค้า ขณะที่เซอร์วิสอพาต์เม้นต์ที่เกิดขึ้นจำนวนมากก็กลายเป็นคู่แข่งขันทางการตลาดที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด

ดังนั้นการเกิดขึ้นใหม่ของโรงแรมภายใต้แบรนด์ต่างชาติหน้าใหม่จึงเริ่มมีให้เห็นกับมากขึ้นและส่วนใหญ่มักเน้นในเรื่องของความแปลกใหม่ในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมอลอฟสีลม ที่กำลังจะเปิดให้บริการในปี 2552 ซึ่งเป็นการลงทุนโดยบริษัท ทีทีซีแลนด์ฯ ของเจริญ สิริวัฒนภักดี หรือแม้แต่โรงแรมดับเบิลยู โฮเทล กรุงเทพฯกลุ่ม นอร์ธสาธร โฮเท็ล และโรงแรมโมเว็นพิค พัทยา ซึ่งอยู่ภายในโครงการไวท์ แซนด์ บีช แห่งค่าย เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเมนท์ ที่เตรียมพร้อมเปิดให้บริการในเร็วๆนี้

ความชาญฉลาดของเชนต่างประเทศที่นำแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเสนอเงื่อนไขรับบริหารโรงแรมในไทย ถือเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้อินเตอร์เชนสามารถเพิ่มจำนวนโรงแรมภายใต้การบริหารได้มากขึ้น เทียบกับการใช้แบรนด์เดิมๆที่เข้ามาทำตลาดในไทยก่อนหน้านี้ ที่อาจติดเงื่อนไขว่าหากใช้แบรนด์ชื่อนี้บริหารโรงแรมในทำเลหนึ่งแล้วจะไม่สามารถรับบริหารเพิ่มในทำเลเดียวกันได้ ประกอบกับปัจจุบันโรงแรมใหม่ๆในไทยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และหลากหลายสไตล์ โดยเน้นการออกแบบมีดีไซน์ มีลูกเล่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น ทำให้บางแห่งไม่ได้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่แบรนด์เหล่านี้รับบริหาร

ดังนั้นการสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมา จึงเป็นช่วงโอกาสของเชนโรงแรมต่างประเทศที่จะเข้ามาขยายธุรกิจรับบริหารโรงแรมในไทยกว้างขึ้น ปัจจุบันจึงมีให้เห็นกันมากขึ้น อย่างเช่น เชนแอคคอร์ ที่พยายามสร้างแบรนด์ใหม่อย่างเอ็มแกลอรี่ เพื่อรับบริหารโรงแรมสไตล์บูติก หรือโรงแรมในรูปแบบสไตล์โลว์คอสต์ที่เริ่มการลงทุนในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันเชนอินเตอร์คอนติเนนตัล ก็นำแบรนด์ฮอลิเดย์ อินน์ เอกซ์เพรส มารับบริหารโรงแรมใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในย่านประตูน้ำ

เป็นที่น่าสังเกตว่าการรับบริหารโรงแรมของเชนต่างชาติเดิมส่วนใหญ่จะเป็นเชนจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันเริ่มมีเชนจากตะวันออกกลางให้ความสนใจและเริ่มรุกตลาดในแถบเอเชียกันมากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มจะเข้ามารับบริหารโรงแรมในไทยมากขึ้นด้วยเช่นกัน ล่าสุดว่ากันว่าเชนจูไมร่า จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์รับบริหารโรงแรมระดับ 6 ดาวมีแผนจะรับบริหารโรงแรมแห่งหนึ่งบนเกาะแรด จ.ภูเก็ต และเป็นการร่วมลงทุนกับนักลงทุนแคนาดาอีกด้วย

การเข้ามาของเชนต่างประเทศโดยเฉพาะหน้าใหม่อย่างตะวันออกกลาง กำลังสร้างสีสันให้กับวงการโรงแรมในประเทศไทย โดยเฉพาะเชนต่างประเทศด้วยกันที่ต้องปรับตัวรองรับกับกระแสการเปิดเกมรุกเข้ามาของแบรนด์น้องใหม่

มร.ไมเคิล ไอเซนเบอร์ก ประธานบริษัทและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก แอคคอร์ มีแผนที่จะเปิดตัวแบรนด์ใหม่เช่นกัน ภายใต้ชื่อ เอ็มแกเลอรี่ (MGallery) เพื่อรับบริหารโรงแรมในสไตล์บูติก ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นโรงแรมเก่าที่มีความสวยงามด้านสถาปัตยกรรม โดยจะถูกออกแบบโรงแรมใหม่ทั้งหมดให้มีดีไซน์กิ๊บเก๋ และจำนวนห้องพักตั้งแต่ 75-200 ห้อง โดยแบรนด์นี้จะเริ่มรับบริหารโรงแรมแรกในไทย บริเวณย่านสยามสแควร์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และยังถือเป็นแห่งแรกของการเปิดตัวแบรนด์เอ็มแกเลอรี่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วย

