กรุงเทพฯ วันนี้...มหานครแห่งปัญหา

โดย วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

กรุงเทพฯ ในวันวานเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว คือภาพความงดงามของเมืองแม่น้ำลำคลองที่มีต้นไม้ร่มครึ้มสองฟากฝั่ง มีเรือพายค้าขายกันเป็นประจำทุกวัน ผู้คนหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายกันด้วยโอภาปราศรัยทันทีที่พบเห็นหน้า

บรรยากาศกรุงเทพฯ เมื่อวันวานเป็นสิ่งที่ทำให้ "เมืองสยาม" กลายเป็นความประทับใจชาวต่างชาติมาตลอดจวบจนทุกวันนี้ แม้ภาพนั้นจะเลือนหายไปนานแล้ว แต่คนไทยและชาวต่างชาติโดยส่วนใหญ่ก็ยังโหยหาบรรยากาศแบบนั้น ด้วยการล่องท่องเที่ยวไปตามคลองบางสาย ที่ยังเหลือรอดจากการถมให้กลายเป็นถนนสายใหม่

กาลเวลาผ่านไป เรือนไม้ที่เคยมีอยู่มากมายเริ่มเก่าคร่ำคร่าผุพังลง ตึกคอนกรีตผุดพรายขึ้นราวกับดอกเห็ดหน้าฝน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อความทันสมัยย่างกรายเข้ามา กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรเติบโตกลายเป็นมหานคร มีโครงการพัฒนาระดับเมกกะโปรเจ็กต์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นถนนวงแหวน 2-3 ชั้นรอบเมือง การสร้างรถไฟฟ้าให้กลายเป็นข่ายใยแมงมุมไฮเทค เชื่อมชานเมืองสู่ศูนย์กลาง

ตึกแถวที่เคยกระจายตัวตามแนวถนน เริ่มปรากฏเป็นตึกสูงระฟ้ากระจุกตัวในใจกลางและเกาะตัวไปตามขอบรางรถไฟฟ้า หรือผุดพรายตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นสายเลือดของเมือง ผู้คน ใช้ชีวิตด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย เพื่อเร่งจังหวะชีวิตให้เร็วเท่าที่ใจต้องการ ทว่าความศิวิไลซ์นี้มาพร้อมกับหายนะของคนที่เคยอยู่อาศัยดั้งเดิม เมืองที่เคยงดงามกลับต้องเผชิญปัญหาท้าทายการดำรงอยู่ของมันเอง อย่างยากที่จะพบทางออก

ลมหายใจอดีต...ในกระแสโลกใหม่

บนถนนสุขุมวิทอันเป็นย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ อีกแหล่งนั้น เราได้พบเห็นรถราวิ่งขวักไขว่ตลอดแทบทั้งวัน ผู้คนบนท้องถนนไม่เคยหลับใหล ณ บริเวณ แยกเอกมัยเริ่มมีศูนย์การค้าและร้านรวงทันสมัย ทยอยเข้าไปเปิดกิจการ นับวันยิ่งก่อตัวกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญอีกแยกหนึ่ง ของถนนสายธุรกิจอันร้อนแรง หากทว่าเมื่อลึกเข้าไปในซอย จะพบเห็นบ้านพักซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางแมกไม้ใหญ่มีรั้วโอบมิดชิดตลอดซอยเอกมัยและในละแวกใกล้เคียง ซึ่งเริ่มคั่นด้วยตึกสูงที่ค่อยๆ แทรกตัวผุดขึ้นเป็นระยะ

ชีวิตทันสมัยใจกลางเมืองเช่นนี้ทวีจังหวะเร่งสู่กระแสความนิยมของคนรุ่นใหม่ ทว่ากลับถูกกระตุกด้วยข่าวครึกโครมเมื่อช่วงกลางปี 2551 เรื่องคน ในละแวกซอยเอกมัยร่วมกันคัดค้านโครงการก่อสร้างอาคารคอนโดเดลวีโฮมส์ สูง 32 ชั้น บนที่ดิน 500 ตารางวา ซึ่งอยู่ติดมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต

จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2543 เจ้าของบ้านผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวเปิดเผยว่า ระหว่างการก่อสร้างโครงการจะส่งผลกระทบต่อการทำงานศิลปะ สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของทุกคนที่อยู่อาศัยใต้ชายคา บ้านหลังนี้อย่างสงบสุขมามากกว่า 40 ปี เป็นอย่างยิ่ง จนไม่อาจนิ่งเฉยต่อสิ่งคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อการทำงานศิลปะและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อศิลปวัตถุของพิพิธภัณฑ์ได้

