รพ.สงขลานครินทร์ ต้นแบบหยุดภาวะ "สมองไหล"

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

"หมอ ก็เหมือนคนทั่วไปที่ต้องการความสุขความสบาย และความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทำให้หมอในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ออกไปทำงานเอกชนบ้าง แต่ไม่ใช่หมอทุกคนที่มีความคิดเช่นนั้น" คำพูดของ อ.นพ.กิตติพงศ์ เรียบร้อย รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

นพ.กิตติพงศ์ เรียบร้อย เป็นหมอที่มีความเชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมอง เป็น 1 ใน 8 คนที่มีเหลืออยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ พื้นเพของหมอกิตติพงศ์เป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้ามาร่ำเรียนที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนได้รับทุนไปเรียนต่างประเทศ กลับมาเป็นอาจารย์ และรักษาคนไข้ไปพร้อมๆ กัน

นพ.กิตติพงศ์บอกว่า เขายังไม่มีความคิดที่จะย้ายไปประจำโรงพยาบาลอื่น แม้ว่าจะได้รับการชักชวนบ้างก็ตาม เขารู้ดีหากรับงานใหม่ การทำงานจะเหนื่อยน้อยกว่านี้อีกหลายเท่า

และที่ นพ.กิตติพงศ์ยังอยู่ที่นี่อาจเป็นเพราะว่ายังมีความสุขกับการทำงานตรงนี้

เช่นเดียวกับ อ.นพ.บุญประสิทธิ์ กฤตย์ประชา หมอศัลยกรรม เป็นคนหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาโดยกำเนิด เรียน หนังสือ ทำงาน และมีครอบครัวอยู่ที่จังหวัด นี้มาโดยตลอด และเขายังไม่มีความคิดที่จะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น แม้ว่าพี่น้องบางส่วนของเขาย้ายขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ แล้วก็ตาม

นพ.บุญประสิทธิ์บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า เขาเป็นคนเรียนระดับปานกลาง แต่ก็สามารถเข้าคณะแพทย์ได้ และหลังจากเรียนจบที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาอีก 2 ปี และขอทุนมหาวิทยาลัยต่างประเทศเรียนเพิ่มเติม หลังจากจบแล้วก็กลับมาประจำ อยู่ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

เหตุผลหนึ่งที่ นพ.บุญประสิทธิ์ยังไม่ย้ายไปที่ไหน เป็นเพราะว่าโรงพยาบาลมีนโยบายการบริหารจัดการด้านที่อยู่อาศัย ให้กับหมออยู่ได้จนอายุ 60 ปี จนเกษียณ โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า

นพ.บุญประสิทธิ์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ที่อยู่อาศัยของหมอเรียกว่า แคมปัส ที่พร้อมสมบูรณ์ มีระบบรักษาความปลอดภัย มีสถานที่ออกกำลังกาย เล่นกีฬา มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่น่าเสียดายที่ไม่มี โอกาสได้เห็น เพราะมีเวลาจำกัด

การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้หมอกลายเป็นนโยบายที่ช่วยรักษาให้หมอทำงานที่โรงพยาบาลต่อไป

และการผลิตหมอให้มีคุณภาพพร้อม ผลักดันให้หมอไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อนำความรู้มารักษาคนไข้และสอนนักศึกษาแพทย์เป็นนโยบายของ รพ.สงขลานครินทร์ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นองค์กรที่สร้างหมอเก่งๆ ไว้จำนวนมาก จึงทำให้เกิดการ "ดึงตัว" หมอไปทำงานที่อื่น โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน โดยเสนอเงินเดือนหลักแสนไปจนถึงหลักล้าน ขึ้นอยู่กับความชำนาญและสาขาการ แพทย์ที่ขาดแคลน

นพ.สุเมธ พีรวุฒิ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อดีต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เล่าให้ฟังว่า ย้อนไปเมื่อ 16 ปีก่อน เกิดสมองไหลจำนวนมากในช่วงเวลานั้น คณะทำงานต้องประชุมกันทุกอาทิตย์และมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก

วิธีการต่อสู้ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อยับยั้งให้มีสมองไหลน้อยที่สุด โดยเริ่มจากจัดการระบบเงินเดือนของหมอและพยาบาลใหม่ โดยปรับให้สูงกว่าระบบฐานเงินเดือนของข้าราชการที่ได้รับ พยาบาล ปรับเป็น 10,350 บาท เภสัชกร 11,343 บาท แพทย์ 13,281 บาท แต่ถ้าเป็นระดับอาจารย์ไปจนถึงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ มีฐานเงินเดือนตั้งแต่เริ่มต้น 30,000 กว่าบาทไปจนถึง 80,000 กว่าบาท

ผลจากการปรับฐานเงินเดือนทำให้ ช่วยหยุดสมองไหลได้เกือบทันที แต่ก็ยอม รับว่ายังมีหมอที่ยังออกไปบ้างเพราะความจำเป็นที่ต่างกันไป

นพ.สุเมธยังเชื่อว่า หมอหลายคนยังมีความคิดว่า ต้องการ "ความมั่นคง" มากกว่า "ความมั่งคั่ง"?? "ความรักองค์กร" เป็นอีกกุศโลบายหนึ่งที่โรงพยาบาลสร้างขึ้นมา ให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข สนุกกับการทำงาน มีการยกย่องชมเชย มีธรรมาภิบาล มีสวัสดิการที่ดี มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อรักษาพนักงาน 4,052 คนให้ทำงานต่อไป

