|

บทเรียน SMEs ที่ผูกอนาคตไว้กับอุตสาหกรรมใหญ่
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
แนวคิดหนึ่งในการยกระดับ SMEs เมืองไทยคือการนำอนาคตไปผูกไว้กับอุตสาหกรรมใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ถูกวางนโยบายให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ แต่การจะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องเจาะเข้าไปให้ถูกจุด
หากนโยบายยกระดับประเทศไทยให้เป็น Detroit of Asia หรือศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของเอเชีย ก่อให้เกิดเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เพื่อผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับโรงงานประกอบรถยนต์ของค่ายต่างๆ ที่เข้ามาใช้พื้นที่ในประเทศไทยตั้งโรงงาน
นโยบายให้ประเทศไทยเป็น Kitchen of the World หรือครัวของโลก ก็น่าจะมีทิศทางเช่นเดียวกัน
แต่ SMEs ที่เข้ามาอยู่ในกระบวน การผลิตอาหารเพื่อการส่งออก กลับไม่สามารถมองเห็นบทบาทได้อย่างเป็นรูปธรรมนัก เพราะบริษัทผู้ผลิตอาหารส่งออกส่วนใหญ่ ล้วนเป็นบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจครบวงจร ผู้ประกอบการที่มีโอกาสเข้าไปมีส่วน ร่วมในขั้นตอนการผลิตของแต่ละบริษัทจึงเป็นลักษณะของ contract farming คือ เกษตรกรที่รับจ้างเลี้ยงสัตว์ หรือปลูกพืชอาหาร เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบเข้าโรงงานแปรรูปอาหารเพื่อการส่งออกมากกว่า
อนาคตของเกษตรกรเหล่านี้ขึ้นอยู่กับราคาขายสินค้า ที่บริษัทผู้ผลิตอาหาร ซึ่งเป็นผู้รับซื้อ เป็นผู้กำหนดแต่เพียงฝ่ายเดียว
อาจมียกเว้นเพียงกรณีของบริษัท ไอ.ที.ซี.ที่ดูจะเป็น SME ที่เข้าไปมีบทบาทในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมนี้ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด
ไอ.ที.ซี.เป็นบริษัทผู้ให้บริการวางระบบ ติดตั้ง และดูแลรักษา ระบบทำ ความเย็นให้กับโรงงานอุตสาหกรรม โดยลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในประเทศไทยมีผู้ให้บริการในลักษณะนี้อยู่เพียงไม่กี่ราย การแข่งขันจึงมีน้อย
การจะได้หรือไม่ได้งานของบริการ ประเภทนี้ขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของผู้ว่าจ้างที่มีต่อผลงาน หรือประสบการณ์ของผู้ให้บริการมากกว่า
"ระบบทำความเย็นในอุตสาหกรรม อาหาร เป็นองค์ความรู้เฉพาะ ไม่เหมือนกับบริษัทที่ให้บริการวางระบบแอร์หรือไฟฟ้า ที่มีคนให้บริการอยู่ในตลาดแล้วจำนวนมาก" อภิชัย ล้ำเลิศพงศ์พนา กรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ที.ซี.บอกกับ "ผู้จัดการ"
เขาอธิบายว่าการวางระบบทำความ เย็นในอุตสาหกรรมอาหาร นอกจากความรู้ ทางด้านวิศวกรรมแล้ว ผู้ให้บริการจะต้องรู้จักธรรมชาติของอาหารแต่ละประเภทเป็นอย่างดีว่าในการผลิต หรือการเก็บรักษาจะต้องมีตัวแปรอะไรบ้างที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นคงความสดใหม่ สะอาด รสชาติไม่เปลี่ยนแปลง และสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน โดยสภาพไม่เปลี่ยนแปลง
ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายในประเทศหรือเพื่อส่งออก
"ยกตัวอย่างเช่นไอศกรีม จะต้องตั้งอุณหภูมิขนาดไหนไม่ให้แข็งหรือเหลวเกินไป หรือเนื้อปลา กุ้ง หมู ไก่ จะเก็บรักษาอย่างไรให้ คงความสดไว้ได้นาน เมื่อต้องการนำไปบริโภค ซึ่งต้องทำให้อุณหภูมิ สูงขึ้นแล้ว ชิ้นเนื้อเหล่านั้นต้องไม่เหลวยุ่ยเป็นทิชชู แม้แต่ในกระบวน การแปรรูปในห้องที่คนงานกำลังทำงาน ซึ่งต้องมีอุณหภูมิต่ำ จะทำอย่างไรที่จะลดอุณหภูมิโดยที่ไม่ให้มีกระแสลมจากเครื่องปรับอากาศที่จะไปมีผลต่อชิ้นเนื้อที่กำลังถูกตัดแต่งอยู่"