"พอทราบข่าวการก่อสร้างโครงการไม่นาน ก็มีนักธุรกิจต่างชาติกลุ่มหนึ่งพร้อมคนไทยแวะมาเยี่ยมเพื่อชี้แจงรายละเอียด เขาก็คงอยากซื้อที่ของมูลนิธิฯ ด้วย แต่รู้ว่าเราไม่ขาย...ตอนแรกเขาไม่รู้ว่าเราทำหุ่นกระบอก พอเห็นหุ่น เขาตกใจเลย ถึงได้รู้ว่า บ้านเราเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่บ้านมีคนทำงานศิลปะนับร้อย ทั้งงานเขียนภาพงานประติมากรรม งานประณีตศิลป์ และการสร้างหุ่นกระบอก มีการซ้อมหุ่นเพื่อเปิดให้คนเข้าชมฟรีทุกสิ้นเดือน และมีนักศึกษามาเรียนอยู่ตลอดเวลา

เราพยายามสร้างอดีตสำหรับอนาคต สิ่งที่เราทำจะกลายเป็นประวัติ ศาสตร์สำหรับคนรุ่นหลัง เพราะที่นี่เป็นที่ทำงานของศิลปิน เป็นสถานที่ที่มีความทรงจำของครูนาฏศิลป์ครูดนตรีมากมายที่มาร่วมใช้ชีวิตและถ่ายทอดศิลปะวิทยาการให้คนหลายรุ่นนานนับสิบปี เราพัฒนางานศิลปะต่อยอดจากอดีต กว่าจะก่อตัวเป็นโรงละครและพิพิธภัณฑ์เล็กๆ อย่างทุกวันนี้ เขาแวะเวียนมาอีกหลายครั้ง เขาเริ่มเข้าใจและบอกว่านายหน้าไม่บอกว่าข้างบ้านเป็นอะไร ถ้ารู้เขาจะไม่ซื้อ เพราะทำให้...เขากลายเป็นอุปสรรคของเรา เราก็เป็นอุปสรรคของเขา...ต่างคนต่างกลืน ไม่เข้าคายไม่ออก"

ข้อขัดแย้งจากการพัฒนาโครงการดังกล่าวกับประเด็นการปกป้องสถานที่ประวัติศาสตร์ของบ้านศิลปินแห่งชาติ ดึงดูดให้หลายฝ่ายเข้ามาสนใจร่วมกันปกป้องมรดกของชาติ หากทว่าวันนี้สำหรับ ธุรกิจก็ยังไม่มีคำตอบที่ดีพอ เพราะลงทุนไปมากกว่า 100 ล้านบาทแล้ว คาดว่าน่าจะ มีแผนงานที่จะพัฒนาละแวกนั้นอีกหลายโครงการ ปัญหาของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่แค่ที่การพัฒนาโครงการใหม่ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นเดิมเท่านั้น หากทว่าประเด็นสำคัญอีกเรื่องก็คือ กฎหมายของไทยที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตของคนในสังคมเดียวกันเอง

"กฎหมายของเราเอื้อให้เขาทำได้ แม้จะไม่ผ่านการอนุมัติเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็ยังมีช่องทางที่จะสร้างได้อยู่ดี ฝ่ายที่จะสร้างคอนโดเขาเอาแบบมาให้ดูว่าจะปกป้องเราระหว่างการก่อสร้างอย่างไร คือ จะสร้างรั้วทึบสูง 9 เมตร แล้วใช้ผ้าใบกางบัง เพื่อกันของตกลง มา และเช่าโกดังให้เก็บศิลปวัตถุของเราในระหว่างช่วงที่ก่อสร้างสามปี...แต่ปัญหามันไม่ใช่เรื่องนั้น ศิลปวัตถุของเราไม่ได้มีไว้ตั้งแสดงเท่านั้น แต่เราต้องใช้ซ้อมอยู่ทุกวัน และมีที่สร้างใหม่ขึ้นมาเพิ่มเติมเรื่อยๆ...

นี่แค่คุณคิดจะปกป้องเรา...เราก็ตายแล้ว เพราะบริเวณนั้นจะบังแสงตรงที่ต้องนั่งวาดรูป ซึ่งอยู่ติดทั้งห้องอาหารและห้องนอน ระหว่างการก่อสร้างนอกจาก ฝุ่นละอองจะทำลายภาพวาดและสุขภาพแล้ว ระหว่างการก่อสร้างตึกสูงทุกแห่งเท่าที่ทราบมาจากประสบการณ์ของคนรู้จักกัน ล้วนแต่พบเจออุบัติเหตุร้ายแรงจนต้องย้ายบ้านหนี และความที่ตรงนี้เป็นทั้งบ้านและสถานที่ทำงานศิลปะ เราไม่สามารถย้ายไปที่อื่นได้ง่ายๆ"

การประท้วงโครงการขยายวงออกไปเรื่อยๆ มีผู้เข้าร่วมลงชื่อคัดค้านจากทั่วสารทิศ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชื่นชมผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ หากทว่าสำหรับคน ในละแวกบ้าน กลับมีเสียงแตกออกเป็น 2 ทาง สำหรับคนที่ต้องการใช้ชีวิตสุขสงบ เหมือนเช่นที่ผ่านมา ก็เห็นด้วยกับการคัดค้าน ส่วนคนที่เข้ามาค้าขายในย่านนี้อยากให้มีโครงการตึกสูงขึ้นมาอีกมากมาย เพราะนั่นหมายถึงเศรษฐกิจที่จะเฟื่องฟูตามมาอีกนับสิบนับร้อยเท่าทีเดียว