การเพิ่มแบรนด์ใหม่ขึ้นมาต่อกรกับเชนต่างประเทศด้วยกันของเชนแอคคอร์ เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ระดับโลกที่ถูกวางไว้ในการขยายธุรกิจซึ่งจะมีการรีแบรนด์ดิ้งของเดิมที่มีอยู่ในมือ อาทิ โซฟิเทล ,พูลแมน, โนโวเทล, แกรนด์ เมอร์เคียว, ออลซีซั่นส์, เมอร์เคียว, ไอบิส และฟอร์มูล 1 เพื่อสร้างความแตกต่างกันที่ชัดเจนให้เหมาะสมกับการให้บริการและตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในตลาดธุรกิจโรงแรม รวมทั้งยังเป็นการตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายทั้งทางด้านผลิตภัณฑ์และการบริการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

ส่งผลให้ภายในปี 2553 แอคคอร์มีแผนจะบริหารโรงแรมเพิ่มอีกกว่า 12 แห่งในไทย จากเดิมที่มี 19 แห่ง โดยส่วนใหญ่ในไทยจะเข้าบริหารภายใต้แบรนด์อีบิส ซึ่งมีถึง 4 แห่ง ได้แก่ อีบิส ป่าตอง ภูเก็ต, อีบิส สาธร กรุงเทพ, อีบิส สมุย สุราษฎร์ธานี และอีบิส พัทยา ชลบุรี นอกจากนี้ยังมีโรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท ที่มีขนาด 380 ห้อง โรงแรมโซฟิเทล สีลม และโรงแรมเอ็มแกเลอรี่ ซึ่งขณะนี้ทั้งหมดอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

ขณะที่ มร.แอนโทนี อาร์มาส ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บจก. แมริออท โฮเต็ลส์ ไทยแลนด์ ยอมรับว่า แมริออท จะนำแบรนด์คอร์ทยาร์ดเข้ามารับบริหารโรงแรมในไทยมากขึ้นเช่นกัน โดยจะเข้าไปบริหารโรงแรมใหม่อีก 2 แห่ง ซึ่งเป็นการลงทุนของบจก.เดสติเนชั่น พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนจากอเมริกา ได้แก่โรงแรมคอร์ทยาร์ด โดย แมริออท ที่ป่าตอง จำนวน 399 ห้อง ,โรงแรมคอร์ทยาร์ด โดย แมริออท หาดกมลา ขนาด 180 ห้อง คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนกันยายนนี้ หลังล่าสุดเพิ่งบริหารโรงแรมไปแล้ว คือโรงแรมคอร์ทยาร์ด โดย แมริออท ภูเก็ต ณ หาดสุรินทร์ มีห้องพักจำนวน 256 ห้อง และโรงแรมคอร์ทยาร์ด โดย แมริออท หัวหิน ณ หาดชะอำ มีห้องพักจำนวน 243 ห้อง ซึ่งแบรนด์

น้องใหม่อย่างคอร์ทยาร์ดถือเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ของโรงแรมระดับ 4 ดาวในไทย ที่พยายามเน้นเรื่องของคุณภาพแต่ราคาประหยัดไม่แพงจนเกินไปนักหวังเจาะกลุ่มครอบครัวเป็นหลัก

นอกจากนี้แมริออทยังมีแผนที่จะขยายเข้าไปบริหารโรงแรมเพิ่มเติมภายใต้แบรนด์ เรเนซองส์ ได้แก่ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ จำนวน 333 ห้อง เปิดบริการภายในปีนี้ ,โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ บนถนนสุขุมวิท จำนวน 310 ห้อง และ โรงแรมเรเนซองส์ ภูเก็ต รีสอร์ท แอนด์ สปา จำนวน 175 ห้องพัก คาดเปิดบริการในปี 2553

การเปิดเกมรุกของเชนต่างประเทศที่เข้ามาใช้ฐานทัพโรงแรมในประเทศไทยเป็นสนามต่อสู้แข่งขันกันเริ่มทวีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อมีเชนน้องใหม่อย่างตะวันออกกลางเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ ดังนั้นเชนจากยุโรปและอเมริกา จ้าวเดิมที่ครองตลาดในแถบเอเชียจึงต้องเร่งปรับตัวงัดกลยุทธ์ต่างๆออกมาฟาดฟันหวังสกัดกั้นคู่แข่งขัน แต่กลเกมครั้งนี้อนาคตจะเป็นอย่างไร?จึงต้องจับตาดู


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.