โอ้.....กรุงเทพฯ ร.ศ.๒๒๗

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

หากสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในระดับปกติ ความเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2551 คงดำเนินไปด้วยบรรยากาศคึกคักกว่าที่เป็นอยู่

ขณะเดียวกัน ภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานครกำลังละลานตาไปด้วยป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบรรดาเหล่าผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พร้อมจะแสดงวิสัยทัศน์ และนโยบายเพื่อเรียกระดมคะแนนเสียง

จุดร่วมของผู้สมัครเลือกตั้งแต่ละรายอยู่ที่การนำเสนอแนวนโยบายในลักษณะที่ระบุว่าจะดำเนินการอย่างไร หลังจากได้รับเลือกและมีจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะขายฝันให้ชาวกรุงเทพมหานครได้คล้อยเคลิ้มตาม

ถ้อยความดึงดูดความสนใจและจดจำง่ายควบคู่กับการโหมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของผู้สมัคร กลายเป็นประเด็นหลักในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

ขณะที่ข้อเท็จจริงของปัญหาที่กรุงเทพมหานครกำลังเผชิญหน้ากลายเป็นเรื่องราวระดับรองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละรายเลี่ยงที่จะกล่าวถึงอย่างจริงจัง

มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาของกรุงเทพมหานครถูกกล่าวถึงน้อยกว่าที่ควร จะเป็น เพราะผู้สมัครแต่ละรายตระหนัก ดีว่า ด้วยห้วงระยะเวลา 4 ปี สำหรับวาระ การดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น พวกเขาไม่สามารถที่จะแก้ไข ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้โครงสร้างของปัญหาที่กรุงเทพมหานครเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบันและอีกหลายปัญหาที่กำลังจะเกิดติดตามมา ในอนาคต ได้ข้ามพ้นศักยภาพของผู้สมัคร รับเลือกตั้งและขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครไปนานแล้ว

แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะสำรวจความพึงพอใจของคนกรุงเทพฯ อยู่เป็นระยะ แต่การสำรวจดังกล่าวกลับกลายเป็น เพียงการสำรวจเพื่อยืนยันผลสัมฤทธิ์ในเชิงการตลาดและประชาสัมพันธ์มากกว่าที่จะเป็นไปเพื่อการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างรูปธรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผลการสำรวจที่ดำเนินการมามากกว่า 13 ครั้งระบุว่า ปัญหาการจราจรติดขัด ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ขยะมูลฝอย และท่อระบายน้ำส่งกลิ่นเหม็น รวมถึงมลภาวะทางอากาศ กลายเป็นปัญหาที่คนกรุงเทพมหานครต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไขโดยเร็วที่สุด

แต่ถึงที่สุดแล้ว ปัญหาดังกล่าวดูจะ มิได้ลดระดับความรุนแรงลงแต่อย่างใด อีกทั้งยังหนักหน่วงขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ปัญหาที่รุมเร้ากรุงเทพมหานครดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้ที่มาที่ไป หากแต่เป็นผลพวงทางกายภาพจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการ

สภาพเบื้องต้นของกรุงเทพมหานคร ที่นำไปสู่ภาวะวิกฤติเช่นทุกวันนี้ ในด้านหนึ่ง เกิดขึ้นจากผลของการที่กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองโตเดี่ยว (primate city) ที่มีฐานะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและโอกาสมาอย่างเนิ่นนาน ซึ่งทำให้เกิดการอพยพไหลบ่าเข้ามาของประชากรจากต่างถิ่นอย่างต่อเนื่อง

กรณีดังกล่าวนอกจากจะทำให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรมหาศาล ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายและช่องว่างขนาดมหึมาในวิถีการดำรงชีวิต ทั้งในมิติของเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกลับกลายเป็นภาพที่ชินตา และเป็นปรากฏการณ์ปกติธรรมดาในที่สุด

หากแต่เมื่อพิจารณาในมิติของสังคมวิทยาแล้ว การมาอยู่ในพื้นที่เดียวกันของผู้คน ต่างวิถีชีวิตเช่นนี้ได้ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครด้วย