ล่าสุดเมื่อไม่อาจทานกระแสคัดค้าน ได้ ทางบริษัทต้นเหตุระงับโครงการไว้ชั่วคราว ส่วนบริษัทคนไทยที่เคยร่วมงานขอถอนตัว แต่การคัดค้านโครงการยังคงดำเนินอยู่ต่อไป เพราะศึกครั้งนี้ไม่ใช่เพียง การต่อกรกับบริษัทก่อสร้างของต่างชาติที่เป็นเจ้าของโครงการเท่านั้น หากตัวการสำคัญเบื้องหลังที่ทำให้เกิดภาวการณ์เช่นนี้กลับกลายเป็นระบบกฎหมายและวิธีการพัฒนาเมืองของไทยเองที่นำพาทุกชีวิตมุ่งไปสู่วิกฤติโดยไม่รู้ตัว

"ในช่วงแรกๆ ที่คัดค้านโครงการ เราพบว่ากฎหมายไทยที่ออกไว้เมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้ว เอื้อให้ก่อสร้างได้โดยไม่ต้องขออนุญาตก่อน แล้วพอเสนอไปยังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐให้เข้ามาช่วยดูแล ทุกฝ่ายจะบอกว่ามีอำนาจ "ไม่ครอบคลุม" ก็หวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้น กับเราในครั้งนี้จะก่อให้เกิดผลสะเทือนต่อสังคมได้บ้าง"

วิกฤติเมือง...ท้าทายความเป็นชุมชน

กรณีที่เกิดขึ้นกับมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤตนั้น ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเคยมีภูมิลำเนาอยู่ในละแวกเอกมัยมาตั้งแต่เด็ก ให้ความเห็นว่า

"เราทำอะไรให้กับศิลปินมากกว่าแค่การยกย่อง การจัดการพิพิธภัณฑ์ของเราเพียงแค่ทำโกดังเก็บของเก่าเท่านั้น มันเป็นสิ่งที่ตายแล้ว แต่มูลนิธิของอาจารย์จักรพันธุ์เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตเปรียบได้กับ "ทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน" เราจะจัดการอย่างไร ที่นี่เกิดขึ้นเองด้วยความเสียสละโดยส่วนตัว รัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนและคน ในละแวกเอกมัยก็ไม่ได้เห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญจริงๆ ทั้งๆ ที่นี่ไม่ใช่เพียงแค่เป็นตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ด้านศิลปวัฒนธรรม แต่สำหรับพิพิธภัณฑ์ทุกชนิด เพราะเป็นการสร้างสิ่งใหม่บนฐานความรู้เดิมและยังสืบทอดสิ่งเก่าให้มีชีวิตต่อมา เราต้องทำให้ศิลปินกลายเป็นผู้ที่มีพลังสร้างสิ่งใหม่ๆ ต่อไปได้ด้วย"

อาจารย์นิธิให้ความเห็นอีกว่า นอกจากการที่ภาครัฐและคนในสังคมมองไม่เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมที่มีชีวิตท่ามกลางโลกสมัยใหม่แล้ว ยังเป็นเรื่องของผังเมืองที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกำหนดร่วมกับคนในท้องถิ่น และไม่สนใจภูมิหลังวิถีชีวิตของคน ทำให้เกิดกลุ่มคนเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ จนกระทั่งผังที่วางแผนไว้ใช้ไม่ได้ผล

"การอนุมัติสร้างอาคารสูงใหญ่ เขต หรือ กทม.เป็นผู้อนุมัติ แล้วคอนโดฯ 30 กว่าชั้น ไปสร้างในเขตที่อยู่อาศัย ซึ่งอยู่ข้างบ้านแค่ 2 ชั้นที่มีอยู่ก่อน มันจะเป็นชีวิตเดียว กันได้อย่างไร ใช้อยู่อาศัยก็จริง แต่ไม่ได้อยู่เหมือนมนุษย์แบบเรา อันนี้ชัดเจนว่าประชาชน ไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องตัวเอง บ้านเราไม่ใช่ชนบทอีกต่อไป ประชากรกว่า 50% มาอยู่ในเขตเมือง ชีวิตของเมืองเป็นสิ่งสำคัญของสังคมไทยอย่างยิ่ง ชีวิตเมืองไม่ใช่เรื่องของ ผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คนมาทำเองอีกต่อไป ทุกคนต้องเข้ามาช่วยกันทำตั้งแต่ตอนนี้ เมืองของเราจะได้ไม่น่าเกลียดเหมือนกรุงเทพฯ"

กรณีนี้ยังสะท้อนภาพการกระจายอำนาจที่ทำกันมาตลอดกว่า 20 ปี ว่าไม่เป็นจริง แม้มีงบประมาณลงมายังชุมชน แต่โครงสร้างการบริหารจัดการนั้น ประชาชนมีส่วนร่วมเพียงแค่เข้ามารับรู้เท่านั้น

