"แบงก์ทหารไทยเล็งเปิดสาขาที่เกาะกง"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะนี้แบงก์ไทยแห่ขยายฐานเข้ากัมพูชา โดยใช้วิธีการหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุน การตั้งสาขา สำนักงานตัวแทน แบงก์เหล่านี้ต่างเลือกสถานที่เดียวกันคือ กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา ด้วยความคิดที่ว่าเมืองหลวงย่อมต้องเป็นศูนย์กลางทางการค้าการลงทุน และการเงินดีกว่าเมืองอื่น ๆ

แต่ธนาคารทหารไทยซึ่งเป็นแบงก์อันดับกลางกลับเลือกสถานที่ที่เป็นเมืองหน้าด่านอย่างเกาะกงด้วยเหตุผลที่ว่า เกาะกงยังเป็นเมืองยุทธศาสตร์ทางการค้าของกัมพูชาในปัจจุบัน

ประเสริฐ วัฒนา กรรมการฝ่ายต่างประเทศ หอการค้าจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "การค้าที่เกาะกงสามารถทำให้เขมรมีรายได้เข้าประเทศประมาณเดือนละ 100 ล้านบาท เป็นเมืองการค้าที่สร้างรายได้สูงสุดให้แก่ประเทศเปิดใหม่แห่งนี้ และยังเป็นเมืองที่ได้เปรียบดุลการค้าไทยมาตลอด แม้ว่าที่ผ่านมา ไทยได้ส่งสินค้าไปขายยังเมืองต่าง ๆ ในเขมรและโฮจิมินห์ของเวียดนามโดยลำเลียงเข้าทางเกาะกงเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันไทยก็สั่งสินค้าเข้าจากเขมรเป็นจำนวนมากเช่นกัน"

ปี 2534 มูลค่าการค้าที่ผ่านเกาะกงของเขมรและด่านศุลกากร อ. คลองใหญ่ของไทย มีค่าเท่ากับ 335.30 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 290.56 ล้านบาท (เพิ่มจากปี 2533 ประมาณ 36.51%) มูลค่าการส่งออก 44.74 ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้า 245.82 ล้านบาท

สินค้าที่นำเข้าด้านคลองใหญ่ ซึ่งเป็นบริเวณชายแดนไทยที่อยู่ตรงข้ามกับเกาะกง ส่วนมากเป็นไม้ซุง ไม้แปรรูปถึง 81.53% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด แต่สินค้าที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่คือสินค้าอุปโภค บริโภค มูลค่าสินค้าจึงมีความแตกต่างกันสูง

นอกจากจุดค้าขายตรงคลองใหญ่-เกาะกงแล้ว จังหวัดตราดซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับเขมรทางทะเลเป็นระยะทาง 165.5 กิโลเมตรและทางบกมีเทือกเขากั้นพรมแดนเป็นระยะทาง 165 กิโลเมตร ทำให้มีการติดต่อค้าขายระหว่างประชาชนสองประเทศอยู่กระจัดกระจายนอกเหนือไปจากคลองใหญ่-เกาะกง โดยมีทั้งผ่านและไม่ผ่านพิธีการศุลกากรเป็นจำนวนมาก

ผู้จัดการสาขาธนาคารใหญ่หลายแห่งแถบชายแดนประมาณการมูลค่าการค้าในช่วงก่อนปี 2532 มีมูลค่าราว 2,000 ล้านบาทต่อเดือน หลังจากนั้นมูลค่าการค้าลดลงเดือนละ 1,000 ล้านบาท เพราะ พล.อ. ชาติชาย ชุณหวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า (เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งนายกฯ) จึงทำให้ประตูการค้าเปิดเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งที่อรัญประเทศ สินค้าอุปโภคบริโภคบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องลำเลียงทางเรือเพื่อส่งเข้ายังพนมเปญ ก็จะเปลี่ยนมาใช้เส้นทางปอยเปตแทนเกาะกง เช่น อาหารกึ่งสำเร็จรูป มาม่า ไวไว ยำยำ วิทยุเครื่องเล็ก เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วสินค้าไทยที่เคยอาศัยเส้นทางพนมเปญเพื่อส่งเข้าโฮจิมินห์ไม่สามารถจะใช้เส้นทางเดิมได้ เนื่องจากเวียดนามประกาศยกเลิกมาตรการเมืองคู่การค้าที่เคยใช้กับประเทศเขมร อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการค้าที่ทางด่านศุลกากร อ. คลองใหญ่ ระบุว่าไม่ผ่านพิธีการฯ มีเพียง 95-120 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น โดยคิดประมาณการจากผู้ประกอบการค้า 40-50 ราย เฉลี่ยรายละประมาณ 200,000 บาทต่อเดือน