ความพยายามที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประชากรแต่ละกลุ่มในกรุงเทพ มหานคร ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเร่งรัดพัฒนาในแต่ละด้านโดยปราศจากการวางแผน และบริหารจัดการที่ดีพอ กลายเป็นกรณีที่ซ้อนทับปัญหามากกว่าที่จะแก้ปัญหา

ทำให้ความมุ่งหวังที่จะพัฒนากรุงเทพมหานคร กลายเป็นการทำลายเมือง ทำลาย สิ่งแวดล้อมและสร้างปัญหาใหม่ๆ ให้กับกรุงเทพมหานครในอีกทางหนึ่ง

ภายใต้วาทกรรมว่าด้วยการพัฒนา ซึ่งมีนิยามและควรจะหมายถึงการรังสรรค์ความเจริญให้เกิดขึ้น ในแต่ละมิตินั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง กลับกลายเป็นเพียงการทำให้ทันสมัยโดยรูปแบบ แต่ด้อยพัฒนาในเชิงโครงสร้าง

แนวความคิดของการบริหารเมืองที่ปราศจากการพิจารณาปัญหาอย่างตระหนักถึงผลกระทบโดยองค์รวม ส่งผลให้กรุงเทพมหานคร ไม่สามารถผลิตสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพออกมาได้

หลายมาตรการจึงเป็นเพียงการเสริมแต่งที่มีผลในเชิงโฆษณาประชาสัมพันธ์ และบ่อยครั้งดำเนินไปท่ามกลางข้อครหาในประเด็นว่าด้วยความโปร่งใสและความเหมาะสมด้วย

กรณีของความพยายามแก้ไขปัญหาสภาพการจราจรที่แออัดคับคั่งจากปริมาณรถยนต์ที่จดทะเบียนอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 5.7 ล้านคัน เป็นตัวอย่างที่สะท้อนเรื่องราวดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

เพราะนับตั้งแต่เริ่มมีระบบทางด่วนพาดผ่านกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขสภาพการจราจรติดขัดในช่วงกลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา สภาพการจราจรในเขตกรุงเทพฯ มิได้ทุเลาลงแต่อย่างใด ในทางกลับกัน มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นจลาจลได้ทุกเมื่อ

ขณะที่โครงการว่าด้วยระบบขนส่ง มวลชนขนาดใหญ่ มีสภาพเป็นเพียงโครงการหาเสียงที่ขาดการเชื่อมต่อเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและมีเอกภาพ

นอกจากนี้ความพยายามแก้ไขปัญหาจราจรด้วยการสร้างสะพานลอยข้ามแยกที่มีปริมาณรถยนต์หนาแน่นในหลายพื้นที่ กลับกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดสลัมเมือง กระจัดกระจาย และส่งผลให้กรุงเทพฯ เป็นสังคมทวิลักษณ์ชัดเจนยิ่งขึ้น

การดำรงอยู่ของอาคารพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันถูกสะพานลอยข้ามแยก รวมถึงเส้นทางรถไฟลอยฟ้าบดบัง ในด้านหนึ่งได้สร้างให้เกิดเป็นทัศนะอุจาด แต่ที่สำคัญ ไปกว่านั้นก็คือ อาคารพาณิชย์เหล่านี้ไม่อาจประกอบกิจการค้าได้ดั่งเช่นอดีต

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้อาคาร พาณิชย์บางส่วนถูกทิ้งร้าง เพื่อรอคอยผู้ประกอบรายใหม่เข้าครอบครองพื้นที่ โดยมีบางส่วนกำลังถูกไล่รื้อ และแทนที่ด้วยการผุดโครงการอาคารสูงเพื่อที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็นชีวิตรูปแบบใหม่

ขณะเดียวกัน อาคารพาณิชย์จำนวนไม่น้อยผันตัวเองด้วยการจัดสรรพื้นที่ภายในตัวอาคารใหม่ให้กลายเป็นห้องเช่าหรือหอพัก เพื่อรองรับประชากรจากต่างถิ่นที่อพยพเข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในเขตเมือง

ชุมชนเมืองที่ผุดขึ้นแทนชุมชนเก่าที่กำลังล่มสลาย กลายเป็นเพียงที่รวมพลของผู้คนแปลกหน้า

การเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพของ กรุงเทพมหานครในลักษณะดังกล่าว ดำเนินไปอย่างไร้ทิศทางและปราศจากกรอบกำหนดในเชิงนโยบายที่ชัดเจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นว่าด้วยการบริหารจัดการเมือง ซึ่งหมายรวมถึงการจัดแบ่งและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ (zoning) การจัดวางระบบสาธารณูปโภค ระบบบรรเทา สาธารณภัยและการจัดการกับขยะปริมาณมหาศาล

ซึ่งพร้อมจะก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงคุณภาพ ทั้งในมิติของสุขอนามัยและวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพมหานครให้เลวร้ายลงอีกในอนาคต

ปริมาณขยะที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ส่งผลให้กรุงเทพมหานคร ที่มีประชากรรวมกว่า 9 ล้านคน มีภาระในการจัดการกับปริมาณขยะมากถึง 9,000 ตันต่อวัน และกลายเป็นปัญหาขยะล้น ตกค้างเพิ่มขึ้นอีก

ไม่นับรวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพิษ ที่ติดตามมาพร้อมกับการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งต้องใช้การจัดการและการกำจัดอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ

ความอัปลักษณ์และเสื่อมโทรมของกรุงเทพมหานคร เป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดแจ้งเกินกว่าที่จะปฏิเสธและละเลย แม้จะมีความพยายามเอ่ยอ้างการเป็นเมืองสวรรค์อยู่ตลอดเวลาก็ตาม

กรณีโครงการ Transforming Public Spaces ซึ่งเป็นโครงการลำดับที่สองต่อเนื่องจาก Re-imagining the City ภายใต้โครงการใหญ่ที่เรียกว่า Creative Cities ดำเนินการโดย British Council ร่วมกับเทศกาลออกแบบบางกอก (Bangkok Design Festival) และกรุงเทพมหานคร

โดยใช้พื้นที่ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดตัวโครงการไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างของความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ

และจะน่าสนใจยิ่งขึ้น หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากสำนึกของคนกรุงเทพฯอย่างแท้จริง แทนที่จะเป็นการผลักดันโดยองค์กรวัฒนธรรมจากต่างประเทศเป็นหลัก

แนวคิดของโครงการอยู่ที่การปรับโฉมแหล่งเสื่อมโทรมในกรุงเทพฯ โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปส่งภาพสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ที่คิดว่าควรได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมากที่สุด เพื่อเฟ้นหา 10 สุดยอดสถานที่น่าเกลียดของกรุงเทพฯ และนำมาเป็นโจทย์ในการประกวดการออกแบบพัฒนาพื้นที่จริง ก่อนจัดแสดงเป็นนิทรรศการออกแบบบางกอกในเดือนตุลาคม 2552

นี่จึงเป็นการส่งผ่านมิติมุมมองของการบริหารจัดการเมืองที่แหลมคมไม่น้อย

เพราะในขณะที่กรุงเทพมหานคร กำลังโหมประโคม "ที่สุดของกรุงเทพฯ"ที่เน้นสื่อสารให้เห็นถึงความตื่นตาตื่นใจ วิจิตรตระการตาของสถาปัตยกรรม และอลังการของกรุงเทพฯ เมืองสวรรค์

Transforming Public Spaces กำลังทำหน้าที่กระจกเงาบานใหญ่ที่พร้อมสะท้อนความเป็นไปและข้อเท็จจริงที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานครอาจไม่ต้องการจะเผชิญหน้ามากนัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงที่ผู้บริหาร กรุงเทพมหานค พยายามโหมประชา สัมพันธ์กรุงเทพมหานคร ในฐานะเมืองที่ดีและน่าเที่ยวที่สุดจากการจัดอันดับของนิตยสาร Travel & Leisure เพื่อเป็นประหนึ่งใบรับรองความสำเร็จในการบริหาร ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

