|

หลังฉากพิธีเปิด Beijing Olympics
โดย
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ดังเช่นที่ท่านผู้อ่านเกือบทุกคนคงได้ชมไปแล้ว พิธีเปิดมหกรรมกีฬาปักกิ่งโอลิมปิก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม เต็มไปด้วยความประหลาดใจ ความตื่นตาตื่นใจ และความยิ่งใหญ่ ที่ทุกคนต่างร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า
"อู้หู! ทำไปได้ยังไง?!"
ระหว่างชมพิธีเปิดผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย พี่เชื้อเพื่อนฝูงหลายคน ต่างโทรศัพท์มาหาผมว่า พิธีเปิดครั้งนี้นั้นยิ่งใหญ่สมกับที่รอคอยจริงๆ และที่สำคัญต่างพูดเชิงหยอกล้อด้วยว่า ไม่รู้รัฐบาลจีนต้องผลาญเงินไปกี่พันล้านหยวนในช่วงระยะเวลา 4 ชั่วโมง ของพิธีเปิดการแข่งขัน
อย่างที่หลายคนคงทราบ และผมได้เขียนถึงมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่า ระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา ผ่านรัฐบาลจีนของผู้นำสองรุ่นคือ รุ่นของประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน และรุ่นของหูจิ่นเทา ไม่นับรวมถึงประชาชนชาวจีนอีกนับพันล้านคน ทุกคนต่างลงทุนลงแรง และทุ่มเทเต็มที่สำหรับ 20 กว่าวันของมหกรรมโอลิมปิกนี้โดยเฉพาะ
ความสำคัญ ความยิ่งใหญ่ ความอลังการ และความฟุ่มเฟือยของมหกรรมกีฬาครั้งนี้ถึงกับมีฝรั่งอเมริกันเปรียบเปรยไว้ว่า เหมือนกับการเป็นเจ้าภาพจัดซูเปอร์โบว์ล หรือการชิงแชมป์อเมริกันฟุตบอล 2 ครั้งทุกวัน เป็นเวลาต่อเนื่องกัน 16-17 วันเลยทีเดียว[1]
เพียงแค่ในส่วนของการสรรค์สร้างการแสดงในช่วงพิธีเปิดที่กินเวลาประมาณ 50 นาที และพิธีจุดคบเพลิงบนกระถางในสนามกีฬารังนก จาง อี้โหมว หัวหน้าทีมผู้กำกับการแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อก้องโลกก็ต้องใช้เวลาเตรียมตัวถึง 7 ปี เริ่มตั้งแต่การแสดงรับไม้เจ้าภาพต่อจากกรีซในพิธีปิดเอเธนส์เกมส์ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว มาจนถึงเตรียมพิธีเปิดการแข่งขันครั้งนี้ ที่คณะทำงานเริ่มต้นทำงานอย่างจริงจังเมื่อ 3 ปีกว่ามาแล้ว
ในการให้สัมภาษณ์กับ www.beijing2008. com เว็บไซต์ทางการของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน หลังพิธีเปิดเสร็จสิ้น จาง อี้โหมวเปิดเผยว่า พิธีเปิดโอลิมปิกเป็น "การแสดงศิลปะกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก" เป็นการผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของอารยธรรมและวัฒนธรรมของชาวจีนให้ชาวต่างประเทศเข้าใจอย่างง่ายๆ ดังนั้น การแสดงส่วนใหญ่จึงต้องส่งผ่านภาพสรรพสิ่งที่มนุษย์ในหลากหลายวัฒนธรรมต่างคุ้นเคย เช่น ภูเขา ลำธาร ผืนดิน แผ่นฟ้า ดวงอาทิตย์ และที่สำคัญคือใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มของเด็ก[2]
ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อคงเอกลักษณ์ของความเป็นจีน ในการแสดงหลายชุด รวมถึงพิธีจุดคบเพลิงโอลิมปิก จาง อี้โหมว จึงเลือกที่จะใช้ "ม้วนภาพจีน" เป็นสัญลักษณ์ในการส่งสาร
"ภาพวาดของชาวตะวันตกจะต้องใส่กรอบ มีแต่เพียงภาพจีนเท่านั้นที่เป็นม้วน" จางกล่าว
นอกจากนี้ "ม้วนภาพจีน" ยังเป็นเครื่องมือถ่ายทอดเรื่องราวชั้นยอด ในการวิ่งคบเพลิงและจุดคบเพลิงโอลิมปิกที่หลี่ หนิง ผู้ถือคบเพลิงคนสุดท้ายและผู้จุดคบเพลิงกึ่งวิ่งกึ่งเหินไปรอบๆ สนามกีฬาหนึ่งรอบก่อนจุดคบเพลิง ทั้งนี้ถ้าหากสังเกตจะเห็นว่าระหว่างนั้น "ม้วนภาพจีน" ได้คลี่ไปรอบๆ สนามและฉายภาพการวิ่งคบเพลิงไปทั่วโลก ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย
ผู้กำกับชื่อก้องโลกได้อธิบายความหมายของภาพก่อนไฮไลต์การจุดคบเพลิงดังกล่าวว่า "ภาพวาดจีนดังกล่าวไม่มีวันสิ้นสุด... สังเกตได้ว่า ภาพดังกล่าวจะคลี่นำหน้าหลี่ หนิง ไปตลอด หลี่ หนิง ต้องวิ่งตามภาพม้วนยาวดังกล่าวโดยที่เบื้องหลังของเขาคือ การส่งต่อคบเพลิงโอลิมปิกของผู้คนทั่วโลก จุดประสงค์ของพวกเราคือต้องการจะบอกกล่าวต่อชาวโลกว่า ม้วนภาพยาวชิ้นนี้เป็นของมนุษยชาติ พวกเราจะต้องอยู่ร่วมกันต่อไป ภาพวาดม้วนนี้ไม่มีวันวาดเสร็จสิ้น และจะถูกวาดต่อไปสู่อนาคต"
จะเห็นได้ว่า ทุกรายละเอียด ทุกความเคลื่อนไหว ทุกภาพในพิธีเปิดนั้น ถูกออกแบบ ถูกจัดวาง ถูกคำนวณไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งผมคิดว่า การแสดงในพิธีเปิดการแข่งขันครั้งนี้จะกลายเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ในอนาคตอีกหลายสิบปีข้างหน้าคงไม่มีผู้ใดทำได้เทียบเท่าจีนอีกแล้ว
มิใช่ว่าชนชาติอื่น ประเทศอื่น เก่งไม่เท่าชาวจีน แต่กีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งครั้งนี้เกิดขึ้นบนเงื่อนไขพิเศษ คือเงื่อนไขที่ประเทศจีนและชาวจีนเพิ่งตื่นขึ้นจากฝันร้ายอันยาวนาน พวกเขาลุกขึ้นยืน ก้าวเดิน และกำลังจะออกวิ่ง เพื่อทวงคืนตำแหน่งมหาอำนาจของโลกที่พวกเขาเคยครอบครองเมื่อ 150-200 ปีก่อน
หรือหากจะกล่าวอย่างเห็นภาพชัดเจนขึ้นอีกหน่อยก็คือ เพียงเพื่อ "หน้าตา (หรือในภาษาจีน เรียกว่า เมี่ยนจึ)" คงไม่มีรัฐบาลประเทศไหน ที่หาญกล้าทุ่มเงินมากถึง 35,100 ล้านเหรียญสหรัฐ[3] หรือคิดเป็นเงินไทยมากกว่าล้านล้านบาท ในการจัดงานระดับชาติที่กินระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน มากกว่านั้นหากเปรียบเทียบเงินกับเงินลงทุนจำนวน 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่กรีซใช้จัดเอเธนส์โอลิมปิกแล้ว ก็จะเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลจีน ใจป้ำขนาดไหน
ทั้งนี้เงินจำนวนดังกล่าวยังไม่นับรวมการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนน รถไฟฟ้า-ใต้ดิน สนามบิน ไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม อีกมหาศาล การย้ายโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การลงทุนลงแรงของอาสาสมัคร การลงทุนของภาคเอกชน-รัฐวิสาหกิจ และยังไม่นับรวมกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจในเรื่องยิบย่อยต่างๆ อีก การปิดสนามบินนานาชาติระหว่างพิธีเปิด-ปิด การสั่งห้ามรถยนต์ส่วนบุคคลสัญจรบนท้องถนนในช่วงเวลาต่างๆ รวมถึงมาตรการด้านความปลอดภัยที่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล
รายงานจากนิตยสารบิสเนสวีก ระบุว่า จีนใช้จ่ายเงินไปเพื่อการดูแลความปลอดภัยในมหกรรมกีฬาครั้งนี้กว่า 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 220,000 ล้านบาท) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับค่าใช้จ่ายในเอเธนส์โอลิมปิกเมื่อปี 2547 แล้วจะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า
กำลังกาย กำลังเงิน เวลาและรายละเอียดมากขนาดนี้ แน่นอนไม่มีทางที่ประเทศไหนจะทำได้ ยกเว้นประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันการปกครองผูกขาดอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ใช้ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบตลาด (Market Socialist Model) ซึ่งไม่มีชาติใดเสมอเหมือน
ในส่วนของข้อครหา แม้ว่าหลังจากพิธีเปิดการแข่งขันไปแล้ว สื่อมวลชนตะวันตกมีการตีแผ่ออกมาว่า ชุดการแสดงพลุไฟ รวมถึงภาพต่างๆ ที่ผู้คนทั่วโลกนับพันล้านคนได้ชมผ่านทางจอโทรทัศน์นั้นบางส่วนแท้จริงแล้วเป็นเพียงการลิปซิงค์ หรือการสร้างภาพเสมือนเท่านั้น ทว่าในความเห็นของผมแล้วข้อตำหนิเล็กๆ เหล่านี้ ก็มิได้ทำให้ "ม้วนภาพวาด" อันมโหฬารนี้ด่างพร้อยไปสักเท่าใดนัก
ไม่มีใครปฏิเสธว่า พิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกสวยงาม ตระการตา และอลังการเกินจินตนาการ แต่ก็คงไม่มีใครปฏิเสธเช่นกันว่าพิธีเปิด รวมถึงมหกรรมกีฬาครั้งนี้เป็น "ความฟุ่มเฟือย" และ "การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง" อย่างหาที่สุดไม่ได้เช่นกัน
กระนั้นหากจะเปรียบเบื้องหลังของสิ่งมหัศจรรย์อย่างกำแพงเมืองจีน-สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ ที่ปัจจุบันกลายเป็นมรดกของชาวโลก ความภูมิใจของชาวจีนทั้งมวลก็สร้างอยู่บนรอยเลือด หยาดเหงื่อและคราบน้ำตาของชาวจีนในอดีตมิใช่หรือ?
...จะแปลกอะไร ถ้าวันนี้พวกเขาจะสรรค์สร้างขึ้นอีกครั้งด้วยใบหน้าที่แย้มยิ้ม
หมายเหตุ :
[1] Businessweek, Olympics Security Is No Game, 7 August 2008.
[2] ชมคลิปวิดีโอการสัมภาษณ์จาง อี้โหมว ได้จาก https://www.beijing2008.cn/live/zoujinaoyun/mpc/ (ภาษาจีน).
[3] 2007-10-18.
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|