|
Green Mirror...แม่น้ำโขง-อดีต ปัจจุบันและอนาคต
โดย
พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
แม่น้ำโขงมหานทีแห่งพญานาคสายนี้ เป็นสายใยชีวิตของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ต่ำกว่า 90 ล้านคน เส้นทางการไหลของแม่น้ำครอบคลุมเขตแดนหลายประเทศ ตั้งแต่มณฑลยูนนานของจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และไหลออกทะเลที่เวียดนาม ปัจจุบันกำลังเกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำโขง และอนาคตจะเป็นอย่างไร บทความนี้คงจะสะท้อนให้เห็นอะไรได้บ้าง
กำเนิดแม่น้ำโขง
แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดจากภูเขาตังกูลาชาน (Tangula Shan Mountain) ในที่ราบสูงทิเบต แม่น้ำโขงมีความยาว 4,880 กิโลเมตร นับว่ายาวเป็นอันดับที่ 12 ของโลก มีพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดใหญ่อันดับที่ 21 ของโลก และมีปริมาณน้ำท่าที่มากเป็น อันดับที่ 8 ของโลก จากแหล่งต้นน้ำมาถึง ลุ่มน้ำในจีนและพม่าเรียกว่า ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ส่วนที่ไหลผ่านไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม รวมกันเป็นลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ช่วงที่ไหลผ่านไทย-ลาว ตั้งแต่เชียงของลงมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี ทำหน้าที่เป็น พรมแดน มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เกิดขึ้นแล้วหลายแห่ง คนลาวอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และคนไทยอยู่ฝั่งขวา ไทยกับลาวจึงมีประเพณีร่วมกันอยู่หลายอย่างเสมือนบ้านพี่เมืองน้อง
มีการเล่าขานกันว่า ในถ้ำใต้ท้องแม่น้ำโขงมีพญานาคอาศัยอยู่ และอยู่มานานนับหมื่นปีแล้ว ตามตำนานเล่าขานกันว่า เดิมทีมีพญานาคอยู่สองตน อยู่ในมณฑลยูนนาน ต่อมาเกิดความขัดแย้ง ยก พวกต่อสู้กัน พญานาคที่ชื่อว่า ศรีสัตนาค พ่ายแพ้ จึงหนีพร้อมพรรคพวกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการเลื้อยมุดไปใต้ดิน ร่องรอยที่เลื้อยลดเลี้ยวไปกลายเป็นลำน้ำโขง ทุกวันนี้คนไทย-ลาวก็ยังเชื่อกันว่า พญานาคตนนี้ยังมีชีวิตอยู่ โดยอาศัยอยู่ใน ท้องน้ำที่ฝั่งหนึ่งเป็นเมืองเวียงจันทน์ และอีกฝั่งเป็นเมืองหนองคาย เป็นเหตุให้มีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคขึ้นทุกปี
เชื่อกันว่า ทุกๆ ปีในคืนวันเพ็ญของเดือนตุลาคม พญานาคจะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำและพ่นไฟเหมือนพลุออกมาเป็นพักๆ ดังที่พวกเราทั้งคนไทย คนลาว นักท่องเที่ยวได้รู้ได้เห็นกันมาบ้างแล้ว พวกฝรั่งรู้จักกันกันในชื่อว่า "payanak fireballs" หรือ "naga fireballs"