สุรพงษ์ วิญญาวงศ์ ผู้จัดการภาคกลาง 1 ธนาคารกรุงเทพ เล่าว่า "แบงก์กรุงเทพเป็นแบงก์แรกที่เปิดสำนักงานที่คลองใหญ่ ด้วยเหตุผลที่ว่าปริมาณการค้าระหว่างไทยกับเขมรที่นี่มีมากกว่าจุดอื่น ต่อมาแบงก์กสิกรไทยและไทยพาณิชย์จึงมาเปิดตามในปี 2533 แม้ว่าขณะนี้การค้าคลองใหญ่กับเกาะกงจะน้อยลงก็ตาม แต่ทางแบงก์ยังเห็นว่าเกาะกงเป็นจุดที่จะให้บริการทางการเงินได้ต่อไป ซึ่งในอนาคตแบงก์กรุงเทพอาจจะเปิดสาขาขึ้นที่เกาะกงก็เป็นได้"

แหล่งข่าวจากวงการแบงก์พาณิชย์เปิดเผยว่า เกาะกงเป็นที่จุดที่มีการลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษีไม่น้อยทีเดียว อาทิ ปลากรอบ ไม้จันทน์ ไม้แปรรูปบางประเภท บางครั้งก็มีบุหรี่ต่างประเทศลักลอบขึ้นที่เกาะกงฝั่งตรงข้ามคลองใหญ่แล้วจึงทยอยเข้าไทย ขณะเดียวกันก็มีการลักลอบขายสินค้าอุปโภค บริโภค เช่น สบู่ ยาสีฟัน เสื้อผ้า วิทยุ รถจักรยานยนต์ให้กับเขมร ส่วนใหญ่ผู้ทำการลักลอบก็คือชาวประมงของทั้งสองฝั่งประเทศ ซึ่งส่วนนี้ก็มีการใช้บริการธนาคารด้วย อาทิ การโอนเงินค่าสินค้า การออกดราฟต์ การใช้เช็คและการใช้สินเชื่อเพื่อประกอบการค้า

"แม้ว่าจะเป็นการลักลอบค้าขาย แต่แบงก์ชายแดนก็ต้องให้บริการเพราะเป็นสภาพปกติของชายแดนทุกแห่ง" แหล่งข่าวกล่าวและเสริมอีกว่า รายได้ของแบงก์ชายแดนแถบคลองใหญ่ ส่วนมากมาจากค่าธรรมเนียมการโอนเงินถึง 40% นอกนั้นก็เป็นค่าบริการออกดราฟต์ เช็คและสินเชื่อ สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนยังมีไม่มากนัก เพราะชายแดนเขมรใช้เงินบาทซื้อขายสินค้าอยู่แล้ว

สุทัย อุนนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "สาขาที่จะเปิดในประเทศเขมรนั้นตอนแรกมั่นใจว่าจะตั้งที่เกาะกง แต่ขณะนี้บรรยากาศทางการค้าของเกาะกงไม่คึกคักเหมือนก่อน จึงต้องพิจารณาใหม่อีกครั้งระหว่างเกาะกงกับพระตะบองซึ่งเป็นเมืองที่มีแร่ธาตุ ป่าไม้และความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร กำลังทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะมีพ่อค้าเข้าไปลงทุนพอสมควร"

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวอีกคนหนึ่งจากแบงก์ทหารไทยให้ความเห็นว่า "เกาะกงยังเป็นจุดที่คณะกรรมการแบงก์สนใจอยู่ไม่น้อย แม้ว่าปริมาณการค้าจะลดลง เนื่องจากขณะนี้เขมรมีประตูเปิดรับนักลงทุนอยู่หลายประตูทำให้การค้าทยอยเข้าเมืองอื่น ๆ โดยไม่ต้องผ่านเกาะกงเหมือนเดิม เช่น เรือสินค้าจากสิงคโปร์ที่ขนสินค้าประเภทเครื่องยนต์ รถยนต์ วิทยุ หรือน้ำมันได้เปลี่ยนจากการเทียบท่าที่เกาะกงเข้าจอดท่าเรือน้ำลึกกัมปงโสมแทน แต่ในอนาคตคาดว่าผู้บริหารเกาะกงต้องปรับแผนพัฒนาแน่นอน"

