|
ธุรกิจบล.ดิ้นรับมือเปิดเสรี
ผู้จัดการรายวัน(8 กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ประเมินความสามารถการแข่งขันและแผนธุรกิจหลักทรัพย์รองรับการเปิดเสรีตั้งแต่ปี 2551-2553 คาดการณ์มูลค่าตลาดรวมปี 53 โตจากมาร์เกตแคปปี 50 ที่ 5.07 ล้านล้านบาท อีก 27% และมาร์เกตแคปต่อจีดีพีอยู่ที่ 78% พร้อมประเมินอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเทียบค่าคอมมิชชันแบบขั้นบันไดอยู่ระหว่าง 1.6-6.9% ด้านกรรมการผู้อำนวยการสมาคมฯ เตรียมนำผลศึกษารายงานให้สมาชิกทราบในการประชุมวิสามัญเดือนนี้
นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด และในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ (ไลเซนส์) และความสามารถในการแข่งขันของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ได้มีการจัดทำแผนธุรกิจหลักทรัพย์ ปี 2551- 2553 เพื่อพิจารณาในภาพรวมของการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์และการเปิดสรีค่าคอมมิชชั่น ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันและความอยู่รอดของบริษัทหลักทรัพย์ โดยจะลดการพึ่งพิงรายได้จากค่าคอมมิชชัน และได้ศึกษาช่องทางอื่นในการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจหลักทรัพย์
"คณะกรรมการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ฯ มีการศึกษาจัดทำแผนธุรกิจหลักทรัพย์เพื่อที่จะประเมินถึงความอยู่รอดของธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งเมื่อทางคณะกรรมการเปิดเสรีฯ สรุปผลการศึกษาออกมาแล้วจะมีการนำผลการศึกษาดังกล่าวไปแจ้งให้กับทางบริษัทสมาชิกรับทราบ แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีการนัดประชุมเมื่อไรต้องหารือกับฝ่ายจัดการก่อน" นายกัมปนาท กล่าว
ทั้งนี้จากข้อมูลการประชุมของคณะกรรมการบริหารสมาคมหลักทรัพย์ รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการการเปิดเสรีฯ โดยมีสมมติฐานในการจัดทำแผนธุรกิจดังนี้ 1. มูลค่าตามราคมตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ในปี 2553 มีอัตราการเติบโตเท่ากับ 27% เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีมาร์เกตแคปรวม 5.07 ล้านล้านบาท 2. ปี 2551-2553 อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) จะเติบโตอยู่ที่ระดับ 8.4% มาร์เกตแคปของตลาดหุ้นไทยต่อจีดีพีจะเท่ากับ 78% และการซื้อขายต่อจีดีพีอยู่ที่ 63%
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการการเปิดเสรีฯ ได้แบ่งอัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชัน) เฉลี่ยในปี 2553 ออกเป็น 4 กรณี คือ กรณีที่ 1 ค่าคอมมิชชันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.175% ซึ่งจะทำให้กำไรสุทธิของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์จะอยู่ที่ 5,916 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ (ROE) จะอยู่ที่ 6.9%
กรณีที่ 2 อัตราค่าคอมมิชชันเฉลี่ย 0.150% จะทำให้กำไรสุทธิของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์อยู่ที่ 4,386 ล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักทรัพย์จะอยู่ที่ 5.2% กรณีที่ 3 อัตราค่าคอมมิชชันเฉลี่ย 0.125% ซึ่งกำไรสุทธิของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์อยู่ที่ 2,857 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักทรัพย์จะอยู่ที่ 3.4% และกรณีสุดท้าย อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ย 0.100% กำไรสุทธิของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์อยู่ที่ 1,346 ล้านบาท และอัตราผลตอบแทนการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักทรัพย์จะอยู่ที่ 1.6%
นายจงรัก ระรวยทรง กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า จากการที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ฯ ได้มีการศึกษาและมีการจัดแผนธุรกิจหลักทรัพย์ขึ้น เพื่อที่ประเมินธุรกิจหลักทรัพย์ในช่วงที่มีการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นแล้วผลประกอบการและกำไรสุทธิของธุรกิจหลักทรัพย์จะอยู่ที่เท่าไร เพื่อที่จะได้เห็นตัวเลขการประมาณการที่ชัดเจน
ทั้งนี้ เพื่อที่จะให้บริหลักทรัพย์ได้มีการเตรียมตัวและมีการจัดแผนการดำเนินงานธุรกิจของแต่ละบริษัทให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ โดยทางสมาคมหลักทรัพย์ฯ จะมีการนำผลการการศึกษาและสมมติฐานโครงสร้างค่าคอมมิชชั่นดังกล่าวเข้าประชมวิสามัญสมาชิกบริษัทหลักทรัพย์ฯ ที่จะจัดขึ้นภายในเดือนนี้
"การที่สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ให้มีการศึกษาและจัดแผนธุรกิจหลักทรัพย์และประเมินค่าคอมชัน และกำไรสุทธิของบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อที่จะได้มีตัวเลขเป็นรูปธรรมมากขึ้น จากเดิมที่มีการพูดลอยๆ เพื่อที่จะให้บริษัทสมาชิกทราบ และจะได้มีการเตรียมการปรับตัวและวางแผนการดำเนินงานในอนาคต"นายจงรัก กล่าว
อนึ่งก่อนหน้านี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีมติให้มีการคิดค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์แบบมีขั้นต่ำเป็น 2 ช่วง โดยใน 3 ปีแรก ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2550 -31 ธันวาคม 2552 ให้คิดค่าธรรมเนียมสำหรับการซื้อขายทั่วไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.25 ส่วนการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต คิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 60 ของอัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายทั่วไป โดยลูกค้าที่ซื้อขาย ผ่านอินเทอร์เน็ตต้องเปิดบัญชีซื้อขายแบบ Cash Balance และ Credit Balance เท่านั้น
สำหรับ 2 ปีถัดไป ระหว่าง 1 มกราคม 2553- 31 ธันวาคม 2554 ให้คิดค่าธรรมเนียมแบบขั้นบันไดแบ่งเป็น 4 ขั้นตามมูลค่าการซื้อขายรายวัน โดยเริ่มจากอัตราขั้นต่ำร้อยละ 0.25 สำหรับการซื้อขายที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ล้านบาทและคิดค่า ธรรมเนียมในอัตราที่ลดลงเป็นลำดับสำหรับการซื้อขายส่วนที่เพิ่มขึ้นหากมูลค่าซื้อขายต่อวันมากกว่า 1 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท คิดค่าธรรมเนียมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.22 การซื้อขายส่วนที่เกินมูลค่า 10 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดค่าธรรมเนียมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.18 และการซื้อขายส่วนที่เกินมูลค่า 20 ล้านบาทขึ้นไป ให้มีการต่อรองค่าธรรมเนียมได้โดยเสรี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|