"เวลาเราพูดถึงการกระจายอำนาจ เราให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างการบริหารเพียงอย่างเดียว การกระจายอำนาจที่แท้จริงคือ การกระจายการจัดการทรัพยากร เคยมีคนคิดว่าน่าจะแบ่ง กทม.ให้เป็นเขตหรือเทศบาลเล็กๆ มารวมกันภายใต้ กทม. แต่โครงสร้างแบบนี้จะลงมาไม่ถึงประชาชน ปัญหาสำคัญของสังคมไทยคือ ชุมชนไทยหายไป

ชุมชน หมายความว่า คนที่อยู่ด้วยกันแล้วมีปฏิสัมพันธ์กัน ชุมชนโบราณเกิดขึ้นง่าย เพราะทุกคนใช้ทรัพยากรอย่างเดียวกันคือ ใช้น้ำเพื่อทำนา แต่ชุมชนแบบนั้นไม่มีแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นเรากลับทำลายมัน ด้วยการทำให้คนมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลงไปอีก มันจึงไม่เกิด "กลไกของชุมชนแบบใหม่" ขึ้นมา ชีวิตในเมืองไม่ใช่กายภาพอย่างเดียว แต่มันคือความสัมพันธ์ของคนละแวกเดียวกัน ถึงจะเกิด "พลัง" ขึ้นมาได้ หากกรณีนี้ไปเกิดในญี่ปุ่น ยุโรป หรืออเมริกา คนละแวกนั้นจะไม่ยอม และกฎหมายก็ไม่อนุญาต มิติที่รอผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ คือ คนจะลุกขึ้นมาโวยวายมากขึ้น"

อาจารย์นิธิให้ข้อคิดแง่ที่ว่า "กรุงเทพฯ เป็นบทเรียนที่แพงที่สุด" เพราะการสู่ความทันสมัยนอกจากจะทำลายเมืองที่เคยงดงามแล้ว มันยังไม่เคยให้บทเรียนการพัฒนา แง่ดีแก่เมืองอื่นๆ ที่กำลังโตเลียนแบบตามๆ กันมา

"ปัญหาในกรุงเทพฯ มีมาก ที่ไม่มีใครแก้ได้ นอกจาก "ตัวเราเอง" การไปกดดันรัฐบาลเพียงอย่างเดียว อาจแก้ปัญหา ได้ส่วนหนึ่ง แต่เราควรหันมาร่วมมือในกลุ่มคนมีปัญหาเดียวกัน...ทำให้เกิดประเด็น ร่วมกลายเป็น "ชุมชนเมือง" ขึ้นมาใหม่ ชีวิตประจำวันของเราก็ไม่ได้เผชิญปัญหาใหญ่ เช่น เก็บขยะ น้ำไม่ไหล ไฟฟ้าดับ มันเป็นเรื่องขี้ผงที่รัฐแก้ไม่ได้...รัฐใหญ่เกินกว่าจะแก้ปัญหาเล็ก และรัฐเล็กเกินกว่าจะแก้ปัญหาใหญ่...เพราะมันกลายเป็นโลกาภิวัตน์แล้ว"

ปัญหาหลากหลาย...
เมื่อกลายเป็นมหานคร

การพัฒนาเมืองหลวงเป็นประเด็นสำคัญระดับชาติมาโดยตลอด กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีประชากรครบ 1 ล้านคนเมื่อปี 2500 นับจากนั้นมาประเทศไทยก็เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นเป็นฉบับแรก เพื่อนำประเทศสู่ความเป็นอุตสาหกรรม ทั้งที่ก่อนปี 2500 ฐานเดิมคือความเป็นเมืองเกษตรกรรมมาโดยตลอด สภาพเมืองโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นหมู่บ้าน ชนบท แม้กระทั่งพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ เองก็มีเรือกสวนไร่นากระจายอยู่มากมาย

เมื่อประเทศเบนเข็มการพัฒนาสู่ความทันสมัย กรุงเทพฯ อันเป็นศูนย์กลาง ของประเทศก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ความเจริญในทุกด้านโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ กลายเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดประชากรจากทั่วสารทิศให้อพยพเข้ามาทำงาน ปัจจุบันมีคนอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณบริหารจัดการกว่า 40,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่เขตเมือง ในต่างจังหวัดโดยเฉลี่ยแล้วมีประชากรเพียงแสนกว่าคนเท่านั้น

นี่คือที่มาของปัญหาที่ทวีท่วมท้นอย่างรวดเร็ว จนแม้แต่หน่วยงานส่วนท้องถิ่นเองก็ไม่สามารถรับมือได้ทัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลภาวะต่างๆ ขยะล้นเมือง ปัญหาจราจร ชุมชนแออัด การใช้ชีวิตที่ไม่สัมพันธ์กัน ความขัดแย้งของคนกลุ่มต่างๆ และการไล่รื้อที่ ก็ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามความทันสมัยแบบตะวันตก

ต่อมาได้มีแนวคิดและข้อถกเถียงมากมายในการปรับการบริหารจัดการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการย้ายเมืองหลวง การแยกศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองและการค้าออกจากเมืองหลวง การแยกย่อยเทศบาลให้เล็กลงกว่าที่เป็นอยู่ ภายใต้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเดิม การบริหารเมืองแบบเป็นกลุ่มเมือง ที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง และมีเมืองรอบข้างเป็นบริวาร แต่ทุกวันนี้กรุงเทพฯ ยังขยายตัวออกไปไม่หยุด ภายใต้โครงสร้างการบริหารจัดการแบบเดิม

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ กล่าวถึงประเด็นการพัฒนาแบบนี้ว่า

"ภายหลังเสร็จสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 มีการมองกันว่าการพัฒนาขาดมิติเรื่องคนและชุมชน และผลจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ประกอบ กับเริ่มมีกระแสการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ประมาณปี 2545 สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งคณะอนุกรรมการเมืองน่าอยู่ โดย นพ.ดำรง บุญยืน เป็นประธาน จนกระทั่ง มีความเห็นร่วมกันว่า น่าจะทำเป็น "โครงการเมืองน่าอยู่" ขึ้นมา โดยมีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มูลนิธิพัฒนาไทย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และสันนิบาตเทศบาล มาร่วมกันทำโครงการ โดยมีสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนโครงการจากโครงการดังกล่าวเราได้พัฒนาตัวชี้วัดความเป็นเมืองน่าอยู่ และระบบการเก็บข้อมูล เมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ได้พบ ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนา"

จากโครงการดังกล่าวพบว่าเมืองที่น่าอยู่จะเป็นเมืองขนาดกลาง มีความทันสมัยพอสมควร มีการเกิดอาชญากรรมน้อยกว่าเมืองขนาดใหญ่ มีพื้นที่สาธารณะให้คนออกมา ทำกิจกรรมการแจ้งร่วมกันได้มาก ผู้คนยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ทำให้คนในเมืองรู้สึกมีความสุข ขณะที่เมืองขนาดเล็กมีความปลอดภัยแต่ก็ปรับเปลี่ยนได้ง่าย การเกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิต จะเกิดบนถนนสายรองในต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพฯ เพราะในกรุงเทพฯ มีการจราจรแออัดและมีบริการขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้า ขณะที่ในต่างจังหวัดนิยมใช้รถมอเตอร์ไซค์กันมาก

ด้านการบริหารจัดการนั้น เมืองใดมีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้ากว้างไกล เมืองจะพัฒนาได้ดี แต่ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งอยู่เพียงชั่วคราวก็ไป การพัฒนาเมืองก็จะตกอยู่ในมือข้าราชการประจำเป็นกลไกสำคัญกว่าฝ่ายการเมือง ส่วนเมืองที่มีภาคประชาคมเข้มแข็ง จะชี้นำให้ฝ่ายบริหารพัฒนาเมืองตามความต้องการของประชาชน สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในเมือง และคงเอกลักษณ์ของเมืองไว้ได้ เช่น ลำปาง นครสวรรค์ สุรินทร์ ตรัง

"กรุงเทพฯ กลายเป็นต้นแบบให้เมืองต่างๆ พัฒนาตามอย่างเมืองใหญ่ๆ มีเรื่องน้ำเน่า ถมคลอง สร้างถนน สร้างตึกสูง เกิดสลัม มีปัญหาจราจร ปัญหาวัยรุ่น ยาเสพติด และอาชญากรรม ในกรณีพื้นที่สีเขียว ต่างจังหวัดมีค่าเฉลี่ยดีกว่าในกรุงเทพฯ สลัมในกรุงเทพฯ มี 1,700 ชุมชน มีหลากหลายรูปแบบ กรุงเทพฯ มีปัญหาร้อนมากมาย โดยเฉพาะเรื่องไล่ที่และการทำลายวัฒนธรรม แต่ก็หลีกหนีไม่ได้ การจัดการชุมชนสลัมเป็นเรื่องใหญ่ การแก้ด้วยโครงการบ้านมั่นคง ก็เป็นการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งระยะยาว จะไม่ยั่งยืน ปัญหาขยะก็กลายเป็นปัญหาโลกแตกที่รัฐจัดการไม่ได้ เพราะไม่มีที่ฝังกลบ และมีแต่งบประมาณสร้างเตาเผาขยะที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ไม่มีงบประมาณดูแลรักษาประจำวัน กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความสลับซับซ้อน เพราะมีหน่วยงานระดับชาติตั้งขึ้นมาเต็มไปหมด ข้าราชการ กทม.ก็อ่อนแอต่อการแก้ปัญหา เช่น ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง การค้ามนุษย์ ซึ่งถ้าเป็นหน่วยงานระดับจังหวัดในต่างจังหวัด จะจัดการได้ทันที แต่ถ้าเป็น กทม.ไม่รู้ว่าใครจะรับผิดชอบกันอย่างไร จะไปโทษ กทม.ก็ไม่ได้"

ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร เป็นนักวิชาการประจำกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา กรรมาธิการอิโคโมสไทย และกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ ทั้งยังเป็นสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญเรื่องการวิจัยสภาพเมืองต่างๆ ด้านภูมิสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้ให้ความเห็นต่อสภาพกรุงเทพฯ ในมุมเปรียบเทียบว่า

"ที่จริงการพัฒนาเมืองต้องดูเปรียบเทียบเมืองต่างๆ เราดูมหานครใหญ่ๆ ในโลก แล้วจัดแยกแยะว่า ที่ใช้การปกครองแบบนี้มีพื้นฐานแบบไหน มีความแตกต่างจากเราอย่างไร ก็จะทำให้เห็นว่า มหานครที่มีความเจริญเรื่องวัตถุ จะมีการปกครองแบบหนึ่ง ซึ่งมหานครแบบของเราที่เอาแต่เขตการบริหารแบบตะวันตกมา แต่วิธีการบริหารจะใช้ ได้จริงหรือเปล่า แต่ก็ยังมองกันไม่ชัด ส่วนใหญ่เราจะแยกแยะด้านกายภาพเป็นส่วนๆ ไม่มองแบบภาพรวม

การ Positioning มหานครแบบของเราจะมีความคล้ายกับเมืองในเอเชีย คืออยู่กันแน่นหนาและปะปนกัน ไร้ทิศทาง ขยายตัวไปเรื่อยๆ ทั้งที่มีผังเมืองหลายอันแล้ว แต่ควบคุมให้เป็นไปตามผังเมืองไมล่ได้ บริหารจัดการก็ไม่ได้ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะหมักหมม ทั้งด้านกายภาพและสังคม ด้านกายภาพจะเห็นชัดว่าไม่มีการทำโซนนิ่ง เมืองที่ดีจะต้องมีโซนนิ่งระดับหนึ่ง แม้จะมีพื้นที่ผสมผสานได้ก็ตาม ทุกวันนี้เราบริหารกันแบบแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ถ้าเราดูสิงคโปร์ เขาจะมีคณะกรรมการมาช่วยจัดการเมือง คล้าย Unit Development Operation จะดูเมืองเป็นกลุ่มๆ มีการวางแผนเป็นโซน แล้วหยิบมาพัฒนา แต่จะมีความแตกต่างจากบ้านเราตรงที่ที่ดินเป็นของรัฐ แล้วประชาชนเช่าจากรัฐ ก็ขับเคลื่อน ได้ง่าย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกงก็เหมือนสิงคโปร์ มาเลเซียคล้ายๆ ของไทยกว่า แต่ต่างตรงที่ให้สิทธิ์แก่คนมุสลิมมาก ที่คล้ายของเรามากคือ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย

จะเห็นว่าวัฒนธรรมการอยู่ในพื้นที่ของประเทศอื่นๆ ไม่เหมือนกับเรา เมืองทางตะวันตกจะอยู่ในสภาพภูมิประเทศที่มี ข้อจำกัด สภาพอากาศมันโหดร้าย มีภัยพิบัติรุนแรง เขาจึงต้องมีวินัยในการอยู่ร่วมกัน เขาเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ ตามกฎระเบียบ ส่วนคนของเราอยู่สบายๆ มีระบบอุปถัมภ์ อยู่ตรงไหนก็มีกิน จึงขาดวินัยในการเคารพกติกาการอยู่ร่วมกัน นี่อาจจะมีส่วนทำให้การบริหารของเราไม่เป็นอย่างเมืองทางตะวันตก ที่เราไปลอกเลียนมา

แต่เมื่อกายภาพของเมืองเปลี่ยนจากสภาพเมืองที่อยู่กับน้ำ มาเป็นเมืองที่มีถนนและตึกรามมากมาย กลายเป็นวัฒนธรรมที่แข็งขึ้น ในทางกฎหมายและสภาพสังคม แต่เราไม่ได้เปลี่ยนเรื่องวินัยในการใช้ชีวิตเหมือนอย่างที่ชาวตะวันตกเขาเป็นกัน เรายังคงใช้ความคิดหรือวิถีชีวิต แบบดั้งเดิมมาตัดสินการใช้ชีวิตแบบสมัยใหม่ที่ถูกปรับให้เป็นไปตามตะวันตกแล้ว หรือตัดสินข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมเมือง มันก็เป็นการผิดฝาผิดตัว กลายเป็นความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา จึงไม่สามารถจัดการอะไรได้ในเมืองลักษณะแบบนี้"

คุณหมอพลเดช กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า

"คนไทยชอบของสำเร็จรูป เช่น ห้องร้อนก็ไปซื้อแอร์มาติด ช่างก็มาติดให้ แต่กระบวนการจัดการขยะ เรื่องวัฒนธรรม สำนึกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝัง ต้องสร้างให้เกิดมาอย่างยาวนาน แต่สังคมไทยคิดแบบนี้ไม่เป็นเลย ถ้าเรามีปัญหาขยะ เราก็คิดถึง "เตาเผาขยะ" แล้ว คิดว่าถ้ามีเตาเผาแล้วทุกสิ่งจะเสร็จหมด การพัฒนาเมืองก็เหมือนการสร้างประชา ธิปไตย เราคิดราวกับว่าจะไปติดแอร์ วิถีชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องสร้าง เราต้องอดทนต่อความเห็นที่แตกต่างกัน ที่ผ่านมาเราคิดแค่ว่า พอมีรัฐธรรมนูญแล้ว ทุกอย่างจะเรียบร้อย ทำให้ปัญหาหมักหมมมาเรื่อย

ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง จะเป็น ทางออกให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง ในกรุงเทพฯ มีเครือข่ายขององค์กรชุมชนอยู่บ้างแล้ว แต่ไม่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลง เพราะองค์กรชุมชนส่วนใหญ่เป็นฐานระดับล่าง ซึ่งเกิดจากกระแสการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ผ่านมา แต่ประชากรในกรุงเทพฯ มีความหลากหลายมาก จึงต้องสร้างเครือข่ายระดับย่านต่างๆ ขึ้นมา สิ่งนี้ เป็นความท้าทายของผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไป เพราะงานในระดับเขตใหญ่เกินกว่าจะจัดการอะไรได้จริง ซึ่ง กทม.ก็ทำกันอยู่แล้ว การสร้างเครือข่ายประชาคมจากคนในละแวกย่านเดียวกัน มาร่วมจัดกิจกรรมพัฒนาเมืองจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในกรุงเทพฯ มากกว่า"

ดร.วีระพันธุ์ ยังคงชี้ถึงเบื้องลึกของการพัฒนาเมืองแบบไทยๆ ว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรมอย่างแน่นอน

"ความจริงคนไทยปรับตัวเก่งมาก แต่การปรับตัวต้องอาศัยระยะเวลา แต่เราเหมือนโดนช็อกโดยประชาธิปไตยสมัย พ.ศ.2475 จึงเกิดนิสัยที่ชอบอะไรสำเร็จรูป กลายเป็นค่านิยมที่ฝังลึกไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราเห็นอะไรต่างๆ ที่สะสมมาแล้วใช้ให้ถูกทาง จนเป็น "รากเหง้า" เราจะเป็นคนที่ปรับตัวได้เก่ง ซึ่ง "ภูมิปัญญาในอดีต"มีหมดอยู่แล้ว กรุงเทพฯ ก็เหมือนเมืองในเอเชียทั่วไปที่มีคนอยู่มาก่อน ไม่ใช่เมืองตั้งใหม่ เรามีจิตวิญญาณ คนตะวันตกจะพัฒนาแบบตรรกะมีขั้นตอนแบบหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แต่บ้านเรามีความเชื่อเข้ามาเป็นสิ่งคู่ขนานกับเหตุผล กลายเป็นเสน่ห์แบบของเรา แม้ปัจจุบันจะเขละขละอย่างไรก็ตาม ก็มีความน่ารักแฝงอยู่ พอมีคนมาวัดก็บอกว่า เราเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก"

ที่สำคัญเขาเห็นว่าเมืองแบบกรุงเทพฯ นี้ยังต้องมีการเฝ้าระวังในประเด็นหลักต่างๆ และจะทำอย่างไรให้การบริหารช้าราชการใน กทม.เคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะเป็นการเปิดช่องทางให้คนกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมพัฒนาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้เอง

ดร.ม.ร.ว.ภูมินทร์ วรวรรณ นักวิชาการด้านภูมิสถาปัตยกรรมอีกท่านหนึ่ง เคยรับ ราชการในตำแหน่งภูมิสถาปนิกของเมืองลอสแองเจลิส มีหน้าที่ดูแลพื้นที่สีเขียวของเมือง และทำวิจัยระดับปริญญาเอกเรื่อง "ถนนสุขุมวิท" ได้เรียกร้องผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไปให้จัด อบรมวิสัยทัศน์และนโยบายการบริหารงานแก่ข้าราชการก่อนลงมือปฏิบัติตาม

"อยากเห็นผู้ว่าฯ คนใหม่ นำบรรดาเจ้าหน้าที่ กทม.มาอบรมถึงวิสัยทัศน์ของผู้ว่าฯ ตอนขึ้นมารับตำแหน่งในระยะแรก ว่าจะพัฒนาอะไรในช่วง 4 ปีข้างหน้า ประมาณ 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้สามารถมารองรับงานที่จะพัฒนาได้ต่อไปอย่างเข้มแข็ง และควรมีนโยบายทั้งแบบจูงใจและบังคับเจ้าหน้าที่ประจำ ในการทำตามนโยบายที่วางไว้ได้ ตอนที่ผมทำงานที่ลอสแองเจลิส จะเห็นความแตกต่างของการทำงานระหว่างข้าราชการไทยกับที่นั่น เพราะที่นั่นให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมาก แค่ดีไซเนอร์ออกแบบสวนก็มีถึง 100 กว่าคน แล้วทุกคนทำงานเต็มเกือบตลอด 8 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้ผลงานออกมาเต็มที่ และก่อนการออกแบบจะต้องไปหาชุมชนรับทราบความต้องการเป็นประจำ