จุดกำเนิดของ ไอ.ที.ซี.เริ่มจากเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว อภิชิต ล้ำเลิศพงศ์พนา พี่ชายของอภิชัย ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้จัดการ แผนกระบบทำความเย็นของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล บีกริมแองโก และได้ให้บริการระบบทำ ความเย็นให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่แล้ว เริ่มมองเห็นว่าอุตสาหกรรม อาหารของไทย กำลังมีอนาคตที่จะขยายตัวเติบโตต่อไปได้อีกมาก และขั้นตอนสำคัญในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร คือระบบทำความเย็นให้กับห้องเย็นในการเก็บรักษาอาหารไว้ให้ได้นาน ที่สุด คงความสดใหม่ สะอาด และ รสชาติคงที่มากที่สุด
ดังนั้นองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ห้องเย็นสำหรับการเก็บรักษาอาหารก็น่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดที่กำลังขยายตัว ในปี 2525 อภิชิตจึงได้ชักชวนอภิชัย ซึ่งขณะนั้นเป็นวิศวกรสนามให้กับบริษัท คูลลิ่งคอนโทรลแอนด์เอ็นจิเนียริ่ง ให้มาร่วมกันจัดตั้งบริษัท ไอ.ที.ซี.ขึ้น เพื่อให้บริการวางระบบทำความเย็นให้กับโรงงานของผู้ผลิตอาหาร ทั้งที่เปิดดำเนินการอยู่ และกำลังจะมีรายใหม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต
ทั้งอภิชิตและอภิชัยมีพื้นฐานเป็นวิศวกรทั้งคู่ โดยอภิชิตจบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาเครื่องกล จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตพระนครเหนือ ส่วนอภิชัยจบปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้ากำลัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ทั้งคู่เป็นคนอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส พื้นฐานครอบครัวในวัยเด็กยากจน แต่ก็ดิ้นรนจนสามารถได้รับการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี
ความยากจนในอดีตเป็นแรงบันดาล ใจสำคัญให้ทั้งคู่กระโดดเข้ามาจับธุรกิจนี้ เพราะทั้งคู่มีความต้องการตรงกันตั้งแต่วัยเด็กที่จะมีกิจการเป็นของตัวเองเมื่อโตขึ้น
"เป็นเรื่องที่เหมาะเจาะลงตัว เพราะ หนึ่ง ผมกับพี่ชายมีความตั้งใจจะมีกิจการเป็นของตัวเองเหมือนกันอยู่แล้ว สอง เราทั้งคู่เป็นวิศวกร และสาม คือมองเห็นแล้ว ว่าอุตสาหกรรมอาหารในขณะนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มต้องโตขึ้นอีกมากในอนาคตก็เลยมาร่วมกันทำบริษัทนี้"
การทำงานช่วงแรกของทั้งคู่ในนาม ของบริษัท ไอ.ที.ซี.เป็นลักษณะเหมือนกับ งานพาร์ทไทม์ เพราะแม้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทขึ้นมาแล้ว แต่ทั้งคู่ยังมีงานประจำ ในฐานะลูกจ้างบริษัท เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยใช้เวลาว่างจากงานประจำมาให้บริการในนามของบริษัท ไอ.ที.ซี.
แม้ว่าจะเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่ แต่การที่อภิชิตเคยเป็นผู้จัดการแผนกระบบทำความเย็นของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล บีกริม แองโก ได้ช่วยสร้างความ น่าเชื่อถือให้กับทั้งคู่ในการได้รับงานเข้ามา โดยลูกค้ารายแรกของ ไอ.ที.ซี.คือ บริษัทณรงค์แคนนิ่ง
หลังจากนั้น ไอ.ที.ซี.ก็ได้รับงานเพิ่ม ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากองค์การอุตสาห-กรรมห้องเย็นที่ให้ ไอ.ที.ซี.เข้าไปวางระบบ ให้กับห้องเย็นขององค์การที่ตั้งอยู่ 5 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงบริษัทผู้ผลิตอาหารเพื่อส่งออกรายใหญ่ของไทย ทั้งสหฟาร์ม เบทา โกร รวมทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อมาทำงานให้กับ ไอ.ที.ซี.เต็มตัว
แต่งานที่ทำให้บริษัท ไอ.ที.ซี.เป็นที่รู้จักแพร่หลายขึ้น คือการที่สามารถชนะประมูลเข้าไปติดตั้งและดูแลระบบทำความ เย็นให้กับครัวการบินไทย ทั้งในและต่างประเทศ
ไอ.ที.ซี.นับว่าถือกำเนิดและเติบโตขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้ประกอบการอาหารของไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเล เนื้อหมู เนื้อไก่ ตลอดจนผักและผลไม้ เริ่ม ได้รับการยอมรับจากตลาดโลกถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ
ดังนั้น เมื่ออุตสาหกรรมอาหารของ ไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น กิจการของไอ.ที.ซี.จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเติบโตไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารเหล่านี้ ซึ่งเป็นไปตามที่ทั้งอภิชิตและอภิชัย คาดการณ์ไว้แล้วตั้งแต่เมื่อ 26 ปีก่อนที่คิดจะก่อตั้งบริษัท
วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งบริษัท เอกชนของไทยแทบทุกแห่งล้วนประสบกับปัญหาทางการเงิน จนหลายแห่งถึงกับล้มละลาย ซึ่งมีผลกระทบต่อ ไอ.ที.ซี.พอสมควร เพราะโรงงานหลายแห่งที่ปิดไปเป็นลูกค้าของ ไอ.ที.ซี. แต่ ไอ.ที.ซี.ก็ปรับตัวโดยเปลี่ยนบทบาทจากผู้ติดตั้งและวาง ระบบ ไปเป็นผู้ให้บริการบำรุงรักษาระบบให้กับโรงงานที่ยังเดินเครื่องผลิตอยู่แทน ซึ่งทำให้ ไอ.ที.ซี.สามารถผ่านพ้นวิกฤติ การณ์ดังกล่าวมาได้ โดยไม่ได้มีการปรับลดพนักงานลงแม้แต่คนเดียว
ปัจจุบัน ไอ.ที.ซี.มียอดขายเฉลี่ยปีละประมาณ 400-500 ล้านบาท มีพนักงานประมาณ 150 คน และมีโรงงานประกอบผลิตภัณฑ์ในระบบความเย็นเป็นของตนเอง เพื่อผลิตป้อนให้กับลูกค้า
นอกเหนือจากลูกค้าที่อยู่ในอุตสาห-กรรมอาหารแล้ว ไอ.ที.ซี.ยังขยายบทบาทออกไปให้บริการกับธุรกิจอื่นด้วย อย่างเช่นการออกแบบและจัดหาระบบ Thermal Ice Storage ให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ออกแบบและติดตั้งระบบ Thermal Ice Storage ให้กับโรงพยาบาลบางกอกเนอสซิ่งโฮม จัดตั้งระบบให้กับร้าน "Select" Mini Mart สาขาต้นแบบจำนวน 10 สาขา ให้กับบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย ฯลฯ
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ไอ.ที.ซี.ประสบความสำเร็จในธุรกิจที่ทำ คือการคาดการณ์แนวโน้มของตลาดและมองเห็นถึงความต้องการในตลาดที่ยังขาดอยู่ได้ตรงจุด ประกอบกับเป็นธุรกิจที่มีความชำนาญอยู่แล้ว
ที่สำคัญ เมื่อธุรกิจของตนเองจำเป็น ต้องผูกอนาคตไว้กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต้องมองให้เห็นและเข้าถึงหัวใจของกระบวน การผลิตในอุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งเมื่อสามารถเจาะเข้าไปได้ ก็จะเป็นโอกาสอันดี ต่ออนาคตของกิจการ ที่จะสามารถขยายตัวไปได้ตามอุตสาหกรรมใหญ่
"แม้บริการของเราจะต้องอาศัยองค์ความรู้เฉพาะ แต่ก็ไม่ได้มีความซับซ้อน เพราะ know-how ต่างๆ มีอยู่แล้วในตำราของต่างประเทศ เพียงแต่เรานำ know-how เหล่านั้นมาประยุกต์และออกแบบระบบให้เข้ากับอุตสาหกรรม หรือโรงงานแปรรูปอาหารต่างๆ ที่เราเป็นผู้ให้บริการ ออกแบบ ระบบให้ตรงกับผลิตภัณฑ์ของเขา มากที่สุด ช่วยให้เขาประหยัดต้นทุนทางด้านไฟฟ้ามากที่สุด ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ที่สำคัญคือการบริการหลังการขายที่ดีคอยดูแลระบบให้ต่อเนื่อง พร้อมไป ให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ทันทีที่เกิดปัญหา ขึ้นกับระบบความเย็นของแต่ละโรงงาน" อภิชัยอธิบายถึงจุดเด่นที่ทำให้โรงงานต่างๆ ต้องใช้บริการของ ไอ.ที.ซี.
นอกจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเวลากว่า 26 ปี ซึ่งเป็นเครื่องการันตี ความชำนาญของ ไอ.ที.ซี.แล้ว ไอ.ที.ซี.ยังได้รับรางวัลจากการส่งโครงงานระบบทำ ความเย็นที่ให้บริการกับลูกค้าไปประกวดหลายรางวัลด้วยกัน
ล่าสุด ไอ.ที.ซี.ได้รับรางวัลที่ 1 จากการส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด ASHRAE Technology Award (ASHRAE-American Society of Heating Refrigeration and Air Conditioning Engineers, Inc.) หมวดอุตสาหกรรมและกระบวนการการผลิต (The Industrial facilities or Processes) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการประกวดจากประเทศ ต่างๆ ทั่วโลก
โดย ไอ.ที.ซี.ได้ส่งผลงานออกแบบ และติดตั้งระบบทำความเย็นให้กับโรงงาน แปรรูปเนื้อไก่ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นโรงงานใหม่ล่าสุดของ CPF ไปประกวด
ไอ.ที.ซี.เป็นบริษัทของคนไทยรายแรกที่ได้รับรางวัลที่ 1 จากองค์กรนี้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|