แต่การเป็นเมืองที่ดีที่สุดของนิตยสารท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการรวบรวมความคิดเห็นจากชาวต่างชาติที่ได้เคยสัมผัส หรือคาดว่าจะเดินทางมาสัมผัสกรุงเทพฯในอนาคตอันใกล้ จะมีความหมายและประโยชน์อันใด

หากประชากรที่พำนักหรือเกี่ยวเนื่องกับกรุงเทพมหานครจริงๆ แท้ๆ ไม่ได้รู้สึกชื่นชมกรุงเทพฯ อย่างที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามปลูกสร้างความรู้สึกเหล่านี้ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์

เพราะความต้องการของประชากรคนกรุงเทพฯ ที่แท้จริงไม่ได้ผูกพันอยู่กับสื่อโฆษณาที่มุ่งสร้างให้เกิดมายาภาพที่ฉาบฉวย หากแต่ต้องการรูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งพวกเขาสามารถมีส่วนร่วมและสัมผัสรับรู้ได้

ความภาคภูมิใจของชาวกรุงเทพฯ ควรเกิดขึ้นจากพื้นฐานที่พิจารณากรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นบ้าน เป็นแหล่งพักพิงที่อบอุ่นปลอดภัย ซึ่งพวกเขามีส่วนร่วมสร้างร่วมดำเนินกิจกรรมอย่างแท้จริง มากกว่าที่จะเป็นเพียง "ตู้จัดแสดง" ที่แปลกแยกออกไป

ภาวะไร้ความลุ่มลึกในการบริหารกรุงเทพมหานครในด้านหนึ่ง สะท้อนเห็นอย่างเด่นชัดในเว็บไซต์ www.bma.go.th ของกรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ "เรารักกรุงเทพฯ" ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า

กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยว อันดับ 1
ของโลก เป็นเมืองที่เป็นศูนย์รวมของแหล่งท่องเที่ยวในหลากหลายรูปแบบ ทั้ง
ศิลปวัฒนธรรม แม่น้ำ ชอปปิ้ง อาหาร บันเทิง ทั้งกลางวัน กลางคืนที่สะท้อนถึง
อดีตแห่งความรุ่งเรืองของราชอาณาจักรไทย เรื่อยมาจนถึงความทันสมัยที่โดดเด่น
ทัดเทียมโลกตะวันตก
กรุงเทพฯ จึงนับเป็นเมืองที่มีสีสัน มีเรื่องราวมากมายให้ได้ค้นหา และเป็น
สิ่งที่ดึงดูดใจ
นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก จึงเป็นที่มาของคำว่า
"เรารักกรุงเทพฯ"

ตรรกะวิธีในการเอ่ยอ้างถ้อยความเพื่อนำไปสู่บทสรุปดังกล่าว ไม่ต่างจากรูปธรรม ของโครงการที่ผ่านมาของกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นโครงการสารพัดอัจฉริยะ ทั้งจุดรอรถแท็กซี่อัจฉริยะ ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ไฟเขียวไฟแดงอัจฉริยะ ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นความสำเร็จ-ล้มเหลวเป็นประจักษ์พยานดีพออยู่แล้ว

ไล่เรียงสู่โครงการสารพัด Green ซึ่งดูเหมือนจะทำให้กรุงเทพมหานครถูกปกคลุมด้วยป้ายประชาสัมพันธ์รกสายตา

รวมถึง Green Bike โครงการให้ยืมรถจักรยานเพื่อเที่ยวชมพื้นที่รอบเขตเมืองรัตนโกสินทร์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโครงการที่แสดงให้เห็นถึงความฉาบฉวยในแนวนโยบายอย่างชัดเจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการรณรงค์เพื่อสร้างทางสัญจรสำหรับจักรยานในโครงการ ดังกล่าว ดำเนินไปท่ามกลางการละเลยความเป็นจริงของพื้นที่

เพราะการนำผิวจราจรที่มีสภาพคับแคบและคับคั่งอยู่แต่เดิม มากำหนดเป็นช่องสัญจรของจักรยาน นอกจากจะไม่ช่วย ส่งเสริมให้เกิดความรื่นรมย์จากการท่องเที่ยวแล้ว กรณีดังกล่าวยังพร้อมที่จะเป็นส่วนเพิ่มเติมปัญหาโดยเฉพาะอุบัติเหตุจราจรอีกด้วย

ไม่นับรวมเรื่องการจัดระเบียบพื้นที่ สำหรับการจอดรถยนต์ตลอดสองข้างทาง และการคืนพื้นที่บาทวิถีให้กับประชาชนเดินเท้า ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการจัดระเบียบพื้นที่สำหรับหาบเร่แผงลอย และการปรับปรุงทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครอย่างรอบด้าน ที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนมากกว่าโครงการฉาบฉวยตามกระแสเหล่านี้อีกด้วย

การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2551 เพื่อสืบต่อพันธกิจจากอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่หมดวาระลงเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากจะมีนัยสำคัญในฐานะที่เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยผู้สิทธิออกเสียงลงคะแนนมากถึงกว่า 4 ล้านคนแล้ว

กรณีดังกล่าวยังดำเนินไปท่ามกลาง ความหมายที่กำลังบ่งชี้ทิศทางของกรุงเทพ มหานคร เมืองที่มีขนาดพื้นที่รวม 1,562.2 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกำลังขยายตัวและอุดม ด้วยปัญหานานาประการอีกด้วย

งบประมาณจำนวนกว่า 154 ล้านบาทถูกจัดเตรียมไว้ เพื่อจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ นับเป็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากการ เลือกตั้งเมื่อปี 2547 ซึ่งอยู่ในระดับเพียง 48 ล้านบาทถึงกว่า 300%

โดยเหตุผลที่ต้องใช้งบประมาณในการจัดเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเช่นนี้ได้รับการชี้แจงว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการเพิ่มหน่วยเลือกตั้งจากเดิม 5,999 หน่วยเป็น 6,337 หน่วย และมีการเพิ่มค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง

หากผู้สมัครที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถูกคณะกรรมการ การเลือกตั้งเพิกถอนสิทธิ ผู้สมัครรายนั้นจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่เป็นเงินรวมไม่เกิน 154 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับโอกาสในการเข้าไปบริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีงบประมาณรวมกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี เงินจำนวนดังกล่าวอาจเป็นเพียงตัวเลขเล็กน้อยเท่านั้น

สถานะของการเป็นศูนย์กลางการปกครอง การสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง การพาณิชย์ การเงินการธนาคาร และการศึกษา อาจส่งผลให้ความเป็นไปของกรุงเทพมหานคร พร้อมจะผลิตสร้างผลกระทบต่อเนื่องไปสู่การกำหนดทิศทาง และอัตราเร่งของการขับเคลื่อนกลไกทั้งในมิติของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง

ขณะที่ปัญหาของกรุงเทพฯ ได้ข้ามพ้นไปไกลกว่าที่จะรอคอยให้นักการตลาดและนักฉวยโอกาสทางการเมือง ผลัดกันเข้ามาแสวงประโยชน์

หากแต่ต้องการนักยุทธศาสตร์ที่พร้อมจะนำเสนอนโยบายและกระบวนทัศน์ใหม่ๆ ให้กับเมืองแห่งนี้

ความทันสมัยทัดเทียมกับชาติตะวันตกในเชิงรูปแบบ ไม่สามารถผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางความเจริญ หรือมีสถานะเป็นมหานครที่อารยะและมีความเป็นสากล ซึ่งพร้อมจะเป็นตัวแบบให้ประเทศโดยรอบของภูมิภาคนำไปเป็นกรณีศึกษาในมิติของความสำเร็จได้เลย

ถึงเวลาแล้วที่ความรุ่งเรืองของกรุงเทพมหานครนับจากนี้จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานทางยุทธศาสตร์ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศที่พร้อมจะร่วมกันสร้างความจำเริญพัฒนาสถาวรควบคู่ไปในคราวเดียวกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.