ผมเคยได้เข้าประชุมเรื่องชุมชนกับเขตวัฒนาหลายครั้ง ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ในการเรียกประชุมชุมชนเข้ามานั่งคุยทุกสัปดาห์ มีคนเข้าร่วมฟัง 50 กว่าคน เพื่อรับฟังปัญหาของชุมชนแล้วนำกลับไปแก้ไข ซึ่งทำให้สภาพต่างๆ โดยรอบดีขึ้นจริง เช่น ปัญหา วัยรุ่น คนยากไร้เร่ร่อนก็น้อยลง มีการปรับแต่งบริเวณป้ายรถเมล์ ที่เขตปทุมวันก็มีการประชุมกับพวกค้าขายย่านนั้น มีกลุ่มเข้มแข็งมาก มีกิจกรรมมากกว่ากลุ่มอื่นๆ พวกนี้มีความสำคัญมาก อยากเห็นเขตทำต่อไป ซึ่งการพัฒนาในเขตสุขุมวิท ผู้บริหารเขตเคยบอกว่าอยากทำให้เป็นเหมือนถนนออร์ชาร์ตของสิงคโปร์ แต่เราไม่ได้วิเคราะห์ว่า เหมาะหรือไม่ สิ่งที่เราทำคือการลอกเลียนแบบเมืองของเขาเท่านั้น"

เขาสะท้อนว่าในกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะน้อย โดยทั่วไปในเมืองแบบอเมริกาจะมีพื้นที่สีเขียว 10-15% ของพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น รวมทั้งส่วนที่เป็นบริเวณรอบๆ เสาไฟฟ้าบนท้องถนนด้วย ทำให้เมืองของเขาสวยงามน่าอยู่ พื้นที่สีเขียวมีความสำคัญต่อ สุขภาพเมืองและความสัมพันธ์ของคนในเมืองมาก

"การใช้พื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ชายน้ำ และเรื่องการไล่ที่ เป็นการใช้พื้นที่แบบพึ่งพาอาศัยกัน เช่น ที่ป้อมมหากาฬ ชุมชนอยู่ที่นั่นมา มีการสร้างอาชีพและสร้างวัฒนธรรมควบคู่กันไปตลอดเวลา การจะไปรื้อถอน บางครั้งก็เป็นสิ่งที่ทำยากและไม่ควรทำ ควรมองถึงชุมชนในลักษณะที่มีชีวิตและเป็น "Living Heritage" เราควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนของการแสดงออกเกี่ยวกับการใช้พื้นที่

การให้ความสำคัญกับชุมชนที่อยู่มาก่อนจนกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวันเป็นเรื่องสำคัญมาก รัฐต้องช่วยเขาพัฒนาต่อไปในเชิงประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อทำให้ชุมชนมองในเรื่องแสดงออกของพื้นที่และการใช้พื้นที่ได้เหมาะสมยิ่งขึ้น ก็จะช่วยให้เกิดเศรษฐกิจชุมชนในแง่การพึ่งพาอาศัยกันได้อย่างดี และสามารถคงร่องรอยทางประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่อย่างกรุงเทพฯ มีลำน้ำผ่านเขตเมือง เราต้องคงอัตลักษณ์นี้ไว้ จะทำให้คนรุ่นหลังมองเห็นชั้นทางประวัติศาสตร์ของเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาสมัยใหม่ ผู้บริหารต้องเข้าใจและสามารถทำให้ชุมชนรับรู้อย่างทั่วถึง การพัฒนาของเราจึงจะไปในทิศทางที่เหมาะสม"

หลากหลายความเห็นและแง่มุมการบริหารจัดการเมือง ที่จะพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสวรรค์ดุจดั่งความหมายของชื่อ หากทว่ากรุงเทพฯ วันนี้มีอายุยืนยาวมาถึง 200 กว่าปี ถ้าเทียบกับเมืองหลายแห่งในโลกที่มีอายุกว่า 1,000 ปี ขึ้นไป ซึ่งบริหารจัดการความเก่าและความ ใหม่ได้อย่างลงตัว และทำให้คนในเมืองมีชีวิตที่ผาสุกอย่างภาคภูมิใจในความเป็นชาวเมืองนั้นๆ ได้แตกต่างกับบ้านเรา...ราวฟ้ากับดิน

โฉมหน้าของกรุงเทพฯ ต่อจากนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร?...เวทีเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นทางออกของวิกฤติเมืองหรือเปล่า? ...ความเป็นเวนิสตะวันออกจะฟื้นคืนในท่ามกลางความทันสมัย จนกลายเป็นมหานครที่น่าเที่ยวที่สุดในโลก...ตลอดกาล...ได้จริงหรือไม่?

คำถามเกิดขึ้นมากมาย...ใครกันแน่ที่จะตอบได้อย่างโดนใจและเป็นของจริง!!!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.