เรื่องพญานาคพ่นไฟเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องหลอกเล่น ก็ยังไม่มีการพิสูจน์สรุป ผลแน่ชัดลงไปได้ ในการค้นคว้าหาความจริง บางคนเชื่อว่าพญานาคพ่นไฟออกมาเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า บางคนคิดว่ามีคนแอบยิงพลุขึ้นมาในบริเวณนั้นเพื่อเรียกร้องความสนใจ ส่วนนักวิชาการให้เหตุผลว่าเป็นประกายไฟจากก๊าซมีเทนหรือก๊าซธรรมชาติที่สะสมอยู่ในตะกอนดินใต้ท้องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่ออย่างไรก็ตาม ประเพณีบั้งไฟพญานาคที่จัดขึ้นทุกปีก็ดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย คนลาว คนต่างชาติได้มิใช่น้อย เกิดกระแสเงินสะพัดในท้องถิ่นได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยล้านบาท
ทุกวันนี้ ผู้คนก็ยังมีความเชื่อในพญานาคที่คุ้มครองสายน้ำที่ลี้ลับแห่งนี้อยู่ พญานาคยังมีอิทธิพลต่อขวัญและกำลังใจของชาวบ้านท้องถิ่นอยู่มิใช่น้อย เชื่อกันว่าพญานาคช่วยให้เกิดฝนตก ช่วยให้เกิดผลผลิตจากการเพาะปลูก และความอุดมสมบูรณ์ในการกินอยู่ ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เป็นผลมาจากการผิดประเพณีโบราณและการที่ผู้คนไม่ให้ความเคารพพญานาคเท่าที่ควร
สายน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากในฤดูฝน
เหือดแห้งในฤดูแล้ง
ลักษณะการไหลของแม่น้ำโขงเชี่ยวกราก ผ่านแก่งหินต่างๆ มากมาย จากขุนเขาในจีนและที่ราบสูงในพม่า ไทย ลาว ลงมายังที่ราบลุ่มใหญ่ที่เป็นทะเลสาบ ในกัมพูชา กลายเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่อุดมสมบูรณ์ในเวียดนาม ฟังดูเส้นทาง การไหลของแม่น้ำโขงแล้ว ก็ไม่น่ากังขาเลยว่าจะมีภูมิประเทศและระบบนิเวศที่สวยงามหลากหลายขนาดไหน ไม่น่าแปลกใจเลยที่ใครๆ ก็จ้องจับที่จะตักตวงเอาประโยชน์จากทรัพยากรในลุ่มน้ำโขง นับแต่ฝรั่งเศสเข้ามาวางแผนอะไรต่ออะไรไว้ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม
แต่การไหลของแม่น้ำโขงมิใช่แต่จะให้ความสุขความรื่นรมย์เสมอไป แม่น้ำโขงยังแฝงไว้ด้วยพลังแห่งการทำลายล้างสูงด้วย ที่เห็นชัดคือ อัตราการไหลของแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างสุดขั้วในช่วงฤดูน้ำแล้งและฤดูน้ำหลาก ท้องน้ำที่เป็นหิน เป็นแก่ง เป็นผา เป็นน้ำตก จะโผล่ขึ้น มาเมื่อน้ำเหือดแห้งในฤดูแล้ง เป็นอุปสรรค ต่อการเดินเรือ แต่เมื่อเข้าหน้าฝน ก็จะมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเอ่อล้นท่วมสองฝั่งได้ง่ายๆ ปกติน้ำมีระดับต่ำสุดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และเดือนกันยายนเป็นเดือนที่มีระดับน้ำสูงสุด ในอดีตแต่ละปีจะมีน้ำท่วมพื้นที่แถบกัมพูชาและเวียดนามตอนใต้ แต่เป็นลักษณะการท่วมตามธรรมชาติในระดับที่ให้ประโยชน์ ไม่ใช่น้ำท่วมขัง และให้ผลดีต่อการกระจาย พันธุ์ปลาและการเพาะปลูก ที่กล่าวว่าเป็นผลดีเพราะในเส้นทางหลักของแม่น้ำมีทะเลสาบใหญ่ ชื่อว่า Tonle Sap ของกัมพูชารองรับไว้ ควบคุมไม่ให้น้ำท่วมมาก จนเกินไปและกักเก็บน้ำไว้ในหน้าแล้ง