"คนที่นี่มีความรักในองค์กร และผูกพันกับองค์กรสูงมาก เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จ คนถึงยอมทุ่มเทเสาร์อาทิตย์ ทำงาน 7 วัน"

การสร้างผู้บริหารรุ่นใหม่ทดแทน รุ่นเก่า เป็นอีกพันธกิจหนึ่งที่โรงพยาบาลอยู่ระหว่างดำเนินการ และเรียกโครงการนี้ ว่า "การวางแผนสืบทอดตำแหน่ง" ที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง เพื่อคัดเลือกบุคลากรที่เหมาะสมที่สุด และโรงพยาบาล มีเป้าหมายที่จะสร้างผู้บริหารใหม่ขึ้นมา 60 คน

บุคลากรที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้บริหาร จะต้องปฏิบติตามกฎกติกา โดยต้องเข้ารับ การอบรมภายในระยะเวลา 6 เดือนหรือเรียนรู้การเป็นผู้นำสัปดาห์ละ 2-3 วัน

ผู้ที่เข้ารับการอบรมจะเป็นระดับหัวหน้า รองหัวหน้า ต้องผ่านหลักสูตรอบรมสู่ความเป็นเลิศ

โรงพยาบาลว่าจ้างผู้จัดอบรมที่มี ความรู้ความสามารถระดับสูงของประเทศมาให้ความรู้โดยตรง

การคัดเลือกผู้บริหารนี้จะไม่ยึดหลัก อาวุโส แต่จะดูจากความรู้ความสามารถเป็นหลัก ซึ่งแบบแผนที่ทำนี้จะเป็นต้นแบบ หรือ Role Model เพื่อสร้างผู้นำในอนาคต

อีกด้านหนึ่งของบทบาทที่เป็นภารกิจหลักของโรงพยาบาลแห่งนี้ในฐานะ โรงพยาบาลภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยใน 14 จังหวัดภาคใต้ รวมถึง 3 จังหวัดชายแดน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส

การบริหารจัดการเพื่อยกมาตรฐาน องค์กรจึงเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของโรงพยาบาล ที่ต้องการยกระดับให้มีการรักษาคนไข้อยล่างมีคุณภาพ

โดยเฉพาะปริมาณคนไข้ที่มีจำนวน มากในแต่ละวัน เป็นภาพอันชินตาที่เห็นคนไข้รอรับการรักษานั่งรออยู่ค่อนวัน หรือ จำนวนเตียงของคนไข้ที่มีไม่เพียงพอจนล้น ออกมานอกห้อง เป็นภาพในโรงพยาบาล ของรัฐที่มีให้เห็นแทบจะทุกแห่ง

สิ่งสำคัญ คนไข้ที่ฐานะยากจนของ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีถึง 70% เป็น คนไข้ที่โรงพยาบาลไม่สามารถปฏิเสธได้

การสร้างตึก ซื้อยา และสุขภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง จึงต้องมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางโรงพยาบาลจะต้องใช้งบประมาณในการบริหารงานต่อปีถึง 3,000 ล้านบาท

แต่งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากภาครัฐในแต่ละปี เป็นเงินเดือน และค่าตอบแทน 20% ส่วนอีก 70% เป็นงบที่ได้มาจากการรักษาคนไข้ และจากกองทุน มูลนิธิต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น อาทิ มูลนิธิโรคหัวใจ กองทุนประกันสังคม

"กองทุน" เปรียบเสมือนเส้นเลือดที่ช่วยหล่อเลี้ยงโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ให้อยู่มาได้ตราบถึงวันนี้ ทำให้สามารถทำงานคล่องตัวขึ้น

แนวทางการบริหารคนและบริหารการจัดการทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้ได้รับรางวัลบริการสู่ความเป็นเลิศ หรือ Thailand Quality Class: TQC จากสถาบันเพิ่ม ผลผลิตแห่งชาติ ในปี 2550 เป็นโรงพยาบาล แห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลนี้

การเป็นตัวอย่างของโรงพยาบาลที่ช่วยเรื่องการจัดการ การบริหาร ทำให้โรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ กว่า 80 กลุ่ม หรือประมาณ 2,000 คน มาเยี่ยมชมดูงานที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

รางวัลที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้รับ จุดสูงสุดไม่ได้มุ่งหวังรางวัลเพราะเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร แต่เป็นการ นำแนวทางของ The Malcom Baldrige National Quality Award (MBNQA) มาใช้ในการจัดการบริหารแนวคิด บริหารองค์กร

สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดที่โรงพยาบาลแห่งนี้ได้ตั้งปณิธานไว้ การรักษาคนไข้คนไทย โดยไม่มุ่งหวังพัฒนาไปเป็นศูนย์การรักษาพยาบาล (medical hub) แต่อย่างใด

ดูเหมือนว่า หมอ เจ้าหน้าที่ ของโรงพยาบาลแห่งนี้กำลังเจริญรอยตาม ปรัชญาชี้นำของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย ที่กล่าวไว้ว่า

"ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง

ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง

ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกมาแก่ท่านเอง

ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์"

ซึ่งเป็นข้อความที่ติดอยู่หน้าตึกโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เปรียบเสมือนมนต์ขลังที่อยู่ในจิตวิญญาณของหมอและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.