ในอดีต ข้าวแกงรามาของพีเอสเอกรุ๊ป ถือว่าเป็นมิติการลงทุนแบบใหม่ที่สุธี
นพคุณ ได้ริเริ่มขึ้นมา และต้องเจ๊งไปในที่สุดเพราะธุรกิจประเภทนี้มีจุดรั่วไหลมากถ้าควบคุมดูแลกิจการไม่ทั่วถึง
และเงินรายได้ที่มาจากข้าวแกงรามาก็ต้องไปจมกับการซื้อตึกแถวและหล่อเลี้ยงกิจการอื่น
ๆ เช่น ไวเกอร์ เครื่องดื่มเกลือแร่และน้ำพริกรามาแทนที่จะเป็นทุนหมุนเวียนให้กับข้าวแกงรามา
การแตกดับของข้าวแกงรามาในยุคนั้น คือจุดกำเนิดของ "จิตรมาส"
ในปี 2525 เพราะทีมงานส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด จิตรมาส
ขึ้น โดยมีตัวหลักคือ รัชดา ขอประเสริฐ ผู้จัดการดูแลสาขาและการผลิต กับสมใจ
นวลฉวี ผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทข้าวแกงรามา
ชื่อ "จิตรมาส" คำว่า "จิตร" มาจากชื่อท้ายนามสกุลเดิม
"วัฒนเวชวิจิตร" ส่วนคำว่า "มาส" หมายถึงผู้ก่อการห้าคนซึ่งเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน
ได้แก่ พ่อ คือ ลก วัฒนเวชวิจิตร (แซ่ลุ่ย) พร้อมกับลูกอีกสี่คน คือ ประสงค์
วัฒนเวชวิจิตร (เจ้าของโรงพิมพ์เจริญศิลป์) รัชดา ขอประเสริฐ สมจิตร หยิบพฤกษ์ทอง
และ สมใจ นวลฉวี
"น้องสาวดิฉันคือสมใจ เขาเป็นตัวตั้งตัวตีที่อยากทำมาก ๆ ขณะที่ตอนนั้นดิฉันเบื่อเต็มที
เพราะปัญหามันเยอะจริง ๆ ตอนเข้าไปทำงานข้างแกงรามาใหม่ ๆ รถถูกขีดข่วนเป็นรอยทุกวัน
และเจอบัตรสนเท่ห์ถึงนายคือ คุณสุธี นพคุณ เราก็ไม่สนใจเพราะบ้างาน แต่ปัญหาใหญ่คือ
เรื่องโกงกินภายใน ตอนหลังคุณชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการข้าวแกงรามาก็แก้ไขได้
แต่ปัญหาเรื่องขาดเงินทุนหมุนเวียนจากเครือทำให้ข้างแกงรามา ที่ทำท่าจะไปได้ก็ต้องมาล้มเลิกไปในที่สุด"
รัชดา ขอประเสริฐ กรรมการผู้จัดการจิตรมาสย้อนเล่าความหลังให้ฟัง
รัชดาไม่เคยเรียนคหกรรม สิ่งที่เรียนกลับตรงกันข้าม รัชดาเรียนจบด้านกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ประสบการณ์ทำงาน 2-3 ปีกับบริษัทขายยาฆ่าแมลง มิได้ท้าทายความสามารถเชิงการตลาดที่เป็นพรสวรรค์ในตัวเธอ
ดังนั้นรัชดาจึงลาออกเพื่อรับงานประกันชีวิตที่อินเตอร์ไลฟ์ ซึ่งมีชัยณรงค์
อินทรมีทรัพย์เป็นผู้บริหาร และต่อมาชัยณรงค์ได้ดึงตัวไปช่วยดูแลสาขา 8 แห่ง
และผลิตอาหารในช่วง 2 ปีสุดท้ายก่อนข้าวแกงรามาจะเลิกกิจการไป
"การไปทำข้าวแกงรามาในครั้งกระโน้น ดิฉันถือได้ว่าที่นั้นเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่
เพราะคอนเซปต์ของข้าวแกงรามาใช้ได้ แต่เขาเกิดเร็วไปหน่อย ถ้าช้ากว่านี้สักสองปีคงจะดี
และการเป็นเจ้าของทุกสาขา แทนที่จะทำเป็นแฟรนไชส์เหมือนพิซซ่าฮัท ก็ทำให้ลงทุนหนักเรื่องหลักทรัพย์และยากต่อการบริหาร"
รัชดาสรุปบทเรียนในอดีต
หลังจากรัชดาและน้องสาวได้ลาออกจากพีเอสเอในปี 2525 เพื่อตั้งกิจการตัวเอง
อีกสิบปีต่อมา กิจการภัตตาคาร "จิตรมาส" ก็เจริญเติบโตเป็นอีกหลายกิจการ
คือ บริษัทจิตรมาสเทรดดิ้ง ส่งออกอาหารกระป๋อง บริษัทแคนาเดียน-ไทยเป็นบริษัทขายจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายของเสียในบ่อเลี้ยงกุ้ง