ขณะนี้ผู้บริหารเกาะฯ มีแผนคร่าว ๆ เกี่ยวกับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบนเกาะฯ แล้ว และปัจจุบันการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) มีแผนจะตั้งสถานีจ่ายน้ำมันบนเกาะ เนื่องจากเกาะกงเป็นศูนย์จอดเรือประมงโดยธรรมชาติ เรือประมงไทย เวียดนาม และเขมรมักจะแวะจอดที่นี่

ผู้จัดการแบงก์บริเวณชายแดนหลายแห่งเชื่อว่าถ้าแบงก์ทหารไทยตั้งสาขาบนเกาะกง ก็อาจจะทำให้มีลูกค้าที่เคยข้ามมาใช้แบงก์ฝั่งไทยหันไปใช้บริการของทหารไทยแทนเพราะไม่ต้องเสียเวลาข้ามเรือไปกลับเหมือนอย่างเคย

การตั้งแบงก์ที่เกาะกงน่าจะดีกว่าตั้งที่พนมเปญในปัจจุบัน เพราะคนในเมืองหลวงส่วนใหญ่ยังไม่ไว้ใจระบบธนาคาร ห่างเหินการใช้บริการธนาคารมานานถึง 13-14 ปีในช่วงภาวะสงคราม

วัณกิตติ์ วรรณศิลป์ ผู้จัดการธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ ธนาคารร่วมทุนแห่งหนึ่งของเขมรกล่าวว่า "มีความลำบากใจมากในการทำความเข้าใจเกี่ยวระบบแบงก์ เพราะคนที่นี่ชอบเก็บเงินสดไว้กับตัวมากกว่าเพื่อเตรียมตัวไว้สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นในบ้านเมือง ประกอบกับเดิมแบงก์ชาติของเขมรเคยระดมเงินฝากกับประชาชนแล้ววางกฎระเบียบการถอนเงินยุ่งยาก ซับซ้อน เช่น ผู้ถอนต้องแจ้งเหตุผลการถอนและการนำไปใช้ เป็นต้น ทำให้คนเขมรค่อนข้างไม่เชื่อถือระบบแบงก์ แบงก์ที่ทำอยู่ตอนนี้มีปัญหาเรื่องระดมเงินฝากและการให้สินเชื่อเพราะคนเขมรคุ้นเคยกับการกู้เงินนอกระบบ"

สกุลเงินที่นิยมใช้ในพนมเปญคือ ดอลลาร์ เมื่อแรกเริ่มที่ตั้งแบงก์ใหม่ในปลายปีที่แล้ว ชาวพนมเปญไม่ยอมรับเงินบาทในการใช้จ่าย จนต้นปีที่ผ่านมาเงินดอลลาร์ขาดตลาด เป็นเหตุให้เงินบาทขึ้นมาทดแทน แต่ความเชื่อถือในเงินบาทก็ยังมีน้อยสำหรับนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาในเขมร ส่วนการซื้อขายสินค้าถ้าจ่ายเป็นเงินบาท พ่อค้าจะคิดราคาสูงกว่าจ่ายเป็นสกุลดอลลาร์

แหล่งข่าวกล่าวว่าถ้ามองถึงปัจจัยแวดล้อม ปัจจุบันเกาะกงยังไม่มีสาขาแบงก์หรือสถาบันการเงินมาเปิดให้บริการ หากแบงก์ทหารไทยจะเปิดสาขาที่นี่ก็น่าจะประกอบธุรกิจการเงินได้ดีกว่าที่พนมเปญ เพราะคนเขมรบริเวณชายแดนไทยคุ้นเคยกับระบบแบงก์มากกว่าและมีการใช้บริการอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินมาฝากหรือการขอใช้สินเชื่อประกอบการค้า ฉะนั้นแบงก์ที่ตั้งสาขาบนเกาะก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำประชาสัมพันธ์ หรือไม่ต้องเหนื่อยในการทำความเข้าใจกับผู้ใช้บริการมากนัก

แต่ในอนาคต พนมเปญอาจจะได้เปรียบกว่าเนื่องจากเป็นเมืองหลวง ซึ่งต่อไปคงจะไม่ต่างจากกรุงเทพฯ ของไทย เนื่องจากจะได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า ซึ่งอาจจะเฟื่องฟูกว่าเกาะกงก็เป็นได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.