มาถึงปีนี้ด้วยสาเหตุหลายประการ ทั้งสภาพภูมิอากาศโลกปรวนแปร ทั้งจากการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าหลายแห่ง การขยายลำน้ำเพื่อการเดินเรือ การขยายชุมชน การท่องเที่ยว และการชลประทานเพื่อเพาะปลูก ล้วนก่อให้เกิดภัยน้ำท่วมเอ่อล้น อย่างรวดเร็วผิดปกติ เข้ามาถึงจังหวัดต่างๆ ทางอีสานของไทย เสียหายเป็นบริเวณกว้าง นำหน้ามาก่อนที่จะถึงเดือนกันยายนด้วยซ้ำ
ความเสื่อมโทรม
เป็นที่แน่นอนว่า การที่ประเทศต่างๆ แย่งกันตักตวงผลประโยชน์และ ก่อสร้างสิ่งต่างๆ บนลำน้ำโขง เพื่อเอาชนะธรรมชาติมากถึงขนาดนี้ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อแม่น้ำโขงมากขนาดไหน ลองมาฟังนักวิชาการที่ทำรายงานออกมามากมายท่วมท้นจออินเทอร์เน็ตพอสรุปได้ดังนี้
ลุ่มน้ำโขงตอนล่างนับเป็นบ้านของพืชและสัตว์ที่หาได้ยากและใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด แต่ปัจจุบันระบบนิเวศเหล่านี้กำลังถูกรบกวนอย่างหนักจากสาเหตุหลาย ประการที่เราเรียกว่า การพัฒนา ได้แก่ การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า การสร้างถนนขยายเขตการค้า (เสรี) การขุดลอกขยายเส้นทางเดินเรือ การท่องเที่ยว การชล ประทาน และอื่นๆ ที่กำลังรุกเข้ามา
ป่าไม้ในลุ่มน้ำนี้มีหลายประเภท เช่น ป่าเขตมรสุม ป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่ากึ่งเขา ปัจจุบันพื้นที่ป่าหดหายไป เหลืออยู่ไม่ถึง 20% ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ ป่าที่เหลือนี้มีคุณภาพด้อยกว่าที่สูญเสียไป การปลูกป่าไม่ได้ช่วยมากนัก เพราะป่าที่ปลูกมีความหลากหลายทางชีวภาพต่ำและมีคุณค่าเชิงนิเวศน้อย
ระบบนิเวศของสัตว์น้ำยิ่งอยู่ในสภาพวิกฤติ เนื่องจากคุณภาพน้ำต่ำลง และสัตว์น้ำยังถูกกีดขวางเส้นทางอพยพ บริเวณที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ พื้นที่ รอบๆ ทะเลสาบ Tonle Sap ในกัมพูชา และบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม ซึ่งเคยเป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุมหลากหลายพันธุ์ ส่วนปลาใหญ่ที่อาศัยอยู่ในลำน้ำหลักของแม่น้ำโขง เช่น ปลาบึก กุ้งน้ำจืดขนาดใหญ่ ก็กำลังสูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว
การกัดเซาะตลิ่ง และระบบน้ำใต้ดิน ที่เชื่อมต่อระหว่างบนบกและลำน้ำกำลังเสียสมดุล ดินริมตลิ่งสองฝั่งกำลังพังทลาย อย่างรุนแรง เพราะถูกกัดเซาะด้วยการไหลของน้ำที่ปรวนแปรมากขึ้น น้ำใต้ดินบนบกที่ไหลเชื่อมต่อกับลำน้ำก็ลดระดับลง เพราะระบบการเติมน้ำและระบายน้ำที่ผิดไป ผลจากดินพังทลายลงในลำน้ำทำให้เกิดตะกอนดินสะสมอยู่ในอ่างเก็บน้ำและทะเลสาบมากขึ้น เกิดการตื้นเขิน ทำให้ความสามารถในการรองรับน้ำลดลง จึงเกิดน้ำท่วมน้ำแล้งได้ง่ายขึ้น บ่อยครั้งขึ้น
นักวิชาการหลายคนออกมาให้ความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในปัจจุบันว่า "น้ำท่วมที่เอ่อล้นจากแม่น้ำโขงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง แต่ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติเช่นนี้ เพราะระบบเครือข่ายที่รองรับน้ำท่วมของแม่น้ำโขงถูกบั่นทอนลง ไม่ว่าจะเป็นทะเลสาบ พื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ ระบบนิเวศริมฝั่ง แก่งหินที่ชะลอน้ำ การถ่ายเทน้ำสู่แผ่นดินลดลง รวมกันเป็นสาเหตุ ที่ทำให้น้ำท่วมอย่างรวดเร็วเป็นบริเวณกว้าง ยืนยันได้จากภาพถ่ายดาวเทียมป่าไม้ชุ่มน้ำรอบๆ ทะเลสาบ Tonle Sap ที่ซึมซับน้ำได้มากในอดีต ปัจจุบันพื้นที่ป่าลดลงเหลือเพียง 20% เท่านั้น บริเวณที่ยังคงมีความสมบูรณ์อยู่ มักเหลืออยู่ตามพรมแดนของประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่เข้าไม่ถึง เพราะเปราะบางต่อการกระทบกระทั่งทางความมั่นคง"
โครงการสร้างอุโมงค์ผันน้ำของไทย
โครงการนี้ถ้าจะสร้างกันจริงๆ ก็จะ เปลืองงบประมาณแสนล้านไปโดยใช่เหตุ มีรายงานชี้ชัดไว้ว่า ในช่วงหน้าแล้งที่เราต้องการใช้น้ำ ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงมีอยู่เพียงร้อยละ 1-2 ของปริมาณน้ำทั้งปีเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นยังมีข้อตกลงที่จะต้องทำระหว่างประเทศอีก มิใช่เรื่องง่าย ยังต้อง มีการเจรจากันอีกมาก เพราะมีผลกระทบกระเทือนหลายด้าน ทั้งสภาพธรรมชาติ วิถีชีวิตคน และยังมีความเปราะบางทางด้านความมั่นคงด้วย ที่ผ่านมาเรื่องการผลิตไฟฟ้านั้น สามารถตกลงกันได้ไม่ยากนัก เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย (ไทย-ลาว) แต่เรื่องการผันน้ำไปใช้สำหรับคนในประเทศ เป็นส่วนได้ของคนไทยเพียงฝ่ายเดียว
หากรัฐจะคำนึงถึงคนอีสานจริง ก็น่าจะลองพิจารณาสร้างแหล่งกักเก็บน้ำกระจายไปให้ทั่ว ซึ่งจะช่วยในการรองรับน้ำท่วม กักเก็บน้ำ ชะลอน้ำ และฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ แทนที่จะเป็น การก่อสร้างอภิมหาโปรเจ็กต์ขึ้นมาตามตัวเลขทางเศรษฐกิจ ที่น่าจะเป็นการทำลาย เสียมากกว่าให้ประโยชน์แก่คนท้องถิ่น หรือ ให้ประโยชน์แก่คนกลุ่มอื่นแทนที่จะเป็นคนท้องถิ่น
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะขอออกตัวว่า ผู้เขียนให้ความคิดเห็นนี้บนพื้นฐานความเข้าใจที่ยังไม่เห็นข้อมูลแท้จริง แต่เท่าที่ฟังความจากนักวิชาการหลายท่าน ต่างก็มีความคิดเห็นคัดค้านเสียเป็นส่วนมาก ถึงอย่างไรผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่า บทความนี้จะเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นภาพรวมสถานการณ์ของแม่น้ำโขง เพื่อช่วยกันรักษามหานทีสายนี้ไว้ให้เป็นสายชีวิตต่อไปอีกยาวนานในอนาคต "แม่โขงและพญานาค" คงไม่เหลือแต่เพียงชื่อแม่โขงในขวดสุรา และพญานาคบนกล่องไม้ขีดไฟเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|