บริษัทเจ. เอ็ม. อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นโรงงานใหม่ตั้งอยู่ที่ ปทุมธานี
ทำหน้าที่ผลิตอาหารกระป๋องเพื่อส่งออก
"เราค่อย ๆ เริ่มกิจการแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ลงทุนฮวบฮาบ จากทีมข้าวแกงรามาเดิม
10 คน ตอนนี้มีพนักงานถึง 200 กว่าคน เพราะกิจการโตปีละ 20-30% หัวใจสำคัญของการบริหารร้านอาหารคือคนและบริหารต้นทุน
เพราะจุดรั่วไหลมีมาก" รัชดากล่าวถึงการดำเนินงาน
ในด้านการตลาด รัชดาได้เน้นถึงจุดแข็งของ "จิตรมาส" ที่ทำให้กิจการขยายออกไปได้คือ
จากจุดเริ่มต้นธุรกิจภัตตาคารสู่อุตสาหกรรมอาหาร ผลิตอาหารกล่องจำนวนมาก
ๆ เป็น MASS PRODUCT ที่เน้นผลิตสินค้ามีคุณภาพและราคาถูก เพราะการผลิตสินค้าจำนวนมาก
ๆ ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง
"PROFIT MARGIN ของธุรกิจประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะดีกว่าธุรกิจอื่น ๆ
เพราะได้เงินสดเช่น ถ้ารับงานจัดเลี้ยง ในหนึ่งร้อยรายต้องจ่ายเงินสดไม่ต่ำกว่า
50 ราย หรือถ้ามีเครดิตก็ไม่เกินหนึ่งเดือน ทำให้เรามีทุนขยายกิจการให้โตขึ้น
จากเดิมที่มีทุน 3 แสน เราไม่เคยเพิ่มทุนเลย" รัชดาเล่าให้ฟัง
โดยโครงสร้างผลิตภัณฑ์จิตรมาสได้แบ่งส่วนของตลาดออกเป็นสามส่วนคือ ส่วนตลาด
งานจัดเลี้ยงนอกสถานที่ เช่น งานทำบุญ งานแต่งงาน งานวันเกิดซึ่งแต่ละวันจะมีงานเข้ามาโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า
4-5 งาน โดยคิดถัวเฉลี่ยรายรับ 90 บาทต่อคน
"เราถือว่าจิตรมาสอยู่ในระดับปานกลาง เพราะเดิมเราขายในราคาถูกหัวละ
50 บาท แต่เวลานี้ถัวเฉลี่ยคนละ 90 บาท เราจะมีงานเข้าทุกวัน อย่างช่วงปีใหม่รับงานเข้าวันละ
5-6 งาน วันอาทิตย์จะประมาณ 8-10 งาน" รัชดาเล่าให้ฟัง
ส่วนตลาดสาขาที่มีที่ซอยเสนาฯ และ CANTEEN ตามสำนักงานใหญ่ของบริษัทชั้นนำสองแห่งคือ
ที่บริษัทสยามกลการและบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย ผู้บริหารจิตรมาสกล่าวว่าจะไม่เน้นขยายด้านนี้มากนัก
เพราะต้นทุนสูงและคู่แข่งมีมากจนไม่คุ้ม
"การออกไปคุมต้นทุนก็ทำได้ยากกว่า ขณะที่ราคาขายก็เขยิบยากมาก ทั้ง
ๆ ที่ค่าแรงต้องขึ้น 10% ทุกปี ดังนั้นในอนาคตเราจึงคิดว่าอาจจะออกไปขายอาหารกล่องเป็นจุด
ๆ ตามตึกสำนักงาน โดยมีตู้แช่หนึ่งตู้ และไมโครเวฟหนึ่งเครื่อง" รัชดาเล่าให้ฟัง
อีกตลาดที่สำคัญมากและเป็นอนาคตของจิตรมาสก็คือ ส่วนตลาดอาหารกล่อง ซึ่งจิตรมาสเป็นรายแรกที่บุกเบิกตลาดด้านนี้ได้สำเร็จ
จนกระทั่งสามารถครอบครองตลาดอาหารบนรถไฟทั้งสี่สายคือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และจิตรมาสยังส่งอาหารกล่องให้กับสายการบินบางกอกแอร์เวย์อีกด้วย
หัวใจสำคัญของความสำเร็จนี้ นอกเหนือจากรสชาติอาหารที่อร่อยแล้วก็คือ บรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึง
4 ส. คือ สะอาด สะดวกเวลากินก็ใส่เตาไมโครเวฟ สะสางง่ายและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในลักษณะ
GREEN MARKETING เพราะทำด้วยกระดาษเนื้อแข็งอันเข้ากับกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติแทนที่จะเป็นกล่องโฟม
"กว่าจะเห็นเป็นกล่องนี้ได้ต้องใช้เวลาสองปี ต้นทุนของกล่องกระดาษนี้จะแพงกว่ากล่องโฟมถึง
4-5 เท่า เราจึงต้องผลิตจำนวนมากเพื่อให้ต้นทุนต่ำ ขณะนี้โรงงานใหม่ของเราที่ปทุมธานีจะมีกำลังผลิตเต็มที่ชั่วโมงละ
800 กล่อง ขณะที่เรามียอดขายประมาณ 3,500 ถาดต่อวัน" รัชดาเล่าให้ฟัง
ราคาขายปลีกของอาหารกล่อง แบ่งออกเป็นสามราคา คือ ประเภทอาหารชุดวีไอพีกล่องละ
90 บาท ซึ่งประกอบด้วยอาหารคาว-หวานครบครัน อาหารชุดกับข้าวสองอย่างราคากล่องละ
50 บาท และกับแกล้มอย่างเดียวกล่องละ 35-45 บาท
หลังจากโรงงานใหม่ที่ปทุมธานีมูลค่า 35 ล้านบาทเดินเครื่อง ผู้บริหารจิตรมาสได้เปิดเผยว่าปีนี้จะมีโครงการอาหารแช่แข็งซึ่งจะรุกเข้าไปในตลาดซูเปอร์มาร์เกตตามศูนย์การค้า
300-400 แห่ง โดยมีเป้าหมายยอดขายไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2 ล้านบาท
อาหารที่จะขายที่ซูเปอร์มาร์เกตนี้จะเริ่มจากอาหารจานเดียว เช่น ข้าวสตูเนื้อ
ข้าวไก่อบ ข้าวผัดกุ้ง หรือประเภทกับแกล้ม เช่น เนื้อแดดเดียว ปลาสลิดชุบไข่ทอด
อาหารนี้สามารถแช่แข็งในอุณหภูมิ -20 องศา สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 6 เดือน
"โครงการอาหารแช่แข็งที่จะลงซูเปอร์มาร์เกตนี้ประมาณปลายปี หรือปีหน้าเรารอจังหวะคอนโดมิเนียมเกิดขึ้น
เพราะคนนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ไม่มีเวลาทำและตอนนี้เรากำลังมองหามืออาชีพด้านตลาดซูเปอร์มาร์เกต
ซึ่งเราไม่ชำนาญเพราะเราทำแต่ตลาดขายตรง" กรรมการผู้จัดการจิตรมาสเล่าให้ฟังถึงแผนงานในอนาคต
นอกจากนี้ จิตรมาสยังมีโครงการส่งออกอาหารกระป๋องซึ่งอยู่ระหว่างการทดลอง
เช่น ต้มยำกุ้ง กล้วยบวชชี รัชดาเล่าให้ฟังว่า โครงการนี้ได้ที่ปรึกษาที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านนี้มาช่วย
เพราะเป็นโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง งานนี้น้องสาวคนสุดท้องวิไลวรรณ วัฒนเวชวิจิตรซึ่งมีประสบการณ์ตลาดต่างประเทศจากบริษัทในเครือไทยวา
ได้ลาออกมาช่วยบริหารที่นี่
"ปีนี้ไตรมาสที่หนึ่งและสองที่ผ่านมา ยอดขายของอาหารกล่องจะมีสัดส่วนสูงที่สุดประมาณ
50% งานเลี้ยงนอกสถานที่ 40% และตามสาขา 10% แต่ถ้าในไตรมาสที่สามและสี่
เราจะมีโครงการอาหารทำกระป๋องส่งออกและอาหารแช่แข็งวางขายในซูเปอร์มาร์เกตเข้ามา
ทำให้เราคาดว่าตลาดอาหารกล่องจะมียอดขาย 40% และส่วนตลาดงานจัดเลี้ยง 20%
ตามสาขา 5% และอาหารแช่แข็ง 35%" รัชดาเปิดเผยถึงส่วนแบ่งตลาดของจิตรมาส
รัชดา ขอประเสริฐ เจ้าของ "จิตรมาส" เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนพีเอสเอซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสำนักตักสิลา
แหล่งผลิตผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องมีนามสกุลดังก็สามารถประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงได้